เจ้าจอมมารดาวาด สนมใน ร.4 ลือกันว่าคือหัวโจกในวัง ฤๅเป็นผู้ “ให้ยกพวกตีบริวารเจ้าจอมอื่น”?

ท้าววรจันทร กรมหมื่นพิทยลาภพพฤฒิยากร (อุ้ม)
ท้าววรจันทร ถ่ายเมื่ออายุ 45 ปี พร้อมกรมหมื่นพิทยลาภพพฤฒิยากร (อุ้ม)

เจ้าจอมมารดาวาด เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาวาดมีความเก่งกาจเรื่องการละคร โดยเป็นนางละครหลวง เป็นท้าววรจันทร และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยเฉพาะเรื่องความเป็น “หัวโจก”

เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4 ได้รับการฝึกสอนด้านการละครตั้งแต่เด็ก และได้เป็นที่ท้าววรจันทรในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านมีนามเดิมว่า “แมว” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2384 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สกุลของท่านสืบเชื้อสายมาตั้งแต่พระยาอภัยพิพิธ (สุ่น) ซึ่งรับราชการในกรมท่าในสมัยรัชกาลที่ 1

เจ้าจอมมารดาวาดเป็นธิดาของนายสมบุญ มหาดเล็ก มารดาท่านชื่อถ้วย รับราชการฝ่ายใน นายสมบุญเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก เจ้าจอมนาคในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นป้า กลายเป็นผู้เลี้ยงดูท่านและฝึกสอนละครให้ร่วมกับครูการละครอีกหลายท่าน อาทิ เจ้าจอมมารดาแย้ม ในรัชกาลที่ 3 (สมัยนั้นเล่นเป็นตัวอิเหนา)

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ เจ้าจอมนาคจึงนำท่านเข้าถวายตัวแด่สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี เมื่อครั้งเจ้าจอมนาคถวายบังคมขอลาออกจากราชการได้ขอตัวท่านออกมาด้วย แต่เมื่อสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีทรงฝึกหัดข้าหลวงรำละครถวายรัชกาลที่ 4 เมื่อพระองค์เสด็จลงเสวยที่พระตำหนัก พระองค์ขอท่านจากเจ้าจอมนาคมาฝึก ซึ่ง เล็ก พงษ์สมัครไทย นักเขียนด้านประวัติศาสตร์ อธิบายว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรละครก็จำท่านได้

เมื่อ พ.ศ. 2395 สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีเสด็จสวรรคต เจ้าจอมมารดานาคขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท้าววรจันทร (แมว) ซึ่งช่วงเวลานั้นยังอายุเพียง 11 ปีออกจากราชการ โดยอ้างว่าถวายตัวพระองค์สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีเท่านั้น แต่ออกมาไม่นาน รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้กรมวังและตำรวจหลวงรับตัวท้าววรจันทรกลับมารับราชการละครหลวง ท่านได้รับบทเป็นพระเอก พระรองในช่วงแรก กระทั่งช่วงหนึ่งที่ขาดตัวพระเอก จึงได้รับโอกาสเป็นพระเอกตั้งแต่นั้นมาตลอดรัชกาล

เล็ก พงษ์สมัครไทย บรรยายว่า ท่านเป็นพระเอกที่รำสวยและสง่าแบบ “ไม่มีที่เปรียบได้” เล่นละครเป็นพระเอกทั้งตัวอิเหนา พระราม และบางครั้งก็เป็นเทวดา จากนั้นท่านถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งนางละครก็ยังเป็นหน้าที่ของเจ้าจอม และได้ถวายรับใช้มาตลอด โดยได้เล่นและรำได้สง่างามหลายครั้งจนเป็นที่เลื่องลือ นอกเหนือจากงานละครแล้ว หน้าที่ของบาทบริจาริกาทำให้ท่านได้โดยเสด็จพระราชดำเนินไปหัวเมืองต่าง ๆ ด้วยบ่อยครั้ง

รัชกาลที่ 4 สวรรคตใน พ.ศ. 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ และบรรลุพระราชนิติภาวะบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองใน พ.ศ. 2429 พระองค์ทรงเห็นว่า ราชการฝ่ายในขาดผู้บังคับบัญชาสิทธิขาด ท้าววรจันทร (มาลัย) อายุมาก ท้าวนางรองลงมาก็ไม่สามารถสั่งการเฉียบขาดได้

รัชกาลที่ 5 ทรงทาบทามเจ้าจอมมารดาวาดให้มารับราชการในวังอีกครั้ง แม้เจ้าจอมจะบ่ายเบี่ยง แต่พระองค์ทรงแนะนำว่า สามารถกราบบังคมทูลถามได้ทุกอย่าง และจะทรงสอนให้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็น ท้าววรจันทร บรมธรรมิก ภักดีนารีวรคณานุรักษา บังคับบัญชาราชการในพระบรมมหาราชวัง

เล็ก พงษ์สมัครไทย ผู้เขียนหนังสือ “พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์” บรรยายว่า การบริหารงานฝ่ายหน้าและฝ่ายในในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5 จะแยกออกจากกัน พระบรมวงศานุวงศ์ พระสนม และข้าราชการฝ่ายใน มักมีบริวารกันจำนวนมาก ทำให้พระบรมมหาราชวังกลายเป็นที่ประชุมประกวดการสมาคมฝ่ายหญิงไม่ด้อยหย่อนไปกว่านอกวัง

มีเรื่องเล่าจากพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระโอรสในพันเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งเป็นหลานย่าของท้าววรจันทร (เจ้าจอมมารดาวาด) เสด็จไปประทับร่วมกับท่านในพระบรมมหาราชวัง เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของท้าววรจันทร มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า

“นิสัยคุณย่า เป็นคนที่ภาษาสามัญใช้ว่าหัวโจก มีอัธยาศัยเฉียบขาดรุนแรง แต่ระคนด้วยเมตตากรุณา พยายามคุ้มครองรักษาผู้น้อยใต้บังคับบัญชา ไม่ว่าในราชการหรือครอบครัว ในระหว่างที่เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 เป็นคนกว้างขวาง มีบริวารมากอันนิสสัยเช่นนี้ ในทางดีย่อมเห็นกันอยู่แล้ว แต่ ทางร้ายของการมีบริวารมากนั้นก็ใช่ว่าไม่มี

ท่านเคยเล่าว่า ท่านได้ให้ยกพวกบ่าวไพร่ เพื่อนฝูง ไปตีกันกับบริวารของเจ้าจอมอื่น ๆ ก็มี มาถึงตอนรัชกาลที่ 5 ที่เข้าไปเป็นท้าววรจันทรนิสสัยหัวโจกดูเหมือนจะช่วยท่านได้มาก ด้วยนิสสัยเช่นนี้ ช่วยให้ท่านรู้เท่าถึงนัยของหัวโจกต่าง ๆ ที่ได้ตั้งตัวขึ้นในพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แสดงพระราชประสงค์ให้ท่านเข้าไปปราบปรามนั้น ท่านจึงได้ทําการปกครองได้สําเร็จ

ถึงแม้จะไม่ได้รับความนิยมรักใคร่ของทุกคน ก็ได้รับความไว้วางใจและความเคารพเกรงใจของคนทุกชั้นที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงแม้ท่านจะเป็นคนใจเร็วและทําอะไรทําโดยด่วน ลงมือเร็วสําเร็จเร็วก็จริง แต่ท่านไม่ใคร่ทําอะไร ๆ นอกจากท่านจะได้ตรองอะไรเห็นดีเห็นชอบแล้วด้วยตนเองจริง ๆ

การสิ่งใด ๆ ที่คนนั้นคนนี้มาแนะนําตักเตือนว่าควรทําอย่างนั้นควรทําอย่างนี้ิ ถ้าท่านมิได้เห็นจริงตามแล้วก็ยากที่ท่านจะอนุโลมเพียงโดยเหตุว่าใคร ๆ เขาว่าดีว่าถูก เหตุฉะนี้จึงเกิดข้อครหาขึ้นเนือง ๆ ว่าท่านเป็นคนดื้อ แม้ในราชการบางคราวก็เคยมีผู้กราบบังคมทูลกล่าวโทษท่านรุนแรงว่ายาก…โดยเหตุแห่งนิสสัยอันรุนแรงเช่นนี้ในชั้นต้น ท่านจึงต้องปะทะกับคนต่าง ๆ ทุกชั้น แต่ในที่สุด เมื่อทรงรู้จักนิสสัยท่านดีขึ้น ก็กลายเป็นพระเมตตาทุกพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ และสมเด็จพระพันวัสสาเจ้า…”

สำหรับการกล่าวโทษดังเนื้อหาข้างต้นนั้น เล็ก พงษ์สมัครไทย อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยในการปฏิบัติหน้าที่ของท้าววรจันทร เมื่อมีพระบรมวงศ์ฝ่ายในกราบบังคมทูลกล่าวโทษท้าววรจันทร พระองค์มีพระราชดำรัสว่า

“เรื่องท้าววรจันทรนั้นฉันขอเสียที รู้อยู่แล้วว่าไฟ ก็อย่าได้เอามือเข้าไปจี้ เขาไม่ได้เดินเหินหรือขอเข้ามา ฉันเอาเขาเข้ามาเอง”

ไม่เพียงแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเมตตาท้าววรจันทรด้วย เนื่องจากทรงคุ้นเคยกับท้าววรจันทรมาแต่ทรงพระเยาว์

ในสมัยรัชกาลที่ 6 การงานในพระบรมมหาราชวังไม่ใคร่มากมายเหมือนก่อน เนื่องจากรัชกาลที่ 6 ประทับพระราชวังอื่น ไม่ได้ประทับในพระบรมมหาราชวัง ในช่วงที่รัชกาลที่ 6 สวรรคตใน พ.ศ. 2468 ท้าววรจันทรยังรับราชการอยู่ แม้จะอยู่ในวัย 84 ปีแล้วก็ตาม

เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเมตตาท้าววรจันทร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ 2 เมื่อครั้งท้าววรจันทรทำบุญฉลองอายุครบ 90 ปี

ท้าววรจันทร ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา ใน พ.ศ. 2482 ขณะอายุ 98 ปี

ท้าววรจันทร ประสูติพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 61 ในรัชกาลที่ 4 แต่ในต้นรัชกาลที่ 6 พระโอรสพระองค์นี้ (ภายหลังคือ นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา) สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2456

นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา มีพระโอรสและพระธิดา ประสูติแต่หม่อมเอม 13 พระองค์ โอรสพระองค์ที่ 2 คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพพฤฒิยากร เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อ พ.ศ. 2469 ต่อมาใน พ.ศ. 2492 รับตำแหน่งเป็นประธานองคมนตรี สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2517 รวมพระชนมายุ 88 พรรษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง, 2549

เจ็ดรอบอายุ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. พระนิพนธ์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร, 2512


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2562