“ชาวนาผู้มีวาทศิลป์” วรรณกรรมอียิปต์โบราณ ปราชญ์ชาวนาผู้เรียกร้องความยุติธรรมถึง 9 ครั้ง

ภาพวาด ชาวนา อียิปต์โบราณ อาหาร
วิถีชีวิตชาวนาอียิปต์โบราณขึ้นกับวงจรการเกษตร ภาพวาดกำแพงสุสานคนตายสะท้อนภาพเป็นจริงของชาวนา ตั้งแต่การเพาะปลูก จนถึงการถูกเรียกเก็บภาษีพืชผลจากเจ้าหน้าที่รัฐ

วรรณกรรมอียิปต์โบราณที่เป็นนิทานเรื่อง “ชาวนาผู้มีวาทศิลป์” (Tale of the Eloquent Peasant) ได้รับการยกย่องว่าเป็นบทประพันธ์คลาสสิคชิ้นแรก ๆ ของสังคมมนุษย์ ที่มีสาระเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องความยุติธรรม วรรณกรรมเรื่องนี้เขียนขึ้นมาใน “ยุคราชอาณาจักรกลาง”* (Middle Kingdom) ของอียิปต์โบราณ ที่นักอียิปต์วิทยาเรียกว่าเป็น “ยุคทองวรรณกรรม”


* นักอียิปต์วิทยาแบ่งประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณอายุ 3,100 ปี ออกเป็นยุคสมัยที่ยาวนานกว่าราชวงศ์ เพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ ยุคสมัยที่สําคัญคือ ยุคราชอาณาจักร (Kingdom) และยุครอยต่อ (Intermediate) ยุคราชอาณาจักรเป็นช่วงที่อียิปต์โบราณมีอํานาจรัฐรวมศูนย์ ศิลปวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรือง มี 3 ยุค คือ ราชอาณาจักรเก่า ราชอาณาจักรกลาง และราชอาณาจักรใหม่ ส่วนยุครอยต่อ เป็นช่วงอํานาจรัฐล่มสลาย บ้านเมืองแตกแยก และถูกต่างชาติยึดครอง เกิดแทรกขึ้นมาระหว่างยุคราชอาณาจักร มีทั้งหมด 3 ยุค คือ ยุครอยต่อที่ 1, 2 และ 3


นิทาน “ชาวนาผู้มีวาทศิลป์” เขียนด้วยปากกาแหลมบนกระดาษปาปิรัส โดย “อาลักษณ์” นิรนามคนหนึ่ง ภูมิอากาศที่ร้อนแห้งของอียิปต์ ช่วยคงสภาพเดิมของต้นฉบับบทประพันธ์นี้มาเป็นเวลากว่า 4,000 ปี บทประพันธ์นี้เขียนขึ้นเป็นอักษรคัดลายมือ (Hieratic) มีทั้งหมด 430 บรรทัด ปัจจุบันต้นฉบับนิทานเรื่องนี้ที่บันทึกบนกระดาษปาปิรัส มีหลงเหลืออยู่ 4 ชิ้น เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน 3 ชิ้น และอีกชิ้นหนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ ต้นฉบับทั้ง 4 ชิ้นถูกขุดพบแยกกันอยู่ในสุสานของยุคราชอาณาจักรกลาง แสดงให้เห็นถึงความนิยมอ่านนิทานเรื่องนี้ในยุคสมัยดังกล่าว

เนื้อหานิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เรียบง่าย แต่ไม่น่าเชื่อว่าสาระของนิทานจะเต็มไปด้วยแนวคิดที่สมบูรณ์ มีชีวิตชีวาในเรื่องความยุติธรรม สิ่งที่เป็นหัวใจสําคัญของนิทานคือการร้องเรียนถึง 9 ครั้งของชาวนาคนหนึ่ง ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต่อหัวหน้ามหาดเล็ก ที่ยังมีตําแหน่งเป็นผู้พิพากษา ชาวนาได้กล่าวเป็นบทกวีขอร้องให้มหาดเล็กผู้นี้ ทําในสิ่งที่เป็นความยุติธรรม สะท้อนออกมาด้วยคําพูดเชิงอุปมาอุปไมยของชาวนา อย่างเช่น ความยุติธรรมเปรียบเหมือนการเดินเรือในทะเล ต้องชี้นําและมีเป้าหมายเพื่อสัจจะความจริงมิใช่ความเท็จ

นอกจากนี้ นิทานยังสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาทางการเมืองเรื่องบทบาทผู้นําการเมือง ที่มีหน้าที่ปกป้องความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่อ่อนแอในสังคม และเป็นผู้สร้างสิ่งที่ดีงาม ที่ชาวอียิปต์โบราณเรียกว่า “มาต” (Maat) หรือ “ความยุติธรรม” ชาวอียิปต์โบราณเป็นคนชื่นชมการใช้สํานวนโวหารที่ไพเราะ และมีวาทศิลป์ นิทานเรื่อง “ชาวนาผู้มีวาทศิลป์” จึงเป็นที่นิยมอ่านกันทั้งคนชั้นสูงและคนชั้นล่าง เพราะความงดงามของภาษา ส่วนคนชั้นล่างนํามาอ่านเป็นกิจกรรมเล่านิทานตามหมู่บ้าน เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของชาวอียิปต์โบราณ ในยุคสมัยที่ยังไม่มีพื้นที่สาธารณะเพื่อความบันเทิง ที่พวกกรีซและพวกโรมันเรียก ว่า โรงละคร โรงมหรสพ หรือสนามแข่ง

วรรณกรรมอียิปต์โบราณ

บทประพันธ์เรียกว่า “วรรณกรรม” ของอียิปต์โบราณ มีรูปแบบการเขียนที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย บทประพันธ์ที่เป็น “วรรณกรรมภูมิปัญญา” เขียนขึ้นตั้งแต่ยุคราชอาณาจักรเก่า มีลักษณะเป็นคําสั่งสอนการใช้ชีวิตให้ประสบความสําเร็จ เช่น “คําสอนของพทาห์โฮเตป” มหาเสนาบดีของฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 5 ที่สั่งสอนบุตร แต่วรรณกรรมประเภทเรื่องแต่งหรือนิทานมีขึ้นมาครั้งแรกในยุคราชอาณาจักรกลาง ยุคสมัยที่มีความหลากหลายทางด้านวรรณกรรม

อียิปต์โบราณก็เหมือนสังคมมนุษย์อื่น ๆ วรรณกรรม คืองานประพันธ์ที่สะท้อนประสบการณ์ ความหวัง และความใฝ่ฝันของคนเรา วรรณกรรมประเภท “นิทาน” เขียนขึ้นมาทั้งเพื่อความบันเทิงและสื่อสารข้อความที่มีเนื้อหาด้านจริยธรรม นิทานมีชื่อเสียงเขียนในยุคราชอาณาจักรกลาง ที่ชาวอียิปต์โบราณนิยมอ่านได้แก่ กะลาสีเรืออับปาง (Shipwrecked Sailor) เรื่องราวผจญภัยของซินูเฮ (the Story of Sinuhe) และ ชาวนาผู้มีวาทศิลป์

ต้นฉบับของนิทานกะลาสีเรืออับปาง ที่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน บันทึกบนกระดาษปาปิรัสชิ้นเดียว แต่มีเนื้อหาครบทั้งเรื่อง แต่ต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่ของนิทานชาวนาผู้มีวาทศิลป์ เป็นบันทึกบนกระดาษปาปิรัส 4 ชิ้น แต่ละชิ้นมีเนื้อหาเพียงบางส่วนของนิทาน ต้นฉบับที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน มีเนื้อหาการร้องเรียนครบทั้ง 4 ครั้ง ของชาวนา

วรรณกรรมสําคัญ ๆ ของอียิปต์โบราณมีบันทึกไว้ในหลาย ๆ ต้นฉบับ เนื่องจากบางส่วนของวรรณกรรม ถูกนํามาใช้สอนเรื่องศิลปะการเขียนของนักเรียนโรงเรียนฝึกอาลักษณ์ ส่วนวรรณกรรมที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ที่เป็นต้นฉบับชิ้นเดียวมีเนื้อหาครบถ้วน เนื่องจากพวกอาลักษณ์บางคน คัดลอกเนื้อหาทั้งหมดของนิทานไว้ให้ตัวเองอ่านเพื่อความบันเทิง

ชาวอียิปต์โบราณเป็นคนที่รู้จักจําแนกการใช้ภาษา ระหว่างภาษาธรรมดาทั่วไปกับภาษาไพเราะสละสลวย ที่ใช้เขียนบันทึกทางการ งานวรรณกรรม และการสนทนาของคนชั้นสูง ในแง่มุมเชิงวรรณกรรม นิทานเรื่องชาวนาผู้มีวาทศิลป์ สะท้อนภาพที่งดงามของสังคมอียิปต์โบราณอย่างหนึ่งว่า ความสามารถในการเขียนด้วยภาษาที่สวยงาม ไม่ได้จํากัดในหมู่คนชั้นสูงที่มีการศึกษาเท่านั้น ชาวนา ตัวเอกของเรื่องที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ก็สามารถอธิบายแนวคิด “ความยุติธรรม” หรือ “มาต” ได้อย่างงดงามและลึกซึ้ง

ดังเช่นตอนหนึ่งในนิทานเรื่องนี้ เรนซิ มหาดเล็กหลวงไปรายงานต่อฟาโรห์ว่า “ข้าแต่พระองค์ ข้าพบชาวนาคนหนึ่ง ผู้ที่มีวาทศิลป์มาก มาร้องเรียนเรื่องทรัพย์สินของเขาถูกขโมย”

วรรณกรรมอียิปต์โบราณยังสะท้อนถึงความชื่นชม ที่ชาวอียิปต์โบราณมีต่อการใช้ภาษาที่ชาญฉลาด ทั้งตัวเนื้อหาและสไตล์การเขียน รูปแบบการเขียนที่พบบ่อยในวรรณกรรม รวมทั้งในนิทานชาวนาผู้มีวาทศิลป์ คือการใช้อุปมาอุปไมย ลักษณะร่วมของวรรณกรรมอียิปต์โบราณอย่างหนึ่งคือ สไตล์การเขียนที่เรียกว่า “ประโยคกวีคู่เชิงความคิด” (Thought Couplets) คือความคิดที่อยู่ในประโยคหนึ่ง ถูกนํามาอธิบายขยายความด้วยคําพูดที่ต่างออกไปในอีกประโยคถัดมา นิทานชาวนาผู้มีวาทศิลป์ก็มีสไตล์การเขียนที่เต็มไปด้วยลักษณะเช่นว่านี้

ศาสนาอียิปต์โบราณ ไม่ได้มีแต่เรื่องวัตถุบูชา แนวคิดความยุติธรรม ที่มีสัญลักษณ์เป็น “เทพธิดามาต” เป็นความคิดจริยธรรมที่สำคัญสุดของศาสนาอียิปต์

สรุปความ นิทาน “ชาวนาผู้มีวาทศิลป์”

นิทานชาวนาผู้มีวาทศิลป์ประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์ที่ 11-12 ยุคราชอาณาจักรกลาง (2040-1650 ปี ก่อนคริสตกาล) แต่เนื้อเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุครอยต่อที่ 1 ยุคที่เกิดขึ้นต่อมาจากการล่มสลายของยุคราชอาณาจักรเก่า สภาพสังคมช่วงนี้เกิดกลียุค อํานาจรัฐส่วนกลางล่มสลาย ตัวเอกของนิทานเรื่องนี้เป็นชาวนาอียิปต์คนหนึ่ง ข้อความวรรคแรกของนิทานเริ่มต้นว่า

“มีชายผู้หนึ่งนามว่า คุนานัพ (Khunanup) เขาเป็นชาวนาอาศัยอยู่พื้นที่นาเกลือชื่อว่า ซิเคตเฮมาต และเขามีภรรยาชื่อ เมอริต (Merit) แล้วชาวนาผู้นี้ก็บอกกับภรรยาว่า ‘ฟังนะ ข้ากําลังจะไปยังคิเมต (อียิปต์) เพื่อนําอาหารกลับมาสําหรับลูก ๆ ของข้า จงไปยังยุ้งฉาง วัดตวงข้าวบาร์เลย์ที่เหลือจากเมื่อวานนี้ให้แก่ข้า’ (ภรรยาของเขาทําตามที่บอก) แล้วจากนั้น เขาก็วัดตวงข้าวบาร์เลย์ออกมา 6 แกลลอน แล้วชาวนาก็บอกกับภรรยาว่า ‘ฟังนะ ข้าวบาร์เลย์ 20 แกลลอน เป็นอาหารสําหรับเธอกับลูก ๆ ส่วนข้าวบาร์เลย์อีก 6 แกลลอน ให้ไปทําเป็นขนมปังกับเบียร์สําหรับข้าอาศัยกินแต่ละวัน'”

(จาก The Literature of Ancient Egypt, William Kelly Simpson, 2003)

หลังจากนั้น คุนานัพก็ออกเดินทางไปยังเมืองเฮราคลิโอโพลิส (Heracleopolis) เมืองหลวงอียิปต์โบราณ สมัยราชวงศ์ที่ 9-10 พร้อมกับลาที่บรรทุกผลิตภัณฑ์ชั้นดีจากเขตโอเอซิส เช่น เกลือ ต้นกก หนังเสือดาว ไม้ป่า และผลไม้ เพื่อเอาไปแลกกับอาหาร ก่อนถึงเมืองหลวง คุนานัพเดินทางผ่านบ้านชายชื่อเนมทินัคต์ (Nemtinakht) ผู้เช่านาของมหาดเล็กหลวงชื่อ เรนซิ (Rensi) เนมทินัคต์ คิดแผนการขโมยทรัพย์สินของชาวนา โดยเรียกคนรับใช้ให้เอาเสื้อผ้ามาปูบนทางเดินแคบ ๆ ที่ด้านหนึ่งเป็นนาข้าวบาร์เลย์โตเต็มที่ และอีกด้านหนึ่งเป็นริมฝั่งแม่น้ำสูงชัน

เหตุการณ์เมื่อถึงตรงนี้ เป็นเรื่องราวเชิงสัญลักษณ์ของ “ความไม่ยุติธรรม” ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในนิทาน เรื่องนี้ ความยุติธรรมนั้น เป็นสิทธิสาธารณะ เป็นสมบัติสาธารณะ เมื่อถูกใครบางคนเอาไปใช้ในทางประโยชน์ส่วนตัว ความยุติธรรมนั้นย่อมสูญหายไป สําหรับคนอื่น ๆ ที่เหลือแบบเดียวกันกับที่มีใครบางคนนําเอาเสื้อผ้ามาปูบนทางเดิน เพื่อไม่ให้ชาวนาเดินผ่าน

เมื่อคุนานัพพยายามหาหนทางเดินต่อไปบนทางเดิน เนมทินัคต์พูดเตือนออกไปว่า
ระวัง ชาวนา อย่าเหยียบเสื้อผ้าข้านะ”
ชาวนาตอบกลับไปว่า
“ข้าจะทําตามที่ท่านประสงค์ เพราะทางของข้านั้นดี”

คําว่า “ทางของข้านั้นดี” (My way is good) อาจตีความได้ว่า คุนานัพไม่ประสงค์จะก่อความเสียหายแก่ผู้ใด หรืออาจมีความหมายว่า คุนานัพเป็นคนประพฤติดีตามหลักศาสนาและหลักจริยธรรมของมาต

เนื่องจากข้างทางด้านริมฝั่งน้ำสูงชัน คุนานัพจึงต้องเดินข้างทางด้านอยู่ติดกับนาข้าวบาร์เลย์ และขอร้อง เนมทินัคต์ว่า ท่านจะไม่เปิดทางให้เดินหรือ ขณะที่กําลังร้องขออยู่นั้น ลาของคุนานัพก็กินข้าวบาร์เลย์บนแปลงนาข้างทางไปหยิบมือหนึ่ง เนมทินัคต์จึงใช้เป็นโอกาสเข้ายึดลาและสิ่งของที่บรรทุกมา คุนานัพยินดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งคนที่มีใจเป็นธรรมย่อมรับได้ แต่เนมทินัคต์ปฏิเสธ พร้อมกับทุบตีคุนานัพ แล้วนําลาและสิ่งของกลับไปยังที่พักอาศัยของเขา

ภาพหน้าปกหนังสืออังกฤษ 2 เล่ม ใต้ภาพมีข้อความว่า วรรณกรรมอียิปต์โบราณเป็นสื่อทางภาษาสําคัญ ทําให้เข้าใจวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของดินแดนแห่งนี้ วรรณกรรมอียิปต์โบราณมีความหลากหลาย และเขียนเป็นภาษาที่งดงามนอกจากบันทึกข้อความทางศาสนาเกี่ยวกับบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ยังเป็นงานประพันธ์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย ชีวประวัติคนตาย วรรณกรรมเกี่ยวกับคุณธรรม นิทาน และบทกวี

คุนานัพใช้เวลา 10 วัน หรือ 1 สัปดาห์ของอียิปต์โบราณ ขอให้เนมทินัคต์คืนลาและสิ่งของต่าง ๆ ที่ยึดไป เมื่อไม่ประสบความสําเร็จ เขาจึงเดินทางต่อไปยังเมืองหลวงเพื่อร้องเรียนต่อมหาดเล็กหลวง เรนซิส่งเจ้าหน้าที่ไปหาข้อเท็จจริงแล้วกลับมารายงานสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเรนซิหารือกับเจ้าหน้าที่พิพากษาคดี เจ้าหน้าที่พวกนี้เห็นว่าให้ปัดคดีนี้ออกไป เพราะเป็นเรื่องระหว่างผู้เช่านากับเจ้าของนา

คุนานัพจึงกลับมาร้องเรียนต่อเรนซิ นับเป็นการร้องเรียนครั้งที่ 1 นิทานเรื่องนี้จึงมีเค้าโครงเรื่องอยู่ที่การร้องเรียนดังกล่าว เรนซิประทับใจในวาทศิลป์การร้องเรียนของคุนานัพ จึงนําเรื่องนี้ไปรายงานให้ฟาโรห์ พระนามว่า เนบเคอเร (Nebkaure) ได้รับทราบ เนบเคอเรแนะนําเรนซิไม่ให้แสดงท่าทีอะไรออกไป เพื่อบังคับให้คุนานัพร้องเรียนทางวาจามากขึ้น แล้วให้บันทึกคําพูดนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ฟาโรห์บอกเรนซิให้จัดหาปัจจัยยังชีพแก่ภรรยาและบุตรของคุนานัพ และแก่ตัวคุนานัพด้วย โดยไม่ให้เขาทราบในเรื่องนี้

คุนานัพร้องเรียนต่อเรนซิอีก 8 ครั้ง รวมทั้งหมด 9 ครั้ง แต่ละครั้ง เรนซิไม่มีท่าที่ตอบสนองใด ๆ มีเพียงครั้งเดียวหลังจากการร้องเรียนครั้งที่ 3 ที่เรนซิแสดงความไม่พอใจและทุบตีคุนานัพ ภายหลังการร้องเรียนครั้งที่ 9 คุนานัพจากไปด้วยความสิ้นหวังต่อความยุติธรรม เรนซิให้คนไปนําตัวคุนานัพกลับมา คุนานัพคิดว่าตัวเองคงถูกลงโทษ แต่เรนซิกลับบอกกับคุนานัพว่า คําร้องเรียนทั้งหมดถูกจดบันทึกไว้ และนําเสนอต่อฟาโรห์เนบเคอเร ที่พึงพอใจมากกับคําพูดที่งดงามของชาวนาผู้นี้ และบอกให้เรนซิตัดสินคดี เรนซิตัดสินให้ทรัพย์สินของเนมทินัคต์ ตกเป็นของชาวนาคุนานัพ

ความยุติธรรมเรียกว่า “มาต”

ความยุติธรรมที่ชาวอียิปต์โบราณเรียกว่า “มาต” (Maat) เป็นแนวคิดที่มีความหมายกว้างขวางในหลาย ๆ มิติ และสมบูรณ์อย่างยิ่งในขอบเขตที่กว้าง มาต หมายถึง ความเป็นระเบียบแบบแผน และความสมดุลของจักรวาล เช่น ฤดูกาลที่เป็นไปตามปกติ การท่วมบ่าของแม่น้ำไนล์เป็นไปตามวัฏจักร กลางวันเปลี่ยนเป็นกลางคืน เป็นต้น การดํารงอยู่ของมาตจึงเป็นหลักประกันว่า โลกจะยังคงมีสภาพแบบเดียวกับเมื่อครั้งปฐมกําเนิด ในแง่นี้ความคิดมาตจึงคล้ายกับความคิดปรัชญาตะวันตกเรื่องกฎเกณฑ์ธรรมชาติ (Natural Law)

ในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมคนเรา มาตเป็นความคิดที่กําหนดค่านิยมสังคมว่าอะไรถูกอะไรผิด ความสัมพันธ์ระหว่างคน และการมองสิ่งที่เป็นความจริง ในแง่นี้ ความคิดมาต จึงตรงกับความคิดสมัยใหม่หลายอย่าง เช่น ความถูกต้อง ความเป็นระเบียบ ความยุติธรรม และสัจจะ อียิปต์โบราณไม่มีกฎหมายหรือข้อบัญญัติศาสนาที่บอกว่า อะไรคือการกระทําที่ถูกกับผิด การแยกแยะสิ่งถูกกับสิ่งผิด ความจริงกับความเท็จ จึงต้องอาศัยแนวคิดจริยธรรมที่เรียกว่า มาต เนื่องจากไม่สามารถหาคําศัพท์ที่มีความหมายครอบคลุมได้ทั้งหมด นักอียิปต์วิทยาจึงเรียกแนวคิดนี้ โดยทับศัพท์คําอียิปต์โบราณว่า มาต

เนื่องจากมาตมีความหมายในหลาย ๆ มิติ ทําให้คําว่า “ความยุติธรรม” ของชาวอียิปต์โบราณ เป็นแนวคิดที่อุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นความคิดแบบบูรณาการระหว่างจักรวาลกับมนุษย์ โลกของเทพเจ้ากับโลกของมนุษย์ จริยธรรมกับกฎหมาย สังคมกับปัจเจกบุคคล ความยุติธรรมตามหลักเกณฑ์อุดมคติกับหลักเกณฑ์ตามกาละเทศะ ความยุติธรรมที่เป็นพันธกรณีของทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และเกี่ยวพันกับชีวิตที่ดํารงอยู่ในโลกปัจจุบันกับโลกหลังความตาย

จากความหมายที่หลากหลายและสมบูรณ์นี้ ทําให้ชาวนาฐานะต่ำต้อยอย่างคุนานัพ สามารถกล่าวถึงความยุติธรรม ได้ด้วยภาษากวีที่ลึกซึ้งและไพเราะในหลาย ๆ แง่มุมแล้ว ความยุติธรรมที่คุนานัพอธิบายออกมานั้น เป็นความคิดที่ลึกซึ้งครอบคลุมหลายมิติ มากกว่าความคิดของนักกฎหมายในยุคปัจจุบัน ที่มองความยุติธรรมจากแนวคิดที่คับแคบ ยึดถือเพียงสิ่งที่เป็นพยานวัตถุเท่านั้น และขาดการมองความถูกต้องจากหลักเกณฑ์จริยธรรม รวมทั้งทําให้แนวคิดของ จอห์น รอวล์ส (John Rawls) นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง ที่กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือความเที่ยงธรรม” (Justice is fairness) กลายเป็นความคิดแบบธรรมดา ๆ

“ทําในสิ่งที่ยุติธรรม”

ในการร้องเรียนครั้งที่ 1 ต่อมหาดเล็ก เรนซิ คุนานัพกล่าวเป็นบทกวีว่า

“เมื่อท่านเดินทางบนทะเลแห่งความยุติธรรม (มาต)
ท่านจะแล่นเรือไปท่ามกลางสายลมที่สงบ
ใบเรือของท่านจะไม่ขาด
เรือของท่านจะไม่เกยฝั่ง

……..

ฝูงปลาว่ายน้ำจะมาให้ท่านจับ
ท่านจะจับสัตว์ปีกที่สมบูรณ์ได้มาก
เพราะท่านคือบิดาของคนที่กําพร้า
เป็นสามีของผู้ที่เป็นม่าย
เป็นพี่ชายของสตรี ผู้ถูกขับไล่
เป็นผู้ให้อาภรณ์แก่คนไม่มีมารดา

……..

ผู้นําที่ปราศจากความโลภ
เจ้านายผู้ไม่เปรอะเปื้อนสิ่งชั่วร้าย
ผู้ขจัดความเท็จ ผู้สร้างสัจจะความจริง (มาต)
ผู้ให้คําตอบการร้องเรียนของคนที่เรียกร้อง
เมื่อข้ากล่าว ท่านจะได้ยินหรือไม่
ทําในสิ่งที่ยุติธรรม โอ ท่านผู้ควรแก่การยกย่อง
ผู้ได้รับการสรรเสริญจากผู้สรรเสริญ
ปลดเปลื้องความทุกข์ของข้า ข้านั้นเจ็บปวด
ตรวจสอบข้าดู ข้านั้นหมดสิ้นทุกอย่าง”

(จาก The Literature of Ancient Egypt, William Kelly Simpson, 2003)

นิทาน “ชาวนาผู้มีวาทศิลป์” เขียนเป็นอักษรคัดลายมือ บนกระดาษปาปิรัส ปัจจุบันมีต้นฉบับหลงเหลืออยู่ 4 ชิ้น โดยตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ 1 ชิ้น

การร้องเรียนครั้งแรกของคุนานัพ สะท้อนให้เห็นถึงคําพูดที่เรียกร้องถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้นําว่า “ทําในสิ่งที่ยุติธรรม” ซึ่งหมายถึงการปกป้องคนที่อ่อนแอ คนที่ยากจน แนวคิดความยุติธรรมหรือมาตของอียิปต์โบราณนั้น ไม่ได้เรียกร้องให้คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันทางการเมืองและเศรษฐกิจ เหมือนกับความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ แต่หมายถึงคนทุกระดับของสังคมอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสมานฉันท์ คนมีฐานะทางสังคมสูงกว่าไม่ใช้ฐานะดังกล่าวไปเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า แต่ใช้ไปในทางช่วยเหลือคนที่ต่ำต้อยเหล่านั้น

สุสานของคนชั้นสูงที่บันทึกชีวประวัติคนตาย มักมีข้อความที่แสดงถึงความเข้าใจต่อความยุติธรรมในแนวทางนี้ เช่น “ข้าได้ให้ขนมปังแก่คนที่หิวโหย และเสื้อผ้าแก่คนที่เปลือยกาย” และ “ข้าเป็นสามีของผู้เป็นม่าย เป็นบิดาของคนที่กําพร้า” ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับที่คุนานัพกล่าวกับเรนซิ โดยมีความหมายว่า ทําในสิ่งที่ยุติธรรม

นิทานเรื่องชาวนาผู้มีวาทศิลป์ เป็นวรรณกรรมทั้งประเภทนิทานเรื่องเล่าและคําสอน วรรณกรรมประเภท คําสอน มักมีเค้าโครงเรื่องที่คนมีฐานะเป็นเจ้านาย เป็นผู้สั่งสอนคนที่อาวุโสน้อยกว่า แต่นิทานเรื่องนี้มีโครงเรื่องที่กลับกัน คือชาวนาผู้ต่ำต้อยกลายเป็นผู้สั่งสอนภูมิปัญญาแก่เจ้านายชั้นสูง เป็นไปได้หรือไม่ว่า เค้าโครงกลับกันนี้ มีนัยการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสังคมอียิปต์โบราณ ที่มีโครงสร้างแบบลําดับชั้นคล้ายคลึงกับพีระมิดมากที่สุด และตัวพีระมิดเองก็เปรียบเสมือนผลิตภัณฑ์ “โอท็อป” ของอียิปต์โบราณ

“ความยุติธรรมคือสิ่งทรงพลัง”

การร้องเรียนหลายครั้งของคุนานัพที่ตัวเองถูกขโมยทรัพย์ ทําให้ประเด็นปัญหาขยายตัวกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นว่า ทําไมสังคมจึงเพิกเฉยต่อความยุติธรรม การเพิกเฉยหรือความยุติธรรมที่ล่าช้า ทําให้เขาเรียกร้องถึงความยุติธรรมที่สมบูรณ์ในดินแดนเทพเจ้า ดินแดนที่สัจจะความจริงดํารงอยู่ ในการร้องเรียนครั้งที่ 8 คุนานัพ กล่าวเป็นบทกวีด้วยภาษางดงามที่สุดกว่าการร้องเรียนครั้งใดว่า

“คนเราตกต่ำเพราะละโมบเห็นแก่ตัว
ชัยชนะของเขา คือความล้มเหลวทางจริยธรรม
ถ้าท่านละโมบ ก็ไม่ได้ให้สิ่งใดแก่ท่าน
ถ้าท่านขโมย ท่านก็ไม่ได้กําไร
ปล่อยให้ชายผู้หนึ่งได้ปกป้องในสิ่งที่มีคุณค่าและชอบธรรม
ท่านมีทรัพย์สินอยู่ในบ้าน
ท้องของท่านเต็มอิ่ม
ข้าวบาร์เลย์พุ่งขึ้นสูง จนย้อยตกลงมาที่พื้นดิน
ส่วนที่ล้นเหลือก็ร่วงลงพื้น แล้วตายไป

……..

ความกลัวเกรงตําแหน่งที่สูงของท่าน ทําให้ข้าไม่กล้าร้องเรียน
แต่ท่านก็ไม่ทราบความคิดข้า
ดังนั้น ชายเงียบขรึมผู้นี้ จึงต้องย้อนกลับมา
และเขาจะทําให้ความทุกข์ยากนั้น ปรากฏให้ท่านเห็น

……..

ทําในสิ่งที่ยุติธรรม เพื่อเทพเจ้าแห่งความยุติธรรม
ผู้ทรงเป็นความสมบูรณ์แบบแห่งความยุติธรรม
ปากกา กระดาษปาปิรัส และถาดผสมสีของเทพเจ้าธ็อตนั้น
น่ารังเกียจที่จะเอามาเขียนในสิ่งที่ไร้ความยุติธรรม
แต่ความยุติธรรม คือสิ่งที่เป็นอมตะ
มันอยู่ร่วมในสุสานของคนที่ประพฤติในสิ่งนี้
สุสานปกปิดร่างชายผู้นั้นอยู่ใต้ดิน
แต่ชื่อเสียงของเขาไม่เคยหายลับไปจากโลก

……..

พูดในสิ่งที่ยุติธรรม ทําในสิ่งที่ยุติธรรม
เพราะสิ่งนี้มีพลัง ยิ่งใหญ่ และยั่งยืน
ทําให้คน ๆ นั้นได้รับยกย่องสรรเสริญ
สิ่งนี้คือบทบัญญัติของเทพเจ้า”

(จาก Ancient Egyptian Literature, John L. Foster, 2001)

เมื่อคุนานัพกล่าวว่า ทําในสิ่งที่ยุติธรรม เพื่อเทพเจ้าแห่งความยุติธรรม เขาหมายถึงเทพเจ้ารา (Ra) เทพเจ้าที่เป็นผู้สร้างความยุติธรรม (มาต) มาตั้งแต่ปฐมกําเนิด ดังนั้น ความยุติธรรมหรือมาตจึงเป็นสิ่งที่มีความสําคัญยิ่ง มีความหมายในเชิงความเป็นธรรมทางสังคม ที่คนเรานั้นมีมนุษยธรรมต่อกันและกัน พระนามการครองราชย์ของ รามเสสที่ 2 เองมีชื่อว่า “ยูเซอร์มาต-รา” (Usermaatra) ที่มีความหมายว่า “ความยุติธรรมของราคือสิ่งที่ทรงพลัง” สะท้อนถึงแนวทางการปกครองในยุคสมัยของพระองค์ ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองจึงต้องขึ้นต่อแนวคิด “ความยุติธรรม”

“อานูบิส” เป็นเทพเจ้าดูแลสุสานในโลกหลังความตาย อานูบิสได้รับมอบหมายให้ดูแลการชั่งน้ำหนักหัวใจคนตายกับขนนกที่อยู่บนเศียรของเทพธิดามาต

การร้องเรียนครั้งสุดท้าย

ในการร้องเรียนครั้งที่ 9 ที่เป็นครั้งสุดท้าย คุนานัพ กล่าวในช่วงสุดท้ายด้วยคําพูดที่ว่า

“คนที่ละเลยต่อหน้าที่เป็นคนที่ไม่มีอดีต
คนที่หูหนวกต่อความยุติธรรม ไม่มีมิตร
คนที่ละโมบเห็นแก่ตัว ไม่มีวันที่เป็นสุข
ผู้ที่มีทุกข์กลายเป็นคนต่ำช้า
คนที่ต่ำช้า กลายเป็นผู้ร้องอุทธรณ์
ผู้ที่ขัดขวางกลายเป็นฆาตกร
โปรดฟังนะ ข้าร้องเรียนต่อท่าน แต่ท่านไม่ได้ยิน
ข้าขอลาจากไป และจะไปร้องเรียนเรื่องท่านต่ออานูบิส”

คําพูดประโยคสุดท้ายสะท้อนถึงความสิ้นหวังของคุนานัพที่มีต่อพฤติกรรมของเรนซิ คือละเลยต่อหน้าที่ ไม่รับฟังการร้องเรียน และละโมบเห็นแก่ตัว ต่อความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ที่ปัจจุบันเรียกว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม” ต่อความแตกต่างที่มีมากเหลือเกินระหว่างความยุติธรรมที่เป็นอยู่ในโลกคนเรา กับความยุติธรรมในโลกของเทพเจ้า

ความสิ้นหวังนี้ทําให้เขาคิดถึงการฆ่าตัวตาย ด้วยคําพูดที่ว่า จะไปร้องเรียนอานูบิส ชื่อ “คุนานัพ” มีความหมายว่า “ผู้ที่อานูบิสปกป้อง” อานูบิสคือเทพเจ้าที่ทําหน้าที่เฝ้าสุสานคนตาย ในโลกหลังความตาย คนตายต้องผ่านการพิพากษาของเทพเจ้าโอไซริส ต้องกล่าวข้อความภาคปฏิเสธว่า ตัวเองไม่เคยทําผิดจริยธรรมใด ๆ เช่น “ข้าไม่เคยปล้นทรัพย์ด้วยความรุนแรง” ฯลฯ จากนั้นหัวใจคนตายถูกนําไปชั่งกับขนนกของเทพธิดามาต ธิดาของเทพเจ้ารา อานูบิสคือเทพเจ้าที่ได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่ดูแลการชั่งหัวใจ คนตายดังกล่าว

แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วกว่า 4,000 ปี แต่คําพูดอุปมาอุปไมยเกี่ยวกับความยุติธรรมของคุนานัพ ยังคงมี คุณค่า มีชีวิตชีวา และความหมายลึกซึ้งตราบจนปัจจุบันนี้ เพราะสาระคําพูดของคุนานัพเป็นการกล่าวถึงปัญหาความไม่ยุติธรรม ที่มีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ช่องว่างระหว่างความยุติธรรมที่เป็นอยู่ในสังคมกับในอุดมคติ ความรับผิดชอบของผู้นําการเมืองต่อการปกป้องความยุติธรรม ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับรางวัลที่ตอบแทนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ปัญหาเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นและดํารงอยู่อย่างเรื้อรังมาตลอดของสังคมมนุษย์

ชาวนาอย่างคุนานัพและชาวอียิปต์โบราณอื่น ๆ มีความเชื่อว่า เทพเจ้าของพวกเขานั้น นอกจากมีความต้องการทางวัตถุเหมือนกับคนเรา ยังดํารงชีพอยู่ด้วยความยุติธรรม ประชาชนทั่วไปก็ควรมีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งเดียวกันนี้ นิทาน “ชาวนาผู้มีวาทศิลป์” สะท้อนให้เห็นถึงความใฝ่ฝันของชาวนาอียิปต์โบราณคนหนึ่งว่าชีวิตไม่ได้อยู่ด้วย “ขนมปังกับเบียร์” เท่านั้น แต่ยังต้องการสังคมที่มองเห็นคุณค่าเรื่องความยุติธรรม และ “ทําในสิ่งที่ยุติธรรม” อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Allen, James P. Middle Egypt: An Introduction to the Language and Culture of Hieroglyphs. Cambridge University Press, 2010.

Foster, John L. Ancient Egyptian Literature. University of Texas Press, 2001.

Lichtheim, Miriam. Ancient Egyptian Literature : Volume I: The Old and Middle Kingdom. University of California Press, 1975.

Parkinson, R. B. The Tale of Sinuhe and Other Ancient Egyptian Poems 1940-1640 BC. Oxford University Press, 1998.

Quirke, Stephen and Jeffrey Spencer. The British Museum Book of Ancient Egypt. Thames & Hudson, 1992.

Simpson, William Kelly. The Literature of Ancient EgyptYale University Press, 2003.

www.harris-greenwell.com The Tale of the Eloquent Peasant : Ancient Advice for the Modern Judge.


เผยแพร่ในระบบอนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2562