พระตีหัวฝรั่งย่านวัดเกาะ ดราม่ายุคแรกช่วงบางกอก กรุงเทพฯ เริ่มเจริญด้วยการค้า-ต่างชาติ

จิตรกรรม ฝาผนัง พระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ก่อนที่คนยุคดิจิทัลมีโอกาสสัมผัสกับคลิปเหตุการณ์ “ดราม่า” กับคดีเกี่ยวกับความรุนแรง หรือจับโป๊ะแตกรายวัน สมัยยุคแรกเริ่มที่บางกอกเจริญช่วง ต้นรัตนโกสินทร์ ก็มีคดีอันลือลั่น ที่ได้รับความสนใจจากมวลชนไม่แพ้กัน อย่างกรณี “พระตีหัวฝรั่ง

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษก และขึ้นครองราชย์ เมื่อพ.ศ. 2325 ทรงมีพระราชดำริให้ข้ามมาสร้างพระนครใหม่ ทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก แต่บริเวณที่โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่อยู่ของ พระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนจำนวนหนึ่ง จึงโปรดให้ย้ายไปอยู่ที่สวนบริเวณวัดสามปลื้ม ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง

เมื่อชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานแล้วจึงเกิดแหล่งการค้า จากนั้นก็เริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง ต้นรัตนโกสินทร์ จาก วัดสามเพ็ง (สะกดตามในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักคุ้นกับสำนวนว่า “สำเพ็ง”) มาจนถึง วัดสามปลื้ม และวัดเกาะ ล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกัน

จากการอธิบายของ สมบัติ พลายน้อย บอกเล่าว่า วัดเกาะมีนามเต็มว่า “วัดเกาะแก้วลังการาม” อยู่ริมถนนทรงวาดเหนือวัดปทุมคงคา เขตอำเภอสัมพันธวงศ์ เชื่อว่ามีแนวโน้มสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นอย่างช้า ย่านวัดเกาะเป็นพื้นที่อันมีชื่อเสียง นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตวรรณกรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งเริ่มต้นของการเข้ามาสอนศาสนาคริสต์ของชาวตะวันตก

วัดเกาะแห่งนี้เองเป็นพื้นที่ซึ่งมิชชันนารีอเมริกันใช้เป็นแหล่งที่มั่นในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เป็นจุดแรก จากการสืบค้นของ สมบัติ พลายน้อย พบว่า มิชชันนารีพวกแรกที่เข้ามาในไทยครั้งแรก เข้ามาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2371 และมาพร้อมกับนายแพทย์เยอรมันจากตะวันตก คือ กุทซลาฟฟ์ (Gutzlaff) เข้ามาด้วย หลังจากนั้น ก็มีมิชชันนารีฝรั่งเข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมิชชันนารีอเมริกันนั้น ว่ากันว่า ไปตั้งสำนักในแถบวัดเกาะ หลักฐานจากการสืบค้นโดยสมบัติ พลายน้อย บ่งชี้ว่ามีศาสนทูตอย่าง ชาร์ล โรบินสัน และ ศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2377 (ค.ศ. 1834) ทั้งสองเช่าที่แปลงขนาดเล็กเหนือวัดเกาะด้านท้ายตลาด

จากการบอกเล่าของ นายแพทย์ แดน บี. บรัดเล นายแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชาวอเมริกันอีกรุ่นที่เข้ามาพำนักในไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2378 ในสมัยรัชกาลที่ 3 กระทั่งเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2416 ช่วงแรกที่มิชชันนารีเข้ามาในไทย เดิมทีตั้งใจจะสอนศาสนากับชาวจีนในไทย จึงเชื่อว่าเป็นเหตุให้ใช้วัดเกาะเป็นที่พำนัก หลังจากตั้งโอสถศาลากันแล้ว (โอสถศาลาที่วัดเกาะเชื่อกันว่าเป็นร้ายขายยาฝรั่งรุ่นแรกในไทยด้วย) น่าจะเริ่มแจกหนังสือสอนศาสนาให้ชาวจีน ประกอบกับรักษาโรคให้ชาวจีนอันเป็นการแสดงน้ำใจแรกเริ่ม

เมื่อจ่ายยาก็มักแนบข้อความในพระคัมภีร์พร้อมไปกับฉลากยา จำนวนผู้ป่วยที่มาให้หมอบรัดเล ตรวจรักษาต่อวันก็มีมากพอประมาณ ประชุมพงศาวดารบันทึกไว้ว่า วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2378 มีผู้ป่วยมาหาหมอบรัดเลกว่า 100 คน ซึ่งหมอบรัดเล ขอให้คนป่วยสวดมนต์ และอ่านพระคัมภีร์ก่อนที่จะจ่ายยารักษาโรคด้วย

ถึงการเข้ามาตั้งถิ่นสร้างฐานในไทยจะเอื้อประโยชน์แก่ชาวบ้าน แต่กลับไม่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าขุนนางข้าราชการไทย เชื่อว่ามาจากการที่ไม่ได้ขออนุญาตกับทางราชการ อย่างไรก็ตาม พวกมิชชันนารีไม่ทันได้เดินเรื่องอย่างเป็นทางการก็เกิดเรื่องใหญ่โต

เหตุการณ์ที่ว่าคือคดี พระตีหัวฝรั่ง ปรากฏในประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 18 (ภาคที่ 31) โดยบรรยายว่า เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2378 ชาวต่างชาตินามว่า กัปตันเวลเลอร์ ผู้ทำงานอยู่กับ นายฮันเตอร์ (ในพงศาวดารบันทึกว่า “มิสเตอร์ฮันเตอร์”) วันเกิดเหตุทั้งคู่เดินเข้าไปในโอสถศาลา ในระหว่างที่นายฮันเตอร์ พูดคุยกับมิชชันนารี กัปตันเวลเลอร์ นึกสนุกขึ้นมาอยากยิงนกพิราบ จึงได้เดินเข้าไปในวัดเกาะ ยิงนกเข้าให้ในทันทีโดยดูบรรยากาศอันเป็นช่วงที่พระกำลังสวดมนต์เย็น

สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า นกพิราบถูกยิงตาย 2 ตัว พระสงฆ์ที่ได้ยินเสียงปืนก็ออกมามุงกันที่ลานวัด กลุ่มภิกษุเทศนาตักเตือนว่า คนไทยถือกันว่านกในวัดเป็นสัตว์ของวัด การฆ่าสัตว์ในวัดยิ่งเป็นบาป แต่ไม่แน่ชัดว่า ชาวต่างชาติไม่เข้าใจภาษาหรือไม่พยายามฟังคำอธิบาย กัปตันเวลเลอร์ รายนี้ก็ไม่ยอมเลิก และยังดื้อจะยิงนกต่อ

สมบัติ พลายน้อย บรรยายในหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” ว่า

“พระสงฆ์ทั้งนั้นเห็นว่าจะเจรจาด้วยสันติวิธีต่อไปมิดได้แล้ว ก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ใช้อาญาวัดเอากระบองตีท้ายทอยกัปตันเวลเลอร์ถึงกับล้มสลบไป ปืนที่ใช้ยิงนกก็ถูกยึดและหายไปเสียด้วย”

ประชุมพงศาวดารบรรยายว่า “กัปตันเวลเลอร์ เกิดวิวาทขึ้นกับพระวัดเกาะถูกพระวัดเกาะตีปางตาย…”

ด้านนายฮันเตอร์ ที่อยู่ด้านนอก เมื่อรู้ว่าผู้ร่วมทางด้วยถูกกระทำจนสลบ ก็ฉวยปืนวิ่งเข้าวัดหวังช่วยกัปตันเวลเลอร์ ยังดีที่นายฮันเตอร์ ยังรู้สถานการณ์ ถึงจะต่อว่าพระสงฆ์ว่ารุมทำร้าย แต่ก็ยังไม่ได้ลงมืออะไร ระหว่างนั้น กัปตันเวลเลอร์คืนสติขึ้นมาพอดี นายฮันเตอร์จึงพยุงไปให้หมอบรัดเล ดูแลบาดแผล เข้าใจกันว่าอาการอาจไม่เบา เนื่องจากกัปตันเวลเลอร์สลบไปอีกหลายครั้งระหว่างที่หมอบรัดเล ทำแผลให้

เรื่องต่างชาติยิงนกไม่ได้มีแค่กรณีเดียว ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีเรื่องชาวอังกฤษยิงนกในวัดโสมนัสวิหาร จนเกิดความวุ่นวายขึ้น ดังปรากฏความใน พระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 4 รวมครั้งที่ 5

ขณะที่กรณี ดราม่า กัปตันเวลเลอร์ เหตุการณ์นี้ สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า พระรูปที่ลงมือถูกพระสังฆราชลงทัณฑ์ให้นั่งกลางแดดครึ่งวัน และยังมีทัณฑกรรมอื่นประกอบอีก จากนั้น พระสังฆราชประกาศห้ามพระสงฆ์เกะกะวุ่นวายกับพวกฝรั่งอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดี บี บรัดเล, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม. ป่วน อินทุวงศ์ แปล. องค์การค้าของคุรุสภา, 2508

ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์คำ, 2555

บุบผา คุมมานนท์. “‘สำเพ็ง’ ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 6, เมษายน 2525.

ปิยนาถ บุนนาค. “สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร”. สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2562