ค้นร่องรอย ต้นตะเคียนริมคลองหลอด หลังวัดราชบพิธฯ ปลูกสมัยรัชกาลที่ 1

ต้นตะเคียน ริม คลองหลอด วัดราชบพิธฯ
ต้นตะเคียนริมคลองหลอด หลังวัดราชบพิธฯ ปลูกสมัยรัชกาลที่ 1 ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

ค้นร่องรอย “ต้นตะเคียน” ริม “คลองหลอด” บริเวณด้านหลัง วัดราชบพิธฯ ปลูกตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1

คลองหลอด เป็นคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2546 น. 197) ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ที่ฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ใน พ.ศ. 2325 ชั้นต้น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครเป็นแต่เพียงชั่วคราว เนื่องด้วยยังติดราชการสงครามกับพม่าอยู่

Advertisement

ครั้นต่อมาใน พ.ศ. 2326 ได้โปรดเกล้า ให้สร้างพระนครอย่างถาวรมั่นคง คราวนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์เขมร  ให้มาขุดคูรอบพระนครตั้งแต่ปากคลองบางลำพูตรงป้อมพระสุเมรุ จนถึงป้อมจักรเพชร บริเวณวัดราชบุรณะ พระราชทานนามว่า “คลองรอบกรุง” และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองหลอดเชื่อมระหว่างคลองคูเมืองเดิมซึ่งมีมาตั้งแต่กรุงธนบุรี และคลองรอบกรุงซึ่งขุดใหม่นี้ มีข้อความปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า

“ในจุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะ เบญจศก (พ.ศ. ๒๓๒๖) โปรดให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลังและเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลในปีนั้น โปรดให้รื้อป้อมวิชเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีข้างฟากตะวันออกเสีย ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ เข้ามาขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่บางลำพูตลอดมาออกแม่น้ำข้างใต้เหนือวัดสามปลื้ม ยาว ๘๕ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อว่า คลองรอบกรุง

ด้านแม่น้ำตั้งแต่ปากคลองรอบกรุงข้างใต้ไปจนปากคลองข้างเหนือ ยาว ๙๑ เส้น ๑๖ วา รวมทางน้ำรอบพฺระนคร ๑๗๗ เส้น ๙ วา แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม ๒ คลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่ และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่า คลองมหานาค เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลฤดูน้ำ เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า” (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, 2552 น. 22)

คลองหลอดทั้ง 2 คลอง ใช้เป็นคลองสัญจรไปมานอกจากชักน้ำ ต่อมาใน พ.ศ.​ 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เรียกชื่อคลองทั้งสองนี้ว่า “คลองหลอดวัดราชนัดดาราม” และ “คลองหลอดวัดราชบพิธ”

ต้นตะเคียนริมคลองหลอด หลังวัดราชบพิธฯ
ต้นตะเคียน ริมคลองหลอด

เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปลูก “ต้นตะเคียน” ไว้ริมคลองหลอดดังกล่าวนี้ เพื่อใช้ไม้ตะเคียนต่อเรือสำหรับใช้ในราชการสงคราม ซึ่งบริเวณนั้นสร้างเป็นโรงเรือมารื้อในสมัยสร้างวัดราชบพิธฯ ดังสำเนาพระบรมราชโองการพระราชทานกัปปิยภูมิอุปจาครั้งที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า

“แต่ที่ต่อนั้นมาจนถึงคลองซึ่งเป็นโรงเรือ แลเป็นที่ญาติโยมของพระสงฆ์พักอาศัยอยู่ บัดนี้ญาติโยมของพระสงฆ์ก็ไม่ได้อยู่อาศัย โรงเรือก็เรื้อเสียแล้ว” (กรมศิลปากร, 2513 น. 6.)

โรงเรือที่ว่านี้ เข้าใจว่าอยู่ติดกับวังริมคลองสะพานถ่านของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหรา กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวังไปหลังวัดวัดพระเชตุพน วังริมคลองสะพานถ่าน วังนี้อยู่ตรงที่สร้างวัดราชบพิธฯ ที่วังเดิมหลังวังจดคลองสะพานถ่านหันหน้าวังมาทางเหนือ เป็นที่ประทับของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เสด็จอยู่มาจนรัชกาลที่ 5 ต้องการที่สร้างวัดราชบพิธฯ จึงโปรดฯ ให้เสด็จไปประทับที่วังท้ายวัดพระเชตุพน (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2553 น. 68)

ต้นที่ปลูกคราวนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ปลูกเท่าไหร่ โปรดให้ใครเป็นแม่กองงาน ซึ่งใน พ.ศ. 2541 มีจำนวน 7 ต้น ซึ่ง ณ พ.ศ. 2562 เหลือเพียง 5 ต้นเท่านั้น มูลเหตุของการปลูกต้นไม้ดังกล่าว สันนิษฐานได้ 2 ประการคือ

1. ในแง่วิทยาศาสตร์ ไม้ตะเคียน เป็นไม้เนื้อแข็งทนทาน และมีคุณสมบัติในการลอยน้ำได้ดี จึงนิยมใช้ต่อเรือ และต้นตะเคียนเป็นต้นไม้ที่ชอบขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ ช่วยในการยึดตลิ่งอีกทางด้วย

2. ในแง่ของความเชื่อ คนไทยมีความเชื่อว่า ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มักมีเทวดา หรือภูตผีสิงสถิตอยู่ การนำไปต่อเรือ ก็จะได้เป็นแม่ย่านาง หรือที่เรียกกันว่า เจ้าแม่ตะเคียน สิงสถิตอยู่ที่เรือ

3. ในแง่ประวัติศาสตร์ เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ชั้นแรก ประเทศไทยยังติดพันสงครามกับพม่าอยู่หลายปี การปลูกต้นนี้ไว้สำหรับต่อเรือทำราชการ นับเป็นพระราชกุศโลบายในการปกครองประเทศอีกนัยหนึ่งด้วย

ต้นตะเคียน ริม คลองหลอด วัดราชบพิธฯ
ต้นตะเคียนริมคลองหลอด บรนิเวณด้านหลัง วัดราชบพิธฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ตำนานวังเก่า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว จำกัด, 2537.

กรมศิลปากร, ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกันศิวพร, 2513.

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2531.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : บริษัท มติชน จำกัด, 2546.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2562