รัชกาลที่ 5 พระราชทานเงิน 10,000 ชั่ง สร้าง “ป้อมพระจุล” ปกป้องสยามจากชาติตะวันตก

รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนิน ป้อมพระจุล ทอดพระเนตร ปืนเสือหมอบ
ภาพจิตรกรรม รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ทอดพระเนตรปืนเสือหมอบ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า

สมุทรปราการ เป็นเมืองปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีบทบาทเรื่องความมั่นคงของประเทศ ทำให้มี “ป้อม” หรือหอรบหลายแห่ง เช่น ป้อมวิทยาคม, ป้อมเจ้าสมิงพราย, ป้อมแผลงไฟฟ้า, ป้อมศัตรูพินาศ ฯลฯ แต่ที่รู้จักกันมากที่สุดคงต้องยกให้ “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ป้อมพระจุล” ซึ่ง รัชกาลที่ 5 พระราชทานเงิน 10,000 ชั่งให้สร้าง เพื่อปกป้องสยามจากชาติตะวันตก

ป้อมพระจุล สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์  จังหวัดสมุทรปราการ โดยเงินงบประมาณและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ด้วยทรงเห็นว่า ป้อมที่มีอยู่เดิมนั้นสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ชำรุดและล้าสมัย ไม่เหมาะจะใช้ป้องกันประเทศต่อไป เพราะฝ่ายที่จะสู้รบด้วยนั้นเป็นชาติตะวันตก ที่มีวิทยาการก้าวหน้า

พ.ศ. 2421 จึงโปรดฯ ให้ หลวงชลยุทธโยธิน (ชาวเดนมาร์ก) เป็นรองผู้บังคับการทหารมะรีน (นาวิกโยธิน) ออกแบบเขียนผังป้อมตามแบบป้อมทันสมัยของตะวันตก และเริ่มสร้างเมื่อปี 2427 โดยใช้เงินรายได้แผ่นดิน ซึ่งก็ไม่เพียงพอ เพราะประเทศเร่งพัฒนาหลายด้านพร้อมกัน ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

เพื่อให้การสร้างป้อมเป็นตามกำหนด รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานเงินจํานวน 10,000 ชั่ง (คิดเป็นมูลค่ายุคนี้ก็ราว 800,000 บาท) เพื่อสร้าง ป้อมพระจุล ดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

“…ฉันได้ตั้งไว้ว่าจะให้หมื่นชั่ง เมื่อเงินเหลือจากทำการก่อสร้างจะได้ใช้ซื้อสตราวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ สำหรับป้อมนั้นให้บริบูรร์ ขอให้ท่านเสนาบดีทั้วงปวงในที่ประชุมได้กะการ พร้อมด้วยพระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์แลพระยาชลยุทธโยธินให้ได้ลงมือทำงานและสั่งของโดยเร็ววันที่สุด ที่จะทำได้เพราะตัวเงินนี้มีพร้อมอยู่ที่จะจ่ายได้เมื่อใดทุกเมื่อ

ฉันได้จดหมายสั่งกรมหมื่นสมมตอมรพันธ อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ ให้จ่ายเงินฉบับหนึ่ง ได้สั่งพระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์แลพระยาชลยุทธโยธินให้จัดการฉบับหนึ่ง ด่างสำเนามาให้ทราบด้วยแล้ว

แต่มีความกำเริบทเยอทยานอยู่อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวไว้แล้วเก้าปีกับเดือนหนึ่งล่วงมาว่าป้อมนี้ได้สร้างขึ้นใหม่ในแผ่นดินประจุบันนี้ อยากจะให้ชื่อป้อมจุฬาลงกรณ์ ฤาพระจุลจอมเกล้า คล้ายกับป้อมทั้งปวงซึ่งเฃาใช้ชื่อเจ้าแผ่นดินอยู่บ้าง เช่น ฟอตวิลเลียมเมืองกัลกัตตาเปนต้น ทั้งครั้งนี้จะสำเร็จเพราะทุนรอนซึ่งฉันจะอุดหนุนดังนี้ ก็ยิ่งมีความปรารถนากล้า ถ้าท่านทั้งปวงเหนสมควรแล้ว ขอให้เลือกนามใดนามหนึ่งเปนชื่อป้อมนี้ ให้เปนที่ชื่นชมยินดีแลเปนชื่อเสียงของฉันติดอยู่สืบไปภายน่า” [เน้นโดยผู้เขียน]

เมื่อป้อมพระจุลสร้างเสร็จเมื่อกลาง พ.ศ. 2436 จึงสั่งซื้อ ปืนใหญ่อาร์มสตรอง ขนาดปากลํากล้อง 6 นิ้ว จํานวน 7 กระบอก จากบริษัท เซอร์ ดับบลิว จี อาร์มสตรอง จํากัด มาติดตั้ง ปืนใหญ่ทั้ง 7 กระบอกอยู่ในหลุมปืน จัดเป็นปืนใหญ่บรรจุท้ายชุดแรก ที่กองทัพเรือไทยเป็นเจ้าของปืน กระสุนหนักนัดละเกือบ 50 กิโลกรัม มีระยะยิงไกลสุด 8,042 เมตร มี พลเรือโท พระยาวิจิตรนาวี ผู้ควบคุมการติดตั้งปืนใหญ่ประจําป้อม และ ร้อยเอก ฟอน โฮลต์ ครูสอนวิชาปืนใหญ่ เป็นผู้บังคับการป้อมคนแรก

ปืนดังกล่าว เวลาจะยิงต้องใช้แรงน้ำมันอัดยกปืนให้โผล่พื้นหลุม เมื่อยิงกระสุนพันลํากล้องไปแล้ว ปืนจะลดตัวลงมาอยู่ในหลุมตามเดิม คนไทยจึงเรียกว่าว่า “ปืนเสือหมอบ” รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มาทรงทดลองยิงปืนเสือหมอบด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) และพระราชทานนามป้อมว่า ป้อมพระจุลจอมเกล้า

แล้ว “ป้อมพระจุล” ก็ได้ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ

เย็นวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 หมู่เรือรบของฝรั่งเศส จํานวน 2 ลํา ชื่อ เรือแองกองสตังค์ (Inconstant) และเรือโคเมต (Comete) มีนาวาโทโบรี (Bory) เป็นผู้บังคับบัญชา มีเรือเย เบ เซย์ (J.B. Say) เป็นเรือนําร่อง แล่นเรือล่วงล้ำอ่าวไทยเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ทหารที่ป้อมพระจุลจึงระดมยิงถูกเรือฝรั่งเศส จนเรือนําร่องทะลุไปเกยตื้นที่แหลมลําพูราย เรือฝรั่งเศสได้ชักธงรบ และระดมยิงมายังป้อมพระจุล ป้อมพระจุลยิงโต้ตอบด้วยปืนใหญ่ทุกกระบอก แต่เรือรบทั้ง 2 ลำ ยังคงแล่นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ และจอดทอดสมออยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส

ผู้สันทัดกรณีหลายท่านเห็นตรงกันว่า ไทยเสียเปรียบฝรั่งเศสหลายข้อ เพราะกองกำลังทหารไทยมีขนาดเล็ก ขาดการฝึกอบรม นายทหารที่ปากน้ำก็มีเพียงคนเดียวที่พูดไทยได้ อีก 2 นาย เป็นชาวเดนมาร์ก เพิ่งมารับราชการในไทยได้ไม่นาน นายเฮนรี่ นอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญเรืองประเทศตะวันออกเล่าว่า

“ในระหว่างการต่อสู้กันนั้นนายทหารเหล่านี้วิ่งจนหอบไปที่ปืนแต่ละกระบอกสลับกัน ทั้งยังวิ่งขึ้นลงขั้นบันไดและฐานยิงที่สร้างเสร็จครึ่งเดียว โดยต้องระวังตัวอย่างดีที่สุดไม่ให้ตกหลุม พร้อมออกคำสั่งเป็นภาษาที่ทหารสยามฟังไม่เข้าใจ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรปราการ. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 25 มิถุนายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2562