“ทุ่งสานสะเทือน” บทเพลงสะท้อนปัญหาการแย่งพื้นที่ทำกินที่ “ทุ่งสาน” พิษณุโลก

ภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่เกษตรกรรมทุ่งสาน พิษณุโลก (ภาพจาก Google Map)

ทุ่งสานสะเทือน สะเทือน สะเทือน เกลื่อนภัยคุกคาม ทั่วพรหมพิรามพิษณุโลก
ทุ่งสานสีทอง ต้องกลายเป็นแดนแสนวิปโยค ชุ่มโชกด้วยเลือดและน้ำตานอง

นี่คือเนื้อร้องของเพลง “ทุ่งสานสะเทือน”* ที่ผู้เขียนไม่เคยรู้จักและไม่เคยฟังมาก่อน มีผู้อ่านศิลปวัฒนธรรมได้ส่งข้อความให้ช่วยทำประวัติเหตุการณ์จากเพลงนี้ เมื่อฟังจบก็ยังไม่ทราบว่า ทุ่งสานเป็นชื่อของสถานที่ใด อยู่ที่ไหน เกิดเหตุการณ์ใดที่ “แสนวิปโยค ชุ่มโชกด้วยเลือดและน้ำตานอง” 

ผู้เขียนพยายามค้นข้อมูลเกี่ยวกับทุ่งสานจนพบข่าว “ทุ่งสานโมเดล” ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2554 สรุปความได้ว่า บริเวณที่เรียกว่าทุ่งสาน เป็นเขตเกษตรกรรมในจังหวัดพิษณุโลก มีปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ทำกินระหว่างคนท้อนถิ่น คนต่างถิ่น นายทุน และข้าราชการ ชาวทุ่งสานมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ แม้ได้รับการช่วยเหลือโดยมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองทุ่งสาน แต่ปัญหาก็ไม่ได้หมดสิ้นลง

ผู้เขียนได้เจอข้อมูลชิ้นหนึ่ง เป็นงานวิจัยชื่อว่า “โครงการประวัติศาสตร์ชุมชนทุ่งสาน” โดย ร.ศ.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ ที่มีข้อมูลทุ่งสานทั้งด้านประวัติศาสตร์ การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้ผู้เขียนเห็นภาพของทุ่งสานและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ตามที่เพลง “ทุ่งสานสะเทือน” ได้สะท้อนออกมานั้นว่าเป็นเรื่องจริง

ทุ่งสานเป็นพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำน่าน จรดแม่น้ำแควน้อยทางทิศใต้ ด้านตะวันออกของทุ่งสานติดกับทิวเขาทับยายเชียง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกพื้นที่นี้ว่า “ท้องทุ่ง” พระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2487 ที่ได้กำหนดขอบเขตที่ดินหวงห้ามในทุ่งสาน ไม่ได้เรียกพื้นที่บริเวณนี้เรียกว่าทุ่งสานแต่อย่างใด โดยกฎหมายนี้ได้กำหนดขอบเขตที่ดินหวงห้ามไว้ ซึ่งครอบคลุมตำบลพรหมพิราม มะต้อง วงฆ้อง หอกลอง ท้อแท้ ทับยายเชียง วัดโบสถ์ และหนองแขม

อาณาบริเวณทุ่งสาน พิษณุโลก (ภาพจาก Google Map)

ทุ่งสานมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ มีบึงและคลองจำนวนมาก น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก เมื่อน้ำลด ทุ่งสานกลายเป็นทุ่งน้ำ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด บริเวณขอบชายทุ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนต่าง ๆ ขณะที่ชาวบ้านบางกลุ่มก็อาศัยบนเรือนแพริมคลอง ทุ่งสานมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจำนวนมากที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ชาวทุ่งสานสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่เหล่านั้นได้อย่างอิสระ ทั้งหาปลา จับนก ล่าสัตว์ เลี้ยงควาย ตัดไม้ แข่งเรือ ซึ่งวิถีเหล่านี้จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป จากท้องทุ่งเปลี่ยนเป็นทุ่งนาสำหรับการเกษตรกรรม จากพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของหลายชุมชนสู่การยื้อแย่งครอบครองพื้นที่ทำกินส่วนตน

ก่อน พ.ศ. 2500 มีผู้อพยพย้ายมาลงหลักปักฐานที่ทุ่งสานอย่างต่อเนื่อง ทั้งไทย จีน ลาว แต่ปัญหาแย่งพื้นที่ทำกินยังไม่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เพราะจำนวนประชากรยังไม่มาก และแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมยังไม่เกิดขึ้น คนต่างถิ่นอพยพเหล่านั้นจึงได้หล่อหลอมเป็นพวกเดียวกับคนท้องถิ่น แม้จะมีปัญหาเรื่องสิทธิ์ที่ดินทำกิน ลักข้าว ลักควาย โจรผู้ร้าย แต่ปัญหาแย่งพื้นที่ทำกินยังไม่ได้รุนแรงนัก

ราว พ.ศ. 2498 กรมชลประทานได้สร้างประตูกั้นน้ำคลองโป่งนก คลองสายสำคัญของทุ่งสาน ทำให้สามารถควบคุมน้ำในพื้นที่ได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อการเกษตรกรรม ชาวทุ่งสานจึงหันมาเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวกันมากขึ้น ทุ่งสานจึงค่อย ๆ พัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของพิษณุโลก

กระทั่งหลัง พ.ศ. 2500 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจให้ตอบสนองต่อระบบทุนนิยม การพัฒนาที่สำคัญหนึ่งคือการสร้างเขื่อน (โดยเฉพาะเขื่อนชัยนาท) ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ไม่มีที่ทำกิน ประกอบกับทุ่งสานเป็นที่พูดกันปากต่อปากเรื่อยมาว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และมีที่ดินว่างเปล่าจำนวนมาก จึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามายังทุ่งสาน

วิธีการเข้ามาจังจองพื้นที่ทำกินในทุ่งสานมีหลายวิธี ชาวทุ่งสานบางคนขายที่ดินบางส่วนให้คนต่างถิ่น แล้วตนจึงไปทำการ “นาบป่า” คือการหักร้างถางพงนำรถไถมาบุกเบิกที่ดินแล้วเข้าครอบครองเองหรืออาจนำไปขายต่อ คนต่างถิ่นบางคนก็นาบป่าเอง บ้างก็จ้างคนนาบป่าให้ และยังมีอีกสารพัดวิธี ซึ่งไม่ได้มีชาวบ้านธรรมดา ๆ เท่านั้น ยังมีพวกข้าราชการและนายทุน เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมการการแย่งชิงพื้นที่ทำกินในทุ่งสาน

ภาครัฐแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้ง “นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 ได้ออกสำรวจพื้นที่ กำหนดขอบเขต และยกเลิกการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวบ้านทั้งหมด ที่ดินในทุ่งสานจึงกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของนิคมฯ จากนั้นได้แบ่งที่ดินออกเป็นหลายแปลงให้สิทธิ์แก่คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมาก่อนหรือหลัง แต่ชาวบ้านที่อาศัยมาก่อนได้สิทธิ์พิเศษกว่า ทว่า การแก้ปัญหาเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงคือ

ชาวบ้านที่ได้ที่ดินแปลงใหม่อยู่ไกลจากบ้านหรือที่ดินแปลงเดิม บางคนได้ที่ดินแปลงใหม่แต่ยังไม่ได้หักร้างถางพง ขณะที่ที่ดินแปลงเดิมของตนได้บุกเบิกไปแล้ว บางคนเข้าไปทำกินที่ดินแปลงใหม่ไม่ได้ เพราะเจ้าของเดิมขัดขวาง-ไม่ยินยอม บางคนเข้าไปทำมาหากินในที่ดินแปลงใหม่ไม่ได้และกลับไปทำมาหากินในที่ดินแปลงเดิมไม่ได้เพราะเจ้าของรายใหม่ได้เข้าครอบครองแล้ว ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การรวมกลุ่มเป็นพรรคพวก สร้างกลุ่มอิทธิพล มีการข่มขู่กันถึงขั้นนำโลงศพมาวางไว้บนที่นา และรุนแรงถึงขั้นสังหารกันอย่างโหดเหี้ยม และไม่เพียงแต่ปัญหาการแย่งพื้นที่ทำกินเท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก หนี้สิน ชลประทาน ระบบนิเวศ ลักขโมย โจรผู้ร้าย การทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการ ฯลฯ

ยกตัวอย่างกรณีความรุ่นแรงที่บ้านท้อแท้ ตำบลท้อแท้ มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวบ้านที่จับจองที่ดินมาก่อนกับชาวบ้านที่ได้รับจัดสรรที่ดินใหม่ ถึงขั้นดักยิงทำร้ายกันจนเป็นข่าวโด่งดังในอำเภอพรหมพิราม

ปัญหาในทุ่งสานเป็นที่รับรู้ของสังคมภายนอกมากยิ่งขึ้นหลัง พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา มีการรวมตัวกันยื่นฎีการาว พ.ศ. 2512-2513 และการชุมนุมเรียกร้องที่กรุงเทพฯ หลัง พ.ศ. 2517 อันเป็นผลมาจากการตื่นตัวประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ปัญหาในทุ่งสานไม่ได้รับการสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร แม้นิคมฯ จะมีการปรับปรุงพัฒนาแก้ไขปัญหาเรื่อยมา แต่นิคมฯ ก็มีปัญหาทั้งเรื่องการบริหารงาน งบประมาณ ความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม ฯลฯ

จนเมื่อเวลาผ่านไปชาวทุ่งสานขาดแกนนำในการเรียกร้องสิทธิ์ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอิทธิพลทำให้พวกเขาลดบทบาทในพื้นที่ลงไป ชาวบ้านบางคนไม่มีทางเลือกจำต้องเข้าร่วมกับนิคมฯ เหล่านี้ทำให้ดูเหมือนว่าปัญหาจะค่อย ๆ คลี่คลายลง แต่อาจเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรมเสียมากกว่า

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงชาวทุ่งสานที่มาชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2517 ว่า “น้ำตาชาวทุ่งสานในวันนั้น เป็นเรื่องน่าสยองมาก ไม่ใช่เรื่องเล็ก ผู้หยิงอาจจะเล่นน้ำตาได้ แต่ผู้ชายอายุห้าสิบหกสิบ มานั่งร้องไห้ ผมเพิ่งเคยเห็น ผมเห็นแล้วแทบช็อก…” คำพูดของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำให้เห็นชัดว่า “ทุ่งสาน” เป็น “แดนแสนวิปโยค ชุ่มโชกด้วยเลือดและน้ำตานอง” อย่างที่เพลงทุ่งสานสะเทือนได้บอกไว้จริง ๆ

ทุ่งสานสะเทือน สะเทือน สะเทือน
เกลื่อนภัยคุกคาม ทั่วพรหมพิรามพิษณุโลก
ทุ่งสานสีทอง ต้องกลายเป็นแดนแสนวิปโยค
ชุ่มโชกด้วยเลือดและน้ำตานอง

ทุ่งสานก่อนนี้ ก่อนนี้ ก่อนนี้
มีเพียงเขาป่า ทุ่งพงพนาฟ้าฝนมิต้อง
ต่อชาวไร่นาพากันทำกิน พลิกดินเป็นทอง
ทุ่งสานกลับต้อง หลั่งเลือดนองไหล

พม่ารบไทยครั้งในอดีต
ไทยยอมสละชีวิต คิดป้องกันเงึ้อมอธิปไตย
แต่ศึกทุ่งสานนั้นรบกับใคร พรหมพิรามเปลี่ยนนามเสียใหม่
เป็นพรหมพิราบอาบเลือดน้ำตา

ทุ่งสานสะเทือน สะเทือน สะเทือน
เปื้อนเลือดของใคร ก็เลือดของไทย แสนจะขายหน้า
ทุ่งสานนั้นสามัคคีพลีชีพ เพื่อพสุธา แดนสนธยา
ทุ่งสานสะเทือน


*เพลงทุ่งสานสะเทือนต้นฉบับขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ ราว พ.ศ. 2514-2515 แต่เพลงนี้เป็นที่รู้จักมากเมื่อ สายัณห์ สัญญา นำมาขับร้อง

อ้างอิง :

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ. (2546). โครงการประวัติศาสตร์ชุมชนทุ่งสาน. มหาวิทยาลัยนเรศวร

แคน สาริกา. (2554). ทุ่งสานโมเดล. ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2554

คมชัดลึก. (2553). คมเคียวคมปากกา-ทุ่งสานสะเทือน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562, จาก https://www.komchadluek.net/news/ent/48588.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2562