“ถ้าเป็นแต่ก่อน…เขาตัดหัวมึงเจ็ดชั่วโคตร” รัชกาลที่ 6 ทรงแกล้งขู่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในวัยเด็ก?

ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาพจาก คึกฤทธิ์ 2528)

ในสังคมเก่าเจ้านายหลายพระองค์ ทรงให้การอุปการะเด็กชาย ให้ได้เรียนรู้หนังสือ และฝึกงานต่างๆ เพื่อเป็นมหาดเล็ก, ข้าราชสำนัก, ทหาร ฯลฯ ในสังกัดของเจ้านายพระองค์นั้นๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงให้การอุปการะเลี้ยงดูเด็กไว้หลายสิบคน ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

เด็กๆ เหล่านี้ ข้าในกรมเรียกว่า “หม่อมเข้าและบุตรข้าราชการ” เด็กๆ ในพระอุปการะทั้งหมดได้รับพระราชทานทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค การศึกษา และยังพระราชทานเงินค่าขนมเป็นรายเดือน อาหารที่พระราชทานนั้นวันละ 3 เวลา

สำหรับ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ในวัยเด็กก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในหนังสือ “คึกฤทธิ์ 2528”  โดย สละ ลิขิตกุล และกองบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน เล่าถึงประสบการณ์วัยเด็กของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไว้ดังนี้

เมื่อตอน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เกิดนั้น มีเรื่องในครอบครัวท่านว่า ก่อนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะเกิด พระบิดาของท่านต้องย้ายตำแหน่งราชการจากมณฑลนครสวรรค์ไปอยู่มณฑลพิษณุโลกได้ประมาณ 4 เดือน ต่อมามีข่าวว่าสมเด็จพระพันปีหลวง จะเสด็จประพาสมณฑลพิษณุโลก มีการเตรียมการถวายการต้อนรับเป็นการใหญ่

พระองค์เจ้าคำรบก็ให้หม่อมแดงซึ่งอยู่ทางกรุงเทพฯ ขึ้นไปเฝ้าด้วย หม่อมแดงกำลังตั้งครรภ์อยู่ใกล้จะคลอดมากแล้ว เดินทางโดยทางเรือขึ้นไปพิษณุโลก ครั้นถึงตำบลบ้านม้า อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรีท่านก็คลอดบุตรในเรือ เมื่อวันพฤหัสที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2455 เวลา 07.20 น. จากนั้นก็เดินทางต่อโดยรถไฟไปพิษณุโลก

หลังจากที่หม่อมแดงเดินทางถึงพิษณุโลกแล้ว ขบวนเสด็จของสมเด็จพระพันปีหลวง ก็เสด็จถึงพิษณุโลก พระบิดาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตอนนั้นเป็นแม่ทัพ 2 ได้ปลูกพลับพลารับเสด็จ และเชิญนายทหารผู้ใหญ่ในมณฑลนั้นเข้าเฝ้า และได้ทรงอุ้ม ม.ร.ว.ผู้บุตรเข้าเฝ้าด้วย

สมเด็จพระพันปีหลวงทรงรับมาอุ้ม และรับสั่งกับเด็กว่า “เจ้าชื่อคึกฤทธิ์แล้ว เอ้า จงทําท่าคึกไป” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็เต้นอยู่ในวงพระกร จนสมเด็จพระพันปีหลวงทรงเหนื่อย จึงเรียกให้พ่อมารับไป และพระราชทานนามว่า “คึกฤทธิ์” และรับสั่งให้คึกอีกที เด็กก็เต้นตามรับสั่งต่อหน้าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นอันมาก ในพลับพลาที่ปลูกกลางสนามในการรับเสด็จ

และหลังจากเสด็จกลับจากภาคเหนือแล้ว ก็พระราชทานจดหมายฉบับหนึ่ง โดยทรงรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นทายาทของพระองค์ท่าน ในลายพระหัตถ์นั้นว่า “ข้าพเจ้าขอรับ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหลานบุญธรรม ถ้าข้าพเจ้าสิ้นชีวิตลงไป ก็ขอให้ทายาทของข้าพเจ้าทุกคนจงรับทราบโดยทั่วกันว่าข้าพเจ้ารับคึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหลานย่าของข้าพเจ้า ถ้าคึกฤทธิ์ยากจนลงเมื่อข้าพเจ้าหาชีวิตไม่แล้ว ขอให้ทายาทของข้าพเจ้าทุกคน จงให้ส่วนแบ่งแก่คึกฤทธิ์ เท่าหลานย่าของข้าพเจ้าทุกคนด้วยเทอญ…ลงพระนามาภิไธย”

เนื่องจากสมเด็จพระพันปีหลวง พระราชทานชื่อและทรงอุปการะตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ ชีวิตตอนเป็นเด็กเล็กๆ จึงวิ่งเล่นอยู่ในวังพญาไทในตอนกลางวัน พอค่ำก็กลับไปนอนบ้าน ระหว่างนั้นถ้าหม่อมแดงเข้าวังหลวง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ตามแม่เข้าไปด้วย ไปเข้าเฝ้าเจ้านายตามตําหนักต่างๆ และจดจํามาเขียนนวนิยายสี่แผ่นดิน ได้อย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม

พอโตขึ้นหน่อยก็เข้าพระราชสํานักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งหนึ่งขณะที่วิ่งเล่นอยู่ในพระราชสํานักนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เกือบจะไปชนพระองค์ท่านล้ม พระองค์ทรงเอาธารพระกรคล้องหัวแล้วถามชื่อตัว ชื่อพ่อ ชื่อแม่ แล้วก็รับสั่งว่า

“มึงรู้ไหม ถ้าเป็นแต่ก่อน มึงชนกูตกกระไดตายนี้ เขาตัดหัวมึงเจ็ดชั่วโคตร”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กลัวเต็มที่ หมอบกราบอยู่ เสร็จแล้วพระองค์ท่านก็ไม่ทรงว่าอะไร ยื่นธารพระกรให้ตรัสว่า “เอ้า ถือไม้เท้ากูไป” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เลยเชิญธารพระกรท่านไปส่งถึงที่รถพระที่นั่ง ข้าราชสํานักเห็นเข้าก็เข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทรงรับสั่งถามถึงชีวิตในบ้านของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่า “พ่อมึงมีเมียกี่คนวะ” ก่อนที่จะรับสั่งถาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ด้วยคําถามนี้นั้น ท่านทรงถามเด็กคนอื่นๆ ก่อนแล้ว เพื่อนๆ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตอบกันว่า มี 5 คนบ้าง, 6 คนบ้าง, บางคนมีถึง 7 คน ดังนั้นพอถึงคราวที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทูลตอบ ท่านกลัวจะน้อยหน้าเพื่อนๆ ก็เลยกราบบังคมทูลว่ามี 3 คน

ต่อมาท่านพ่อของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีโอกาสร่วมโต๊ะเสวย ในหลวงก็มีพระราชดํารัสถามว่า “นั่นลูกมันบอกว่ามีเมีย 3 คนหรือ” พอท่านพ่อกลับมาบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เลยถูกเตะคว่ำด้วยความโมโห

 


ข้อมูลจาก :

สละ ลิขิตกุล และ กองบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน. คึกฤทธิ์ 2528, (ไม่ได้ระบุสำนักพิมพ์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2562