ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2540 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ. ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล |
เผยแพร่ |
เถียน เต็ง และ หอย เป็น ชาวจีน 3 ราย ที่อพยพเข้ามาในสยาม ต่อมาสร้างเนื้อสร้างตัวกระทั่งมีฐานะ และเป็นต้นธารของตระกูลใหญ่ที่มีบทบาทในสังคมไทย และได้รับการยอมรับนับถือในหมู่ชาวจีนในไทยอย่างมาก
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวจีน และพวกเชื้อสายดูจะเป็นภาพหนึ่งที่เด่นชัดของชนกลุ่มน้อยที่อพยพย้ายมาจากถิ่นฐานเดิม โดยกระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยาวนานนับร้อยปีทีเดียว
“อั้งยี่” คือใคร? มาจากไหน? มีการกระทำเป็นอั้งยี่และซ่องโจรคืออะไร? หาคำตอบได้ 23 กุมภาพันธ์นี้ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ขอเชิญผู้สนใจร่วมฟังการเสวนา ค้นหาคำตอบเรื่อง “อั้งยี่” ไปด้วยกันในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา อั้งยี่ : “จีนเทา” ในไทยสมัยแรก วิทยากรโดย ผศ.ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ และ สมชาย แซ่จิว วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ลงทะเบียนเข้าร่วมฟังเสวนาได้ที่ลิงค์ https://bit.ly/3IjHGyi
ชาวจีนอพยพและลูกหลานที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ที่น่าสนใจมีจํานวน 3 ตระกูล เริ่มจาก พระยาโชฎึกราชเศรษฐี หรือ จีนเถียน ต้นสกุล “โชติกเสถียร”
จีนเถียนเป็นบุตรของจีนจือ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจีนจืออาจจะเป็นชาวจีนแต้จิ๋วหรือไม่ก็ฮกเกี้ยน แม้ตอนต้นจะอยู่ที่อยุธยาบริเวณคลองสวนพลู วัดพนัญเชิง ชุมชนชาวจีนที่สําคัญแห่งหนึ่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เมื่อเติบใหญ่ จีนเถียนได้ออกเรือนอยู่กินกับนางสุ่น คนบ้านลานตากฟ้าเมืองนครชัยศรี ก่อนอพยพครอบครัวลงมาปักหลักที่ปากคลองโอ่งอ่างใกล้วัดบพิตรภิมุขในปัจจุบัน
การค้าขายของจีนเถียนน่าสนใจอย่างยิ่ง เขาสามารถแต่งสําเภาไปค้าขายตามเมืองท่าทางตอนใต้ของจีน โดยนําข้าว ดีบุก พริก ไทย ไม้ และรังนกส่งขายถึงที่โน่น พร้อมนําเครื่องกังไส ใบชา ผ้าไหม และแพรจีน กลับมาขายในยี่ห้อการค้าว่า “เกี้ยนเฮง” สัญลักษณ์สิงโตคู่ขนาบข้างอักษรจีน
จีนเถียน เจ้ากรมท่าซ้าย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการค้ากับต่างประเทศยังคงใช้โครงสร้างและรูปแบบการค้าตามอย่างอยุธยาตอนปลาย เป็นการค้าผูกขาดใต้ระบบพระคลังสินค้า ชาวจีนอพยพที่ประกอบการค้าจึงมักสร้างสัมพันธ์กับขุนนางผู้ใหญ่ในวงราชการ ด้วยหวังโอกาสแต่งสําเภาไปค้าขายยังต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ทําให้จีน เถียนได้เข้ามาเกี่ยวพันกับระบบราชการ กระทั่งมีโอกาสถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “หลวงภาษีวิเศษ” เจ้าภาษีนายอากรในกรมท่าซ้าย
ประมาณ พ.ศ. 2411 ต้นรัชกาลที่ 5 จีนเถียนได้เป็น “พระพิบูลย์พัฒนากร” และมีโอกาสตามเสด็จประพาสอินเดียไปดูงานเกี่ยวกับการภาษีอากรด้วย เส้นทางของจีนเถียนในระบบราชการเติบโตถึงขีดสุดใน พ.ศ. 2422 ได้เลื่อนขึ้นเป็นมหาอํามาตย์ผู้ใหญ่พานทองถือศักดินา 1,400 บรรดาศักดิ์ “พระยาโชฎึกราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าซ้าย ดูแลการเก็บภาษีอากร การติดต่อค้าขายกับประเทศทางตะวันออก ศาลคดีจีน ไปจนถึงการควบคุมดูแล ชาวจีน ในสังคมไทยให้อยู่อย่างสงบสุข
ไม่เพียงเท่านี้ จีนเถียนยังได้รับความไว้วางใจให้ทํางานสําคัญอีกหลายอย่างถวายด้วย อาทิ เป็นประธานสร้างพระที่นั่งเวหาศจํารูญ ในพระราชวังบางปะอิน โดยขุนนางและพ่อค้าชาวจีนร่วมสมทบทุนสร้างถวาย เป็นกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชในพระราชดําริ เป็นหัวหน้าในพระราชพิธีแต้มพระป้ายที่ประดิษฐานที่พระที่นั่งเวหาศจํารูญก่อนมีการบําเพ็ญพระราชกุศลเซ่นไหว้ในวันตรุษจีน กระทั่งเป็นพระราชประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้ารับผิดชอบการจัดเลี้ยงผู้คนในพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในราชวงศ์จักรี และยังเป็นผู้ริเริ่มการจำหน่ายน้ำประปาแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก
ด้านการเป็นผู้นำของสังคม “ชาวจีน” ในประเทศไทยที่เห็นเด่นชัดคือ การเป็นผู้นำบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเล่งเน่ยยี่ที่ถนนเจริญกรุง และวัดฉิมพลีที่ถนนกรุงเกษม โดยเฉพาะวัดฉิมพลีหรือวัดนรนารถสุนทริการามนับเป็นวัดประจำตระกูลจนถึงทุกวันนี้
“โชติกเสถียร” เป็นนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6 แปลว่า “สว่างนาน” ผู้สืบสกุลชั้นที่ 2 เป็นต้นมาล้วนแต่ได้เข้ามาอยู่ในระบบราชการทั้งสิ้น ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากคำกล่าวที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” สกุล “โชติกเสถียร” ชั้นต่อ ๆ มาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไทยสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ชาวจีน เจ้าของสมญานาม “อากรเต็ง”
ขุนนางไทยเชื้อสายจีนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตระกูลที่สองคือ ตระกูล “โสภโณดร” อันหมายถึง “ทิศเหนืออันงดงาม” โดยมี จีนเต็ง หรือ หลวงอุดรภัณฑ์พานิช เป็นต้นสกุลนี้
จีนเต็งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วจากกวางตุ้งที่หนีภัยสงครามฝิ่นเข้าไทยเมื่ออายุ 17 ปี ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาชีพแรกในไทยคือการเป็นจับกังพายเรือ กระทั่งเก็บออมได้มากขึ้นจนถึงขั้นปล่อยเงินกู้ได้ ทำให้จีนเต็งลงทุนทำการค้าได้ตามที่ใจอยาก
ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเมืองการค้าขึ้นตามภูมิภาค เช่น เมืองตาก เชียงใหม่ โรคาช จีนเต็งจึงรวบรวมเงินทุนรอนแรมจากกรุงเทพฯ มาตั้งมั่นค้าขายที่เมืองตากและขยายขอบเขตไปเชียงใหม่ จีนเต็งยังประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับเจ้านายฝ่ายเหนือ จนได้รับความช่วยเหลือให้ดูแลเรื่องภาษีอากรฝิ่น สุรา และบ่อนเบี้ยในเมืองเชียงใหม่ สมญาณาม “อากรเต็ง” จึงมีกำเนิดนับแต่นั้น
จีนเต็งขยายกิจการใหญ่ขึ้นโดยเข้าร่วมหุ้นส่วนค้าขายกับเพื่อนพ่อค้าจีนที่เมืองตาก ใช้ยี่ห้อการค้าว่า “กิมเซ่งหลี” นับช่วงผูกขาดการจัดเก็บภาษีอากรในเมืองเชียงใหม่และค้าขายสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่เรื่อยลงมาจนถึงปากน้ำโพ
ในที่สุด จีนเต็งได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น พร้อมตั้ง “ห้างกิมเซ่งหลี” ขึ้นอีกร้านหนึ่งที่กรุงเทพฯ ดําเนินกิจการด้านโรงสีไฟ อู่เรือ และโรงจักรเลื่อยไม้ นับเป็นบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ขณะนั้น มีคนงานพันกว่าคน โดยขยายกิจการโรงสีไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีเงินลงทุนในกิจการธนาคารแบงก์สยามกัมมาจลหรือธนาคารไทยพาณิชย์ กิจการเรือเมล์จีนสยามทุนจํากัด และกิจการร้านค้า-บริษัทรถไฟที่ฮ่องกง ซัวเถาด้วย
จีนเต็งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงอุดรภัณฑ์พานิช” สันนิษฐานว่าคงได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 5
ด้านสังคม ความสําเร็จทางการค้าและความมั่งคั่งได้เอื้ออํานวยให้จีนเต็งเป็นผู้กว้างขวาง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนอพยพสมัยนั้น อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังกิจการการค้าหลายอย่างอยู่ภายใต้อิทธิพลและการผูกขาดของพ่อค้าชาติตะวันตก กอปรกับใน พ.ศ. 2460 มีการยกเลิกหวย ก.ข. และการพนันบ่อนเบี้ย การประมูลจัดเก็บภาษีทั้งสองชนิดนี้จึงถูกยกเลิกไป จากภาวะดังกล่าวทําให้บริษัทกิมเซ่งหลีที่เคยยิ่งใหญ่เริ่มลดบทบาทลง และได้เลิกกิจการไปในสมัยรัชกาลที่ 7
จีนเต็งนับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของชาวจีนอพยพที่มีความสามารถ และนับได้ว่าเป็นนายทุนรุ่นบุกเบิกของสังคมไทยในช่วงที่เพิ่งพัฒนาเข้าสู่ระบบทุนนิยม
ชาวจีน ต้นกําเนิดนาม เตชะกําพุช
ส่วนตระกูลที่สามคือ ตระกูล “เตชะกําพุช” ของ ขุนพัฒน์ หรือ เจ้าสัวหอย ที่อยู่ในสถานการณ์เป็นผู้นําคนหนึ่งของพวกชาวจีนอพยพ
เจ้าสัวหอยหรือจีนหอยมีชื่อเดิมว่า “แต้หอย” มาจากอําเภอเฉิงไห่ เมืองเฉาโจว อพยพมาจากประเทศจีนเมื่ออายุได้ประมาณ 25-26 ปี ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จีนหอยเดินทางจากท่าเรือซัวเถาหลังจากรอนแรมอยู่ในทะเลเกือบเดือนก็เดินทางมาถึงไทย และได้ไปทํางานเป็นลูกจ้างในร้านค้าแถวถนนทรงวาด ก่อนจะออกมาตั้งร้านค้าของตนเองที่สําเพ็ง
ช่วงนี้เอง จีนหอยแต่งงานกับหญิงชาวไทยชื่อ นางเลียบ กระทั่งมีทุนรอนมากขึ้นก็เริ่มเข้าประมูลผูกขาดกิจการโรงบ่อนเบี้ยและการออกหวย ก.ข. และใน พ.ศ. 2420 จีนหอยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากรัชกาลที่ 5 ให้เป็น “ขุนพัฒน์” นายอากรบ่อนเบี้ย มีกิจการโรงบ่อนอยู่หลายแห่ง เช่น ที่สำเพ็ง ตลาดพลู นอกจากนี้ยังไปลงทุนในกิจการอื่น ๆ เช่น โพยก๊วน โรงรับจำนำ และธุรกิจการเงิน
กิจการโพยก๊วนของจีนหอยใช้ชื่อยี่ห้อว่า “เซ่งซุ่นหลี” ตั้งอยู่ที่สำเพ็งและมีสาขาอยู่ที่ซัวเถา สำหรับกิจการโรงรับจำนำนั้นมีชื่อยี่ห้อว่า “ซุ่นเซ่งหลี” ตั้งอยู่ที่สำเพ็งเช่นกัน แต่ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่หัวลำโพง ส่วนธุรกิจด้านการเงิน จีนหอยได้ลงทุนก่อตั้งธนาคารซุ่นฮกเซ้งที่ถนนทรงวาด ต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่สำเพ็ง และมีสาขาอยู่ที่ฮ่องกง ซัวเถา และสิงคโปร์ ระยะแรกทำเฉพาะด้านการค้ากับต่างประเทศ ต่อมา แต้ไต้เห่า บุตรชายคนเล็กเข้ามาดูแล จึงได้ขยายกิจการธนาคารเต็มรูปแบบ
เรื่องราวในชั้นลูกที่โดดเด่นเห็นจะเป็น “แต้ลั่งเซียง” บุตรสาวที่เกิดจากนางติ๊กหูภรรยาจีน บุตรสาวคนนี้มีทายาทอีก 2 คน โดยคนรองเป็นผู้ชายชื่อ นายกเสียร สุพรรณานนท์ ผู้ก่อตั้งร้านค้าทอง “เซ่งเฮงหลี” ซึ่งเป็นร้านค้าทองที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งย่านถนนเยาวราชสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อีกรายคือ “แต้กิมไล้” ลูกสาวคนโตอันเกิดจากนางเลียบภรรยาไทย ที่ได้แต่งงานกับนายปลื้ม สุจริตกุล บุตรชายของพระยาราชภักดี (โค) น้าชายของสมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ
เรื่องราวของแต้กิมไล้มีบันทึกในหอจดหมายเหตุแห่งชาติถึงความสามารถด้านการค้าว่า
“…หลังจากที่ท่านได้สมรสกับเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) แล้ว จากการที่มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจการค้ามาบ้าง ทำให้ท่านได้ลงทุนธุรกิจขอสัมปทานรัฐบาลทำบริษัททำเรือโดยสารและโดยสารข้ามฟากสมัยนั้นเรียกว่า เรือเขียว มีเส้นทางเดินเรือจากบ้านคลองด่านผ่านประตูน้ำภาษีเจริญ ประตูน้ำดำเนินสะดวกและบางยาง ไปออกแม่น้ำนครชัยศรี ต่อมาในช่วงหลังมีผู้สนใจลงทุนขอสัมปทานแข่งขันกันมากขึ้น เช่น บริษัทสุพรรณ์เมล์แดง บริษัทเรือขาวของพระยาภิรมย์ภักดี”
จากการแข่งขันทำให้เกิดปัญหา ประกอบกับเวลานั้น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม) ได้รับตำแหน่งอธิบดีศาลต่างประเทศ เกรงว่ากิจการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดคดีพิพาทเป็นที่มัวหมองต่อหน้าที่ราชการ กิจการเดินเรือของแต้กิมไล้จึงได้ล้มเลิกไป
ส่วน แต้ไต้ฉิน น้องชายคนรองของแต้กิมไล้ ทำกิจการตั้งร้านแลกเงินชื่อ “ร้านซุ่นหลี” (เซ่งซุ่นหลี) นอกจากนี้แล้วยังตั้งร้านขายของชื่อว่า “เซ่งซุ่นหลี จินกี่” ตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราชอีกด้วย
ใน พ.ศ. 2460 ชั้นลูกของจีนหอยได้กราบทูลขอประทานนามสกุลจากสมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ซึ่งพระองค์ได้ประทานนามสกุลว่า “เตชะกำพุ” มีความหมายว่า “หอยสังข์ที่มีอำนาจ” แม้ว่าในชั้นหลัง ๆ ลูกหลานของเจ้าสัวในบางสายได้ใช้เพี้ยนเป็น “เตชะกำพุช” บ้าง หรือ “เตชะกัมพุช” บ้าง แต่ทั้งหมดก็ล้วนสืบเชื้อสายมาจากจีนหอย ชาวจีนอพยพผู้มีความสามารถและเป็นนายทุนสำคัญคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5
จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับขุนนางไทยเชื้อสายจีนบางตระกูลในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า พวกขุนนางไทยเชื้อสายจีนในสมัยนั้นมักมีบทบาททางด้านการค้าและการทำราชการ โดยมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น อันสะท้อนถึงค่านิยมในระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทยชัดเจน
มีประเด็นน่าสนใจประการหนึ่งว่า ลูกหลานของขุนนางไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้มักไม่สามารถสืบทอดบทบาทสําคัญทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่กลุ่มทุนใหญ่ที่มีบทบาทในเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน มักเป็นลูกหลานของชาวจีนอพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย
จึงเป็นเรื่องที่สมควรศึกษาว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ เพื่อจะได้มีมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมไทย อาจช่วยให้เราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ในปัจจุบันได้กระจ่างชัดมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมถึงเรียกสะพานอากรเต็ง “อากรเต็ง” มาจากไหน? เกี่ยวอะไรกับเมนู “ผัดผักโสภณ”
- เมื่อจีนเต็งสร้างคุ้มให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ เผยสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ของเจ้าภาษีนายอากร
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ขุนนางไทยเชื้อสายจีนบางตระกูล ในสมัยรัตนโกสินทร์” เขียนโดย รศ.ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2540
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2562