การต่อสู้ของ “วิกตอร์ อูโก” ผู้เขียน Les Misérables เรียกร้องเลิกโทษประหารด้วยนิยาย

ภาพถ่ายวิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) ปี 1870 [public domain] ฉากหลังเป็นการแสดงละครเวทีจากผลงานของอูโก เรื่อง Les Misérables ในเวเนซูเอล่า เมื่อ 1 พ.ย. 2019 (ภาพจาก YURI CORTEZ / AFP)

ก่อนหน้าที่สังคมโลกจะมีข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ย้อนไปก่อนหน้านั้นหลายร้อยปี “วิกตอร์ อูโก” (Victor Hugo) นักกวี-นักเขียน และนักการเมืองชาวฝรั่งเศสจากศตวรรษที่ 19 (26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802 – 22 พฤศภคม 1885) ในช่วงที่อูโกถือกำเนิด สังคมฝรั่งเศสเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางความคิดและการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างแนวคิดนิยมระบอบสาธารณรัฐกับแนวคิดสถาบันกษัตริย์ในหมู่คนต่างชนชั้น เขาเป็นอีกคนที่ต่อสู้เพื่อการยกเลิกโทษประหาร

หัวข้อเรื่องการยกเลิกโทษประหารในยุโรป เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ ควบคู่ไปกับตัวอย่างการพิจารณาคดีที่มีช่องโหว่ จนนำมาสู่ปรัชญาเรื่องการลงโทษ หรือ “ทัณฑวิทยา”

หนึ่งทศวรรษก่อนที่อูโกจะถือกำเนิด ฝรั่งเศสเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ เกิดเหตุล้มระบอบกษัตริย์ราชวงศ์บูร์บง สถาปนาระบอบสาธารณรัฐที่หนึ่งขึ้นในปี ค.ศ. 1789

นับแต่นั้นมา เกิดการปะทะทางความคิดทางการเมืองภายในสังคมฝรั่งเศส การต่อสู้แย่งชิงการปกครองของชนชั้นต่างๆ เพื่อสถาปนาระบอบการการปกครองที่กลุ่มตนต้องการ ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชาย์กลับมาอีกครั้งในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ซึ่งเป็นช่วงที่อูโก ถือกำเนิด ต่อมาเดือนกรกฎาคมปี 1830 ฝ่ายนิยมระบอบสาธารณรัฐจึงจะได้เปรียบทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

ในบริบทประวัติศาสตร์เช่นนี้ทำให้อูโก สัมผัสและซึมซับสงครามทางความคิดทั้งทางการเมือง สังคม รวมถึงทางศาสนา ช่วงวัยเด็กเขาถือเป็นบุคคลที่จงรักภักดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวความคิดทางการเมืองของเขาเริ่มหันไปสนับสนุนฟากสาธารณรัฐ

ช่วงเวลาหนึ่งที่เขาโจมตีนโปเลียนที่ 3 หรือ ชาร์ลส์ หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งขึ้นสู่อำนาจแบบสมบูรณ์ด้วยการรัฐประหารตัวเองเมื่อปี 1851 ล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิมในเดือนธันวาคม ปี 1851 ปูทางสู่การสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในราวหนึ่งปีต่อมา เขาต้องลี้ภัยไปอาศัยนอกประเทศ

แม้กระทั่งในปี 1859 ที่นโปเลียนที่ 3 นิรโทษกรรมทางการเมืองแก่ผู้ลี้ภัยทั้งหมด อูโก ยังปฏิเสธเพราะมองว่าการยอมรับจะจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กระทั่งนโปเลียนที่ 3 พ้นจากอำนาจ อูโก จึงเดินทางกลับมาในปี 1870

กลับมาที่ช่วงหลังการปฏิวัติครั้งใหญ่ ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางความคิดดูเหมือนจะลงเอยด้วยการจับอาวุธต่อสู้กัน มักจบลงที่ฝ่ายแพ้ถูกลงโทษด้วยการตัดสินประหารชีวิต และเครื่องประหารชีวิตอย่าง “เครื่องกิโยติน” ก็ถูกนำมาใช้แทนการประหารชีวิตแบบเดิมที่อาจพอนึกภาพโดยไม่ต้องสัมผัสเองว่า คงเป็นวิธีซึ่งน่าหดหู่ยิ่งนัก

ลักษณะของเจ้าเครื่องกิโยตินนั้นเป็นโครงไม้สองเสา ที่คานข้างบนแขวนใบมีดรูปสี่เหลี่ยมคางหมูหนักประมาณสี่สิบกิโลกรรม ระยะความสูงประมาณสองถึงสามเมตร เดิมชื่อ “Louisette, Louison” ตามชื่อของ Antoine Louis ราชบัณฑิตแห่งแพทย์ศัลยกรรมผู้ประดิษฐ์

ต่อมามาปี 1792 ดร. โจเซปห์ กิโยติน (Dr. Joseph Ignace Guillotin) แพทย์และสมาชิกสภาซึ่งไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต เสนอแนวคิดว่าจุดมุ่งหมายการประหารชีวิตนั้นคือการยุติชีวิต ไม่ใช่การสร้างความเจ็บปวดทรมาน เขาจึงเสนอให้นำเครื่องประหารชนิดนี้มาใช้แทนการประหารแบบเดิม และให้ใช้กับนักโทษทุกชนชั้น ไม่เลือกใช้กับเฉพาะคนชั้นสูง ในเวลาต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกเครื่องประหารชีวิตนี้ว่า “กิโยติน” ตามชื่อของ ดร. กิโยติน (Dr. Guilltin)

ช่วงเวลาที่สังคมมีการประหัดประหารชีวิตคนเป็นว่าเล่นเช่นนี้ ทำให้อูโก พบเห็นการประหารชีวิตตั้งแต่ชีวิตอยู่ในช่วงวัยรุ่น เพราะการประหารจะจัดขึ้นกลางกรุงปารีสที่ลานประหารปลาซ เดอ แกรฟ (ปัจจุบันอยู่หน้าศาลาว่าการกรุงปารีส) ผู้คนชาวเมืองมักจะมามุงดูกันเป็นจำนวนมาก

อูโก เองก็เคยเห็นการประหารชีวิตถึง 5 ครั้ง เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 1820 และการพบเห็นการประหารชีวิตหลายต่อหลายครั้งนี้เองที่ทำให้เขาเขียนนวนิยายเรื่อง “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” (Le dernier jour d’un condamne) ในปี 1828 ใช้เวลาเขียน 42 วัน ในระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน ถึง 26 ธันวาคม 1828 อีกสองเดือนถัดมานวนิยายเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน

ในปี 1830 หลังรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ซึ่งเป็นผู้โปรดให้โทษประหารชีวิตเป็นโทษสูงสุดในกฎหมายอาญา สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มคลี่คลาย หนังสือเล่มนี้ได้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี 1832 ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ ฟิลลิปป์ กษัตริย์ผู้ทรงเดินทางสายกลาง

การพิมพ์ครั้งนี้เองที่ผู้เขียนเปิดเผยตัวตนและเขียนความในใจไว้ในคำนำว่า เขาไม่ได้หยิบฉวยความคิดที่จะเขียนเรื่อง “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” มาจากที่อื่นใดหรือจากจินตนาการล้วนๆ ดังที่เคยมีคนวิจารณ์ไว้ แต่มาจากบนลานประหารที่มีกองเลือดไหลนอง

นิยายเรื่อง “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” ดำเนินเรื่องภายใต้ฉาก ณ กรุงปารีส ในคุกบิเซ็ตร์ และลานประหารปลาเซ เดอ แกรฟ โดยชายวัยกลางคนที่ไม่ได้ระบุตัวตนที่ชัดเจน (นั่นคือไม่มีชื่อ ไม่มีประวัติความเป็นมา และไม่ได้ระบุว่าชายคนนี้ก่อคดีอะไรมา)

เรื่องเริ่มต้นด้วยการระบุในทำนองว่าเป็นบันทึกของคนคุกผู้นี้ที่เขียนในวันสุดท้ายก่อนจะถูกประหาร เขาระบุว่า เมื่อถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิตแล้ว เขาถูกกักขังไว้ในคุกบิเช็ตร์ 6 สัปดาห์เพื่อรอวันตายของตัวเอง

ในระยะ 6 สัปดาห์ เขาทนทุกข์ทรมานใจกับความคิดว่าจะต้องถูกประหาร พร่ำเพ้อถึงผู้หญิง 3 คนที่จะต้องแบกรับความสูญเสียเมื่อเขาลาลับไปโดยวิธีที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ผู้หญิงทั้งสามก็คือ แม่ผู้เฒ่าชรา ภรรยาที่จะเสียสามี และลูกสาววัยสามขวบ

วันสุดท้ายที่ต้องเข้าสู่การประหาร ก่อนถึงชั่วโมงการประหารเขานั่งเขียนเรื่องราวความทนทุกข์ใจตลอด 6 สัปห์ที่ผ่านมา ช่วงนี้เองเป็นช่วงที่เขาคิดฟุ้ง ทรมานใจ และโอดครวญ ขอร้องอ้อนวอนให้ผู้พิพากษาช่วยอภัยโทษให้ ประกอบกับเสียงชาวบ้านชาวเมืองที่ส่งเสียงด่าทออย่างสนุกสนาน

ความทุกข์ระทมในใจของคนคุกผู้นี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างน่าสงสาร หดหู่ใจ พรรณาให้เห็นภาพความทุกข์ในใจอย่างถึงอารมณ์ แต่กลับไม่ระบุถึงความผิดที่ตนเองกระทำซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการถูกประหารชีวิตในครั้งนี้ ท้ายที่สุดเรื่องราวจบลงด้วยคำอ้อนวอนขอให้อภัยโทษให้เขาอย่างทรมานใจ โดยไม่ระบุถึงช่วงที่อยู่บนลานประหาร และช่วงที่ถูกประหารชีวิต

นวนิยายเรื่อง “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” คงไม่ได้สำคัญที่เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งขึ้น หากแต่ผู้เขียนอย่างอูโก ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต นอกจากเขาจะเป็นนักเขียนเขายังเป็นนักการเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (ได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาเมื่อปี 1848)

ทั้งนี้ คงเกิดจากบริบททางสังคมและการเมืองในฝรั่งเศสยุคสมัยนั้นที่หลอมรวมเขาให้เป็นเขา และยุคสมัยของเขาก็มีการเรียกร้องจากนักคิดนักเขียนให้ยกเลิกโทษประหาร ซึ่งรวมถึงอูโกด้วย และนิยายเรื่องนี้ที่เขาเขียนขึ้นขณะอยู่ในวัย 27 ปี ก็เป็นการสะท้อนภาพให้เห็นถึงคุณค่าของการเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต และจิตใจในอีกทาง อิทธิพลของการต่อสู้ของอูโก ได้รับเครดิตด้วยในการเคลื่อนไหวยกเลิกโทษประหารในโปรตุเกส และโคลอมเบีย

อ่านเพิ่มเติม : 


อ้างอิง :

อูโก, วิกตอร์. วันสุดท้ายของโทษประหาร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. วรรณกรรมแปล. กรรณิกา จรรย์แสง, ผู้แปล.

Victor Hugo. Wikipedia. Online. Access 10 JAN 2019 <https://en.wikipedia.org/wiki/Victor_Hugo>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2563