เผยแพร่ |
---|
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่อง พระนามพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ถึงวิธีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ถึง 5 อย่างต่างกันคือ
- พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ
- พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ
- พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่
- พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลไปแล้ว
- พระนามที่เรียกในราชการในเวลาเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว
ในที่นี่ขอคัดวิธีการเรียกพระนามตั้งแต่ ข้อที่ 3 ถึงข้อที่ 5 (โดยจัดย่อหน้าใหม่ และเฉพาะข้อที่ 5 คัดมาบางส่วน)
“…
3.พระนามพระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกในเวลาเสด็จดำรงพระชนม์อยู่นั้น มักเรียกเหมือนกันทุกพระองค์ คือผู้ที่เป็นข้าขอบขัณฑสีมาก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินของตนว่า ขุนหลวง หรือพระเป็นเจ้า หรืออย่างเราเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัว มิได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์
ถ้าชาวเมืองอื่นเรียกก็มักจะเรียกตามนานเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ ครอง ดังเช่นเรียกว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าอังวะ เป็นต้น บางทีก็เรียกตามพระนามเดิมของพระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ เช่นเรียกว่า พระร่วง พระยาอู่ พระเจ้ามังลอง ดังนี้ พระนามที่เรียกว่าตามนามเมืองหรือตามพระนามเดิมอย่างนี้ ล้วนเป็นคำของพวกเมืองอื่นเรียก.
4.พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น ดังเช่น ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัด และพระที่นั่งสุริยามรินทร์
เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้วพระองค์ใด เรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน ดังเช่นเรียกว่า
ขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เป็นที่พระเพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ
เรียกว่าขุนหลวงเสือ ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นร้ายกาจ
เรียกว่าขุนหลวงท้ายสระ ก็เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งข้างท้ายสระ
เรียกว่าขุนหลวงทรงปลา ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นชอบทรงตกปลา
พระนามที่เรียกว่า ขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่า ในพระโกศนี้เอง สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลังในกรุงเก่าที่ได้ทรงพระโกศ) คนคงเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือในพระโกศมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว
ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิต เมื่อเสวยราชย์อยู่ในราชสมบัติไม่ช้า ก็สละราชสมับติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัด มาแต่ครั้งกรุงเก่า
ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทร์นั้น ครั้นกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่า ขุนหลวงหรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งนั้น
ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่า ขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงเก่า
ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดอย่างนี้ มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ ซึ่งเป็นราชโอรสรับราชสมับติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าเชลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวร ถูกไปกักเอาไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต และพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกพาคยีดอ แปลว่าพระเจ้าอาว์ ดังนี้ก็มี.
5.พระนามที่เรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว เกิดแต่ความจำเป็นที่จะต้องเรียก พระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลก่อนๆ ให้ปรากฏพระนามผิดกัน เพราะพระนามตามพระสุพรรณบัฏมักจะเหมือนกันโดยมาก จึงต้องสมมติพระนามขึ้นสำหรับเรียกเฉพาะพระองค์ เรือนมีความลำบากเป็นอุทาหรณ์
แม้ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง คือเมื่อรัชกาลที่ 2 เรียกรัชกาลที่ 1 ว่า แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ก็เป็นอันถูกต้องเรียบร้อยมาตลอดรัชกาลที่ 2 ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 มีรัชกาลที่ล่วงแล้วเป็น 2 รัชกาลขึ้น เกิดเรียกกันขึ้นว่า แผ่นดินต้นแผ่นดินกลาง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย รับสั่งว่าถ้ารัชกาลที่ 1 เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ 2 เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ 3 ก็จะกลายเป็นแผ่นดินสุดท้าย เป็นอัปมงคล
จึงประกาศให้เรียกรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ตามพระนามพระพุทธรูป ซึ่งทรงสร้างเป็นพระบรมราชูทิศไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 1 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
มาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า เรื่องนามแผ่นดินควรจะกำหนดไว้ให้เป็นยุติเสียแต่แรกทีเดียว จึงถวายพระนามรัชกาลที่ 3 ว่า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนรัชกาลของพระองค์เอง ให้เรียกว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาจนบัดนี้…”
(คัดจาก พระราชงพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์พระอธิบายประกอบ.โอเดียนสโตร์.2505)