ถอดรหัส 599 พุทธทาสหัวใจเพชรแห่งเมืองเว้ ภิกษุเวียดนามเผาตัวเอง ประท้วงรัฐบาล

A Buddhist monk stands next to a banner with a picture of monk Thich Quang Duc, who set himself on fire on a busy Saigon street corner in 1963, at the at Vietnam Quoc Tu pagoda in Ho Chi Minh City on June 3, 2018. - Vietnam marked the 55th anniversary of the self-immolation of Thich Quang Duc, the monk whose fiery protest came to symbolise the repression of the US-backed South Vietnamese regime against Buddhism. (Photo by Kao NGUYEN / AFP)

พระพุทธศานาเป็นศาสนาที่เกิดจากการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อกว่า 2,600 ปีที่ผ่านมาและดำรงอยู่เพราะพุทธบริษัท 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา หนึ่งในพระภิกษุผู้ทำหน้าที่สมณทายาทที่ชาวโลกต่างจำภาพของท่านได้ดีซึ่งเผาตนเองจนถึงแก่มรณภาพ เพื่อประท้วงการดำเนินการฟ้องร้องกับผู้นับถือศาสนาพุทธโดยรัฐบาลของประเทศเวียดนามใต้ ซึ่งมีผู้นำชื่อประธานาธิบดี โง ดิ่ญ เสี่ยม (Ngô Đình Dim) เป็นผู้บริหารอยู่ในช่วงเวลาสมัยนั้น

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ภิกษุเวียดนามเผาตัวเอง ประท้วงการเลือกปฏิบัติทางศาสนาในเวียดนามใต้

พระภิกษุรูปนั้นถูกยกย่องว่าเป็น Thích (ทิก) เพราะเป็นผู้ยอมพลีชีพถวายให้แก่พระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนามใต้ ผู้มีนามอุโฆษว่า กว่าง ดึ้ก (Qung Đức) หรือ ท่านทิก กว่าง ดึ้ก (Thích Qung Đức) อายุ 73 ปี สมณะผู้ตัดสินใจออกเดินทางจากวัดเทียนมู่ เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม พร้อมกับรถยนต์เลขทะเบียน DBA 599 ซึ่งนอกจากจะมีท่านและลูกศิษย์ 2 รูป ติดตามไปด้วยแล้ว ท้ายรถมีถังน้ำมันใหญ่ซึ่งมีปริมาตร 5 แกลลอนอยู่อีกด้วย ในคืนวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2506

รหัสสัญญาณพาหนะแห่งพระโพธิสัตว์เมืองเว้

เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวขับเข้าสู่เมืองไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือเมืองโฮจิมินห์) ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2506 ท่านทิก กว่าง ดึ้ก ได้เขียนข้อเรียกร้องถึง 6 ข้อ ให้รัฐบาลหยุดทารุณกรรม จากนั้นท่านก็ได้เข้าสู่ขบวนพุทธศาสนิกชนประมาณ 1,000 คน ด้วยความสงบ เพื่อไปสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และพุทธศาสนิกชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ขับรถพุ่งชนขบวนผู้ประท้วงเสียชีวิตในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ที่ผ่านมา (มีพระและนางชีเสียชีวิต 70 คน ชาวพุทธอื่นๆ อีก 30 คน)

จากนั้นขบวนชาวพุทธก็เดินต่อไปอย่างสงบ โดยมีรถยนต์หมายเลขทะเบียน DBA 599 ไปยังกลางเมืองไซ่ง่อน แล้วได้จอดลง ณ สี่แยกใกล้กับที่พักของท่านประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยม (Ngô Đình Diệm) โดยภิกษุติดตามรูปหนึ่งนำเอาหมอนรองมาวางไว้บนถนน และอีกรูปหนึ่งไปเปิดท้ายรถแล้วนำถังน้ำมันออกมา

ในขณะนั้นกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงได้นั่งรายล้อมท่านกว่าง ดึ้กเป็นวงกลม และในที่สุดท่านได้นั่งขัดสมาธิเพชรอย่างเงียบสงบ แสดงอาการแห่งยอมตนเป็นพุทธทาสที่จะไม่ยอมตกเป็นทาสของใครอื่นอีกแล้ว พระภิกษุผู้ทำหน้าที่ถือถังน้ำมันตั้งใจราดน้ำมันตั้งแต่ศีรษะของท่านกว่าง ดึ้ก ซึ่งท่านนั่งอย่างเงียบสงบ คงมีมือเท่านั้นที่ท่านใช้หมุนลูกประคำไม้ พร้อมกับบทสวดภาวนาว่า Nam mo A Di Da Phat (Homage to Amitabha Buddha) แปลว่า ขอนอบน้อมพระอมิตาภพุทธะ ก่อนที่พระภิกษุอีกรูปจะจุดไม้ขีดไฟและปล่อยให้หล่นลงไปบนรอยน้ำมันแล้วเกิดเป็นเปลวเพลิงจนร่างกายของท่านถึงแก่กาลมรณภาพ

ภาพภิกษุติ๊ก กวง ดึ๊ก เผาตัวเองประท้วงรัฐบาลเวียดนามใต้ (By Malcolm Browne for the Associated Press [Public domain], via Wikimedia Commons)
รถยนต์ที่จอดไว้ในโรงเก็บรถพร้อมภาพถ่ายที่ท่านทิก กว่าง ดึ้ก ในกองเปลวเพลิงข้างๆรถยนต์คันนี้

หลังจากท่านมรณภาพแล้วได้นำร่างไปทำพิธีฌาปนกิจอีกครั้งแต่ “หัวใจ” ที่ได้จากศพของท่านไม่ไหม้เป็นเถ้าถ่านกลับงามดุจดั่ง “เพชร” ที่ประดับไว้ในพระพุทธศาสนา และท่านถูกกล่าวว่าเป็นผู้มีชีวิตประดุจดั่งพระโพธิสัตว์ทิก กว่าง ดึ้ก

โดยขอนำโอวาทของท่านทิก กว่าง ดึ้ก มาแสดงไว้ดังนี้

“ขอเอาชีวิตน้อยๆ ของอาตมะนี้เพื่อเป็นประทีปส่องใจอันมืดมนของพี่น้องชาวเวียดนาม อาตมะขอตายเพื่อไถ่บาปพี่น้องชาวเวียดนามทุกๆ คน ขอให้เลิกเข่นฆ่ากัน อาตมะไม่ได้ตายเพราะความโง่เขลา อาตมะไม่ได้ฆ่าตัวตายเพราะมิจฉาทิฏฐิ แต่อาตมะตายเพื่อคนหูหนวกจะได้ยินเสียง เพื่อคนตาบอดจะมาเห็นแสงสว่าง เพื่อยุติการเข่นฆ่าคนเวียดนามสายเลือดเดียวกัน”

ปัจจุบันรถยนต์ทะเบียน DBA 599 ยังคงจอดอยู่ในโรงเก็บรถของวัดมู่หลาน เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า พุทธทาสหัวใจเพชรแห่งเมืองเว้ ท่านทิก กว่างดึ้ก ผู้ใช้รถยนต์นี้เป็นรหัสสัญญาณเพื่อพาส่ำสัตว์ข้ามพ้นจากสังสารวัฏนี้โดยใช้ชีวิตของท่านเป็นเดิมพัน!!!

“หัวใจของท่านทิก กว่าง ดึ้ก” พระโพธิสัตว์แห่งเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
ผู้เขียนกับรถยนต์ DBA 599 พาหนะรหัสสัญญาณของท่านทิก กว่าง ดึ้ก
“หัวใจเพชร” ของท่านทิก กว่าง ดึ้ก

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2563