คณะราษฎร VS คณะชาติ ดูเบื้องหลังความขัดแย้งระยะเริ่มปชต. จนคนมองการเมืองน่ารังเกียจ

สี่ทหารเสือคณะราษฎร: (จากซ้าย) พระยาทรงสุรเดช, พระประศาสน์พิทยายุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาฤทธิอัคเนย์

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สภาพการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่ในช่วงแรกเริ่มของยุคประชาธิปไตยนั้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ เมื่อรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอจัดตั้งพรรคการเมืองจากกลุ่มข้าราชการทหารและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของระบอบเก่า ซึ่งความขัดแย้งทางแนวคิดนี้กลายเป็นบรรยากาศที่ทำให้คนมองว่า “การเมืองเป็นเรื่องน่ารังเกียจ”

หากจะกล่าวถึงบรรยากาศความเป็น “ประชาธิปไตย” ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า สถานการณ์ระหว่างคณะราษฎรกับเจ้านาย ระยะแรกจบลงด้วยบรรยากาศ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” ภายในเวลา 5 วัน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2551) โดยหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว 70 นาย โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร อันเป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรี

บรรยากาศความประนีประนอมดำเนินต่อไปได้เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน กระทั่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ในช่วงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แม้ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะถูกมองว่าเป็นชัยชนะร่วมระหว่างฝ่ายเจ้านาย, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กับฝ่ายปฏิวัติ แต่หลังจากนั้นเริ่มมีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนบรรยากาศความขัดแย้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในยุคแรกเริ่ม ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500” เรียงเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถึง 8 เหตุการณ์ โดยเหตุการณ์แรกคือ การห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง และห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง ซึ่งถูกบรรยายว่า การห้ามนี้สร้างความรู้สึกในช่วงแรกเริ่มของสมัยประชาธิปไตยว่า “การเมืองเป็นเรื่องน่ารังเกียจ”

ย้อนกลับไปที่บรรยากาศหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “ฉบับถาวร” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ในวิถีของการเมืองในรูปประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารก็ลาออก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรจึงสิ้นสุดวาระลง รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรยายว่า ภายหลังบรรยากาศประนีประนอมไม่กี่สัปดาห์ รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอตั้งพรรคการเมืองชื่อ “สมาคมคณะชาติ” ในเดือนมกราคม ข้อเสนอที่ว่านี้มาจากข้าราชการทหารและขุนนางชั้นสูงของระบอบเก่า ช่วงเวลานั้น “สมาคมคณะชาติ” (สมัยนั้นใช้คำว่า “สมาคม” ยังไม่มีคำว่า “พรรค”) เสนอว่า พรรคการเมืองที่มีพรรคเดียวคือ “คณะราษฎร” ไม่ใช่ประชาธิปไตย เมื่อคณะราษฎรจัดตั้ง “สมาคม” โดยมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ประกาศรับสมัครสมาชิก และมีผู้สมัครมากมาย สื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” ในเวลานั้นรายงานว่า สมาคมคณะราษฎรมีสมาชิก 10,000 คน เป็นพระยา 23, หลวง 376 และขุน 328 (A. Batson, 1984) สภาพนี้เป็นการแสดงสถานะพรรคการเมืองโดยพฤตินัย หากให้จัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ได้ ไฉนไม่ให้จัดตั้ง “คณะชาติ”

การปฏิเสธข้อเสนอจัดตั้งและห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง “คณะชาติ” นี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ้างอิงว่า รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตอบสนองตามพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 เลขที่ 2/128 วันที่ 31 มกราคม 2475 ซึ่งไม่ทรงโปรดให้มีพรรคการเมือง

ผู้เขียนหนังสือยังบรรยายกว่า การห้ามดังกล่าวยังรวมไปถึงข้าราชการทหารและพลเรือนที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งทำให้บรรยากาศในช่วงแรกเริ่มสมัยแห่งประชาธิปไตยว่า “การเมืองเป็นสิ่งน่ารังเกียจ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยคณะราษฎรฝ่ายทหารอันนำโดยพ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา (ไม่มีคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนร่วม) ล้มรัฐบาลกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา (ยึดอำนาจตนเอง ในนาม “ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” หรือเรียกได้ว่าเป็นการยุบสภา เป็นที่รู้จักในนาม “รัฐประหาร” ครั้งแรกของไทย) เมื่อคณะราษฎรขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลเองก็ไม่ได้อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมืองเช่นกัน ขณะที่คณะราษฎร เปลี่ยนเป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์”

ผลสืบเนื่องต่อมานั้น ส่วนหนึ่งทำให้รัฐบาลหลังจากนั้นเป็นรัฐบาลคณะราษฎร และไม่ประนีประนอมกับอำนาจเก่าอีกดังที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบทบาททางการเมืองและการทหารของ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม ก็เริ่มเพิ่มมากขึ้น แนวทางของพ.ท.หลวงพิบูลสงคราม ออกจะขัดกับแนวทางของพ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งดูเหมือนต้องการรักษาความประนีประนอมกับอำนาจเก่า


อ้างอิง:

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมและมนุษยศาสตร์, 2551

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมและมนุษยศาสตร์, 2547

Benjamin A. Batson. The End of the Absolute Monarchy in Siam (Singapore : Oxford University Press, 1984), pp. 265-266.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2562