พาณิชย์สัมพันธ์ สยาม-ริวกิว ร่องรอยไหจากเตาเผาสุโขทัยที่ “ปราสาทชูริ” เกาะโอกินาวา

ปราสาทชูริ เกาะโอกินาวา ญี่ปุ่น อาณาจักรริวกิว
ท้องพระโรงไซเด็น ปราสาทชูริ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1993 (Photo by STR / JIJI PRESS / AFP) / Japan OUT

ปราสาทชูริ เกาะโอกินาวา นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของ อาณาจักรริวกิว ยังเป็นที่ที่แสดงถึงการติดต่อกับนานาประเทศ รวมทั้ง สยาม ด้วย โดยพบร่องรอยไหจากเตาเผาสุโขทัยที่นั่น 

ริวกิว

ค.ศ. 1425 มีพระราชสาส์นจากกษัตริย์ของริวกิวส่งไปยังกษัตริย์ประเทศสยามใจความว่า เรือสินค้าของ ริวกิวที่ไปทําการค้าที่สยามใน ค.ศ. 1419 ถูกเจ้าหน้าที่สยามผูกขาดการค้า ไม่ให้ทําการค้ากับพ่อค้าที่นั่นโดยตรง และยังถูกเจ้าหน้าที่ท่าเรือของสยามกดราคาสินค้าที่ริวกิวนํามาขาย เช่น เครื่องถ้วย จนทําให้การค้าของริวกิวขาดทุน โดยเจ้าหน้าที่สยามอ้างว่า ของกํานัลที่ริวกิวนํามาให้นั้นน้อยเกินไป

ปีต่อมา ริวกิวจึงเพิ่มจํานวนของกํานัล แต่ก็ยังถูกสยามผูกขาดการค้า จนริวกิวจําต้องยกเลิกการเดินเรือไปในปีถัดไป ในพระราชสาส์นดังกล่าว ริวกิวขอร้องให้สยามอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของริวกิวทําการค้าขายกับพ่อค้าที่นั่นได้อย่างอิสระ และเมื่อการค้าเสร็จสิ้นลงแล้วขอให้เรือริวกิวกลับประเทศโดยเร็ว

จากบันทึกข้างต้น ริวกิวกับสยามมีการติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 เรื่อยมาจนถึงปลาย ศตวรรษที่ 16 เป็นเวลากว่า 200 ปี แม้บางครั้งการติดต่อของทั้งสองจะชะงักลงบ้าง เนื่องจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมของสยาม แต่สยามก็เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริวกิวทําการค้าด้วยมากที่สุดและยาวนานที่สุด คือตั้งแต่ราวปลายศตวรรษที่ 14 ถึงปี 1570 ริวกิวเดินเรือไปสยามเพื่อซื้อสินค้าอย่างไม้ฝาง งาช้าง และพริกไทย ไปขายต่อให้จีน (ในรูปของการถวายบรรณาการ) รวมทั้งดินแดนใกล้เคียง อย่างเกาหลีและญี่ปุ่น

ในช่วงเริ่มแรกของการติดต่อของทั้ง 2 ประเทศ อยุธยาตั้งราชวงศ์มาได้ไม่นาน ส่วนริวกิวก็มีเจ้าปกครองท้องถิ่นกระจัดกระจายอยู่หลายที่ ในช่วงศตวรรษที่ 14 ริวกิวมีแคว้นใหญ่อยู่ 3 แคว้น คือ ฮกคุซัน หรือ “ภูเขาทางตอนเหนือ” จูซัน หรือ “ภูเขาทางตอนกลาง” และนันซัน หรือ “ภูเขาทางตอนใต้” นัก ประวัติศาสตร์จึงเรียกยุคนี้ว่า “ยุค 3 แคว้น”

หลังจากจีนเปลี่ยนการปกครองจากราชวงศ์หยวนเป็นราชวงศ์หมิงได้ไม่นาน 3 แคว้นนี้ต่างก็ส่งของไปถวายบรรณาการหมิง ใน ค.ศ. 1429 เจ้าครองแคว้นจูซันตีแคว้นทางเหนือและใต้ได้ และรวมประเทศตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรริวกิว ปกครองประเทศโดยรับเอารูปแบบการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมมาจากจีน ในขณะเดียวกันก็ทําการค้ากับประเทศอื่นด้วย เช่น เกาหลีและญี่ปุ่น รวมทั้งเมืองท่าต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สยาม มะละกา ปัตตานี ซุนดากะลาปา (จาการ์ตา) ปาเล็มบัง

ริวกิวมีกษัตริย์ปกครอง 28 พระองค์ ยุคของราชวงศ์ริวกิวแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือราชวงศ์โชที่ 1 (ค.ศ. 1406-69) ช่วงที่ 2 คือราชวงศ์โชที่ 2 (ค.ศ. 1470-1879) ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเล็ก ๆ แห่งนี้มีทั้งความรุ่งเรืองและความขมขื่น เนื่องจากริวกิวถูกขนาบไปด้วยรัฐที่ใหญ่กว่าอย่างจีนและญี่ปุ่น ริวกิวต้องพึ่งอํานาจของจีนเพื่อความอยู่รอดในด้านเศรษฐกิจและการเมือง จึงเป็นประเทศแรก ๆ ที่ส่ง บรรณาการไปแสดงความจงรักภักดีต่อจีน

ความสัมพันธ์แบบบรรณาการระหว่างริวกิวกับจีนดําเนินไปเป็นเวลาเกือบ 500 ปี อย่างไรก็ตาม ริวกิวก็ไม่รอดพ้นจากการเข้ามายึดครองของญี่ปุ่น ริวกิวถูกไดเมียวแคว้นซัตซึมะเข้ามายึดอํานาจ ใน ค.ศ. 1609 แต่ซัตซึมะก็ยังคงตําแหน่งกษัตริย์ริวกิวไว้และอนุญาตให้ติดต่อกับจีนได้ต่อไปในฐานะ “อาณาจักรริวกิว” เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

แต่พอมาใน ค.ศ. 1872 รัฐบาลเมจิของญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะปกครองริวกิวโดยตรง จึงลดฐานะจากอาณาจักรเป็นแคว้นและส่งคนจากส่วนกลางมาปกครอง ต่อมาใน ค.ศ. 1879 มีการยกเลิกระบบแคว้น กษัตริย์ของริวกิวถูกถอดจากตําแหน่ง ริวกิวเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดโอกินาวา ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นอาณาจักรริวกิวโดยสิ้นเชิง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โอกินาวาเป็นสนามรบของทหารฝ่ายพันธมิตรนํา โดยอเมริกันกับทหารญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม โอกินาวาจึงตกอยู่ใต้การปกครองของอเมริกาเป็นเวลา 20 กว่าปี ก่อนอเมริกาจะคืนให้กับญี่ปุ่นใน ปี ค.ศ. 1972 บาดแผลของสงครามยังอยู่ในความทรงจําของคนโอกินาวาจนถึงทุกวันนี้

ปราสาทชูริ 

ถึงแม้ในปัจจุบันริวกิวหรือโอกินาวาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น แต่ผู้ที่ไปเยือนเมืองนี้จะรู้สึกได้ถึง เอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างจากส่วนอื่นของญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวที่มา เกาะโอกินาวา ก่อนอื่นจะต้องไปชม ปราสาทชูริ ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรริวกิว

ปราสาทชูริ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ เกาะโอกินาวา สร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นช่วงที่ริวกิวเจริญรุ่งเรืองในการค้าและการเมือง เป็นที่ว่าการของราชสํานักริวกิวและที่พํานักของกษัตริย์ และยังเป็นสถานที่ต้อนรับทูตจากจีนที่มาแต่งตั้งกษัตริย์ริวกิวเวลามีการเปลี่ยนรัชสมัย เนื่องจากโอกินาวามีภูมิประเทศเป็นเกาะ ปราสาทส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่บนเขาเพื่อจะได้เห็นเรือที่เข้าออกประเทศ

ปราสาทชูริก็เช่นกัน ทางขึ้นสู่ตัวปราสาทมีวัดและสุสานของกษัตริย์ริวกิว เมื่อเดินขึ้นไปถึงตัวปราสาท มีกําแพงเป็นทางยาวกั้น และมีประตูหลายชั้น ประตูแต่ละชั้นมีชื่อเขียนอยู่ข้างบน เช่น ประตูด้านหน้าของปราสาทมีชื่อว่า “คันไคมง” แปลว่าประตูต้อนรับ ที่ชื่อนี้เพราะว่าเป็นประตูต้อนรับทูตที่มาจากจีนเวลามาแต่งตั้งกษัตริย์ริวกิว ข้างในสุดเป็นพระราชวังและที่ทําการของขุนนางและเป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

ประตูคิวเคมง ประตูด้านข้างของปราสาทชูริ (ภาพถ่ายโดยปิยดา ชลวร)

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ปราสาทนี้ยังถูกใช้เป็นที่บัญชาการของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อต่อสู้กับฝ่ายพันธมิตร แต่ถูกเครื่องบินสหรัฐทิ้งระเบิดทําให้ตัวปราสาทถูกทําลายไป หลังสงครามมีการใช้ที่แห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยริวกิว แต่ภายหลังย้ายมหาวิทยาลัยไปตั้งที่อื่น และสร้างปราสาทแห่งนี้ใหม่ทับที่เดิม บางส่วนได้เปิดเป็นสวนสาธารณะครั้งแรกใน ค.ศ. 1992 และได้รับการบันทึกเป็นมรดกโลกใน ค.ศ. 2000 บริเวณโดยรอบปราสาทนี้ยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่ง เช่น หลุมฝังศพของกษัตริย์และวัดประจําราชวงศ์

ความสัมพันธ์กับสยาม

ปราสาทชูริ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรริวกิวแล้ว ยังเป็นที่ที่แสดงถึงการติดต่อกับนานาประเทศรวมทั้งสยามด้วย เพราะมีการขุดพบไหและชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาจากไทยเป็นจํานวนมาก กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณปราสาทและวัดใกล้เคียง ไหที่พบเป็นไหสี่หูสีน้ำตาลดํา เคลือบมัน มีหลายขนาดความสูงตั้งแต่ 8-55 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของปากไหมีตั้งแต่ 7-25 เซนติเมตร ส่วนชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาเป็นฝาหม้อดินจํานวนมาก แต่ไม่ค่อยพบตัวหม้อ

ในบริเวณที่ชื่อ “เคียวโนะอุจิ” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ประกอบพิธีสําคัญ ๆ ของกษัตริย์และทําพิธีสวดขอเทพเจ้าให้คุ้มครองเรือที่จะเดินเรือออกนอกประเทศ พบชิ้นส่วนกระเบื้องและเครื่องถ้วยของสยามปะปนกับเครื่องถ้วยของเวียดนามและจีนเป็นจํานวนมาก ในจํานวนนั้นมีไหสี่หูเคลือบสีน้ำตาลดํา ของไทย ทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเป็นชิ้นส่วนกระเบื้อง เคียวโนะอุจิเป็นส่วนที่สูงที่สุดของปราสาทชูริทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ จากจุดนั้นสามารถมองเห็นทะเลทั้งด้านทิศเหนือและใต้

นอกจากนี้ในวัดที่อยู่รอบบริเวณปราสาท อย่าง เอ็นคะคุจิ ซึ่งเป็นวัดสําคัญประจําราชวงศ์ริวกิว พบชิ้นส่วนไห ฝาหม้อ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร และครกของไทยรวม 51 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นเล็ก ๆ ปะปนอยู่กับกระเบื้องหลังคา เครื่องถ้วยสีขาวลายฟ้า และเครื่องถ้วยพื้นขาวของจีน รวมทั้งกริชจากอินโดนีเซีย ส่วนในวัดอีกแห่งชื่อ เท็นไคจิ พบชิ้นส่วนไหเคลือบกว่าพันชิ้น แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนไหจึงคํานวณความสูงของไหไม่ได้ แต่ไหขนาดใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลางก้นไห 27.5 เซนติเมตร ส่วนชิ้นส่วนฝาหม้อก็พบเป็นจํานวนมาก ที่น่าสนใจคือพบชิ้นส่วนไหเคลือบที่น่าจะเป็นตุ๊กตารูปคนอยู่ด้วย

ไหสี่หูของไทยนั้นไม่ได้พบในเขตโบราณสถานปราสาทชูริแห่งเดียว ยังพบที่ปราสาทของเจ้าครองแคว้นท้องถิ่นและตามหลุมฝังศพอีกด้วย ปราสาทที่ว่านี้อยู่ทางตอนเหนือของเกาะโอกินาวา ชื่อ “ปราสาทนาคิจิน” สร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตรงกับสมัยสุโขทัย เป็นที่ตั้งของเจ้าครองแคว้นฮกคุซัน ซึ่งเป็น แคว้นที่ปกครองดินแดนตอนบนของเกาะก่อนที่จะถูกกษัตริย์จากแคว้นจูซันทางตอนกลางเข้ายึดอํานาจใน ค.ศ. 1416

ก่อนที่แคว้นฮกคุซันจะถูกแคว้นจูซันยึด ฮกคุซันทําการค้ากับจีนโดยส่งทูตไปถวายบรรณาการอยู่พักหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มีการขุดพบเครื่องถ้วยของจีนและเหรียญอีแปะในต้นสมัยหมิงเป็นจํานวนมาก ในจํานวนนั้นยังพบไหสี่หูของไทยคล้ายกับที่พบที่ปราสาทชูริและฝาหม้อดินเป็นจํานวนหนึ่ง ไหสี่หูที่พบสูงประมาณ 66 เซนติเมตร ปากไหเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร ข้างในจุได้ประมาณ 36 ลิตร และพบเครื่องถ้วยมีลวดลายของเวียดนามและเกาหลีรวมอยู่ด้วย ไหและหม้อดินของไทยที่พบที่โบราณสถานปราสาทนาคิจินอาจมาจากการที่เจ้าครองแคว้นฮกคุซันเดินเรือไปทําการค้ากับสยามในช่วงที่ตนทําการค้ากับจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษ ที่ 15 (เพื่อนําไม้ฝางและพริกไทยไปถวาย)

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แคว้นจูซันเข้ามายึด ปราสาทนาคิจินก็หมดความสําคัญลง แคว้นฮกคุซันไม่ได้ ติดต่อกับจีนอีก เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งว่า สินค้าต่างชาติที่ขุดพบโดยเฉพาะจากไทยและเวียดนาม เป็นสินค้าที่ถูกลําเลียงมาจากตอนใต้ของเกาะ

ไหสี่หูและหม้อดินของไทยพบกระจัดกระจายอยู่ตามโบราณสถานของโอกินาวา 18 แห่ง แต่ที่เยอะที่สุด ดูจะเป็นปราสาท 2 แห่งที่กล่าวข้างต้น นักโบราณคดีญี่ปุ่นสันนิษฐานว่าไหสีหูน่าจะผลิตจากเตาศรีสัชนาลัยที่สุโขทัย ส่วนหม้อดินผลิตจากเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ที่ผลิตในช่วงศตวรรษที่ 15-16 ซึ่งตรงกับช่วงที่ริวกิวทําการค้ากับสยาม

การที่พบชิ้นส่วนไหจากไทยเป็นจํานวนมากในบริเวณเคียวโนะอุจิ สันนิษฐานกันว่าไหของไทยถูกใช้ในพิธีทางศาสนาของริวกิว อาจจะเอาไว้ใส่เหล้าซึ่งใช้ในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า ในเอกสารของริวกิวเองก็มีหลายชิ้นที่พูดถึงเหล้าจากสยาม ไหเหล่านี้เดิมจึงน่าจะเป็นภาชนะใส่เหล้าซึ่งเรือริวกิวนํามาจากสยาม

โบราณวัตถุที่ขุดพบในปราสาทนาคิจิ ไหสี่หูและฝาหม้อ (ขวาล่าง) เป็นของสยาม

จากเอกสารของริวกิวชื่อ “เรคิไดโฮอัน” สยามส่งพระราชสาส์นพร้อมของขวัญมาให้ริวกิวหลายครั้งเพื่อ ตอบแทนการที่ริวกิวช่วยเหลือลูกเรือสยาม ที่เรืออับปางระหว่างการเดินทางไปริวกิวในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ในรายการของขวัญที่สยามส่งให้นอกจากจะมีผ้าจากอินเดีย ไม้ฝาง และงาช้างแล้ว สิ่งที่เด่นชัดคือเหล้า ซึ่งมีจํานวนกว่า 70 ไห จากในเอกสาร เหล้ามีหลายชนิดด้วยกัน เช่น “เหล้าขาว” “เหล้าแดง” “เหล้าแดงกลิ่นดอกไม้” และ “เหล้ากลิ่นดอกไม้ข้างในมีมะพร้าวอยู่”

เหล้าเหล่านี้ในเอกสารไม่ได้บอกว่าเป็นเหล้าชนิดใดและมาจากไหน อาจจะเกิดคําถามว่าเหล้าเหล่านี้เป็นของสยามหรือไม่ หรือว่าสยามนําเข้ามาจากที่อื่นอีกที แต่ในเอกสารของจีน “หยิงหยาเชิงหลั่น” (เขียนปี ค.ศ. 1416) มีบันทึกไว้ว่า ที่สยามมีเหล้า 2 ชนิด คือ เหล้าที่ทําจากข้าวและเหล้าที่ทําจากมะพร้าว และเป็นเหล้ากลั่นทั้ง 2 ชนิด ซึ่งคล้ายกับเหล้าของมะละกา เหล้าเหล่านี้จึงน่าจะคล้ายกับเหล้าโรงในปัจจุบัน ทําให้เรารู้ว่าสยามมีการผลิตเหล้าเองอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้ว และจากการที่สยามถวายเหล้าให้ริวกิวเป็นจํานวนมากแสดงว่าเหล้าเหล่านี้น่าจะเป็นสินค้าออกของสยามในสมัยนั้นด้วย

เมื่อนําหลักฐานทางโบราณคดีอย่างไหสี่หูที่ขุดพบที่โอกินาวาและเอกสารลายลักษณ์อักษรมาประกอบ กัน นักวิชาการญี่ปุ่นลงความเห็นกันว่า ไหที่พบน่าจะเป็นภาชนะใส่เหล้าจากสยาม ดังที่ปรากฏในเอกสารและอาจจะมีจํานวนมากกว่านั้นแต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ นอกจากนี้ยังมีบางทฤษฎีบอกว่า เหล้าจากสยามเป็นต้นแบบการกลั่นเหล้า “อาวาโมริ” ของโอกินาวา ซึ่งใช้ข้าวจากไทยเป็นวัตถุดิบในการหมัก แล้วจึงนําไปกลั่น มีกรรมวิธีการกลั่นคล้ายเหล้าโรงของไทย แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้ข้าวไทยหมัก

เหล้าอาวาโมริเริ่มกลั่นขึ้นเป็นครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 16 เนื่องมาจากการติดต่อระหว่างริวกิวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หมดลงแต่ความต้องการเหล้ายังมีอยู่ คนริวกิวจึงเริ่มกลั่นเหล้าเอง ในปัจจุบันเหล้าอาวาโมริเป็นสินค้าโอทอปอย่างหนึ่งของโอกินาวา อย่างไรก็ตาม บางทฤษฎีก็บอกว่า ต้นแบบของเหล้าอาวาโมริน่าจะมาจากฮกเกี้ยนหรือไม่ก็แถบอื่นทางตอนใต้ของจีนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือเหล้าอาวาโมริใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่างจากเหล้าสาเกที่ใช้ข้าว ญี่ปุ่นทํา

ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับริวกิวสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1570 เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวจีนและโปรตุเกส เริ่มเข้ามามีบทบาทในการค้าทางทะเลมากขึ้นแทนที่ริวกิว อย่างไรก็ตาม ร่องรอยความสัมพันธ์ของทั้งสองยังปรากฏให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ในรูปของโบราณวัตถุและอิทธิพลทางวัฒนธรรม รูปปั้นชาวริวกิวที่เคยอยู่ในวัดโพธิ์และปลาริวกิวของไทยก็น่าจะมีที่มาจากการติดต่อกันของทั้ง 2 ประเทศในสมัยนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2562