13 ธันวาคม 2520 สนามหลวง สนามสารพัดกิจกรรมของคนกทม. ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

สนามหลวง โบราณสถาน
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณ วังหน้า สนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539 กรมศิลปากร 2539)

13 ธันวาคม 2520 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน “สนามหลวง” สนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่ 74 ไร่ 63 วา เป็น “โบราณสถาน” ในราชกิจจานุเบกษา  

หากย้อนกลับไปสนามใหญ่แห่งนี้คือสถานที่จัดกิจกรรมหลวง และราษฎร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทาง ซึ่งบางอย่างก็คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นสนามแห่งนี้

สนามหลวง มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยตั้งอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) กับ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นบริเวณที่โล่งจัดให้มีขึ้นอย่างสนามหน้าจักรวรรดิของพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง คนทั่วไปจึงเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” ถ้าไม่มีงานพระเมรุก็ปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าราวหนองบึง

ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 ไทยกับญวนมีเรื่องวิวาทกันเกี่ยวกับดินแดนเขมร จึงโปรดฯ ให้มีการทำนาที่ท้องสนามหลวง เพื่อที่จะให้ญวนเห็นว่าไทยเป็นบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีเสบียงอาหารพร้อม ที่จะทำสงครามกับญวนได้เต็มที่ เพราะแม้แต่ข้างพระบรมมหาราชวังก็มีการทำนากัน

เมื่อมีการทำนาที่ท้องสนามหลวงดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้สร้างพลับพลาที่ประทับสำหรับทอดพระเนตรการทำนาที่ท้องสนามหลวงทางด้านทิศตะวันตกใกล้พระบรมมหาราชวัง แต่พลับพลาดังกล่าวเมื่อแรกสร้างจะเป็นไม้ หรือก่ออิฐถือปูนอย่างไรก็ไม่ปรากฏชัด

งานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทุ่งพระเมรุ ท้องสนามหลวง (ภาพลายเส้นจาก L’lllustration ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2410 )

ในรัชกาลที่ 4 ก็ยังใช้สนามหลวงเป็นที่ทำนาหลวงเหมือนอย่างในรัชกาลที่ 3 ตามเดิม แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจที่ราษฎรเรียกสนามหลวงว่า “ทุ่งพระเมรุ” พระองค์จึงโปรดให้มีประกาศเรียกว่า “ท้องสนามหลวง” ตามประกาศ ดังนี้

“ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า ท้องสนามหลวง ถ้าผู้ที่ยังมิได้รู้หมายประกาศนี้ หรือได้รู้แล้ว แต่หลงลืมไป ยังเรียกว่าทุ่งพระเมรุอยู่ตามเคยเรียกมาแต่ก่อน ถ้ากรมพระตำรวจหรือกรมพระนครบาลผู้หนึ่งผู้ใดจับกุมผู้ที่เรียกพลั้งเรียกผิดนั้นมาปรับไหมเอาเงินทอง ก็ให้ผู้ต้องจับนั้นมาร้องฟ้องตามกระทรวง ถ้าชำระได้ความจริงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ไหมผู้จับทวีคูณให้แก่ผู้ต้องจับนั้น”

ในรัชกาลที่ 3 นี้ที่ปรากฏว่าพลับพลาทอดพระเนตรการทำนาที่ท้องสนามหลวงมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีหอพระสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปในพระราชพิธีพืชมงคล มีหอสำหรับดักลม มีโรงละคร สำหรับเล่นบวงสรวง และบนกำแพงแก้วมีพลับพลาโถงสำหรับทอดพระเนตรในการทำนา ส่วนนอกกำแพงแก้วมียุ้งฉางไว้สำหรับใส่ข้าวหลวงที่ได้จากการปลูกข้าวเรียงเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม “สนามหลวง” ในอดีตไม่ได้มีขนาดใหญ่เท่าปัจจุบัน

ก่อนรัชกาลที่ 5 พื้นที่ของสนามหลวง คือ ทางด้านเหนือมีเพียงแค่ถนนพระจันทร์ (ถนนผ่ากลางท้องสนามหลวงในเวลานี้) ส่วนเหนือขึ้นไปเป็นพระราชวังบวร ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รื้อกำแพงป้อมปราการของวังหน้าทางด้านทิศตะวันออกที่ไม่สำคัญลง คงไว้แต่ที่สำคัญๆ ท้องสนามหลวงจึงได้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีกถึงเท่าตัว และโปรดฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวงเพื่อให้เกิดความร่มรื่นเหมือนอย่างถนนในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรมา

นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยัง โปรดฯ ให้รื้อพลับพลาสำหรับทำพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ในท้องสนามหลวงด้วย ทั้งนี้เพราะหมดความจำเป็นที่จะทำนาเหมือนอย่างในรัชกาลก่อนๆ เสียแล้ว

เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 ในรัชกาลที่ 5 ก็ได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่ตั้งกระบวนแห่พยุหยาตราอย่างใหญ่ มีทั้งกระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนเท้า ส่วนรอบท้องสนามหลวงก็ปลูกโรงไทยทาน สำหรับเลี้ยงพระ เลี้ยงไพร่ตลอดงาน รวมทั้งใช้จัด “นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน” คือการแสดงสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทยให้ราษฎรได้ชมเป็นเวลาถึง 3 เดือนอีกด้วย

หลังที่การเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ก็ได้มีพวกข้าราชการ ฯลฯ มาเฝ้าถวายความจงรักภักดี เป็นการต้อนรับเสด็จฯ ณ บริเวณท้องสนามหลวงเป็นหลายครั้ง คือพวกนักเรียนในกรุงเทพฯ เฝ้าเมื่อวันที่ 11 มกราคม ข้าราชการจีนและพ่อค้าจีนเฝ้าเมื่อวันที่ 19 มกราคม ข้าราชการในพระองค์ เฝ้าเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พวกสตรีสโมสรเฝ้าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ และสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จำพวกนอกพระบรมมหาราชวังเฝ้าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นต้น

อนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2446 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา พระองค์ก็ได้ทรงจัดให้มีพระราชกุศลนักขัตฤกษ์เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา ณ บริเวณท้องสนามหลวงด้วยส่วนหนึ่ง โดยพระองค์และมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ พลับพลา ให้ประชาชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กเข้าเฝ้าถวายพระพร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน

สนามหลวงได้เป็นสนามเล่นว่าวยอดนิยมมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 แล้วด้วย จนต้องออกประกาศเตือนให้คนเล่นว่าวระวังสายป่าน ซึ่งประกาศเมื่อวันจันทร์ เดือน 5 ขึ้น 2 ค่ำ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช 1217 ใจความว่า

“พระยาเพ็ชปาณีรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้นายอำเภอป่าวร้องประกาศข้าราชการ แลราษฎรที่เปนนักเลงเล่นว่าว เอาว่าวขึ้นก็ให้เล่นแต่ตามท้องสนามแถบที่ว่างเปล่า ไม่ห้ามปรามดอกให้เล่นเถิด แต่อย่าให้สายป่านว่าวไปถูกเกี่ยวข้องพระมหาปราสาท พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ช่อฟ้า ใประกา พระมหาสมณเทียร พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง พระบรมมหาราชวัง แลช่อฟ้าใบระกา วัดวาอารามให้หักพังได้ ถ้าผู้ใดชักวาวไม่ระวังให้สายป่านพาดไปถูกต้องของหลวงแลวัดวาอารามให้หักพังยับเยินสืบไป จะเอาตัวเจ้าของว่าวเป็นโทษตามรับสั่ง”

นอกจากกีฬาว่าวแล้ว ในอดีตสนามหลวงยังเคยเป็นสนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟมาแล้วเช่นกัน

การแข่งขันม้า ข้าราชการต่างๆ ชาวสโมสรน้ำเค็ม (คือสโมสรเจ้านาย ข้าราชการ และผู้ที่เคยไปศึกษาหรือเคยเดินทางไปต่างประเทศมาแล้ว) ต้องการจัดงานฉลองน้อมเกล้าฯ ถวายแสดงความจงรักภักดีต่างๆ ณ วโรกาสเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรป ที่ประชุมลงความเห็นว่า ให้จัดการแข่งม้าถวายทอดพระเนตร โดยใช้สนามหลวงเป็นสนามแข่งม้าชั่วคราว

สนามหลวงใช้เป็นสนามกอล์ฟ

ส่วนการเล่นกอล์ฟนั้นก็เริ่มต้นที่ท้องสนามหลวงเหมือนกัน เพราะสมัยนั้นมีสนามขนาดใหญ่อยู่ใกล้กันเพียง 3 สนามเท่านั้นคือ สนามหลวง สนามสถิตย์ยุติธรรม และสนามไชย เจ้าพระยามหินทร์เล่าว่าพวกข้าราชการที่เป็นชาวต่างประเทศที่ชอบเล่นกอล์ฟ ได้อาศัยสนามทั้ง 3 นี้รวมกันทำเป็นสนามกอล์ฟเล่นได้ 9 หลุมพอดี

ส่วนในเรื่องการพระเมรุนั้น สนามหลวงได้ใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ มาทุกรัชกาล (ยกเว้นรัชกาลที่ 7 เพราะพระองค์เสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ)

สมัยรัชกาลที่ 9  มีการใช้พื้นที่สนามหลวงเป็น “ตลาดนัด” ตลาดนัดสนามหลวงเกิดขึ้นในปี 2491 สินค้าที่ขายระยะแรกเป็นพืชสวน พืชไร่ ของเกษตรกร เมื่อค้าขายนานเข้าก็สินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ จนเมื่อปี 2521 รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต้องการใช้สนามหลวงเป็นสถานที่งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมอบที่ดินย่านพหลโยธินบริเวณสวนจตุจักรด้านใต้แก่กรุงเทพมหานครเพื่อใช้ในกิจการสาธารณะประโยชน์ กรุงเทพมหานครจึงปรับพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าจากสนามหลวงมาอยู่ที่ “ตลาดนัดสวนจตุจักร” ในปี 2525

สุดท้ายสนามหลวงเคยมีชีวิตและวิญญาณทางการเมืองสมัยใหม่ เริ่มจากเป็นสถานที่ไฮด์ปาร์กแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นแหล่งชุมนุมหาเสียงทางการเมือง เป็นที่ชุมนุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 ท้ายที่สุดยังเป็นศูนย์การ ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 6 ตุลาคม 2519

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2548

ผศ.ทรงสิริ วิชิรานนท์. “พัฒนาการตลาดนัด”, วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร ปีที่ 7  เล่มที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2562