กรมพระยาดำรงฯ ทรงวินิจฉัย “นางนพมาศ” เป็นเรื่องแต่งใหม่สมัยรัตนโกสินทร์

การประกวดนางนพมาศ และการลอยโคม ซึ่งนิยมทำในเทศกาลลอยกระทง (AFP PHOTO / MADAREE TOHLALA)

ประเพณีลอยกระทง และนางนพมาศ มักกล่าวกันว่าเป็นสิ่งที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย โดยอ้างอิงจากหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย เคยมีพระนิพนธ์ กล่าวถึงหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เอาไว้ในคำนำเมื่อครั้งตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้เป็นฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี พ.ศ. 2457 ว่า

“ว่าโดยทางโวหาร ใครๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่”

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า ในหนังสือเรื่องนี้ ยังมีการระบุข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากยุคสมัยที่อ้างถึงอย่างชัดเจน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

“ยกตัวอย่างดังตรงว่าด้วยชนชาติต่างๆ หนังสือนี้ออกชื่อฝรั่งหลายชาติ ซึ่งที่จริงไม่ว่าชาติใดยังไม่มีเข้ามาในประเทศนี้เมื่อครั้งนครศุโขไทยเปนราชธานีเปนแน่ อิกข้อ ๑ ที่ว่าครั้งศุโขทัยมีปืนใหญ่ขนาดหนักนับด้วยหลายหาบ ปืนใหญ่ในครั้งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นในโลก แต่ที่น่าพิศวงยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้นมีแห่ง๑ ที่ลงชื่อว่าชาติฝรั่งอเมริกันลงไว้ในนั้นด้วย ชาติอเมริกันพึ่งเกิดขึ้นยังไม่ถึง ๒๐๐ ปี จะมีในครั้งพระร่วงอย่างไรได้

แต่แม้พระองค์จะทรงเชื่อว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จะแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระองค์ก็ยังทรงเชื่อด้วยว่า “ของเดิม” ที่เก่ากว่าน่าจะมีจริง เพราะพิธีที่ปรากฏในตำราฯ เป็น “พิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เปนแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุธยา” เมื่อตำราเดิมเกิดชำรุดบกพร่องจึงอาจมีผู้แต่งขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ 2 หรือที่ 3

อย่างไรก็ดี ในปี 2479 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงพระยาอนุมานราชธนมีความท่อนหนึ่งว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น 22 ปี พระองค์ยังไม่ทรงชี้ชัดขนาดนั้น แต่ได้เล่าถึงความเป็นไปได้ที่ รัชกาลที่ 3 จะทรงพระราชนิพนธ์แทรกบางส่วน เห็นได้จากความตอนหนึ่งในคำนำเรื่องเดิมว่า

“ข้าราชการฝ่ายในที่เปนผู้เฒ่าผู้แก่ รับราชการมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ได้เคยกราบบังคมทูลฯ ว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกไว้ตอน ๑ เปรียบเทียบกริยาอาการของข้าราชการฝ่ายในเปนเชิงบริภาษ แต่จะเปนตรงไหนไม่ปรากฏ”

แต่เรื่องนี้มิได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ยังมีนักวิชาการรุ่นหลังที่เชื่อว่า หนังสือนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นของเก่าอายุไม่น้อยกว่า 800 ปี และมีการอ้างถึงลงในหนังสือที่ออกจากส่วนกลางด้วย ดังที่ สุพจน์ แจ้งเร็ว กล่าวว่า

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ “พระราชพิธี” ซึ่งเป็นการรวมบทความที่อ่านออกเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง หนังสือเล่มนี้เล่าถึงพิธีสมัยสุโขทัยโดยใช้ข้อความจากหนังสือเรื่องนางนพมาศเป็นยืดยาว น่าสงสัยว่าทั้งผู้เขียนและผู้พิมพ์มิได้สำเหนียกในพระมติของสมเด็จฯ จึงจำเริญรอยตาม ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่อ้างว่าเป็นหนังสือเก่า ๘๐๐ ปีเศษ

“อะไรไม่ร้ายเท่าที่คิดว่า นี่คือบทความออกอากาศไปทั่วประเทศ และนี่คือผลงานของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ อนิจจา…เอกลักษณ์ของชาติ!”


อ้างอิง: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย”. สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2545


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2561