ซาดาโกะ ซาซากิ ตำนานพับนกกระเรียนกระดาษ 1,000 ตัว สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

"อนุสรณ์สันติภาพเยาวชน" (Children's Peace Monument) ณ สวนสันติภาพฮิโรชิม่า (Hiroshima Peace Park) AFP PHOTO / Yoshikazu TSUNO

ซาดาโกะ ซาซากิ (Sadako Sasaki) เด็กผู้หญิงชาวญี่ปุ่นผู้ต่อสู้กับโรคร้ายผลจากภัยสงครามโลก ตำนานคำอธิษฐานด้วยการพับนกกระเรียนกระดาษ 1,000 ตัว

ซาดาโกะ เกิดเมื่อ 7 มกราคม ค.ศ. 1943 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในครอบครัวช่างตัดผม เธอเป็นลูกคนที่สอง มีพี่ชายหนึ่งคน น้องสาวหนึ่งคน และน้องชายหนึ่งคน ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ซาดาโกะอายุราวสองขวบ สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 บ้านของเธออยู่ห่างจากจุดระเบิดไม่ถึงสองกิโลเมตรเท่านั้น ซาดาโกะไม่ได้รับบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย แต่หารู้ไม่ว่าผลกระทบจากกัมมันตรังสีจะส่งผลกระทบอย่างให้หลวงในภายภาคหน้า

เมื่อซาดาโกะอายุได้ 12 ปี ใน ค.ศ. 1955 เธอเป็นเด็กผู้หญิงปกติและมีความสุขเหมือนเด็กคนอื่นๆ เธอมีความฝันที่จะเป็นนักวิ่ง แม่ของซาดาโกะระบุว่าตั้งแต่ซาดาโกะยังเล็กๆ เธอหัดวิ่งก่อนหัดเดินเสียอีก วันหนึ่งหลังจากการแข่งขันวิ่งผลัดครั้งสำคัญที่เธอช่วยให้ทีมของเธอชนะ ชั่วขณะหนึ่งเธอรู้สึกเหนื่อยล้า เวียนศีรษะ และเจ็บหัวใจ แต่ไม่นานอาการเหล่านี้ก็หายไป ซาดาโกะคิดเพียงว่ามันเป็นอาการหลังจากการออกแรงวิ่งแข่งเท่านั้นและไม่ได้บอกให้ใครรู้ แต่ไม่นานหลังจากนั้น เธอกลับมีอาการเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ และเริ่มมีอาการถี่มากยิ่งขึ้น

วันหนึ่ง ซาดาโกะรู้สึกวิงเวียนศีรษะอย่างมากจนเธอล้มลงและไม่สามารถลุกขึ้นได้ เพื่อนในโรงเรียนของเธอจึงรีบแจ้งครูและพาไปรักษา พ่อและแม่ของซาดาโกะพาเธอไปที่โรงพยาบาลกาชาดเพื่อดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ และหลังจากการวินิจฉัยของแพทย์ก็พบว่า ซาดาโกะป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (แบบฉับพลัน) หรือลูคีเมีย (Leukemia) ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าเธอจะป่วยเป็นโรคนี้ได้

ในช่วงเวลานั้นมักเรียกโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวว่า “โรคระเบิดปรมาณู” (A-bomb disease) เกือบทุกคนที่ป่วยเป็นโรคนี้เสียชีวิตเพราะผลกระทบและความรุนแรงจากกัมมันตรังสีนั้นส่งผลต่อผู้ป่วยอย่างสาหัส อีกทั้งวิทยาการทางการแพทย์และการรักษาในสมัยนั้นยังทำได้ยาก จึงทำให้ซาดาโกะหวาดกลัวมาก เธอต้องการกลับไปเรียนหนังสือ แต่เธอทำได้เพียงพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

ซาดาโกะ ซาซากิ (Sadako Sasaki) ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1955

วันหนึ่งเพื่อนสนิทของซาดาโกะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล โดยนำนกกระเรียนกระดาษ ซึ่งเป็นศิลปะการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น (Origami) มาให้ เธอบอกกับซาดาโกะว่า ในตำนานโบราณของชาวญี่ปุ่น มีนกกระเรียนนกศักดิ์สิทธิ์อายุยืนยาวหลายร้อยหลายพันปี เชื่อว่าหากพับนกกระเรียนกระดาษ 1,000 ตัว จะสามารถอธิษฐานขอพรได้ตามที่ปรารถนา หลังจากได้ยินตำนานนี้ซาดาโกะจึงตัดสินใจพับนกกระเรียนกระดาษให้ครบ 1,000 ตัวด้วยความหวังว่าเธอจะหายป่วยและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง

ซาดาโกะยังคงพับนกกระเรียนกระดาษต่อไปด้วยความร่าเริงและมีความหวัง แต่อาการของเธอกลับยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ กระทั่งเธอจากไปอย่างสงบ ในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1955 ตลอดระยะเวลาหลายเดือนในโรงพยาบาล ซาดาโกะพับนกกระเรียนกระดาษได้สำเร็จเกิน 1,000 ตัว สำหรับเรื่องเล่าที่เธอพับได้ 644 ตัวนั้นมาจากนวนิยายเรื่อง Sadako and the Thousand Paper Cranes เขียนโดย Eleanor Coerr นักเขียนชาวแคนาดา

ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 เกือบ 3 ปีหลังจากที่ซาดาโกะเสียชีวิต ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งสันติภาพขึ้น หรือเรียกว่า “อนุสรณ์สันติภาพเยาวชน” (Children’s Peace Monument) ณ สวนสันติภาพฮิโรชิม่า (Hiroshima Peace Park) ซึ่งตรงกับวันเด็ก (Children’s Day) ของประเทศญี่ปุ่น อนุสาวรีย์นี้อุทิศเพื่อระลึกถึงภัยร้ายของสงครามที่สร้างความเจ็บปวดให้กับชีวิตของเด็กทุกๆ คนที่ต้องเสียชีวิตเนื่องด้วยภัยของสงคราม

ข้อความที่ถูกจารึกบนอนุสาวรีย์เขียนไว้ว่า “This is our cry, This is our prayer, Peace in the world” 

“นี่คือเสียงร้องไห้ของเรา นี่คือคำอธิษฐานของเรา ขอจงมีความสงบสุขในโลก”


อ้างอิง :

https://www.japantimes.co.jp/community/2018/08/01/issues/60-years-sadakos-death-story-behind-hiroshimas-paper-cranes-still-unfolding/#.XbJLzudLifV

https://www.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/view/165184/119625


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ.2562