“ชิมิลาคัง” จากวัดสุนัขหาย กลายเป็นที่ขอลูก และจุดกำเนิดภาพองคชาติแห่งภูฏาน

"องคชาติแห่งภูฏาน" ลวดลายและสีสันบนองคชาติทำจากวัสดุคือไม้เป็นส่วนใหญ่ (ภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์  น้อมเนียน สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

ชิมิลาคัง หรือ วัดสุนัขหาย เป็นวัดเก่าแก่ในภูฏาน ถูกค้นพบเมื่อปลายศตวรรษที่ 15 มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะผู้คนมักเดินทางมาที่ ชิมิลาคัง เพื่อขอลูก ทั้งยังเป็นจุดกำเนิดภาพองคชาติแห่งภูฏานอีกด้วย

ประเทศภูฏาน หรือ พระราชอาณาจักรภูฏาน แผ่นดินที่ถูกโอบล้อมไปด้วยแนวเทือกเขาหิมาลัย ร่ำรวยด้วยวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่รักษาไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในพระพุทธศาสนาแบบวัชรยานแบบพุทธตันตระหรือลัทธิลามะแบบทิเบต ที่ยังคงปรากฏอยู่ทั่วทั้งแผ่นดินภูฏาน เช่น การก้มลงกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ โดยให้อวัยวะทั้ง 8 จรดสัมผัสลงไปราบกับพื้นไม้/ดิน ตลอดจนถึงผู้คนที่นั่งนับสายประคำ การแกว่งกงล้อธรรมพร้อมทั้งเสียงสวดมนต์ ตามวิหาร อาราม สถูป พระเจดีย์ เป็นต้น

หากสังเกตอย่างถ้วนถี่จะพบว่าคนภูฏานสร้างบ้านมีความละม้ายคล้ายคลึงกัน คือกำแพงก่อด้วยดินผสมด้วยเศษฟาง อัดทับเข้าด้วยกันจนแน่นและแข็งแรง ลักษณะเด่นเห็นจะเป็นบานกรอบหน้าต่างซึ่งทำด้วยไม้มีการเขียนลวดลายและระบายสีจนเกิดความสดใสและสวยงาม

บ้านที่เก่าแก่จะมีลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น โดยชั้นล่างไว้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ หมู ม้า ลา ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 เป็นห้องครัว ห้องพักผ่อน ห้องเก็บของ และชั้นบนสุดมีลักษณะเปิดโล่งให้แสงแดดและสายลมได้ส่องและลมโกรกเข้าออกได้ตลอดเวลา เพื่อการเก็บรักษาฟางไว้เป็นอาหารให้สำหรับบรรดาสัตว์เลี้ยง และห้องที่สำคัญที่สุดซึ่งทุกบ้านต้องมีคือ ห้องพระ

ส่วนกำแพงบ้านที่ทาด้วยสีขาว นอกจากจะมีภาพวาดที่สวยงามและเป็นสิริมงคลอันเป็นความหมายที่ดีแล้วอย่างเช่น อัฐมมงคล หรือ มงคล 8 อย่างได้แก่ รูปดอกบัว, กงล้อธรรม, หอยสังข์, แจกันสมบัติ, ลายประแจจีน, ธงแห่งชัยชนะ, ฉัตรทองคำ และ ปลาคู่  ภาพอื่น ๆ ยังมีให้เห็น และสะดุดตาที่สุดก็คือ รูปองคชาติ (อวัยวะเพศชาย) นิยมวาดไว้ตามผนังกำแพงบ้าน ร้านค้า ตลอดจนร้านอาหาร และโรงแรมต่าง ๆ ล้วนมีสัญลักษณ์องคชาติประดับตกแต่งให้เห็นเด่นชัดทั่วบ้านทั่วเมือง นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนภูฏาน แต่คงเป็นเรื่องที่คนแบบเราจะสนใจใคร่รู้เรื่องนี้ ซึ่งจุดกำเนิดรูปองคชาติและพิธีกรรมขอลูกล้วนเกี่ยวข้องกับ “ชิมิลาคัง”

(ภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์  น้อมเนียน สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

วัดชิมิลาคัง (Chimi Lhakhang) หรือวัดสุนัขหาย ตั้งอยู่บนเนินเขาที่เมืองพูนาคา ถูกค้นพบใน ค.ศ. 1499 โดยพระงาหวัง ซอคเยล คนภูฏานเชื่อว่าหากไม่ประสบความสำเร็จเรื่องคู่ครองจะต้องมาแสวงบุญที่นี่ วัดแห่งนี้ยังมีความศักดิ์สิทธิ์เรื่องการมาขอพรให้ตั้งครรภ์มีลูกด้วย

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่ท่านดรุกปา คินเลย์ (Drukpa Kuenley) ตามตำนานของคนภูฏานเล่าว่า ท่านดรุกปา คินเลย์ ได้เผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตันตระ จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบรรดาพระอริยะเจ้าผู้เป็นที่รักยิ่งของคนภูฏาน มีจุดเด่นในการเผยแผ่ธรรมนอกตำรา เช่น การใช้เพลง หรือบทกวีสองแง่สามง่าม นิทานที่มีเรื่องการร่วมเพศมาประกอบคำสอน เป็นจุดดึงดูดผู้คนให้เข้าถึงเนื้อแท้แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า

ข้อวัตรปฏิบัติของท่านจะแตกต่างจากพระลามะทั่วไป เช่น ชอบยิงธนูเล่น จนมีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง ชาวบ้านถามท่านว่าจะแสดงปาฏิหาริย์อะไรเพื่อพิสูจน์ว่ามีความสามารถแกล้วกล้าในคาถาอาคมจริง ท่านบอกให้ชาวบ้านไปหาแพะกับวัวมา แล้วท่านก็ชำแหละเนื้อมาฉันจนอิ่ม แล้วนำกะโหลกแพะกับซี่โครงวัวมาเสกจนกลายเป็น “ทาคิน” (Takin) ที่กลายมาเป็นสัตว์มีลักษณะพิเศษคือหัวเป็นแพะ ตัวเป็นวัว จนคนภูฏานนับถือว่าเป็นสัตว์พิเศษ และยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำชาติของภูฏาน

อีกตำนานหนึ่งเล่าขานกันว่า เมื่อท่านดรุกปา คินเลย์ จาริกผ่านช่องเขาศิลา บนเส้นทางระหว่างนครหลวงทิมพู สู่อดีตราชธานีพูนาคา ท่านพบเด็กเลี้ยงวัวนั่งร้องไห้ เพราะถูกนางปีศาจแห่งช่องเขาศิลารังควานจนเลี้ยงวัวไม่เป็นสุข ท่านจึงสำแดงเดชด้วยการเสกองคชาติให้ยาวเป็นงูเลื้อยรอบกาย จนนางปีศาจตกใจกลัวเผ่นหนีลงจากภูเขา จากนั้นท่านจึงสาบให้นางปีศาจกลายเป็นสุนัข แต่เกรงว่าจะไปรังควานชาวบ้านอีก จึงปราบสุนัขปีศาจตัวนั้นหายไปในพริบตา

ต่อมา มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนั้น จึงเรียกขานว่า “ตำบลชิมิ” แปลว่าตำบลสุนัขหาย อุทิศถวายแด่ท่านดรุกปา คินเลย์ แล้วท่านก็ได้ทำนายว่า ในอนาคตจะมีการสร้างวัดขึ้นที่นี่ เป็นที่มาของชื่อวัด “ชิมิ” แปลว่า ไม่มีสุนัข

วัดชิมิลาคัง ต้องใช้การเดินเท้า (trekking) ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ทางเดินเป็นธรรมชาติ ได้สัมผัสกับทุ่งนาและหมู่บ้านคนภูฏานแบบใกล้ชิด พร้อมทั้งภาพองคชาติที่ประดับตามผนังบ้านหลากหลายรูปแบบ ตลอดถึงองคชาติที่ทำด้วยไม้ ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก มีสีสันสดสวย สดใส และราคาที่จับต้องได้ วางเรียงรายชวนให้เข้าไปชมและสัมผัส

สำหรับพิธีกรรมการขอบุตร เริ่มต้นจากสตรีผู้นั้นต้องเดินทางไปด้วยตนเองโดยปราศจากสามี (ข้อนี้คือเคล็ดลับสำคัญ) จากนั้นเดินขึ้นไปยังวิหารซึ่งเป็นห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลายพระองค์ เมื่อไปถึงแล้วให้ไปแจ้งพระลามะว่าจะมาประกอบพิธีขอลูก ท่านจะทำการเคาะหัวสตรีที่ต้องการขอบุตรด้วยงาช้างขนาดยาว 10 นิ้ว ต่อด้วย แท่งไม้ และไม้รูปองคชาติที่แกะสลักมาจากกระดูก

จากนั้นสตรีจะนำไม้แกะรูปองคชาติขนาดใหญ่ หนักประมาณ 2 กิโลกรัม เดินลงจากวิหารเพื่อเวียนประทักษิณรอบวิหาร 7 รอบ โดยเคล็ดนี้ถือว่าเป็นจำนวนเท่ากับก้าวที่เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งประสูติจากพระมารดาทรงก้าวพระบาท 7 ก้าว เมื่อครบแล้วกลับขึ้นไปบนวิหาร เพื่อให้การขอพรนั้นสำเร็จตามที่ปรารถนา

หากสำเร็จ มารดาบางท่านจะนำรูปของเด็กกลับมาเพื่อมอบแก่ทางวัด ซึ่งจะพบเห็นได้จากรูปภาพและรายชื่อเด็กเหล่านั้นบนวิหาร สำหรับชื่อเด็กมารดาอาจจะต้องกลับมาที่วัด เพื่อให้พระลามะตั้งชื่อเป็นภาษาภูฏานอีกครั้ง ส่วนใหญ่เด็กที่เกิดจากการขอบุตรที่วัดนี้จะชื่อ “คุนเล่ห์” ตามชื่อของบุคคลที่นำไม้แกะรูปองคชาติมาจากทิเบต และชื่อ ชิมิ แปลว่า ไม่มีสุนัข อันเกิดจากการปราบของท่านดรุกปา คินเลย์นั่นเอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์  น้อมเนียน ผู้เขียนบทความกับร้านค้าขายของที่ระลึกระหว่างทางไปวัดชิมิลาคัง

ด้วยเหตุนี้ คนภูฏานจึงนิยมวาดรูปองคชาติประดับไว้ที่กำแพงบ้าน ร้านค้า ตลอดจนร้านอาหาร และโรงแรมต่าง ๆ นัยว่าเป็นยันต์กันภูตผีปีศาจไม่ให้มากรายกล้ำ บ้างก็เป็นไม้แกะสลักทาสีแดงติดไว้ที่ประตู แขวนไว้ที่ยุ้งฉาง ด้วยเชื่อว่าจะนำโชคลาภอีกทั้งความอุดมสมบูรณ์มาสู่ครอบครัว จึงไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด และเป็นที่รู้กันว่า สามีภรรยาที่ปรารถนาอยากมีบุตร หนุ่ม-สาวที่ครองโสดอยากมีคู่ครอง จะชวนกันไปทำบุญที่วัดสุนัขหาย และปฏิบัติตามพิธีอย่างเคร่งครัด และอธิษฐานให้ความปรารถนาเป็นจริง

ปรากฏการณ์รูปภาพองคชาติตามกำแพงบ้าน คือร่องรอยของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตันตระ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวิถีชีวิตคนภูฏาน แม้ว่าในทางปฏิบัติ การฝึกตันตระโดยใช้กิเลสเป็นอุบายสู่การบรรลุธรรม จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตามที

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ทวีทอง หงส์วิวัฒน์, ยอดแก้ว อักษรา. (2544). เที่ยวไป กินไป ในต่างแดน. กรุงเทพฯ:แสงแดด

พิสมัย จันทวิมล. (2543). ภูฏาน มนต์เสน่ห์ในอ้อมกอดหิมาลัย. กรุงเทพฯ:อมรินทร์

มนทิรา จูฑะพุทธิ.(2554). ภูฏาน ความสุข พุทธศาสนา และลามะน้อยผู้กลับชาติมาเกิด. กรุงเทพฯ:บอสส์การพิมพ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์  น้อมเนียน ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, E-mail: [email protected]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2562

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งที่ 2 เมื่อ 12 ธันวาคม 2563