8 ชุดเหตุการณ์ความขัดแย้งในการเมืองไทยยุคแรกแย้มปชต. เมื่อประนีประนอมกันได้ไม่นาน

สี่ทหารเสือคณะราษฎร: (จากซ้าย) พระยาทรงสุรเดช, พระประศาสน์พิทยายุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาฤทธิอัคเนย์

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีร่องรอยความขัดแย้งเสมอมาเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในโลก เมื่อครั้งหัวโค้งเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 ที่จบลงในบรรยากาศซึ่งคลับคล้ายแบบประนีประนอมกันได้จนมีรัฐธรรมนูญ แต่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มองว่า บรรยากาศการประนีประนอมคงอยู่ได้ไม่ถึง 6 เดือนก็เริ่มมีชุดเหตุการณ์อันเป็นความขัดแย้งตามมา

ปรากฏการณ์การเมืองในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่กินเวลา 5 วันและจบลงด้วยการมีกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ตามความคิดเห็นของนักวิชาการอย่างชาญวิทย์ เกษตรศิริ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดอีกหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นดูราวกับว่าผ่านไปด้วยบรรยากาศราบรื่นและด้วยวิถีแห่ง “การประนีประนอม”

อย่างไรก็ตาม การประนีประนอมที่ว่านี้ดำรงอยู่ไม่นานนัก หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แล้ว ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยกตัวอย่าง 8 เหตุการณ์ความขัดแย้งที่ตามมาซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไทยไม่ได้เป็นอิสระจาก “ความขัดแย้ง”

ชุดเหตุการณ์ที่ว่าคือ

1.) มกราคม พ.ศ. 2475 รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอตั้งพรรคการเมืองชื่อ “สมาคมคณะชาติ”

ข้อเสนอที่ว่านี้มาจากข้าราชการทหารและขุนนางชั้นสูงของระบอบเก่า ช่วงเวลานั้น “สมาคมคณะชาติ” (สมัยนั้นใช้คำว่า “สมาคม” ยังไม่มีคำว่า “พรรค”) เสนอว่า พรรคการเมืองที่มีพรรคเดียวคือ “คณะราษฎร” ไม่ใช่ประชาธิปไตย เมื่อคณะราษฎรจัดตั้ง “สมาคม” โดยมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ประกาศรับสมัครสมาชิก และมีผู้สมัครมากมาย

สื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” ในเวลานั้นรายงานว่า สมาคมคณะราษฎรมีสมาชิก 10,000 คน เป็นพระยา 23, หลวง 376 และขุน 328 (A. Batson, 1984) สภาพนี้เป็นการแสดงสถานะพรรคการเมืองโดยพฤตินัย หากให้จัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ได้ ไฉนไม่ให้จัดตั้ง “คณะชาติ”

การปฏิเสธข้อเสนอจัดตั้งและห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง “คณะชาติ” นี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ้างอิงว่า รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตอบสนองตามพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 เลขที่ 2/128 วันที่ 31 มกราคม 2475 ซึ่งไม่ทรงโปรดให้มีพรรคการเมือง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : คณะราษฎร VS คณะชาติ เบื้องหลังความขัดแย้งระยะเริ่มปชต. จนคนมองการเมืองน่ารังเกียจ

2.) มีนาคม พ.ศ. 2475 ความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งร่างโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

เรื่องเค้าโครงนี้เป็นอีกหนึ่งการปะทะกันของอำนาจเก่าและใหม่ โดยนายปรีดี พนมยงค์ ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งมีประเด็นที่ชักชวนให้นำที่ดินกลับมาเป็นของชาติโดยสมัครใจ โดยรัฐบาลรับซื้อจากทุกคน จากนั้นให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจ ประการต่อมาคือ ให้รัฐเข้าดำเนินการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและวิสาหกิจการค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยใช้เงินทุนจากภาษี และเงินกู้จากธนาคารแห่งชาติแห่งใหม่

ข้อเสนอที่ว่านี้ทำให้ฝ่ายพระราชวังต้องตระหนก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา หัวหน้ารัฐบาลและเป็นองคมนตรีชักชวนให้คณะรัฐมนตรีปฏิเสธเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี และมีท่าทีข่มขู่สภาผู้แทนราษฎรให้ปฏิเสธด้วย เมื่อสภาไม่ยอมทำตาม พระยามโนกรณ์ฯ จึงยุบสภา หลังจากนั้น นายปรีดี ลี้ภัยไปต่างประเทศ

3.) 1 เมษายน พ.ศ. 2476 การปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งถือเป็นการยุบสภาและยกเลิกรัฐธรรมนูญครั้งแรก

สืบเนื่องจากกรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจ รัฐบาลประกาศคำแถลงการณ์มีเนื้อหาชี้แจงประชาชนว่า คณะรัฐมนตรีในเวลานั้นแบ่งเป็น 2 พวก เห็นแตกต่างกันและเชื่อว่าจะไม่สามารถคล้อยตามกันได้ “ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้น เป็นการตรงกันข้ามกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม…”

ในประกาศระบุว่า “ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุดไม่ว่าในบ้านเมืองใด และโดยคติเช่นนั้นเท่านั้นที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่”

แถลงการณ์ของรัฐบาลยังย้ำความข้อหนึ่งว่า “พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญแต่เฉพาะบางมาตราและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น”

4.) 2 เมษายน พ.ศ. 2476 ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ อันถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม

คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ (ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภา)

เนื้อหาว่าด้วย การอันก่อให้เกิดขึ้น หรือแม้แต่การพยายามก่อให้เกิดซึ่งคอมมิวนิสต์จะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความหายนะแก่ราษฎร และยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จึงมีกำหนดโทษและให้ผู้สนับสนุนส่งเสริมมีความผิดด้วย นิยามของ “คอมมิวนิสต์” ว่าทฤษฎีที่ยกเลิกทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นบางส่วนหรือโดยสิ้นเชิง

5.) 20 มิ.ย. พ.ศ. 2476 รัฐประหารโดยนายทหารหนุ่มฝ่ายคณะราษฎร

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 นายทหารหนุ่มฝ่ายคณะราษฎรก่อรัฐประหารเพิกถอนรัฐบาลพระยามโนกรณ์ฯ และถอดถอนอีกฝ่ายออกจากกองทัพ แต่งตั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และเชิญนายปรีดี กลับประเทศ ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดกบฏบวรเดช

6.) ตุลาคม พ.ศ. 2476 กบฏบวรเดช

หลังจากนายทหารกลุ่มหนึ่งถูกคณะราษฎรถอดจากตำแหน่ง พวกเขาคุมกำลังก่อกบฏโดยมีพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำ หลังจากเกิดเหตุปะทะกันกลางเมืองขนาดย่อม รัฐบาลจับกุมนายทหารผู้ใหญ่ และดำเนินคดีในภายหลัง

7.) พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ออกพระราชบัญญัติป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรยายว่า เป็นเครื่องมือตอบโต้กลุ่มตรงข้ามรัฐบาลที่ใช้วิธีตั้งข้อกล่าวหาเรื่อง “คอมมิวนิสต์”

8.) มีนาคม พ.ศ. 2477 การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระภาติยะของพระปกเกล้าฯ เป็นผู้สืบราชสมบัติต่อไป แต่เนื่องจากเวลานั้นยังทรงพระเยาว์ (10 ชันษา) พระมหากษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงมีการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ขณะที่เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี ถูกลืมเลือนไปอย่างเงียบเชียบ และภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ กรมพระคลังข้างที่ถูกแยกเป็น 2 ส่วน…

ในภาพรวมแล้ว หลังจากนั้นเริ่มเป็นช่วงเวลาที่กราฟบทบาทของกองทัพเริ่มทะยานขึ้น เมื่อการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 การรัฐประหารครั้งที่ 2 พ.ศ. 2476 และการสยบกบฎบวรเดช แสดงให้เห็นว่าต้องอาศัยกลุ่มนายทหารที่คุมกองกำลังประจำพระนคร

หลังจากกบฏบวรเดชผ่านไปแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจึงเสนอแนวคิดว่า การรักษาความสงบเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ทหารต้องเป็นศูนย์กลางของการเมือง (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, 2557) กองทัพเรียกร้องเพิ่มงบทหาร ในช่วงพ.ศ. 2476-2480 ได้รับงบถึงร้อยละ 26 ของงบประมาณรวมของประเทศ

หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เมื่อต้นปี พ.ศ. 2477 หลวงพิบูลฯ เสนอความคิดว่า กองทัพเป็นสถาบันที่ยืนยง ขณะที่รัฐสภาอาจถูกยกเลิกด้วยสาเหตุและสถานการณ์ต่างๆ  (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, 2557)


อ้างอิง

คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). รัฐกิจเสรี. พิมพ์ครั้งที่ 2

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 5, 2551


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ.2562