ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) บัลลังก์ทำเนียบขาวของ บิล คลินตัน สั่นคลอนจากสตรีหลายราย แต่ที่ส่งแรงกระเพื่อมมากที่สุดย่อมเป็น โมนิก้า เลวินสกี้ ซึ่งทำให้บิล คลินตัน ถึงกับถูก “เช็กบิล” ด้วยข้อหาอื้อฉาวที่นำมาสู่การถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง แต่ผลลัพธ์ที่เหมือนเป็นฝันร้ายกลับไม่ได้เป็นดังเช่นทุกคนคาดคิด
ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกาก่อนหน้ากรณีล่าสุดในปี 2019 มีประธานาธิบดี 3 รายที่เคยสัมผัสกระบวนการอิมพีชเมนต์ รายแรกคือแอนดรูว์ จอห์นสัน เมื่อปี 1886 รายต่อมาคือ บิล คลินตัน เมื่อปี 1998 ส่วนริชาร์ด นิกสัน ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการระหว่าง 1973-74 และเขาชิงลาออกไปก่อนจะเข้าช่วงลงมติอย่างเป็นทางการ แต่โดยรวมแล้ว ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายใดที่ออกจากตำแหน่งด้วยกระบวนการถอดถอนที่กล่าวมาข้างต้นนี้ (นิกสันลาออกเอง)
“ข่าวสด” รายงานเมื่อเดือนธันวาคม 1998 (พ.ศ. 2541) ระบุ 2 ข้อหาที่สภาคองเกรสลงมติให้ใช้ถอดถอนบิล คลินตัน ได้แก่ “ให้การเท็จต่อศาล” และ “ใช้อำนาจหน้าที่ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งล้วนแต่มีต้นตอจากกรณีความสัมพันธ์ทางเพศที่คลินตัน พยายามปกปิด
กรณีที่ถูกขุดกันมาคือ โมนิก้า เลวินสกี้ ซึ่งเคยฝึกงานที่ทำเนียบขาวระหว่างปี 1996-97 แม้เธอจะเคยปฏิเสธสัมพันธ์ทางเพศกับคลินตัน แต่เมื่อปรากฏหลักฐานชุดกระโปรงที่ให้เอฟบีไอตรวจสอบ ผลออกมาพบว่ามีรอยคราบอสุจิ กระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม คลินตัน แถลงข่าวยอมรับว่ามีสัมพันธ์กับเลวินสกี้ หลังจากนั้นมาเก้าอี้ตำแหน่งและเรื่องครอบครัวของคลินตัน ก็สั่นคลอน
วันที่ 11 กันยายน สภาคองเกรสอนุมัติเผยแพร่รายงานที่มีเนื้อหาอาจเข้าขั้น “เรตเอ็กซ์” ของอัยการที่เปิดโปงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคลินตันกับเลวินสกี้ หนา 445 หน้า คดีอื้อฉาวนี้เองคือต้นเหตุที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติเสนอให้วุฒิสภาลงคะแนนเสียงถอดถอน หรือ Impeachment ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง
การลงมติในเดือนกุมภาพันธ์ยุติลงด้วยการ “คัมแบ็ก” ของนายบิล คลินตัน ข้อกล่าวหาแรกเรื่องให้การเท็จ ผลออกมา ไม่ผิด 55 เสียง และผิด 45 เสียง ข้อกล่าวหาต่อมา มติเท่ากันที่ 50 ต่อ 50 นายวิลเลียม เรนห์ควิสต์ ผู้พิพากษาสูงสุดประกาศให้นายบิล คลินตัน พ้นผิดจากทั้ง 2 ข้อกล่าวหา ยุติกรณีอื้อฉาวที่กินเวลายาวนาน 13 เดือน
“ลิเกการเมือง” มะกันปิดฉากแล้ว
ประโยคข้างต้นคือ “พาดหัว” ข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 รายงานข่าวอ้างอิงว่า สื่อต่างประเทศหลายแห่งแสดงความคิดเห็นในการดำเนินคดีต่อผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ โดยเปรียบเสมือน “ลิเก” หรือวิตกจริตกันเกินกว่าเหตุ เป็นคดีที่สร้างความอัปยศให้กับทั้งสภาคองเกรส และผู้นำทำเนียบขาว เป็น “นาฏกรรมการเมืองที่จบลงโดยไม่มีเสียงปรบมือ”
ขณะที่ฉบับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ “มติชน” ยังรายงานความคิดเห็นของ “คนอเมริกันส่วนใหญ่” ซึ่งมองว่า สิ้นเปลืองงบประมาณเปล่า ๆ ถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจบลงด้วยชัยชนะทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ ส่วนพรรครีพับลิกันรวนกันหนัก คะแนนนิยมก็ตก ขณะที่พรรคเดโมแครตเตรียมส่งฮิลลารี คลินตัน ลงสมัครเลือกตั้งคราต่อไป
ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในคดีนี้ “มติชน” ฉบับวันที่ 14 ก.พ. 2542 รายงานว่า ทีมงานของอัยการพิเศษเคนเนธ สตาร์ ใช้เงินในการดำเนินการมากถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการไต่สวนของรัฐสภาอาจสิ้นเปลืองงบอีกราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีอ้างความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ที่ระบุว่า “ชัยชนะของประธานาธิบดีคลินตันครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองครั้งสุดยอดในประวัติศาสตร์อเมริกัน” ในขณะที่นักยุทธศาสตร์ของพรรครีพับลิกันยอมรับว่า พรรคกำลังสับสนงุนงงอย่างหนักกับผลสำรวจคะแนนนิยมที่ผ่านมา เนื่องจากการอิมพีชเมนต์คลินตัน กระทบต่อคะแนนนิยมพรรคตกต่ำเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ มีประชาชนอเมริกันบางส่วนเท่านั้นที่ผิดหวังและเห็นว่าพรรครีพับลิกันยอมแพ้ง่ายเกินไป
ภายหลังการลงมติ 2 ชั่วโมง ประธานาธิบดีคลินตัน แถลงข่าวสั้นๆ ที่โรสการ์เดน ในทำเนียบขาว โดยแสดงความเสียใจและขออภัย พร้อมขอบคุณแรงสนับสนุนที่ได้รับ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเริ่มต้นใหม่
นายบิล คลินตัน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพียงครั้งเดียวในการแถลงครั้งนี้ เมื่อถูกถามว่า พร้อมจะลืมและให้อภัยฝ่ายตรงข้ามหรือไม่
บิล คลินตัน ตอบว่า
“ข้าพเจ้าเชื่อว่า ใครก็ตามที่ร้องขออภัยจากผู้อื่น ต้องพร้อมที่จะให้อภัยเช่นกัน”
จากนั้นก็เดินกลับเข้าทำเนียบไป
อ่านเพิ่มเติม :
- “ลดอำนาจรัฐ” เปิดทัศนคติการเมืองของโธมัส เจฟเฟอร์สัน ปธน. สหรัฐฯ
- แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก ที่สาบานตนวันที่ 20 มกราคม
- เผยตัวตนเอฟบีไอสองหน้า แฉข้อมูลลับให้สื่อจนนิกสัน ลาออกจากปธน. แต่ปากบอกไม่ได้ทำ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2562