เผยซากสุนัขที่พบในไซบีเรียอายุกว่าหมื่นปี ยังแยกดีเอ็นเอไม่ออก

ซากสุนัขที่นักวิจัยพบจากแหล่ง Belaya Gora (ภาพจาก Twitter/@love_dalen)

ซากสัตว์ขนาดเล็กซึ่งมีลักษณะคล้าย “ลูกสุนัข” ถูกพบในไซบีเรียเป็นหลักฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตื่นตัวกันยกใหญ่จากสภาพของซากที่ยังมีขน และฟันหลงเหลืออยู่ และยิ่งเมื่อตรวจสอบด้วยกรรมวิธีทางคาร์บอนซึ่งพบว่า ซากสัตว์นี้มีอายุประมาณ 18,000 ปี แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า สัตว์ขนาดเล็กนี้อยู่ในสายพันธุ์สุนัขหรือหมาป่า

รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศแถวหน้าของโลกอย่างซีเอ็นเอ็น และบีบีซี ต่างรายงานข้อมูลการค้นพบและผลการศึกษาซากสัตว์ที่พบใน Yakutsk ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของไซบีเรีย ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์รัสเซีย

รายงานข่าวเผยว่า จากการตรวจสอบด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ผลการตรวจทำให้เชื่อว่า ซากของสัตว์เพศผู้นี้น่าจะตายขณะที่อายุได้ 2 เดือน ขณะที่ซากของมันยังคงอยู่ในสภาพค่อนข้างดีเนื่องจากอยู่ในสภาพดินที่แช่แข็งในพื้นที่มาโดยตลอด เมื่อค้นพบซากจึงเห็นได้ว่า จมูก ฟัน และขนของมันยังคงติดอยู่ในซากด้วย

เมื่อตรวจสอบดีเอ็นเอแล้ว นักวิทยาศาสตร์กลับไม่สามารถระบุสายพันธุ์ที่แน่ชัดได้ ซึ่งทำให้เกิดสมมติฐานว่า ซากตัวอย่างนี้อาจเป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ถึงสายสัมพันธ์ระหว่างหมาป่ากับสุนัขในยุคสมัยใหม่

เดฟ สแตนตัน นักวิจัยที่ศูนย์พันธุศาสตร์ดึกดำบรรพ์ในสวีเดนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ข้อติดขัดเรื่องดีเอ็นเอเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ซากสัตว์ชนิดนี้อาจสืบสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นต้นสายของทั้งสุนัขกับหมาป่า ขณะที่นักวิจัยอีกรายจากสถาบันเดียวกันทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตว่า ซากสัตว์นี้อาจเป็นลูกหมาป่า หรืออีกทางหนึ่งก็อาจเป็นซากสุนัขที่ “เก่าแก่สุดเท่าที่พบมา”

รายงานข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีเผยว่า นักวิจัยจะเดินหน้าศึกษาด้านดีเอ็นเอต่อไป และเชื่อว่าผลการศึกษาน่าจะช่วยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสุนัขได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า สุนัขสืบสายพันธุ์มาจากหมาป่า แต่ยังมีข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องจุดเปลี่ยนที่ทำให้สุนัขกลายเป็นสัตว์ที่เชื่องเชื่อได้นั้นเริ่มต้นเมื่อใด งานวิจัยล่าสุดเมื่อปี 2017 บ่งชี้ว่า การฝึกสุนัขให้เชื่องน่าจะพบเห็นได้ระหว่าง 20,000-40,000 ปีก่อน

แต่งานวิจัยเมื่อปี 2016 จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่เผยแพร่ในวารสาร Science กลับบ่งชี้อีกทางว่า สุนัขถูกฝึกให้เชื่องมา 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งในเอเชีย และอีกครั้งในยุโรป โดยสุนัขที่ถูกฝึกมาจากสายหมาป่าสีเทา ระยะเวลาน่าจะอยู่ในระหว่างช่วงยุคยุคหินเก่า (Paleolithic)


อ้างอิง:

“Siberia: 18,000-year-old frozen ‘dog’ stumps scientists”. BBC. Online. Published 28 NOV 2019. Access 29 NOV 2019. <https://www.bbc.com/news/world-europe-50586508>

Woodyatt, Amy. “Is it a dog or is it a wolf? 18,000-year-old frozen puppy leaves scientists baffled”. CNN. Online. Published 27 NOV 2019. Access 29 NOV 2019. <https://edition.cnn.com/travel/article/frozen-puppy-intl-scli-scn/index.html>