ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ศาสนาพุทธ มีพัฒนาการและการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงก็มีลัทธิและนิกายต่างๆ เกิดขึ้นผสมรวมเข้ากับแนวคิดทาง ศาสนา ในบรรดาลัทธิเหล่านี้มีอีกหนึ่งกลุ่มที่เรียกว่า “ตันตระ” และผสมกับพุทธศาสนา เป็น พุทธตันตระ ซึ่งยังส่งอิทธิพลต่อพุทธศาสนาในไทยในเวลาต่อมา
นอกเหนือจากที่พุทธศาสนามี นิกายมหายาน และ หีนยาน แล้ว ยังมีสำนักของพุทธศาสนาที่เรียกว่า วัชรยาน ซึ่งเชื่อในการได้พลังมนตร์ที่จะช่วยให้ไปถึงความหลุดพ้น พลังมนตร์นี้เรียกว่า “วัชระ” อันหมายถึง สายฟ้าหรือเพชร โดยยานนี้ถูกบันทึกว่ากลายเป็นมาตรฐานและมีความสำคัญขึ้นมาในช่วงราชวงศ์ปาละแห่งเบงกอลและพิหาร ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ยังสามารถพบบางวัดที่มีกิจเกี่ยวกับคาถาอยู่ด้วย แต่ก็มีนักวิชาการที่ยังถกเถียงเรื่องยุคที่ปรากฏและมีความสำคัญอยู่
เอแอล บาชาม (A.L. Basham) ศาสตราจารย์ด้านอารยธรรมเอเชีย และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียอธิบายเพิ่มเติมว่า เทพที่สำคัญของนิกายนี้คือเทพเพศหญิงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นชายาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ตันตระเชื่อในเทพและมีเทพอีกจำนวนมาก มีตำราของกลุ่มคนที่เชื่อว่า บุคคลจะสามารถบังคับเทพให้อำนาจเวทมนตร์แก่ผู้กราบไหว้ ช่วยให้ผู้กราบไหว้บูชาไปถึงเป้าหมายแห่งบรมสุข ตำราที่บันทึกวิธีการเกี่ยวกับการบังคับเทพมีชื่อว่า “ตันตระ” และทำให้เรียกลัทธิใหม่นี้ว่า “ลัทธิตันตระ”
ในแง่การปฏิบัติทางจิต บาชาม บรรยายว่า พุทธตันตระไม่ได้ละเลยการฝึกจิต (ที่เป็นส่วนสำคัญของศาสนาสำคัญในอินเดีย) แต่ความแตกต่างคือ เป้าหมายของการฝึกจิตในอันดับแรกคือบรรลุในอำนาจเหนือธรรมชาติ
ขณะที่แนวคิดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ (ในทางพิธีกรรม) ของลัทธินี้ก็ไม่มีสิ่งต้องห้าม และยังอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน กินเนื้อสัตว์ และดื่มของมึนเมาได้ในการชุมชนทางตันตระ แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบการควบคุมที่เข้มงวด ผู้ที่จะปฏิบัติได้ต้องถือบวชเพื่อร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น คนที่เข้าร่วมในพิธีศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสามารถมีเพศสัมพันธ์ กินเนื้อสัตว์ และดื่มของมึนเมามักเชื่อว่าช่วยผ่อนคลายแรงผลักดันทางจิตในเชิงลบซึ่งจะส่งผลบวกต่อการดำเนินชีวิต
ในแง่การผสมรวมเข้ากับพุทธศาสนา อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อธิบายว่า ลัทธิตันตระผสมกลมกลืนกับพุทธศาสนาในช่วงประมาณ พ.ศ. 1590 และเรียกกันว่า “พุทธตันตระ” นั่นเอง อันมาจากการผสมลัทธิตันตระฝ่ายซ้ายที่เรียกว่า “วาจาริน” หรือกาฬจักร นิกายนี้มีหลักว่า ตัณหาต้องดับด้วยตัณหา กิเลสของมนุษย์ประกอบด้วย “ราคะ โทสะ โมหะ” การจะดับกิเลสได้ต้องประพฤติจนเบื่อหน่ายไปเอง นั่นทำให้การปฏิบัติเน้นในเรื่องเครื่องรางของขลังและลงยันต์
อภิลักษณ์ ผู้เขียนหนังสือ “ผูกนิพพานโลกีย์” บรรยายว่า ลัทธิพุทธตันตระเผยแผ่เข้ามาในไทยประมาณปี พ.ศ. 1300-1900 ซึ่งมักรู้จักกันในนามพุทธศาสนานิกายวัชรยาน อิทธิพลของลัทธิตันตระที่อยู่ใน ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ ยังปรากฏให้เห็นในความเชื่อของคนไทยหลายประการ อาทิ การลงยันต์ และมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ผสมเข้ามาปรากฏในวัตถุทางศาสนา อย่างเช่น ภาพจิตรกรรมฝาหนังในโบสถ์ของนิกายหินยาน มีภาพการร่วมเพศ สอดแทรกตามส่วนประกอบของภาพพุทธประวัติ ภาพชาดก ซึ่งเป็นภาพที่สามารถพบเห็นตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอินเดียด้วย
อภิลักษณ์ แสดงความคิดเห็นว่า ศิลปะที่พบเห็นในอินเดียได้รับอิทธิพลของลัทธิศาสนาฮินดูใหม่อย่างศักติ และยังผสมเข้ากับอิทธิพลจากตำรากามสูตรที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง และเชื่อว่ามีอิทธิพลต่อศิลปะกามวิสัยที่พบเห็นตามวัดในไทยไปจนถึงตำราทางเพศอย่าง “ผูกนิพพานโลกีย์” ซึ่งพบในวัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด
อย่างไรก็ตาม ความเป็นมาและเนื้อหาของตันตระยังคงเป็นข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องการตีความเนื้อหาและที่มาของเนื้อหา ซึ่งส่งอิทธิพลต่อแนวคิดแบบฮินดู นักวิชาการต่างประเทศยังแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
Basham, A.L.. อินเดียมหัศจรรย์. กาญจนี ละอองศรี บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2559
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. ผูกนิพพานโลกีย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2562