ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | รัชดา โชติพานิช |
เผยแพร่ |
“…จีนอากรเตงมีน้ำใจจะช่วยรับทำตพานคลองสามเสนโดยไม่คิดราคาดังนี้ เปนที่ยินดีในกุศลเจตนาของนายอากรเตง แลขอบใจในการที่ได้ช่วยเกื้อกูลการบ้านเมือง ให้เธอบอกจีนอากรเตงให้ทราบตามซึ่งฉันได้มีความยินดีดังนี้ อนุญาตให้จีนอากรเตงทำตพาน แลให้เรียกชื่อตพานนั้นว่า ตพานอากรเตง สืบไป”[1]
ข้อความข้างต้น เป็นพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ครั้งที่กระทรวงโยธาธิการมีหนังสือกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาตให้นายอากรเต็งสร้างสะพานข้ามคลองสามเสนถวาย
นายอากรเต็งเป็นใคร
จากการสืบค้นประวัติของนายอากรเต็ง[2] พบว่า จีนเต็ง (บางแห่งเขียนเป็น เตง แต่ในที่นี้ขอใช้เป็น เต็ง) หรืออากรเต็ง นามเดิมว่า เตียอูเต็ง เป็นชาวจีนอพยพมาจากเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2385 เมื่ออายุประมาณ 17-18 ปี เดินทางมายังประเทศสยาม โดยมีเพียงเสื้อ 1 ตัว กางเกง 1 ตัว และเสื่อปูนอน 1 ผืน ทั้งยังต้องเป็นหนี้ค่าเรือโดยสารอีก 18 บาท เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ เริ่มทำงานเป็นจับกังพายเรือ ต่อมาเพื่อนชาวจีนที่ไปอยู่เมืองตากได้ชักชวนไปค้าขายด้วยกัน จีนเต็งจึงรวบรวมเงินทุนรอนแรมจากกรุงเทพฯ มาตั้งมั่นค้าขายที่เมืองตาก อยู่ได้พักหนึ่ง ก็อพยพไปค้าขายที่เมืองเชียงใหม่ และได้สร้างสัมพันธ์อันดีกับขุนนางผู้ใหญ่ จนสามารถผูกขาดการจัดเก็บภาษีอากรฝิ่น สุรา และบ่อนเบี้ยในเมืองเชียงใหม่ คนทั้งหลายจึงเรียกจีนเต็งว่า อากรเต็ง
เมื่ออากรเต็งทำมาค้าขายที่เชียงใหม่จนมีความมั่นคงแล้ว จึงขยายกิจการลงมาที่เมืองตาก เข้าร่วมหุ้นส่วนค้าขายกับพ่อค้าจีนที่เมืองตากอีก 2 คน ใช้ยี่ห้อการค้าว่า กิมเซ่งหลี ใน พ.ศ. 2436 ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ที่จีนเต็งสนิทสนมคุ้นเคย ได้ย้ายกลับมาประจำที่กรุงเทพฯ จีนเต็งได้ตามลงมาด้วย เพื่อมาดูลู่ทางขยายกิจการค้าในกรุงเทพฯ และมีโอกาสได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ต่อมาจึงตั้งสาขาห้างกิมเซ่งหลีขึ้นในกรุงเทพฯ ห้างนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลสามเสน ต่อมาได้ขยายการลงทุนในกิจการอื่นๆ อาทิ โรงสีไฟ 5 โรง โรงเลื่อยจักร 3 โรง อู่เรือ ทำไม้ในมณฑลพายัพ รับส่งสินค้า และผูกภาษีอากร จนกลายเป็นห้างสำคัญอันดับหนึ่งของเมืองไทย
นายอากรเต็งรับใช้สนองพระเดชพระคุณเบื้องพระยุคลบาท จนได้รับพระราชทานราชทินนามว่า หลวงอุดรภัณฑ์พานิช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเมตตาต่อนายอากรเต็งอยู่ไม่น้อย ดังเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาถึง พระเจ้าน้องยา เธอกรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) ความว่า[3]
ถึง กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์
ด้วยหลวงอุดรภัณฑ์พานิชมาปรับทุกข์ว่า ถูกเจ้าภาษีฝิ่น พาโปลิศไปล้อมบ้านจับฝิ่นเถื่อนอยู่บ่อยๆ การอันนี้ก็เห็นว่ายากอยู่ เพราะเปนที่พวกจีนอยู่มาก บางทีก็จะมีฝิ่นเถื่อนได้จริง บางทีก็จะเปนแต่สงไสยไปล้อมค้นเปล่าๆ จะห้ามปรามไม่ให้ค้นก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรจะเปนหลัก แต่เมื่อแกมาพูดปรับทุกข์เช่นนี้ เปนคนที่อยู่บ้านใกล้สวนดุสิตแลได้ช่วยอุดหนุนในการทำสพานจึงต้องพูดมา ขอให้กำชับให้โปลิศไว้อาฌาไศรยตามสมควร ได้พูดไปที่คลังฉบับ 1 ด้วยแล้ว
สยามินทร์
สะพานอากรเต็งอยู่ที่ไหน
ความเป็นมาของสะพานแห่งนี้ เริ่มจากการก่อสร้างสวนดุสิตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 โดยการทยอยจัดซื้อที่ดินบริเวณตอนเหนือของพระบรมมหาราชวังหลายแปลงติดต่อกันจนเป็นที่ดินผืนใหญ่ มีการก่อสร้างวัง ตำหนัก สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงการตัดถนน จัดสภาพภูมิทัศน์ ขุดคลองภายใน และสร้างสะพาน ส่วนบริเวณรอบนอกมีการตัดถนนใช้เป็นเส้นทางสัญจรจากสวนดุสิตไปยังที่อื่นๆ
สำหรับถนนสามเสน ที่เป็นถนนเก่าสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้ปรับปรุงขยายถนนให้กว้างและแข็งแรงมั่นคงขึ้น รวมทั้งปลูกต้นไม้และขยายทางเดินเท้า
สะพานที่นายอากรเต็งสร้างถวายนี้ เดิมเป็นสะพานไม้ขนาดเล็ก ใช้เพียงเดินผ่านไปมา รถยนต์ไม่สามารถขับผ่านไปได้ ต่อเมื่อมีการปรับปรุงถนนสามเสน จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานขึ้นใหม่ ให้สอดรับกับถนนที่กว้างขึ้น และเพื่อให้มีความสวยงามเหมาะกับการเป็นถนนที่อยู่ใกล้เขตพระราชฐาน นายอากรเต็ง เจ้าของบริษัทกิมเซ่งหลีจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างสะพานข้ามคลองสามเสน ดังนี้
“…ด้วยถนนสายสามเสนก็ได้ก่ออิฐเลยข้ามคลองสามเสนไปแล้วช้านาน แต่เปนทางสำหรับรถเดินได้เพียงคลองสามเสนเท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่า ราชการในกระทรวงของใต้ฝ่าพระบาทก็มีมากจะยังไม่มีเวลาพอทำสพานข้ามคลองสามเสนให้เปนทางใช้รถได้ แลในเวลาก่อนที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลนี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทำเปนสถานสำหรับคนเดินข้ามไปมาได้เท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำสพานข้ามคลองสามเสนโดยเปนทางรถเดินได้สพานหนึ่งตามแบบกระทรวงโยธาหรืออย่างสพานเฉลิมอย่างหนึ่งอย่างใด แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ แลในการที่จะก่อสร้างทำสพานนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่รับพระราชทานเงินพระราชทรัพย์หลวงโดยเพื่อข้าพระพุทธเจ้าจะฉลองพระเดชพระคุณตามกำลังพาหนะของข้าพระพุทธเจ้า แลให้เปนประโยชน์แก่มหาชนซึ่งจะได้ใช้รถไปมาโดยสดวก แลข้าพระพุทธเจ้ารับสัญญาว่าจะทำทูลเกล้าฯ ถวายให้ถูกต้องตามแบบอย่างที่กระทรวงโยธา, จะให้แก่ข้าพระพุทธเจ้านั้นทุกประการ…”[4]
เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จึงได้มีหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อากรเต็งสร้างสะพาน โดยถวายความเห็นว่า “ที่อากรเตงสละทรัพย์ส่วนตัวจะสร้างสพานขึ้นให้เปนสาธารณะประโยชน์สนองพระเดชพระคุณให้เปนสง่าแก่พระนครก็โดยหวังชื่อเสียงแลสดวกแก่การค้าขายของเขาเปนที่ตั้ง แลไม่เปนการขัดข้องอันใด ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้ให้กรมโยธารีบคัดฤๅคิดเขียนแบบให้แก่อากรเตงไปโดยเร็ว”[5]
สะพานอากรเต็งเป็นอย่างไร
สะพานที่นายอากรเต็งสร้างถวายนี้ มีรูปแบบเหมือนสะพานของกระทรวงโยธาธิการ ที่นิยมสร้างกันในช่วงเวลานั้น อาทิ สะพานวรเสรษฐ สะพานโสภาคย์ ที่อยู่บริเวณหน้าวัดเบญจมบพิตร สะพานข้ามคลองเม่งเส็ง ตรงจุดตัดกับถนนศรีอยุธยาด้านหลังพระที่นั่งอัมพรสถาน[6] โครงสะพานทำด้วยเหล็กหล่อ ราวสะพานเป็นเหล็กดัด สะพานและเสาแท่นก่ออิฐถือปูน ลูกกรงสะพานทำลวดลายอ่อนช้อยงดงาม ทาสีเขียว พื้นสะพานทำด้วยไม้กระดานอย่างหนา ซึ่งน่าจะเป็นสะพานรูปแบบเดียวกันกับสะพานเหล็ก ที่สร้างข้ามคลองเปรมประชากรในเวลาต่อมา ที่มีผู้ร่วมใจบริจาคทรัพย์สร้างสะพานถวายอีกเช่นกัน โดยมีรายละเอียดราคาของสะพานดังนี้
“…ด้วยทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เร่งทำสพานเหล็กข้ามคลองเปรมประชากรซึ่งพระบริบูรณโกษากร พระภักดีพัทรากร พระพิพิทภัณฑวิจารณ์ หลวงอุดร เนื่องพระพิศาลผลพานิศ จะรับทำฉลองพระเดชพระคุณนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้มีหนังสือแจ้งความไปว่า ถ้าจะทำเองเวลานี้น้ำแห้งทำได้แล้ว ถ้าจะให้ทำให้ด้วยจะได้สั่งเหล็กไป เปนราคาค่าเหล็กสะพานละ 4200 บาท ทั้งก่อรากทำพนักถมดินจนเสร็จคงไม่เกินกว่าสพานละ 8000 บาท ตามที่กรมโยธาธิการประมาณไว้เดิมสพานละ 11000 บาทมีเสศ…”[7]
แบบสะพานต่างๆ ที่สร้างขึ้น ในช่วงที่ดำเนินโครงการสวนดุสิตนั้น เมื่อกระทรวงโยธาธิการออกแบบเสร็จแล้ว จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเสียก่อน โดยอาจมีการปรับแก้ก่อนที่จะลงมือสร้างจริง รวมทั้งทำแผนที่บริเวณนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ดังในหนังสือกราบบังคมทูลของพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2442) ความตอนหนึ่งว่า
“…ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขาที่ 82/1139 ลงวันที่ 22 เดือนนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะทอดพระเนตรแผนที่ตะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม แลตะพานจีนเตงนายอากร…”[8]
หลังจากทำสะพานแล้ว ก็มีการปรับปรุงถนนสามเสนด้วย ดังในหนังสือกราบบังคมทูลของพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ต่อไปอีกว่า
“…การทำถนนแต่คลองผดุงกรุงเกษมขึ้นไปถึงตะพานอากรเตง ที่กลางมีปูอิฐเปนพื้นอยู่แล้วจะได้ถมศิลาตลอดไปสองข้าง ที่ยังไม่ได้ปูอิฐจะได้ใช้อิฐหักกากปูนถมให้เปนพื้นล่างเรียบร้อยไปก่อนแล้วจะได้ถมศิลาให้เต็มออกไปทั้ง 2 ข้างตลอดทั้งถนน…”[9]
สะพานนายอากรเต็งนี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานกิมเซ่งหลี ตามนามของห้าง ซึ่งยังไม่พบหลักฐานการเปลี่ยนมาใช้ชื่อนี้ สันนิษฐานว่าประชาชนจะคุ้นชื่อห้างกิมเซ่งหลีมากกว่านายอากรเต็ง รวมทั้งการใช้ชื่อทางการค้าน่าจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป
พระโสภณเพชรรัตน์เป็นใคร
ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงอุดรภัณฑ์พานิชมอบให้บุตรชายชื่อกี๊ ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระโสภณเพชรรัตน์ เป็นผู้ดูแลกิจการ ส่วนตนเองเดินทางไปมาระหว่างเมืองจีนกับประเทศไทย ในบั้นปลายชีวิต จีนเต็งได้อยู่อย่างสุขสงบที่บริษัทกิมเซ่งหลี ณ ตำบลสามเสน จนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2462 หลังจีนเต็งถึงแก่กรรม พระโสภณเพชรรัตน์ สืบทอดกิจการการค้าต่างๆ ของบริษัทกิมเซ่งหลีต่อมา รวมทั้งได้จัดการปลงศพจีนเต็งที่ประเทศไทยด้วย
เมื่อพระโสภณเพชรรัตน์กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุล จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พระราชทานนามว่า “โสภโณดร”[10] คำที่สนธิมาจาก คำว่า โสภณ และอุดร ทั้ง 2 คำนี้ตัดมาจากบรรดาศักดิ์ของจีนเต็งและจีนกี๊ คำว่า โสภโณดร แปลว่า ทิศเหนืออันงดงาม
จีนกี๊หรือพระโสภณเพชรรัตน์ บุตรชายอากรเต็งนั้น นับเป็นพ่อค้าไทยเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6 นอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักไทยแล้ว ยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวจีน และอยู่ในกลุ่มผู้นำชาวจีนในขณะนั้น บริษัทกิมเซ่งหลีก็มีชื่อเสียงและเป็นที่เชื่อถือของผู้คนโดยทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่าบริษัทกิมเซ่งหลีเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นก่อตั้งบริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด ในปลาย พ.ศ. 2449
อย่างไรก็ตาม การที่จีนกี๊เข้ามารับช่วงดูแลกิจการของตระกูล และขยายการลงทุนออกไปมากนั้น การลงทุนหลายอย่างมิได้ให้ผลกำไรดังที่คาดหวังไว้ โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการธนาคาร และการเดินเรือประสบภาวะขาดทุนอย่างมาก จึงส่งผลต่อฐานะการเงินของบริษัทกิมเซ่งหลีมากพอสมควร ครั้นถึง พ.ศ. 2452 รัฐบาลเริ่มจัดเก็บภาษีอากรสุรา
และใน พ.ศ. 2460 รัฐบาลประกาศยกเลิกหวย ก ข และการพนันบ่อนเบี้ย เพื่อไม่ให้คนในชาติหลงติดอยู่กับการพนัน การประมูลจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ชนิดนี้จึงถูกยกเลิกไป ทำให้บริษัทกิมเซ่งหลีขาดรายได้ จนกระทั่งต้องเลิกกิจการไปในสมัยรัชกาลที่ 7[11] ส่วนห้างกิมเซ่งหลีที่ถูกไฟไหม้ต้องรื้อทิ้ง กลายเป็นบริเวณกรมชลประทานในปัจจุบัน
สะพานโสภณอยู่ที่ไหน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชื่อต่างๆ ในท้องถนนที่เป็นชื่อต่างด้าวถูกเปลี่ยนเป็นชื่อไทยจนหมด ประกอบกับกรมเทศาภิบาลดำเนินการขยายถนนสามเสน และซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงสะพานกิมเซ่งหลี จากเหล็กเป็นคอนกรีต จึงเปลี่ยนนามสะพานเป็น สะพานโสภณ แทนชื่อสะพานเดิมจวบจนปัจจุบัน
ท้ายเรื่อง
มีเรื่องแถมเพิ่มเติมเกี่ยวกับนายอากรเต็งและพระโสภณเพชรรัตน์ ด้วยทั้ง 2 ท่านนี้ชอบรับประทานผักชนิดหนึ่ง มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน คนจีนเรียกผักชนิดนี้ว่าตั๋วฉ่าย tua chai ภาษาเขียนเรียกไก๋ฉ่าย gai chai ส่วนคนไทยเรียกผักกาดเขียวปลี บางท้องถิ่นอย่างล้านนาเรียกปั่น พืชชนิดนี้เป็นผักในวงศ์ผักกาดกะหล่ำ เช่นเดียวกับ ผักกาดขาว ผักกาดใบ และผักกวางตุ้ง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า brassica var. rugosa ชื่อสามัญภาษาอังกฤษเรียก leaf mustard หรือ Chinese mustard green บางทีเรียก mustard green ในภาษาพูด[12]
ในประเทศไทย มีการปลูกผักกาดเขียวปลีในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ และตาก เนื่องจากมีอากาศหนาวเย็น ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้ผักเข้าปลีจนกลมแน่น หัวใหญ่อวบและมีความกรอบ ส่วนใหญ่นิยมนำผักกาดเขียวปลีมาทำเป็นผักดอง หากปลีงามใหญ่ มักกรีดใบทิ้งเอาแต่ลุ้ย (ใจผัก) มาดองเค็ม เป็นผักกาดดอง หรือเกี้ยมไฉ่ บางทีก็เรียกผักกาดดองนี้ว่าฮั่วนำฉ่าย ซึ่งหมายถึงเกี้ยมไฉ่จากฮั่วนำในจังหวัดซัวเถานั่นเอง
หากลุ้ยของผักกาดเขียวปลีไม่ใหญ่พอ ก็นิยมหมักเป็นผักกาดดองเปรี้ยว หรือซึงฉ่าย นอกจากนั้นยังนิยมนำมาตากแห้งเป็นฉ่ายกัว ใช้ผัดหรือต้ม ร้านขาหมูบางร้านนำฉ่ายกัวมาต้มพะโล้เป็นผักเคียงกับขาหมูแก้เลี่ยน หรือใช้เคี่ยวกับหมูสามชั้น เรียกว่าจับฉ่ายแห้ง มีรสชาติอร่อยไปอีกแบบ
อย่างไรก็ตาม ผักกาดเขียวปลีสดไม่นิยมนำมาปรุงอาหาร เพราะมีรสขม ประยูร จรรยาวงษ์ ต้นตำรับขบวนการแก้จนและกินแก้จน เคยเขียนไว้เกี่ยวกับอาหารที่ทำจากผักกาดเขียวชนิดนี้ว่า[13] ตัวท่านเองก็ชอบรับประทานผักโสภณผัดกุ้ง และสืบสาวราวเรื่องต้นตอว่าผักโสภณนี้มาจากไหน จึงได้ความว่าเป็นชื่อเดียวกันกับสะพานกิมเซ่งหลี โดยกล่าวว่านายอากรเต็งและพระโสภณเพชรรัตน์ เจ้าของห้างกิมเซ่งหลี ชอบรับประทานผักชนิดนี้ สอดคล้องกับการสอบถามบุตรหลานในตระกูลโสภโณดร[14] ว่าถึงขนาดนำเมล็ดพันธุ์จากเมืองจีนมาปลูกที่จังหวัดตากและเชียงใหม่
ส่วนวิธีการปรุงผักกาดเขียวปลีสดหรือผักโสภณ ให้นำผักมาลวกน้ำร้อน แล้วแช่น้ำเย็น เพื่อลดรสขม ก่อนนำไปผัดกับซีอิ๊ว ใส่น้ำซุปเล็กน้อย แล้วละลายน้ำแป้งมันลงไปทำให้ข้น อันเป็นที่มาของเมนูตำรับภัตตาคารจีน นั่นคือผัดผักโสภณ ที่ขึ้นชื่อของภัตตาคารย่านเยาวราช
ด้วยเหตุนี้ ผักโสภณและผัดผักโสภณที่ปรากฏในสำรับอาหาร จึงเรียกขานตามนามของพระโสภณเพชรรัตน์ และทำให้บทความนี้ ขึ้นต้นเป็นสะพาน แต่ไฉนมาลงท้ายเป็นอาหารไปได้ด้วยประการฉะนี้
เชิงอรรถ
[1] สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงโยธาธิการ รัชกาลที่ ๕ ยธ ๙/๓๙ เรื่อง สร้างตะพานกิมเซ่งหลีฤๅตะพานอากรเต็ง พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๗
[2] ประวัติบางส่วนค้นมาจาก ประวัติหลวงอุดรภัณฑ์พานิช (อูเต็ง โสภโณดร) พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, น. ๓๓-๓๕. และจากการสอบถาม ผศ. ดร. ไพรัช โสภโณดร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ พ.ต.อ. กัมปนาท โสภโณดร ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ซึ่งขอขอบพระคุณทั้ง ๒ ท่านเป็นอย่างสูง และทราบว่ายังมีลูกหลานตระกูลโสภโณดรซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ อาศัยอยู่ในจังหวัดตาก แพร่ และเชียงใหม่
[3] ประชุมพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน, ภาค ๒ ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๓๔ ถึง พุทธศักราช ๒๔๕๓, น. ๑๕๒. (คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์จำหน่าย)
[4] สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงโยธาธิการ รัชกาลที่ ๕ ยธ ๙/๓๙, อากรเต็ง ผู้อำนวยการบริษัทกิมเซ่งหลี กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ วันที่ ๑๐ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๗
[5] เรื่องเดียวกัน, พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือกระทรวงโยธาธิการที่ ๖๑/๒๑๐๕ ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๗
[6] ศิริชัย นฤมิตรเรขการ. สะพานเก่ากรุงเทพฯ. จัดพิมพ์โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์, ม.ป.ท. : ม.ป.ป., น. ๙๑-๑๐๐.
[7] บัณฑิต จุลาสัย และ พีรศรี โพวาทอง. รายงานผลการวิจัยเรื่องเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม พระราชวังดุสิต, เอกสารที่ รล ร.๕ ก.๑๒ กล่องที่ ๘ แฟ้มที่ ๑๐ วันที่ ๖ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๘
[8] สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงโยธาธิการ รัชกาลที่ ๕ ยธ ๙/๓๗ เรื่องสะพานเทเวศร์ และถนนสามเสน เรื่องปลูกต้นไม้ข้างถนนสามเสน และเรื่องสะพานกิมเซ่งหลี
[9] เรื่องเดียวกัน.
[10] ประกาศพระราชทานนามสกุลในราชกิจจานุเบกษาว่า “โสภะโณดร” เป็นลำดับที่ ๔๔๒ ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ น. ๑๒๘๕ จาก อักขรานุกรมนามสกุลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : พีเพรส จำกัด, ๒๕๔๔.
[11] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล. ขุนนางไทยเชื้อสายจีนบางตระกูลในสมัยรัตนโกสินทร์.
[12] ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์. สารานุกรมผัก. กรุงเทพฯ : แสงแดด, อ้างถึงใน Website www.paktho.ac.th
[13] ประยูร จรรยาวงษ์. “ผัก โสภน เพชรรัตน์ ผัดลูกชิ้นกุ้ง” คอลัมน์กินแก้จน ใน นิตยสารพลอยแกมเพชร. ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๔๐๐ (๓๐ กันยายน ๒๕๕๑), น. ๑๐๖. (ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘)
[14] จากการสอบถาม รศ. ดร. ไพรัช โสภโณดร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เป็นสะใภ้ของตระกูล ซึ่งกรุณาสอบถามจากบุตรหลานท่านอื่นๆ เพิ่มเติม
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม พ.ศ. 2561