เบื้องหลังของ “กองตระเวน” กับการใช้อำนาจในท้องถนนสมัยรัชกาลที่ 5

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กองตระเวน
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมกองตระเวน ประทับพระเก้าอี้ที่ 5 จากซ้ายคือ กรมหมื่นนเรศวร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกรมนครบาล ชาวตะวันตกนั่งด้านซ้ายมือคือ มร.เอ เย ยาร์ดิน เจ้ากรมกองตระเวนคนแรก ส่วนคนขวามือ คือ มร.อิริก เซ็น เย ลอซัน ซึ่งจะเป็นเจ้ากรมกองตระเวนคนต่อมา

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองมีการเจริญก้าวหน้าจากการริเริ่มโครงสร้างพื้นฐาน ดังเช่น “การตัดถนน” ที่ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่การดินทาง, การประกอบอาชีพ และตามมาด้วยการควบคุมท้องถนน โดย “กองตระเวน”

การตัดถนนยังทำให้อำนาจรัฐสามารถเข้าไปจัดการความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆ โดยมีกองตระเวนเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทต่อการจัดการพื้นที่เมือง ขณะเดียวกันอำนาจของกองตระเวนได้มีภาพสะท้อนต่อการปฏิบัติงานจากหน่วยงานของรัฐด้วยกันและจากราษฎรผ่านสื่อต่างๆ แสดงถึงปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ กองตระเวน มีต่อรัฐและราษฎร

บรรยากาศถนนเจริญกรุงในสมัยรัชกาลที่ 5

“อำนาจ” ในการจัดการท้องถนนของ “กองตระเวน”

กองตระเวน มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการดูแลท้องถนนตามที่กฎหมายตั้งแต่ปี 2418 แม้ภายหลังมีตั้ง กรมศุขาภิบาล ขึ้นในปี 2440 เพื่อจัดการรักษาความสะอาดในเมืองหลวง ซึ่งทำให้หน้าที่รับผิดชอบของสองหน่วยงานในท้องถนนเกิดการแบ่งแยกระหว่างหน้าที่การรักษาเหตุร้ายกับการรักษาความสะอาด แต่อำนาจในท้องถนนนั้นยังคงเป็นของกองตระเวน เพราะกองตระเวนมีหน้าที่จับกุมและบังคับใช้กฎหมาย หากกรมศุขาภิบาลไม่มีอำนาจจับกุมราษฎรที่ทำความผิด

รายงานเมื่อปี 2446 ของพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ เจ้ากรมศุขาภิบาล บันทึกเรื่องอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองแห่ง ว่า

“ด้วยกรมพระคลังข้างที่มีหนังสือมาว่ามีผู้ทิ้งขยะมูลฝอยปิดช่องว่างริมถนนราชวงษ์ที่จะเดินไปตรอกอาม้าเกงเต็มแน่นหมด น้ำไหลไปไม่ได้ ท่วมพื้นโรงแถว พระคลังข้างที่ขอให้ช่วยแก้ไข การเรื่องที่มีผู้ทิ้งมูลฝอยตรอกนี้ กรมศุขาภิบาลได้ช่วยเก็บกวาดมาแต่ก่อน 2 ครั้งแล้ว ภายหลังก็มีผู้มาทิ้งอิก การทิ้งมูลฝอยในที่ไม่ควรทิ้งนี้ ขอให้กองตระเวรว่ากล่าวจึงจะได้ เพราะเจ้าพนักงานศุขาภิบาลไม่มีน่าที่คอยระวังจับผู้กระทำผิดเช่นนั้น แลที่ตำบลนี้เคยแจ้งความห้ามครั้ง 1 แต่ก็ยังมีผู้ทิ้งอยู่เสมอ การห้ามเช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์นอกจากกองตระเวนจะว่ากล่าว”  

นอกจากนี้ มีเรื่อง “เวลาทำงาน” ที่แตกต่างกัน กองตระเวนสามารถตรวจการได้ตลอดเวลา ตามข้อกำหนดการปฏิรูปหน่วยงานในปี 2433 ที่กำหนดให้มีโรงพักแต่ละท้องที่ พร้อมกับมีสายตรวจลาดตระเวน ส่วนกรมศุขาภิบาลมีเวลาทำงานที่แน่นอน ทำให้ไม่สามารถตรวจตราป้องกันได้ตลอด

เมื่อทั้ง 2 หน่วยงาน มีหน้าที่รับผิดชอบในท้องถนนเช่นเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนของกฎหมาย ดังกรณีของหม่อมผัน ในกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

หม่อมผันปลูกเพิงมุงจากเพื่อให้เช่าออกร้านมีการละเล่น เมื่อปี 2445 ทางกรมศุขาภิบาลได้ร้องเรียนต่อกองตระเวนว่า หม่อมผันทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ไปขออนุญาตปลูกเพิงในท้องถนนต่อกรมศุขาภิบาล เห็นว่ากองตระเวนไม่ควรอนุญาตให้มีขึ้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทรงมีพระวินิจฉัย ดังนี้

“แม้ว่าผู้ใดไม่มีใบอนุญาตของกรมศุขาภิบาลจะปลูกสรรพสิ่งใดๆ ลงถนนฤาในเขตรจังหวัดในพระนคร กองตระเวนต้องว่ากล่าวห้ามปรามเปนธุระจับกุม ผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติจงทุกประการ แลการออกร้านในงานประจำปีที่กรมหมื่นนราธิปฯ จัดมาทุกปีนั้น ได้ความว่า แต่ก่อนได้มาขออนุญาตทำเพิงต่อกรมศุขาภิบาล แต่ปีนี้ไม่ได้ขอ ที่จะเข้าใจผิดไปว่า ขอต่อกองตระเวนแล้วก็จะเปนได้ เพราะฉะนั้นต่อไปข้างน่าให้กรมกองตระเวนตักเตือนให้ขออนุญาตเสียให้ถูกต้องตามประกาศต่อไป”  

อำนาจหน้าที่ของกองตระเวนยังกระทบต่อการปฏิบัติงานของกรมศุขาภิบาล ในเรื่องการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคสองฝั่งถนนอันเป็นหน้าที่ของกรมศุขาภิบาล กรณีของความขัดแย้งเห็นได้จากในปี 2443 มีผู้ร้องเรียนถึงความไม่ปลอดภัยบริเวณถนนวรจักร ต่อมา บริษัทได้เข้ามาปักเสาไฟฟ้า แต่ถูกพลตระเวนห้ามปราม ทางบริษัทจึงได้ร้องเรียนต่อกรมศุขาภิบาล ในรายงานของเจ้าพนักงานกรมศุขาภิบาลกล่าวถึงอำนาจความรับผิดชอบที่มี ดังนี้

“กรมกองตระเวรเขียนรายงานส่งมาโดยมิได้สมเหตุผลแลความเป็นจริงอย่างไร ทั้งการติดไฟฟ้านี้ก็เปนน่าที่ของกรมศุขาภิบาลจะสั่ง แลไม่ได้รับความตกลงอย่างไรกับกองตระเวรด้วย กรมกองตระเวรก็มิได้เปนผู้สั่งให้ติดไฟฟ้า แลเรื่องนี้มิใช่ว่ากรมกองตระเวรเปนเจ้าน่าที่สั่งให้กรมศุขาภิบาลไปห้ามไว้ก็หาไม่ ท่านจะพิจารณาเห็นในคำชี้แจงนี้แลในหนังสือบริษัทไฟฟ้าที่ร้องมานั้นได้ชัดเจนว่าเปนอย่างไรในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเสียใจที่ต้องชี้แจงเหตุไม่จำเป็นให้เกิดประโยชน์ในน่าที่ราชการเช่นนี้”  

เห็นได้ว่า อำนาจของตระเวนที่มีต่อท้องถนนในระยะที่กรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกายภาพอย่างมาก ซึ่งอำนาจที่นี้ยังกระทบต่อราษฎรที่ใช้ท้องถนนในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ลูเซียง ฟูเนอโร สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ระหว่างปี 24342435 บันทึกสภาพวิถีชีวิตของราษฎรที่สัมพันธ์กับการใช้ท้องถนน ผู้เขียนกล่าวถึงถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นถนนแบบสมัยใหม่สายแรกของกรุงเทพฯ ไว้ว่า

“…ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นเหล่าพระสงฆ์นุ่งห่มเหลืองในมือถือตาลปัตรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งถือบาตรซ่อนอยู่ในจีวร ต่างเดินมาเป็นทิวแถวอย่างสำรวม…ส่วนพวกแม่บ้านต่างไปตลาดและกลับมาพร้อมของสดในตะกร้าที่กระเดียดใส่เอวหรือไม่ก็เทินไว้บนศีรษะ…

บรรดาร้านอาหารของชาวจีนไม่รอช้าที่จะติดเตาไฟที่รายรอบด้วยของกินดึงดูดลูกค้าที่หิวโหยมีทั้ง ไส้กรอก เบค่อน เนื้อหมูสด ไก่ เป็ด และของหมักดองจากเมืองจีน…หญิงชราต่างคั่วข้าวโพดส่งเสียงดังและบางส่วนตระเตรียมกล้วยสำหรับทอดขาย บรรดาร้านรวงเล็กๆ ต่างเปิดกิจการของตน เจ้าของร้านออกมากวาดหน้าร้านก่อนที่รถม้าขนาดใหญ่แล่นผ่านไปมาหน้าร้าน ก่อนจะกลับเข้าไปในร้านเพื่อตระเตรียมอาหารเช้า…

ช่วงเวลาตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงบ่าย 2 โมง หากเป็นเมืองไซ่ง่อนจะเป็นช่วงเวลาที่หลับไหล แต่ที่กรุงเทพฯกลับเต็มไปด้วยชีวิตชีวา…สถานที่ราชการ ร้านค้า และตลาด ยังคงเปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้าไปจนถึงบ่าย 4 โมงเย็น

นั่นเป็นบันทึกที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่สัมพันธ์กับการใช้พื้นที่เมือง โดยเฉพาะท้องถนน

กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ทำให้รัฐจำเป็นต้องดูแลให้เกิดความเรียบร้อย ด้วยการจตั้งกองตระเวน

ปัญหากองตระเวน

ถนนในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 มีความหมายมากกว่าการเป็นทางสัญจร แต่เป็นเครื่องมือแสดงอำนาจรัฐผ่านการใช้ประโยชน์ในท้องถนน ด้วยเหตุผลความทันสมัยของบ้านเมือง การควบคุมพฤติกรรมของราษฎรให้แสดงออกอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญภายใต้ระเบียบเมืองแบบใหม่ที่รัฐเป็นผู้กำหนดการใช้พื้นที่บนท้องถนน อันเป็นหน้าที่หลักของกองตระเวนในการจัดการพื้นที่เมือง

แต่การตั้งกองตระเวน รัฐประสบปัญหาการขาดแคลนข้าราชการที่จะมาเป็นพลตระเวน จึงมีการเกณฑ์ราษฎรจากหัวเมือง โดยเฉพาะจากเมืองนครราชสีมาและลพบุรี อีกทั้งมีการใช้ชาวต่างชาติที่มาจากรัฐอาณานิคมของอังกฤษในอินเดียและพม่า ได้แก่ ชาวอินเดีย ฮินดู ปาทาน และซิกข์   ไม่เพียงเท่านั้น พลตระเวนจำนวนหนึ่งยังมาจากทาสอีกด้วย อีกทั้งพลตระเวนจำนวนมากที่ไม่ได้ตั้งใจมารับราชการอย่างจริงจังและมีพฤติกรรมไปในทางเสื่อมเสียดังที่ มิสเตอร์อิริก เซน เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน กล่าวไว้ดังนี้

“มีคนเป็นอันมากที่เข้ารับเป็นพลตระเวนเพื่อความสนุกแลเมื่อเบื่อหน่ายก็ลาออก แต่มีบางพวกเมื่อรับเงินเดือนแล้วเวลาออกยามก็เข้าโรงบ่อน แลถ้าเล่นได้ก็ออกจากกองตระเวน เมื่อหมดเงินจึงกลับเข้ามาใหม่”  

ขณะเดียวกัน พลตระเวนจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนไทยไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ เช่น การสำรวจพลตระเวนแผนกชั้นในเมื่อปี 2441 จำนวน 969 คนอ่านหนังสือไม่ออกถึง 278 คน อีกทั้งไม่ได้มีผ่านการอบรมลักษณะการเป็นพลตระเวนที่ดีพอ เพราะก่อนหน้ายังไม่มีการตั้งโรงเรียนพลตระเวน แม้เมื่อมีการตั้งโรงเรียนแล้วก็ยังมีพลตระเวนถูกไล่ออกและหลบหนีการฝึกฝนอีกไม่น้อย บ้างก็ประสบปัญหาขาดแคลนเวลาที่จะเข้ารับการอบรมตามหลักสูตร เพราะต้องไปปฏิบัติราชการตามหน้าที่ของตน

จึงพลตระเวนจำนวนไม่น้อยทำผิดข้อบังคับของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาที่มาจากปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกองตระเวนกับราษฎรในการจัดการพื้นที่เมือง เห็นได้จากข้อร้องเรียนของหนังสือพิมพ์สยามไสมย เมื่อปี 2428 ดังนี้

“ข้อ 2 นายโปลิศบางคนไม่มีตระกูล เปนไพร่ เที่ยวมัวเมารังแกผู้คนแต่ยังเปนนายเขาได้ ข้อ 3 ถ้าไม่มีเงินที่จะกินเหล้ารังแกพวกรถจับรถไว้ ถ้าให้เงินมักปล่อย ไม่ให้เงินมักไม่ปล่อย ไม่มีข้อผิดในทางกดหมายเลย ยังจับอ้ายพวกรถมันเปนคนลูกจ้างเกรงกลัวเขา ลางรถขับมาม้าไม่วิ่งคนรถเดาะปากให้ม้าวิ่ง มันก็จับว่านกหูมัน คนอย่างนี้ได้เงินเดือนแลมีอำนาจด้วย…ข้อ 5 บางคนที่ไม่เคยเปนโปลิศแต่ภอเปนนายยาม ก็ไว้ยศเที่ยวข่มเหงชาวบ้าน ค่ำค่ำผู้คนเดินมาถ้าเปนคนโง่เง่าเปนหญิงเกี่ยวพานเขา ถ้าเขาด่าให้ทำเปนจับจะเอาความจับเนื้อตัวเขาขังไว้ ฝ่ายนายใหญ่มาถามว่าเรื่องอาไร มันว่าด่าถึงท่านอธิบดีผู้สำเร็จราชการกรมโปลิศ ถ้าให้เงินเสียมันก็ปล่อย ทำไมจึ่งจะเรียบการไปได้”  

ยังพบว่าบ่อยครั้งที่กองตระเวนได้แสดงอิทธิพลในท้องถนนปรากฏจากหัวข้อข่าว “มีอำนาจเพราะสวมฟอม” ของหนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ในปี 2442 ดังนี้

“เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เวลาบ่าย 2 โมง เศษ พลตระเวรนำเบอร 11 รักษาน่าที่อยู่ที่น่าตลาดพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นภูธเรศฯ ถนนเจริญกรุงนั้น พลตระเวรนำเบอร์ 11 นั้น มือถือแซ่สำหรับเฆี่ยนม้าอยู่  แซ่ ครั้นได้เหนจีนลากรถอยุดส่งคนขวางถนน ทันใดนั้นพลตระเวรก็ตรงเข้าไปเอาแซ่ตีจีนเจ้าของรถโดยอำนาจอย่างร้ายแรงเสีย 5 ขวบ จีนผู้ถูกเฆี่ยนโดยใช่เหตุนั้นก็มีความเกรงอำนาจพ่อกะตังอูแข้งขนจึ่งลากรถหนีไปโดยเรว”  

พฤติกรรมการใช้อำนาจของพลตระเวนในท้องถนนนอกจากจะเป็นที่รับรู้ในหมู่ราษฎรแล้ว ยังมีมากจนกระทั่งทำให้รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงพอพระทัยเป็นอันมาก เมื่อทรงทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2449 ถึง พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงนเรศวร์วรฤทธิ์ ตอนหนึ่งว่า

“อาจารย์วิบัติของโปลิศที่ได้เห็นในวันนี้ มันเหมือนอ้ายที่เขาเล่นละครล้อจริงๆแรกฉันไปถึงไม่มีโปลิศเลยสักครู่หนึ่งนานๆ จึงมีมาคนหนึ่ง ยืนเก้กังอยู่กลางถนนหลังโก่งๆ ฉันได้สั่งให้ทหารมหาดเล็กตำรวจต้อนคนซึ่งไปยืนอยู่เปล่าๆ ไม่ได้ทำอะไร ให้หลีกคนขนของ แต่สั่งกันกว่า 100 คำ ใครๆ ก็เข้าใจแต่อ้ายโปลิศนั้นไม่มีวิญญาณสุดแต่ใครจะแบกของหาบของออกไปเที่ยวไล่ทุบไล่ตีผลัก ใช่ว่าจะเจ็บปวดอันใดดูมันก็ไม่มีแรงกี่มากน้อย แลก็ไม่เหนใครกลัวเกรงว่ากระไร

อ้ายเจ๊กมันก็โดนโซซัดโซเซจนอดหัวเราะไม่ใคร่จะได้ ส่วนอ้ายคนที่ยืนล้อมตัวอยู่เปล่าออกเปนกองไม่ยักห้ามยักไล่อะไรคอยแต่รับงานคนขนของตรงกันข้ามกับที่สั่งให้ทำตลอดจนเวลาที่ยืนอยู่นั้น

ภายหลังจึงมีฝรั่งนายโปลิสพาโปลิศแขกเดินผ่านขึ้นไปเหนจะเปนกองชักมาให้รักษาที่ฉันไปอยู่นั้น แต่เดินเลยไปข้างน่าครู่หนึ่งฉันจึ่งได้ขยับรถขึ้นไป สั่งให้เปิดคนออกโปลิสพวกนั้นจึงได้ขับไล่คนโดยไม่ปรานีปราไสย ยัดกันคลักๆ แต่ดีที่มีทุบกันบ้างห้ามหยุด นี่แหละกิริยาโปลิศมันไม่เปนที่น่าให้คนไว้เนื้อเชื่อใจ จึ่งเปนที่กินแหนงสงไสยของคนเปนอันมาก”  

พระราชหัตถเลขาดังกล่าว สะท้อนถึงการรับรู้อำนาจที่กองตระเวนมีต่อราษฎรที่ใช้ท้องถนนในการดำรงชีวิต แต่ขณะเดียวกันการใช้อำนาจของกองตระเวนยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จากผู้ใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมโดยสะท้อนผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ

นั่นคือ ปฏิกิริยาของราษฎรที่มีต่อการใช้อำนาจกองตระเวน

การใช้อำนาจในทางมิชอบอยู่บ่อยครั้งของบรรดาพลตระเวน ก่อให้เกิดปฏิกิริยาของราษฎรที่มีต่อหน่วยงานนี้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ ร้องเรียน และล้อเลียน ผ่านสื่อต่างๆ เป็นการแสดงออกถึงปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของราษฎรที่ปรากฏในสื่อหลากรูปแบบตั้งแต่บทสักวาเช่นที่ขุนวิจิตรมาตรา กล่าวไว้ดังนี้

สักวาฟ้าขาวเหล่าโปลิศ   สิ้นคิดแล้วหรือเจ้าเฝ้าถนน

ขาดยามนายเขาตามมาเฆี่ยนก้น   เดินบ่นพึมพำระยำหมา      

บทสักวาดังกล่าวให้ภาพของเจ้าหน้าที่กองตระเวนระดับล่าง ได้แก่ บรรดาพลตระเวน ซึ่งส่วนหนึ่งมีสถานะเป็นทาสของมูลนาย ซึ่งมีสิทธิเหนือตัวทาสและสามารถลงโทษได้ และเนื่องจากพลตระเวนมีอำนาจเต็มที่ในการดูแลท้องถนน จึงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของราษฎร และบ่อยครั้งที่แสดงกิริยาใช้อำนาจในทางรุนแรงต่อราษฎร การล้อเลียนสถานภาพของพลตระเวนด้วยบทสักวาเป็นการลดทอนอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งราษฎรต้องเผชิญอยู่เสมอเมื่อต้องใช้ถนนหนทางในเมือง

เช่นเดียวกับบทสักวา การล้อเลียนกองตระเวนปรากฏอยู่บ่อยครั้งในรูปของการล้อเลียนเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกองตระเวน จนมีคำเรียกในหมู่ราษฎรว่า “พวกหัวแดงแข้งดำ” อันเป็นลักษณะการแต่งกายที่มาจากหมวกทรงกระบอกมีขนยอดบนจุกแดง และผ้าพันแข้งสีดำ ที่พลตระเวนสวมใส่อยู่เสมอเครื่องแบบของกองตระเวนถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงละครตั้งแต่ละครคณะปรีดาลัย ของกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ระบุถึงลักษณะเครื่องแต่งกายในบทร้องว่า “เจ้าหัวแดงแข้งดำประจำถนน คอยคำนับจับคนที่ทำผิด”

แต่การแสดงของราษฎรทั้งละครและลิเกอาจให้ผลต่อความรู้สึกเชิงอำนาจของกองตระเวนที่มากกว่าละครของเจ้านาย เห็นได้จากข้อร้องเรียนของมิสเตอร์อิริก เซ็น เย ลอซัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวน ที่มีไปถึงพระยาสุขุมนัยวินิต เสนาบดีกระทรวงนครบาล เมื่อปี 2451 แสดงความไม่พอใจการกระทำของราษฎร ดังนี้

“ด้วยข้าพเจ้าได้ประชุมเจ้าพนักงานแลแนะนำชี้แจงข้อความตามกฎหมายอาญาซึ่งออกใหม่เมื่อวานนี้ว่า ถ้าผู้ใดมิใช่เปนเจ้าพนักงานกองตระเวนจะแต่งกายสรวมยุนิฟอมปลอมเปนเจ้าพนักงานกองตระเวน โดยมีความเจตนาจะฬ่อลวง ให้ผู้อื่นหลงเชื่อแล้วมีความผิดทางอาญาก็จริง แต่ถ้าจะใช้ยุนิฟอมกองตระเวนนั้นไปแต่งเล่นลครหรือการมโหรศพอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วหามีความผิดไม่

ตามที่กล่าวนี้มีเจ้าพนักงานตกลงเห็นพ้องด้วยกันหลายคน แลข้าพเจ้าเชื่อว่าเจ้าพนักงานมีความโกรธแค้นอย่างที่สุด โดยเหตุว่าการที่แต่งกายสรวมยุนิฟอมกองตระเวนเล่นลครสำหรับงานทั่วไปในหมู่ประชุมชนอันเปนที่เปิดเผยนั้น มักจะเปนเครื่องเยาะเย้ยแกล้งทำประดุจหนึ่งว่า กองตระเวนได้กระทำความผิดต่างๆเสมอ ไม่สมควรจะอนุญาตให้แต่งเล่นเลย เมื่อเจ้าพนักงานกองตระเวนไปพบปะผู้ใดสรวมยุนิฟอมสำหรับน่าที่ราชการของตนเล่นลครได้แต่ฝ่ายเดียวแล้ว ก็ยิ่งมีความโกรธแค้นมากขึ้น ส่วนยุนิฟอมทหารบกทหารเรือนั้นพวกลครจะสรวมเล่นไม่ได้ด้วยมีข้อบัญญัติห้าม

แต่ที่จริงถ้าพวกลครไปรเวทจะสรวมเล่นกันเองคนซึ่งมีความคิดคงจะไม่มีผู้ใดขัดขวาง เพราะเปนการเล่นสำหรับรื่นเริงทั้งสิ้นแลคนซึ่งไปประชุมดูอยู่นั้นมีผู้ได้ศึกษาย่อมรู้ว่าเปนการเล่นเพื่อให้สนุกนิ์ แต่ในเรื่องที่พวกลครสำหรับเล่นในการเปิดเผยทั่วไปในหมู่ประชุมชนนั้นผิดกัน ข้าพเจ้าได้ตรวจดูไม่เห็นมีบทกฎหมายข้อใดซึ่งบัญญัติห้ามมิให้สรวมยุนิฟอมกองตระเวนเล่นได้เช่นอย่างลิเกที่ได้เล่นอยู่ตามน่าโรงบ่อน เพราะฉนั้นข้าพเจ้าหวังว่าท่านคงจะนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้ตั้งพระราชกำหนดกฎหมายห้ามมิให้ใช้ยุนิฟอมกองตระเวนสรวมเล่นลครแลการมโหรศพ เหมือนเช่นที่ได้บัญญัติห้ามไว้ในเรื่องยุนิฟอมทหารบกแลทหารเรือนั้นแล้วต่อไป”

นอกจากนี้ กองตระเวน ต้องเผชิญกับอำนาจจากสื่อหนังสือพิมพ์ที่รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรและวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของกองตระเวนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในแง่บวกและตรงกันข้าม เช่น หัวข้อข่าวเรื่อง “เดชะบุญกองรักษาช่วย” กล่าวถึง นายยามกองตระเวนโรงพักสามแยกเข้าช่วยไกล่เกลี่ยคดีทะเลาะกันในครอบครัวของราษฎรเป็นผลสำเร็จ หรือ “พลตระเวรถูกปาหน้าบวม” กล่าวถึงพลตระเวนได้ปฏิบัติหน้าที่ในการจับคนร้ายที่ก่อเหตุวิวาทจนสามารถจับกุมได้ แม้พลตระเวนผู้นั้นจะได้รับบาดเจ็บซึ่งสมควรยกย่อง

ในทางตรงกันข้ามก็ตำหนิการปฏิบัติงานของกองตระเวนอยู่บ่อยครั้ง การตรวจสอบพฤติกรรมของพลตระเวนยังเป็นไปในเชิงล้อเลียนและประชดประชัน เช่น “พลตระเวนกลัวมีด” กล่าวถึง เหตุคนร้ายชิงทรัพย์บริเวณถนนวัดราชบพิธพลตระเวนได้เข้าช่วยเหลือแต่คนร้ายมีอาวุธมีดทำให้ “พลตระเวนเหนมีดก็ขยาดไม่มีจะวิ่งตามต่อไปอ้ายคนร้ายก็หนีเอาผ้าไปได้สบายใจ”

อำนาจที่กองตระเวนได้รับตามกฎหมายที่รัฐตราขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในท้องถนนทำให้กองตระเวนมีอำนาจจัดการพื้นที่เมืองอย่างเต็มที่และบ่อยครั้งก่อความเดือดร้อนแก่ราษฎร แต่ถึงกระนั้น ท้องถนนได้กลายเป็นเวทีของปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกองตระเวนและราษฎรผ่านสื่อต่างๆ ทั้งการชื่นชม หรือการร้องเรียน และล้อเลียน

รวมทั้งการแสดงความคาดหวังจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ดูแล้วช่างไม่ต่างอะไรกับความคาดหวังของราษฎรที่มีต่อการปฏิบัติงานและการใช้อำนาจหน้าที่ของกองตระเวนในยุคปัจจุบันด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ดร.นนทพร อยู่มั่งมี. “สักวาฟ้าขาวเหล่าโปลิศ สิ้นคิดแล้วหรือเจ้าเฝ้าถนน” : ภาพสะท้อนการใช้อำนาจของกองตระเวนในท้องถนนกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2562