“นิวเกรนจ์” Newgrange สุสานหินปริศนาในไอร์แลนด์ มหัศจรรย์แสงลอดผ่านหน้าต่างทุกปี

สุสานหิน "นิวเกรนจ์" ในไอร์แลนด์

ในบรรดาสิ่งก่อสร้างโบราณที่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน มีอาคารที่มหัศจรรย์มากมาย แต่น้อยครั้งนักที่จะมีผู้กล่าวถึง “นิวเกรนจ์” (Newgrange) สุสานหินครึ่งทรงกลมขนาดใหญ่ในไอร์แลนด์ ซึ่งไม่เพียงเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีโครงสร้างน่าสนใจเท่านั้น ความลับที่มหัศจรรย์ซึ่งค้นพบกันภายหลังคือ ช่องหน้าต่างของสุสานหินจะมีแสงลอดเข้ามาอย่างพอเหมาะพอดีในวันเหมายัน

สิ่งก่อสร้างแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองดับบลินแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เชื่อกันว่าสร้างตั้งแต่ยุคหินเก่านีโอลิธิค (Neolithic) ประมาณ 3,200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งทำให้เห็นว่าเก่าแก่กว่าพีระมิดของอียิปต์ จากการตรวจสอบอายุทางคาร์บอน เชื่อว่า โครงลักษณะของสุสานมีอายุเก่ากว่าสโตนเฮนจ์ (Stonehenge) และพีระมิดแห่งกีซ่า (Giza) ประมาณ 500 ปี แฟรงค์ มิตเชลล์ นักธรณีวิทยาและนักธรรมชาติวิทยาชาวไอริช แสดงความคิดเห็นว่า

สุสานหินตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเรียกกันในภาษาเกลิคว่า Brú na Bóinne สื่อถึง “เคหสถาน” หรือ “ตำหนัก” พื้นที่ขนาด 3 ตารางไมล์นี้มีอนุสรณ์โบราณตั้งอยู่มากมาย อันรวมถึงสุสานหินขนาดใหญ่อีก 2 แห่งนอกเหนือจากนิวเกรนจ์

สุสานหินนี้แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของสุสานในยุคหินเก่า ซึ่งมักเป็นสุสานทรงกลม ตั้งอยู่บนเนิน มีทางเดินยาวและห้องโถงที่ฝังศพภายในใจกลางสุสาน ในสุสานพบโครงกระดูก 5 ราย จากการสำรวจพบทั้งโครงกระดูกที่ถูกเผาและไม่ได้ถูกเผา สำหรับโครงกระดูกที่ไม่ถูกเผาเชื่อว่ามาจากร่างกายบุคคล 2 ราย แต่ไม่พบส่วนศีรษะ ในพื้นที่ยังพบของมีค่า อาทิ ลูกปัด เครื่องประดับทองจากยุคโรมัน

สุสานลักษณะนี้มักพบเห็นได้ในยุโรปตอนเหนือ หรือในแถบเมดิเตอร์เรเนียน และชายฝั่งตอนเหนือของแอฟริกา สุสานแห่งนี้ทำจากหินแกรนิตและแร่ควอตซ์ที่มาจากภูเขาในไอร์แลนด์ หินขนาดใหญ่ภายในสุสานอาจจะถูกลากดึงมาจากแม่น้ำ นักโบราณคดีเชื่อว่า การก่อสร้างต้องใช้เวลาหลายสิบปี การก่อสร้างน่าจะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ขณะที่วัสดุบางชิ้นที่เป็นส่วนประกอบของอนุสรณ์ในพื้นที่ยังมาจากที่ห่างไกลออกไป

คำถามที่สำคัญที่นักโบราณคดียังคงไม่สามารถชี้ชัดได้คือ จุดประสงค์ของการสร้างสุสานหินขนาดนี้ขึ้น และไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงวัตถุประสงค์และการใช้งานสุสานหินหลงเหลือ แต่เบื้องต้นเชื่อว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา (ยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในสุสานเช่นกัน) และสิ่งที่้ค้นพบในภายหลังคือ เมื่อถึงวันเหมายัน วันที่กลางวันสั้นที่สุด และกลางคืนยาวนานที่สุดในปีจะมีแสงลอดเข้าช่องบริเวณด้านหน้าสุสานแบบพอเหมาะพอดี แสงช่วยส่องสว่างทางเดินที่นำไปสู่ห้องเก็บร่าง

เช่นเดียวกับจุดประสงค์ของการสร้างสุสาน วัตถุประสงค์ที่สร้างให้มีแสงส่องเข้ามาพอดีในวันเหมายันก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน ขณะที่ Clare Tuffy ผู้จัดการศูนย์ผู้เยี่ยมชมในพื้นที่สันนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่า ผู้คนในพื้นที่อาจใช้สถานที่สำหรับการชุมนุมเพื่อต้อนรับแสงอาทิตย์ใหม่ อาจเป็นสถานที่เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ ขณะที่สุสานหินยังไปปรากฏในตำนานท้องถิ่นหรือเรื่องเล่าปรัมปราของชาวไอริชในช่วงยุคกลางโดยถูกกล่าวถึงในแง่เป็นที่พำนักของเทพเจ้า อาทิ Dagda เทพในตำนานชาวไอริช และ Aengus บุตรของพระองค์

ภายนอกของสุสานยังพบหินขนาดใหญ่ตั้งด้านหน้าทางเข้า บนหินแกะลวดลายเป็นเส้นวงกลมเต็มพื้นที่ รายละเอียดที่อยู่บนหินเหล่านี้และหินอื่นๆ ซึ่งตั้งกระจัดกระจายกันอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ย่อมบ่งชี้ถึงความสำคัญที่มีต่อชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของและผู้สร้างอาคารของใช้เหล่านี้ขึ้น

นักโบราณคดีเชื่อว่า นิวเกรนจ์ ไม่ได้ถูกใช้งานโดยผู้คนท้องถิ่นในช่วงปลายยุคนีโอลิธิค ไมเคิล เจ โอ เคลลีย์ นักโบราณคดีวิเคราะห์ไว้เมื่อค.ศ. 1981 ว่า ในช่วง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล นิวเกรนจ์เริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง และกลายเป็นผู้คนที่เข้ามายึดพื้นที่ก็อาศัยอยู่รอบอาคาร ผู้คนเหล่านี้เชื่อมโยงกับอารยธรรมบีเคอร์ (Beaker) ในแถบยุโรป และภายหลังก็มีการทำหม้อสไตล์บีเคอร์ในท้องถิ่น

หลังยุคสำริด นิวเกรนจ์เริ่มเสื่อมโทรม กระทั่งช่วงศตวรรษที่ 3 และ 4 พื้นที่นี้มีปรากฏในบันทึกทางธรณีวิทยาอีกครั้ง โดยนักสำรวจพบโบราณวัตถุจากปลายยุคโรมัน คาดว่าอายุระหว่าง ค.ศ. 350-450 ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์จากหลักฐานที่พบโดยเชื่อว่า พื้นที่ถูกใช้ในแง่วัตถุประสงค์ทางพิธีกรรมความเชื่อบางอย่าง

ช่วงที่นิวเกรนจ์ อยู่ในช่วงขาลงเชื่อว่าน่าจะกินเวลานับพันปี กระทั่งในช่วง ค.ศ. 1699 นิวเกรนจ์ กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ในปีนั้นเองที่ชาร์ลส แคมป์เบลล์ เจ้าของที่ดินในพื้นที่เริ่มสำรวจดินแดนโดยแรกเริ่มเพื่อจุดประสงค์แง่การทำเหมืองหินจากกลุ่มหินในพื้นที่ ระหว่างการสำรวจ คนงานพบหินนูนด้านท้ายภูเขา ซึ่งตรงนี้เองเป็นจุดที่พบประตูทางเข้า

หลังจากนั้นเป็นต้นมา นิวเกรนจ์ ก็เริ่มเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับความสนใจ นักประวัติศาสตร์พยายามสืบค้นที่มาของสิ่งก่อสร้างนี้มาโดยตลอด โอ เคลลีย์ เป็นอีกหนึ่งนักวิชาการที่เข้าไปศึกษาระหว่าง ค.ศ. 1962-1975 ซึ่งนอกจากจะศึกษาแล้ว ก็ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องพื้นที่จากสาธารณชนที่มักเข้ามาเก็บ “ของที่ระลึก” จากในพื้นที่ติดมือ

รายงานข่าวยังเผยว่า เคลลีย์ เป็นผู้ค้นพบแสงลอดผ่านช่องเข้ามาในวันเหมายัน และการศึกษาทางวิชาการก็ดำเนินเรื่อยมา สำหรับคนทั่วไปหรือผู้มีศรัทธาในพลังเหนือธรรมชาติมักเดินทางไปพื้นที่ในช่วงวันเหมายันของแต่ละปี อย่างไรก็ตาม การเข้าในพื้นที่ยังจำกัดจำนวนคน มีไม่กี่คนเท่านั้นที่จะสัมผัสโอกาสเข้าชมแสงลอดผ่านเข้ามา


อ้างอิง:

“Brú na Bóinne – Archaeological Ensemble of the Bend of the Boyne”. UNESCO World Heritage Center. Online. Access 21 JUN 2019. <http://whc.unesco.org/en/list/659>

Newgrange. Wikipedia. Access 21 JUN 2019. <https://en.wikipedia.org/wiki/Newgrange>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562