วิษณุ เครืองาม สัมภาษณ์เรื่องสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี-ร.7ทรงตรัส “จงทําตัวเป็นปชต.”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายกั สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

หมายเหตุ “มติชน” : เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม (ช่วงปลายพุทธทศวรรษที่ 2520) รายการ “สนทนาปัญหาบ้านเมือง” ซึ่งมีรองศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม เป็นพิธีกรได้จัดการสนทนาด้วยเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ร่วมสนทนา ภายหลังจากพิธีกรได้กล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีโดยสังเขปแล้วก็เริ่มการสนทนา

ในบทสัมภาษณ์นี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ ทรงเล่าถึงพระราชดำรัสสุดท้ายของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงตรัสถึง “ประชาธิปไตย”

Advertisement


ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

ในส่วนของพระเชษฐาหรือว่าจะเป็นส่วนของพระขนิษฐาและภคินีทั้งหมดในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระวงศ์นี้ ในราชสกุล “สวัสดิวัตน์” นั้นมีอยู่กี่พระองค์

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

ทั้งหมดเท่ากับฟัน นั่นคือ 32 พระองค์ด้วยกัน เสียซะบ้าง โตเป็นผู้ใหญ่บ้าง ถ้าทั้งหมดก็ 32 แต่เวลานี้เหลือน้อยเต็มที่แล้ว เวลานี้เหลือท่านธรรม หม่อมเจ้าธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ เป็นเอกอัครราชทูต และเมื่อตอนสงครามเป็นเสรีไทยสายอเมริกา มาปฏิบัติงานอยู่ที่เซเหมา คุนมิง อยู่แถบนี้หลังจากที่ท่านหญิงผ่องพันธุ์วดี จักรพันธุ์ สิ้นชีพิตักษัย ท่านธรรมได้เข้ามาเป็น(ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี)อยู่ประมาณสองเดือน

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

ขอทูลถามฝ่าพระบาททรงได้ยินได้ฟังว่าพระนางเจ้ารําไพพรรณีนั้นทรงพระสิริโฉมงดงามมาก เมื่อแรก ๆ ทรงพระเยาว์วัยนั้นเป็นอย่างไร

พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ

ความเป็นจริงผมก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมากในฐานะที่ผมก็เป็นหลานคนหนึ่ง เรื่องพระสิริโฉมนี้ผมจําได้แม่นยําแต่เด็กมากเหลือเกินนะครับ ที่จําได้นั้นไม่ใช่จําพระสิริโฉมโดยแน่นอนหรอกครับจําได้ แต่ว่าพระสิริโฉมนี้สวยงาม เรียบร้อยน่ารักมากจนเจ้านายผู้ใหญ่ ๆ ชั้นอันดับปู่ผมอันดับผู้ใหญ่เรียกว่า “ตุ๊กตาญี่ปุ่น” ก็คงจะคล้ายไปในทางสวยงามแบบญี่ปุ่น ๆ นั่นแหละครับ ว่าไงคุณชาย

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

ครับ ก็เป็นแบบนั้น หม่อมเห็นตอนที่ทรงฉายพระรูปร่วมกับสมเด็จพระบรมราชินีญี่ปุ่น ลักษณะเหมือนกันเลยทีเดียว แต่ของเรางามกว่า แต่ลักษณะพิเศษที่จําไม่ผิดแน่นอน คือว่าเวลาทรงยิ้ม ยิ้มของท่านแสดงออก อะไรที่แปลกประหลาด ยิ้มมีเมตตา ใครเห็นแล้วก็รู้สึกชื่นใจ นี่มิใช่เป็นแต่แค่สาว เมื่อทรงพระชราก็อย่างนั้น เฝ้าทีไรท่านก็ยิ้ม ยิ้มแล้วเราก็สบายใจ

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

พระราชจริยวัตรนั้นคงจะมีโอกาสในตอนท้ายที่จะทูลถามและเรียนถามอีกครั้งหนึ่ง คุณชายครับเมื่อสักครู่ คุณชายได้เล่ามาจนกระทั่งทรงอภิเษกสมรส ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้ได้ครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ก็คงจะได้สถาปนาพระชายาพระองค์นี้เป็นพระบรมราชินี ขอความกรุณาตอนนี้ต่อไปสักนิดเถอะครับว่า ลําดับเรื่องราวเป็นอย่างไรจนกระทั่งเสด็จออกไปประทับอยู่ ที่ประเทศอังกฤษ

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

คือตอนที่ทรงอภิเษกสมรสในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นนะครับก็ไม่ได้ทรงนึกทรงฝันเลยว่าวันหนึ่งจะต้องมาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงนึกแม้แต่นิดเดียวว่าจะต้องเสวยราชย์เพราะยังมีพี่ ๆ ซึ่งจะต้องเป็นรัชทายาทอยู่ข้างหน้าแถวอีกสามพระองค์ อย่างทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ทูลกระหม่อมอัษฎางค์ ทูลกระหม่อมติ๋ว แต่ในที่สุดเสด็จทิวงคตกันแต่ละองค์ ๆ ติดตามกันไปอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็ต้องเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ต่อจากรัชกาลที่ 6 ในปี 2468

ไม่ได้เคยทรงเตรียมพระองค์มาเลย อยู่อย่างสบายที่สุด มีอาชีพเป็นทหาร เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย (ชั้นปฐม) เป็นนายทหารอาชีพเพราะว่าทรงจบมาจากโรงเรียนนายร้อยวูลลิชซึ่งเป็นโรงเรียนปืนใหญ่ ทหารม้า และก็อยู่ที่กองพลต่อสู้อากาศยาน มีผู้บังคับการคือพลตรีหม่อมเจ้าปรีดีเทพพงศ์ซึ่งสําเร็จจากเยอรมัน เฮียบที่สุด ถ้าวันไหนเรียกแถวแล้วก็ร้อยเอกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอมาช้าผู้บังคับการต้องตาเขียวปั้ดทันทีเลยทีเดียว

ครับ ยังมีท่านขุนฤทธิไกรอีกท่านหนึ่งซึ่งดูจะเป็นคู่ปรับกันอยู่ เพราะท่านขุนฤทธิไกรคอยจับสมเด็จพระปกเกล้าฯ อยู่เสมอ เพราะนายทหารแต่ก่อนนี้ต้องแต่งเครื่องแบบและคาดกระบี่ พอสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลืมกระบี่ ขุนฤทธิไกรก็ไปถวายคํานับแล้วว่า ใต้ฝ่าพระบาทข้าพระพุทธเจ้าขอจับใต้ฝ่าพระบาท ขุนฤทธิ์ไกรนี้เป็นสารวัตรใหญ่มีหน้าที่กวดขันดูแลความประพฤติตลอดจนเครื่องแต่งกายนายทหาร

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

อย่างที่คุณชายเล่าว่าตอนที่อภิเษกสมรสนั้นทั้งสองพระองค์ก็มิได้คาดฝันว่าจะขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีเพราะว่า เมื่ออภิเษกนั้นปี 2461 พระเจ้าพี่ยาเธอก็ยังมีอยู่อีกหลายพระองค์ คือได้ยินได้ฟังมานี้ก่อนพ.ศ. 2461 เล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าซึ่งทรงเป็นเจ้าอาวาสก็ได้รับสั่งมาว่าสงสัยจะให้ผนวชต่อไปเพราะว่าถ้าหากทรงลาสิกขาบทออกไปก็คงจะได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นพระเจ้าแผ่นดินอะไร พระภิกษุสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนนั้นก็ทูลว่าไม่ได้หรอก เพราะว่าก่อนที่จะมาผนวชนั้นรักกับผู้หญิงเอาไว้แล้วอันนี้แปลว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในเวลานั้นก็มิได้คาดคิดเอาไว้ว่าจะได้เสวยราชสมบัติ

คุณชายครับ พอมาถึง พ.ศ. 2468 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชสมบัติแล้วก็ได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เพียงพระองค์เดียวตลอดรัชกาล และเมื่อเปลี่ยนการปกครองหลังจากนั้นมาปี 2477 กระมังครับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ

ปี 2475 ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หลังจากนั้นมาท่านก็ทรงยินยอม สําหรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือยอมที่จะอยู่ใต้กฎหมายเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบอย่างทุกวันนี้ด้วยความเต็มพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง แต่ระยะหลังนั้นก็มีความขัดแย้งกับผู้ซึ่งปกครองประเทศด้วยเหตุผลอะไรหลายต่อหลายประการ เพราะว่าขณะนั้นผู้ที่ปกครองประเทศอยู่ก็ไม่ได้ ใช้ระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ควรคงไม่มีสักใบหนึ่งคงเป็นแบบเผด็จการเสียมากกว่า ท่านก็ทรงสู้เพื่อประชาชนชาวไทยของพระองค์ท่านดังที่เราจะเห็นได้จากคําจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้ารัฐสภาที่ว่า “ข้าพเจ้ายินดีที่จะสละอํานาจของข้าพเจ้าให้แก่ปวงชนชาวไทย แต่ข้าพเจ้าจะไม่ยินยอมสละอํานาจของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน”

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

อันนี้เป็นอมตวาจา หลังจากนั้นมาพอเห็นว่าจะไปกันไม่ได้ก็เสด็จฯ ออกไปโดยอ้างว่าจะไปรักษาพระองค์ คือจะไปให้หมอเขารักษาตาซึ่งประชวรเป็นต้อกระจก พอเสด็จฯ ไปแล้วทางนี้ก็ยุ่งกันใหญ่ ก็มีลายพระหัตถ์พระราชทานมาสม่ำเสมอจนกระทั่งเรื่องราวนั้นประสานกันไม่ได้ขึ้นมา เรื่องรายละเอียดอาจารย์ต้องไปค้นจากห้องสมุดของรัฐสภา ละเอียดหมดทุกๆ อย่าง ลายพระหัตถ์จากบ้านโนลในอังกฤษที่ออกจากลอนดอนไปสักหน่อยใกล้ ๆ เวอร์จิเนีย วอเตอร์ มีคำโต้ตอบที่เป็นสาเหตุให้เห็นว่าท่านไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ต่อไปก็ทรงสละราชสมบัติ

พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ

ความรู้สึกในทางพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในพ.ศ.นั้น ผมไปอยู่ประเทศอังกฤษมาตั้งแต่เด็กมากและในปีนั้นก็เป็นปีที่ผมจะกลับมาเมืองไทยพอดี ก็ได้เฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย ผมก็กราบพระบาทกราบถวายบังคมลาเพราะจะกลับประเทศไทย ผมนี้ซาบซึ้งใจเหลือเกิน คิดถึงเวลานี้น้ำตาจะไหล ทรงเรียกเข้าไปใกล้ ๆ แล้วก็ลูบหัวแล้วก็รับสั่ง

“แกเป็นเจ้า แกมาอยู่ในประเทศประชาธิปไตยตั้งแต่เด็ก ขณะนี้เราได้มอบอํานาจให้แก่ประชาชนเพื่อเขาจะได้ดําเนินการปกครองในแบบประชาธิปไตย” นี่เป็นพระราชดํารัสผมจําได้มากทีเดียว

“เมื่อแกกลับไปแล้ว แกเป็นเจ้า แกอย่าได้ทําการอันใดอันหนึ่งที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่าเรายังคงหวงยังคงรักตําแหน่ง จงทําตัวเป็นประชาธิปไตย เราจะต้องเป็นประชาธิปไตยเหนือผู้อื่นเพื่อนําประชาชนชาวไทยให้เป็นประชาธิปไตยให้จงได้” นี่คือคําเดอะลาสต์เวิร์ด

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

อันที่จริงก็เป็นพระบรมราชปณิธานมาโดยตลอด ถ้าหากถือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 พระองค์นั้นเป็นพระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตยสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีก็เห็นจะทรงเป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกในสมัยประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติ และก็ประทับอยู่ในอังกฤษตลอดเลยหรือยังไงครับ

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

ตลอดเลยครับ คือทรงย้ายบ้านจากบ้านเดิมมาตั้งหลักแหล่งที่เวอร์จิเนียวอเตอร์ส่วนสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีก็ประทับอยู่ด้วยตลอดจนกระทั่งสวรรคตลง หลังสวรรคตก็ประทับอยู่

ในตอนนั้นปี 2484 วันที่ 30 พฤษภาคม เป็นฤดูใบไม้ผลิกําลังจะเข้าฤดูร้อน อากาศก็ดี อาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็ทรงเป็นที่น่าไว้วางใจแต่พอเสด็จออกไปทรงซื้อของเท่านั้นตำรวจก็มาเรียกรถพระที่นั่งกลับขอให้กลับตําหนักด่วน พอกลับไปแล้วก็เป็นความโทมนัสอย่างยิ่ง คือออกจากเมืองไทยในฐานะพระเจ้าแผ่นดินแต่ไม่ได้กลับเมืองไทยตอนนั้นก็เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมา 2 ปีแล้ว พอญี่ปุ่นบุกทางไทยเราตอนนั้นต้องจําใจยอมร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ก็มีกลุ่มชนผู้รักชาติหลายต่อหลายกลุ่มต้องการจะต่อต้าน

ในอเมริกา อาจารย์ เสนีย์ ปราโมช เป็นเอกอัครราชทูตในครั้งกระนั้นก็ตั้งขบวนการเสรีไทย ทางฝ่ายอังกฤษนั้นอาของผมพันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ ซึ่งทรงสําเร็จศึกษาจากโรงเรียนวูลวิชปืนใหญ่ทหารม้าก็ทรงตั้งเสรีไทยอังกฤษ และสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีทรงเป็นสมาชิก ขบวนการเสรีไทยในอังกฤษอย่างสําคัญ ทรงสนับสนุนทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกําลังแรง กําลังกายและกําลังทรัพย์

ท่านเป็นนักสู้ที่ผมนับถือท่านนี้ไม่ใช่มายกย่องหรือเยินยอกัน สมเด็จน้าท่านทรงมีพระราชจริยวัตรที่เข้มแข็ง เก็บความรู้สึกจะไม่มีใครรู้เลยจากพระพักตร์ ความรู้สึกของท่านจะไม่มีใครรู้เลยมีแต่ยิ้ม เมตตา เห็นแล้วสบายใจ แต่ว่าไอ้เรื่องต่าง ๆ ซึ่งความทุกข์ระทมที่ท่านทรงได้รับได้เห็นอย่างมาก มากจริงๆ วังก็ถูกริบไป เสด็จฯกลับมาก็ไม่มีที่ประทับต้องไปประทับที่วังสระปทุม จนกระทั่งภายหลังจึงได้วังคืน อย่างนี้เป็นต้น ผมรู้สึกว่าเป็นสตรีที่น่ายกย่อง

ความทุกข์ระทมยามเสด็จฯไปประทับที่จันทบุรี เหมือนกัน ตรงนี้สําคัญทีเดียว เมื่อเสด็จฯไปประทับที่จันทบุรีที่ทรงทําอันดับแรกก็คือทรงทําไร่กาแฟ ตรงนั้นที่มันไม่อุดมเท่าไร เจ้ากาวิละไปเลือกที่ตรงนั้นเป็นที่เนินลาดลงสู่หุบเขา สมัยนั้นการตัดไม้ทําลายป่ายังมีไม่มาก เราก็กันเป็นแดน คือทรงรับนิสัยของคนอังกฤษ คนอังกฤษเขาชอบเป็นเกษตรกร พวกผู้ดีมีสกุลอังกฤษนั้นต้องมีบ้านอยู่ที่นอกเมืองทําไร่มีที่ดินมาก และก็มีแฟลตอยู่ในลอนดอน

ผมได้ไปเฝ้าที่จันทบุรีอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าตอนนั้นพระองค์ทรงหยุดทําไร่พริกไทยแล้วผมก็ทูลถามว่า ทําไมสมเด็จน้าจึงทรงเลิกเสีย ท่านก็ทรงพระสรวล แล้วทรงบอกว่า ชาวบ้านเขาหาว่าฉันแย่งอาชีพ ฉันมีเงินทอง แต่ที่จริงฉันไม่มีหรอก ท่านรับสั่งอย่างนี้ท่านเลยเลิก ต้องเสียสละอย่างสูงนะ นอกจากที่ไม่สบพระทัยเลยในการที่ถูกยึดพระราชทรัพย์ไปแล้วนี้ อย่างนั้นยังมีการพระราชทานอีกด้วยอย่างพระตําหนักที่จันทบุรีก็พระราชทานให้กับวิทยาลัยครู

ตั้งแต่หลังจากเชิญพระบรมอัฐิกลับมาแล้วผมอยากพูดสักนิดหนึ่งว่า ทรงมีพระคุณูปการโดยเฉพาะกับสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมัยนั้นสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงดํารงพระอิสริยยศเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นธิดาของหม่อมเจ้านักขัตมงคล เอกอัครราชทูตไทยประจํากรุงอังกฤษ สมเด็จพระบรมราชินีรัชกาลที่ 7 ทรงสนิทเสน่หาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเป็นพิเศษมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น เรียกว่ารักกันมาก หลานคนนี้รักมาก พอต่อมาเมื่อได้ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีก็ได้แสดงกตเวทิคุณเป็นอย่างมาก

พวกเราที่เป็นสมาชิกในสกุลสวัสดิวัตน์ได้เห็นสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงเอาพระราชหฤทัยใส่มากที่สุด ในระยะหลังพอทรงมีพระชนม์มากขึ้น คือ สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระชนม์มากขึ้น อาหารเรียกว่าเครื่องฝรั่งต้องส่งมาทุกวันอาทิตย์ทุกวันเลย ไม่รู้ว่าเปรี้ยวหวานมันเค็มอะไร ถ้าถึงฤดูเทศกาลที่จะมีสิ่งแรกที่จะทรงกระทําคือพระราชทานมาที่วังศุโขทัยสืบเนื่องกันตลอดมาเลย จนกระทั่ง แม้กระทั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เป็นอย่างดี

ตอนที่เสด็จฯกลับเมื่อปี 2492 ตอนนั้นต้องเลื่อนเวลาเสด็จกลับมาเสียสามเดือนเพราะว่ามีกบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ ก็กลับมาเอาเดือนพฤษภาคมนี้แหละครับ หลังจากนั้นมาก็ไม่มีวังจะประทับ ไม่มีวังเพราะว่ารัฐบาลยึดไป เอาไปเป็นที่ทํางานของกระทรวงสาธาณสุข วังศุโขทัยนี่แหละ ครั้งคราวนั้นรัฐบาลสมัยจอมพล. ป. พิบูลสงครามยึดไป แต่ตอนหลังท่านจอมพล.ป. ท่านรู้สึกทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรที่เราจะต้องพูดกัน แล้วก็แล้วกัน อันนี้ก็อย่างที่พี่เฮียเล็กทรงกล่าว ทรงเป็นนักสู้ที่เป็นผู้ที่ให้อภัยได้ในเรื่องที่ไม่น่าจะให้อภัยก็ทรงให้อภัยอย่างสบาย เรียกว่ามองหน้ากันสนิท ไปเข้าเฝ้าก็ทรงรับสั่งอย่างสบาย ๆ ไม่มีอะไรแต่ในพระหทัยส่วนลึกนั้น เราก็ไม่รู้ว่าท่านคิดอะไรบ้าง คงมีบ้างแต่ท่านก็ข่มเอาไว้ ไม่เคยแสดงออกไปเลย

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

ตรงนี้กระมังครับท่านผู้ชมท่านผู้ฟังที่หากว่าเราได้ยินได้ฟังผู้ประกาศสํานักพระราชวังเมื่อคราวสวรรคตนั่น มีข้อความตอนหนึ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีอัญเชิญพระราชกระแสใส่เกล้าใส่กระหม่อมมาว่า ทรงคํานึงถึงพระจริยวัตรที่ทรงยึดมั่นอยู่ในสัจธรรมและขันติธรรมอย่างมั่นคง อันนี้เห็นจะเป็นตัวอย่างได้กระมัง ที่ทรงรับสั่งว่าทรงอดทนอดกลั้นต่อถ้อยคําใด ๆ ทั้งปวง หรือแม้กระทั่งการกลั่นแกล้งใด ๆ ถ้าจะพึงมีอยู่บ้าง มีมากมิใช่มีอยู่บ้าง

พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ

เมื่อกี้คุณชายกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณ แต่คราวนี้ผมจะไม่กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณ อย่างพวกเราญาติพี่น้องซึ่งเป็นในเครือญาติทุกคนมีความรักพระองค์ท่าน คุณชายจําได้ไหมเมื่อมีพระชนมายุครบ 60 พรรษานั้นสนุกมากโดยไม่ต้องมีรับสั่งเลยว่าให้คนนั้นมาช่วยกันนะ แต่ในวันนั้นกลับเพียบพร้อมไปด้วยร้านโรงทุกสิ่ง แน่นเหลือเกิน และดูเหมือนพระราชวงศ์ทุกพระองค์ที่มีชีวิตอยู่มีกําลังไปออกร้านการละเล่นสนุกสนาน กระผมก็ไปออกร้านถ่ายรูปถวายคือเหมือนวันวิสาขะ คือมันพร้อมใจกันไปเองจากพระทัย รับสั่งบอกว่า เอ๊ะ มากันอย่างนี้ฉันจะเอาข้าวที่ไหนให้กิน นี่แหละ ครับแสดงให้เห็นน้ำพระทัยอย่างสูง

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

ฝ่าพระบาทขอทูลถามถึงการประทับอยู่เมื่อคราวที่มีพระชนม์ชีพ ได้ข่าวว่าทรงโปรดกีฬาอยู่

พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ

ทรงโปรดมากทรงกอล์ฟ ก็เรื่องกีฬานี้เองที่ทําให้ประชวร ประชวรเพราะล้ม ตอนนั้นเป็นมากกว่า เป็นปอดบวม พอหลังจากนั้นก็ทรุดโทรมลงมากพอสมควร แล้วเลือดที่จะไปเลี้ยงพระเศียรน้อย คือว่ากันอย่างนั้นนะ คือว่าตระกูลของผมนี้มันมักจะมีโรคเส้นโลหิตเปราะ พี่ป้าน้าอาของผมเองก็สิ้นพระชนม์ด้วย ปั๊บเดียว ปั๊บเดียวอย่างนี้ตลอด คือมันตีบเข้าแล้วมันเปราะ

อีกเรื่องที่จะลืมไม่ได้ คุณชาย ผมจะขออนุญาตนิดนึงนะ เรื่องการไม่ถือพระองค์นี้เป็นที่สุดแห่งที่สุด ทรงดํารงตําแหน่งสูงศักดิ์นี้ ตอนนั้นผมเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์เฉลิมเขต สมเด็จน้าเสด็จฯ แล้วท่านเสด็จพระราชดําเนินแอบอยู่แล้วให้ข้าหลวงไปซื้อตั๋ว ผมบอกไม่ได้ ๆ ๆ “เล็ก เธอทําไอ้บิสสิเนสนี้อยู่ ๆ น้าไม่ได้ทําอะไรเลยจะดูฟรีได้ยังไง ไม่แฟร์” ผมก็เลยกราบพระบาทกลางโรงหนังขอพระราชทานเถิด ขอให้เสด็จฯขึ้นไปทอดพระเนตรฟรี ถ้าขึ้นจะทรงพระราชทานเงินข้าพระพุทธเจ้าแล้วจะทําให้ข้าพระพุทธเจ้าไม่สบายใจไปจนตลอดชีวิต นี่แหละครับนี่แหละพระราชอัธยาศัย แล้วเสด็จฯบ่อย เดี๋ยวก็เสด็จฯแล้ว จะต้องจัดคนคอยดูว่ามาหรือเปล่า ไม่มีตํารวจ ไม่มีพนักงานติดตาม

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

พูดถึงกอล์ฟ ได้ยินว่าทรงมานานแล้ว เห็นจะเป็นคนไทยรุ่นแรก ๆ ที่นํากอล์ฟเข้ามาเผยแพร่กระมังครับ

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

เขาเรียกว่าเป็นพระมารดาแห่งกอล์ฟ ทรงเริ่มเรียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างสนามกอล์ฟที่หัวหิน ก็ได้ทรงกอล์ฟที่สนามหัวหินพร้อมกันสองพระองค์ องค์หนึ่งเป็นพระบิดาแห่งกอล์ฟ อีกองค์เป็นพระมารดากีฬากอล์ฟ

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

ครับ นอกจากกอล์ฟแล้ว ผมเห็นคุณชายเป็นนักร้องนักดนตรี สมเด็จทรงโปรดดนตรีมากไหมครับ

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

โปรดครับ เพราะว่าเจ้านายในสมัยก่อนจะถูกอบรมในเรื่องดนตรีโดยเฉพาะเรื่องของดนตรีไทย ทรงซอซึ่งมีครูคือหลวงไพเราะเสียงซอ แล้วก็มีครูใหญ่ซึ่งเป็นนายวงปี่พาทย์ประจําคือคุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ จางวางศร ศิลปบรรเลง แล้วก็ได้สั่งสอนเรียกว่าให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยได้ ก็มีเพลงเขมรละออองค์เถา ราตรีประดับดาวแล้วก็มีคลื่นกระทบฝั่ง 3 ชั้น เป็นเพลงซึ่งทรงพระราชนิพนธ์มา มีวงท่านพระองค์หนึ่งพระองค์สองพระองค์สามพระองค์สี่ ทั้งนี้เป็นวงทั้งนั้น เอาอย่างนี้ดีกว่า เจ้านายฝ่ายในเมื่อรุ่นสาว รุ่นพระนางเจ้ารําไพฯก็เหมือนกันต้องอยู่ในวงท่านทั้งนั้น แต่น่าเสียดายนะผมเคยมีรูปอยู่ หายไปไหนไม่ทราบ

สําหรับราตรีประดับดาวเป็นเพลงซึ่งทรงโปรดที่สุด เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ให้เนื้อร้องนี่บ่งชัด “สุดแสนยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ ขอเชิญขวัญใจเจ้าไปนั่งเล่น ลมพัดเย็น ๆ หอมกลิ่นมาลี หอมเอยหอมดอกฉัตรวรนาถ (หมายเหตุฉบับออนไลน์ – ในเนื้อเพลงเป็น “ดอกชำมะนาด”) กลิ่นไม่ฉูดฉาดแต่สวยน่าชม” และก็ “ชมแต่ดวงเดือนที่ไหนจะเหมือนเท่าชมหน้าน้อง” เห็นจะพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯนี้โดยเฉพาะ และก็ทรงคิดชื่อไม่ได้ มีคนคิดถวาย ไม่รู้อะไรต่ออะไร ราตรีราตันอะไรต่ออะไรกันหลายอย่างเพราะมาจากมอญ วันหนึ่งวงดนตรีวงหลวงคือวงจางวางศร หลวงประดิษฐ์ไพเราะมาออกวิทยุ 11 พี.เจ. ศาลาแดง 007 ก็ประกาศมาว่าเพลงนี้เป็นเพลงพระราชนิพนธ์

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

ครับ ครั้งนี้ก็เห็นจะมาถึงการสวรรคตกับการพระบรมศพ เรียนถามคุณชายว่าเมื่อสวรรคตนั้นประชวรด้วยพระโรคอะไรหรือครับ

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

ก็อย่างว่าแหละครับ ฮาร์ท แอทแท็ค เดิมนั้นนะทรงดีวันดีคืน ตอนหลังที่ทรงบอกว่าทรงหลง ๆ ลืม ๆ นั้นเป็นเพราะว่าเลือดขึ้นไปเลี้ยงพระเศียรน้อยและก็เส้นโลหิตตีบ หมอก็ปล่อยไม่เป็นไร ลืมได้ก็ยิ่งดีเพราะว่าไม่ต้องคิดอะไรมา ก็ให้ยาปะทะประทั่งไป บางทีก็ทรงจําได้ บางทีก็ทรงจําไม่ได้ แต่ในระยะปีหลังนี้ทรงแข็งแรงขึ้นเป็นพิเศษ ทรงพระดําเนินได้สั้น ๆ ไม่ต้องมีพยาบาลคอยดู ทรงเข้าห้องเข้าอะไรเสด็จฯไปเอง

ผมไปเฝ้าครั้งแรกทรงจําอะไรไม่ได้เลย ไม่มีกิริยาว่าจะทรงจําได้เลยแต่ไปเฝ้าครั้งหลังนี้ก็หลายเดือนมาแล้วทรงจําได้เท่าที่จะทรงจําได้ เมื่อผมเข้าไปกราบแทบพระบาทแล้วเงยหน้าขึ้นท่านก็ทรงจ้องมอง แล้วก็ทูลท่านเล็กมาเฝ้า ท่านยิ้ม พอยิ้มปั๊บก็ทราบทันทีเลยว่าท่านจําได้ แต่ตอนนั้นไม่รับสั่งเลยทรงยิ้มตลอดเวลา

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

ในวันสวรรคตนั้นพระสติสัมปชัญญะยังบริบูรณ์

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

ตอนนั้นนะครับเมื่อตอนที่พระราชทานน้ำสังข์ลูกชายผมตอนนั้นทรงแจ่มใสเป็นพิเศษ เมื่อสองเดือนมาแล้ว และก็เรียกว่าดีวันดีคืนรับสั่งประโยคสั้น ๆ บ่อยครั้ง แล้วบางทีซึ่งแสดงว่าความทรงจํายังดีอยู่ก็คือว่า วันหนึ่งผมก็ไป ผมก็เป็นคนที่มีเรื่องอะไรก็ไป ท่านฟัง ผมก็ทูลบอกว่ามีพระองค์หนึ่งอายุตั้ง 84 แล้ว อ้างตัวว่าเป็นลูกพระองค์เจ้าบวรเดชแล้วเรียกตนเองว่า หม่อมเจ้าบวรเดชตอนหลังสถาปนาว่าเป็นพระองค์เจ้าบวรเดชเหมือนพ่อ ท่านก็ว่ายังไงรู้ไหม หาไหงยังงั้นหละ แสดงว่าทรงจําได้รู้เลยทีเดียว ขันมาก ถามว่า หือไงอย่างงั้น หือไงยังงั้น แล้วก็สั่นพระพักตร์

ร.ศ.วิษณุ เครืองาม

เวลานี้ก็ตั้งพระบรมศพอยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ผมรู้สึกเมื่อครู่นี้ได้คุยกับคุณชายถนัดศรีก่อนที่จะมานั่งอยู่ ณ ตรงนี้ คุณชายได้เล่าถึงการเตรียมการพระบรมศพ ผมได้ซาบซึ้งในพระ มหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้พระราชทาน แก่พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีอย่างสูงยิ่ง เรียนเชิญคุณชายเล่าตรงนี้สักนิดเถิดครับ

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

คือผมก็ได้รับฟังมาต่อจากข้าราชบริพารซึ่งเกี่ยวข้องและใกล้ชิดในการที่เตรียมงานสําหรับพระบรมศพ ตามธรรมดาเมื่อเคลื่อนพระบรมศพไปจะต้องไปสรงน้ำพระบรมศพที่พระที่นั่งพิมานรัถยาในพระบรมมหาราชวังหลังพระที่นั่งจักรีแต่เผอิญพระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้มีการใช้มาตั้งแต่เมื่อปี 2498 คือเมื่อสมัยสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้าสวรรคต ใช้ครั้งนั้นแล้วไม่ได้ใช้อีก

พวกสํานักพระราชวังบางคนก็หลง ๆ ลืม ๆ กันไปแล้ว เป็นที่น่าซาบซึ้งในน้ำพระหฤทัยของทั้งสองพระองค์ ก็คือว่าเวลานี้ก็ใช้เก็บพวกเครื่องลายครามต่าง ๆ นานา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงอํานวยการให้ขนย้ายเคลียร์พื้นที่ให้ใช้เป็นที่สรงน้ำพระบรมศพให้จงได้ จนดึกจนดื่น จนเสร็จเรียบร้อย อีกองค์หนึ่งก็คือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เรียกว่าเหนื่อยมากทีเดียว


คัดเนื้อหาจาก หนังสือ “พระผู้เพิ่งจากไป” โดยสำนักพิมพ์มติชน หนังสือเฉพาะกิจ พ.ศ. 2527 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2562