เมื่อจีนเต็งสร้างคุ้มให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ เผยสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ในเจ้าภาษีนายอากร

คุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ที่จีนเต๊งสร้างให้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟบางกอกน้อย ภาพถ่ายราว พ.ศ. 2437 (ภาพโดยหจช. จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา, สรัสวดี อ๋องสกุล)

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเลื่องชื่อในการทำธุรกิจหรือค้าขาย ด้วยเพราะลักษณะนิสัยจำเพาะของชาวจีนที่ขยันขันแข็งและมีหัวด้านนี้อย่างเชี่ยวชาญ จึงมีนักธุรกิจชาวจีนแท้และชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก และด้วยความเป็นนักธุรกิจที่ต้องการแสวงหากำไรเข้าตัว ก็จะทำทุกวีถีทางเพื่อหาเม็ดเงินเหล่านั้น

รวมถึงชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ที่ล้านนาในอดีต ก็ได้ทำการค้าขายเป็นอาชีพหลัก โดยปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานและทำการค้าขายของชาวจีนในจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณวัดเกต พวกเขาจะใช้การค้าขายทางน้ำในแม่น้ำปิงเป็นหลัก แต่ลำพังการค้าขายเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้าง “คอนเน็กชั่น” โดยวิธีหนึ่งคือการ “สร้างคุ้มให้เจ้า” เพื่อเสริมสร้างธุรกิจการค้าของตนให้รุ่งเรืองมั่นคง

ชาวจีนในเชียงใหม่ผู้หนึ่ง นามว่า จีนเต็ง เจ้าของธุรกิจกิมเซ่งหลี ต้องการที่จะหาผลประโยชน์โดยการได้ตำแหน่ง “เจ้าภาษีนายอากร” เหมือนกับชาวจีนคนอื่น ๆ ในล้านนา โดยชาวจีนที่ได้เป็นเจ้าภาษี จะพยายามสร้าง “ความสนิทสนม” กับเจ้าขุนมูลนายต่าง ๆ ในล้านนาเป็นพิเศษ ดังเช่นจีนเต็งที่มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับ “พระเจ้าอินทวิชยานนท์” ผู้เป็น “เจ้าหลวง” ของเมืองเชียงใหม่ โดยสนิทถึงขั้นที่เจ้าหลวงเชิญจีนเต็งไปรับประทานอาหารที่คุ้มหลวงเป็นประจำ หรือเจ้าหลวงจะขอคำปรึกษาจากจีนเต็งหากมีปัญหาที่คิดไม่ตก

อ่านเพิ่มเติมทำไมถึงเรียกสะพานอากรเต็ง “อากรเต็ง” มาจากไหน? เกี่ยวอะไรกับเมนู “ผัดผักโสภณ”

ในการที่จะได้ดำรงตำแหน่งเจ้าภาษีนั้น จะต้องมีการ “ประมูล” แข่งกับคนอื่น ๆ โดยเงินที่ได้จากการประมูลก็จะไปอยู่ที่เจ้านาย เป็นวิธีการที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย คือเจ้านายได้เงินจากการประมูลทันที ไม่ต้องเก็บภาษีด้วยตัวเอง ส่วนเจ้าภาษีก็เห็นถึงความคุ้มได้คุ้มเสียจากการเก็บภาษีอยู่แล้วก็พยายามทำทุกวิธีให้ชนะประมูล ได้เป็น “เจ้าภาษี” 

กรณีของจีนเต็งนั้น เขาได้สร้าง “คุ้ม” ให้กับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนเงิน 50,000 รูปี โดยคุ้มดังกล่าวจะอยู่ในบริเวณของสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน และเจ้าหลวงเชียงใหม่ก็ตอบแทนจีนเต็งโดยการให้ตำแหน่งเจ้าภาษีนา สุกร โค ยาสูบ ฝิ่น หมาก พลู มะพร้าว ในมูลค่า 53,100 รูปีเท่านั้น นับว่าเป็นประโยชน์แก่จีนเต็งมาก เพราะว่าเขาจะกอบโกยผลประโยชน์จากการเก็บภาษีเหล่านี้ได้อย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว การเก็บภาษีโดยเจ้าภาษีนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองว่าจะเก็บเท่าใด ไม่มีเกณฑ์วัด เป็นผลเสียกับราษฎรอย่างมาก เพราะว่า เจ้าภาษีจะขูดรีดอย่างไรก็ได้ที่เขาเห็นเป็นผลประโยชน์แก่ตัวเอง แต่กลับเป็นผลดีต่อกลุ่มคนเหล่านี้

วัดเกต ย่านชุมชนชาวจีนแห่งแรกในเชียงใหม่ (ภาพโดยหจช. จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา, สรัสวดี อ๋องสกุล)

สุดท้ายนี้ ชาวจีนล้านนาที่สร้างความสัมพันธ์อย่างสนิทสนมกับเจ้านายนั้นเป็นเพียงใบเบิกทางสู่การทำธุรกิจเพื่อการหาผลประโยชน์แก่ตน จากการที่ชาวจีนได้เป็นเจ้าภาษีและเก็บเงินจากประชาชน ก็นับว่าเป็นผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ที่ชาวจีนสร้างขึ้นมา หากมองอีกแง่หนึ่ง การที่เจ้านายล้านนาทั้งหลายกอบโกยผลประโยชน์อีกด้านหนึ่งจากชาวจีนที่คอยรับเงินประมูลจากพวกที่ยื้อแย่งตำแหน่งเจ้าภาษีนายอากรกัน

เมื่อไตร่ตรองให้ดีเสียแล้ว คนทั้งสองพวกนี้ก็ได้รับประโยชน์ร่วมกัน แต่คนที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือราษฎรเอง

 


อ้างอิง :

สรัสวดี อ๋องสกุล. (2557). ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์

อรรคพล สาตุ้ม. (2545, กุมภาพันธ์). ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ชาวจีน กับผู้ปกครอง ความเชื่อ พิธีกรรม ในศาลเจ้าจีน จังหวัดเชียงใหม่, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 23 (ฉบับที่ 4)


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2562