ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | ส.สีมา |
เผยแพร่ |
ในเถรีกถา มี ภิกษุณี อย่างน้อย 2 รูป ถูกชายชั่วชวนสังวาส
ในสมัยพุทธกาล แม้ภิกษุณีจะปลงผม ห่มกาสาวพัสตร์ สลัดความสวยงามทั้งสิ้นแล้วก็ตาม ยังไม่พ้นการถูกแทะโลมจากบุรุษเพศบางจำพวกที่ชอบเกาะเกี่ยวเกี้ยวพาราสีและบางคนมีความคิดหยาบช้าชวนสังวาสเอาดื้อๆ เลยทีเดียว ดังกรณีสองภิกษุณีเป็นตัวอย่าง คือ
ท่านสุภา เกิดในวรรณะพราหมณ์ผู้มั่งคั่ง กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เหตุเพราะเป็นคนสวยมากจึงได้ชื่อว่า “สุภา” (สุภา แปลว่า คนสวย) เธอคิดเบื่อชีวิตทางโลก จึงออกบวชประจำอยู่ในสำนักของท่านน้าปชาบดีโคตมี จากนั้นไม่นานนักก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
วันหนึ่งในป่ามะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านสุภาในชุดผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าดีจากแคว้นกาสี เนื้อเนียนเกลี้ยงเกลา ได้พบกับนักเลงผู้หนึ่งยืนขวางทางท่านอยู่ ก่อนที่เขาผู้นั้นจะเอ่ยวาจาเกี้ยวพาราสี ท่านสุภาก็ออกปากถามโดยสุภาพขึ้นก่อน “ฉันทำผิดอะไรต่อท่านหรือ ท่านจึงมาขวางทางฉันไว้ ผู้มีอายุชายไม่ควรถูกต้องตัวหญิงที่บวชแล้ว…ท่านมีธุลีราคะมาขวางทางฉันผู้ไม่มีธุลีราคะแล้ว เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นในธรรมทั้งปวง“
นักเลงผู้นั้นตอบอย่างกระหยิ่มในใจ โดยออกปากชวนสังวาสขึ้นทันใด
“ภิกษุณี ท่านยังเป็นสาว ทั้งรูปร่างก็ไม่เลว การบวชจะช่วยท่านได้อะไร เชิญท่านทิ้งผ้าย้อมผ้าฝาดแล้วเราสองคนมาร่วมภิรมย์กันในป่าที่มีหมู่ไม้ดอกออกบานสะพรั่งนี้เถิด“
พูดชักชวนแล้วก็พรรณนาความงามในป่า กลิ่นหอมหวนของมวลดอกไม้ โดยกล่าวชื่นชมวสันตฤดูว่าเป็นฤดูเริ่มต้นของความสุข เสร็จแล้วก็ออกคำขู่เล็กๆ ว่า การเดินคนเดียวในป่าเปลี่ยวเช่นนี้ล้วนเป็นอันตรายด้วยมีสัตว์ร้ายชุกชุม จากนั้นก็ชมเธอว่ามีตางามเหมือนตากินรี หากได้ยอมอภิรมย์สมสู่ ก็จะพาไปอยู่ปราสาทอันสวยงามสุขสบาย มีคนรับใช้ มีสมบัติเงินทองแก้วแหวนมากมาย การประพฤติพรหมจรรย์จะได้ประโยชน์อันใด ร่างงามมีแล้วไม่ได้ใช้ ย่อมทรุดโทรมสูญประโยชน์โดยแท้
ท่านสุภามีใจอันมั่นคงเยือกเย็น ยืนยันสั่งสอนเรื่องความไม่เที่ยงในรูปอันไร้แก่นสาร ย่อมต้องผุพังไปเป็นธรรมดา แล้วถามกลับนักเลงผู้นั้นว่า ส่วนใดของร่างกายที่เขาพอใจ นักเลงผู้นั้นรีบตอบโดยพลันว่า ดวงตางามคู่นั้นนั่นเอง
“ดวงตาทั้งสองของท่าน เหมือนดวงตาลูกเนื้อ และเหมือนดวงตาของกินรีที่เที่ยวไปตามซอกเขา เพราะได้เห็นดวงตาคู่นั้น ฉันจึงเกิดรักท่านท่วมท้น…ในใจฉันขณะนี้ไม่มีอะไรน่ารักไปกว่าดวงตาทั้งคู่ของท่าน”
หลังจากท่านสุภาให้สติกับนักเลงอย่างเข้มข้นแล้ว โดยเน้นว่าดวงตามนุษย์นั้นซับซ้อน แต่ก็เหมือนร่างกายส่วนอื่นๆ ที่ย่อมทรุดเสื่อมไปได้ เสร็จแล้วโดยไม่คาดฝัน ท่านสุภาก็ควักตาข้างหนึ่งส่งให้นักเลงในทันที ทำให้นักเลงถึงกับตกใจ สำนึกผิดและสัญญาว่าจะไม่ประพฤติเช่นนี้อีก กับร้องขอท่านสุภายกโทษให้
สำหรับการควักตาให้นักเลงดังกล่าวนั้น น่าจะเป็นเรื่องของการใช้พุทธปาฏิหาริย์มโนมยิทธิ (will power) หรืออิทธิวิธี (magical power) มากกว่าจะควักดวงตาออกมาจริงๆ
ภิกษุณีอีกรูปหนึ่งที่ถูกแทะโลมจากชายเจ้าชู้ ถึงกับชวนสังวาสคือ ท่านเขมา ผู้ได้ชื่อว่ามีความเด่นมากทางปัญญา ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์แห่งเมืองสาคละ แคว้นมัททะ เป็นคนงามอย่างยิ่งจนเป็นที่เกษมสำราญของคนทั่วแคว้น ชื่อเขมานั้นแปลว่าผู้ให้ความสำราญ ท่านได้เป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์
ท่านเขมาบวชเป็นภิกษุณี เดิมเป็นคนรักสวยรักงามอย่างยิ่ง มัวเมาอยู่แต่รูปลักษณ์ของตนเอง และไม่สนใจที่จะฟังธรรมใดๆ คราวหนึ่งที่พระพุทธองค์ประทับ ณ เวฬุวัน อันเป็นป่าไผ่งดงามที่พระเจ้าพิมพิสารถวายพระพุทธองค์เป็นที่ประทับ และที่นี่พระเจ้าพิมพิสารทรงปรารถนาให้พระนางเขมาได้มีโอกาสเฝ้าพระพุทธองค์สักครั้งหนึ่ง ซึ่งพระนางเคยบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด
โดยอุบายของพระเจ้าพิมพิสาร ทำให้พระนางเขมาได้เข้าฟังธรรมจากพระโอษฐ์ในวันหนึ่ง พระพุทธองค์ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์สอนพระนางเขมา โดยเนรมิตหญิงงามขึ้นนางหนึ่งผู้มีความงามเหนือกว่าพระนางเขมามาก เสร็จแล้วทรงเนรมิตให้นางนั้นค่อยๆ แก่ลงโดยลำดับและป่วยตายลงอย่างทุกข์ทรมานในที่สุด
พระนางเขมา ทรงเห็น ทรงฟัง และทรงได้คิดถึงความไม่เที่ยงแท้แห่งรูป “ขนาดรูปสวยสุดอย่างนี้ ยังเปลี่ยนแปลงแตกดับได้ แล้วนับประสาอะไรกับรูปกายของเรามีหรือจะไม่เป็นเช่นนั้น”
พระนางเขมาได้ฟังธรรมอีกไม่นานนัก ก็บรรลุอรหัตตผล ก่อนจะบวชเป็นภิกษุณี
แล้ววันหนึ่ง ท่านเขมานั่งพักกลางวันใต้ต้นไม้อันร่มรื่นในป่า ขณะนั้นมารตนหนึ่งได้แปลงร่างเป็นชายหนุ่มเข้าพูดจาแทะโลมเกี้ยวพาราสี และพูดจาถึงขั้นหยาบคายชวนสังวาส “ขอให้เราทั้งสองมาร่วมอภิรมย์กัน”
ท่านเขมารู้ได้ทันทีว่าหนุ่มผู้นั้นคือมาร ท่านจึงสาธยายธรรมให้มารได้รับรู้ว่า ท่านได้คลายความรักในกาม หรือสิ่งที่น่าใคร่เหล่านั้นหมดแล้ว พร้อมกับเน้นว่าบัดนี้ท่านได้พ้นทุกข์ทั้งปวงแล้วด้วยคำสอนของพระพุทธองค์ ได้ปฏิบัติตามคำสอน จึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น
มารเกิดความละอายและล่าถอยไป
มารในที่นี้น่าจะมีความหมาย 2 นัย คือ อาจหมายถึงคนจริงๆ เช่น เป็นชายชาวป่า นักล่าสัตว์ หรือพราน หรือใครคนใดคนหนึ่ง ที่สำคัญว่าท่านเขมาเป็นเหยื่อ ส่วนมารในเชิงสัญลักษณ์ น่าจะหมายถึงกิเลสมาร คือความใคร่ที่ซ่อนตัวอยู่ลึกๆ ในจิตใต้สำนึก และในห้วงหนึ่งของเวลาพักผ่อนสบายๆ นั้น การควบคุมอารมณ์อาจอ่อนตัวลงชั่ววูบหนึ่ง ทำให้ความใคร่ที่ซ่อนตัวอยู่ลึกๆ นั้นปรากฏขึ้น
อย่างไรก็ดีในขณะนั้นท่านเขมาบรรลุอรหัตตผลแล้ว ไม่น่าจะมีกิเลสมารมาปรากฏขึ้นได้ หากเป็นเช่นนี้มารจึงไม่ใช่สัญลักษณ์แต่เป็นคนจริงๆ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2562