ห้องขัง “อัล คาโปน” มาเฟียผู้มากอิทธิพลในอดีตไม่หรูแบบที่คิด เรือนจำชำระความเข้าใจใหม่

อัล คาโปน เจ้าพ่อแก๊งมาเฟีย เรือนจำ
(ซ้าย) อัล คาโปน หลังถูกจับที่ชิคาโก เมื่อ ค.ศ. 1930 (ขวา) ภาพการจัดแสดงจำลองสภาพห้องขังของอัล คาโปน ในทัณฑสถานที่ฟิลาเดเฟีย (ภาพจาก Instagram / easternstate)

อัล คาโปน เจ้าพ่อแก๊งมาเฟีย ชื่อดังในสหรัฐอเมริกาในอดีต เคยถูกส่งเข้า “เรือนจำ” จากข้อหาเล็กน้อยอย่างพกพาอาวุธปืนแบบผิดกฎหมาย ช่วงที่มาเฟียในตำนานติดคุกครั้งนี้ถูกสื่ออเมริกันรายงานว่า การถูกจองจำก็ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของอัล คาโปน แย่ลงสักเท่าไหร่ เนื่องจากห้องขังของเขาอยู่ในสภาพหรูหรา รายงานเหล่านี้เพิ่งถูกเรือนจำในฟิลาเดเฟียซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วปรับความเข้าใจใหม่ด้วยการจำลองสภาพห้องขังอัล คาโปน โดยใช้ข้อมูลจากการสืบค้นหลักฐานเท่าที่มีอยู่และนำมาจัดแสดงต่อสาธารณะ

ในบรรดาบุคคลอันอื้อฉาวในบันทึกประวัติศาสตร์สังคมอเมริกัน แทบทุกคนต้องยกชื่ออัล คาโปน ขึ้นมาเอ่ยถึง เพราะเขาเป็น เจ้าพ่อแก๊งมาเฟีย ที่มีอิทธิพลในสังคมอเมริกันมากที่สุดรายหนึ่งในช่วงปลายยุค 20s ถูกจับกุมหลายครั้ง เส้นทางของมาเฟียรายนี้ลงเอยที่บทลงโทษจำคุก 11 ปีในข้อหาหลบหนีภาษีเมื่อ ค.ศ. 1931 แต่ก่อนหน้าคดีที่ปิดฉากชีวิตมุมมืดของเจ้าพ่อขาใหญ่รายนี้ อัล คาโปน รอดตัวจากการถูกลงโทษในหลายข้อหา แต่มาโดนซิวด้วยข้อหาเล็กน้อยอย่างพกพาอาวุธปืนแบบผิดกฎหมายที่ฟิลาเดเฟียเมื่อ ค.ศ. 1929

อัล คาโปนถูกจองจำในคุกเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทัณฑสถานรัฐฝั่งตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ในฟิลาเดเฟียเป็นเวลา 7 เดือน ช่วงเวลานั้นสื่ออเมริกันรายงานเรื่องสภาพห้องขังของอัล คาโปน แตกต่างหลากหลายกัน พาดหัวของสื่อรายหนึ่งบรรยายสภาพว่า ติดคุกอย่างหรูหรา มีเฟอร์นิเจอร์ไม้ขัดเงา มีวิทยุช่วยจรรโลงบรรยากาศ (สื่อรายงานว่าอัลคาโปน ชอบฟังเพลงสไตล์ “วอลทซ์” [Waltz])

แต่อีกด้านหนึ่ง งานศึกษาวิจัยโดยเจ้าหน้าที่ใน เรือนจำ ซึ่งแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ และข้อมูลจากรายงานของสื่ออีกกลุ่มหนึ่งอธิบายว่า มาเฟียผู้อื้อฉาวอยู่ในห้องขังในสภาพใกล้เคียงกับมาตรฐานห้องขังทั่วไป

(ซ้าย) อัล คาโปนหลังถูกจับที่ชิคาโก เมื่อ ค.ศ. 1930 (ขวา) ภาพการจัดแสดงจำลองสภาพห้องขังของอัล คาโปน ในทัณฑสถานที่ฟิลาเดเฟีย (ภาพจาก Instagram / easternstate)

ทัณฑสถานรัฐฝั่งตะวันออก (ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว) พยายามจำลองสภาพห้องขังให้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง โดยอ้างอิงจากหลักฐานเท่าที่มีโดยใช้เวลาจัดเกือบ 4 เดือน และเพิ่งเปิดให้สาธารณะเข้าชมอีกครั้ง (ข่าวเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562) เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดแสดงให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศโดยยกข้อมูลที่ได้จากสำรวจมาอ้างอิงว่า มีรายงานอีกส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ห้องขังของอัล คาโปน ไม่ได้หรูหราเหนือกว่ามาตรฐานทั่วไป

รายงานข่าวจากสำนักข่าวเอพี บรรยายว่า การจัดแสดงครั้งล่าสุดไม่ได้สะท้อนสภาพความหรูหราของเฟอร์นิเจอร์เหมือนที่หลายคนนึกภาพไว้ (แต่ก็ยังถือว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับสถานะผู้ถูกลงโทษในเรือนจำ) การจัดห้องใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหลายแหล่งมารวมกัน หลักฐานแต่ละชิ้นมีข้อมูลที่แตกต่างกันบ้าง อาทิ รายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นอย่าง Philadelphia Record ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 1929 ซึ่งเป็นฉบับที่เพิ่งค้นพบไม่ได้ระบุว่า อัล คาโปน มีเพื่อนร่วมห้องขัง แต่จากบันทึกในสื่อ Evening Bulletin ระบุว่า เขาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอีกรายชื่อ บิล โคลแมน ที่ถูกลงโทษจากคดีการฉ้อฉล

หลักฐานอีกส่วนหนึ่งจากรายงานของสื่อท้องถิ่นที่เปิดกิจการในช่วงนั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการอ้างอิงมีข้อมูลบ่งชี้ที่ใกล้เคียงกันว่า ห้องขังของอัล คาโปน ตกแต่งด้วยพรมถักแบบทำมือ (สไตล์ผู้ต้องขัง) มีภาพจำนวนหนึ่งประดับผนัง มีแจกันที่ประดับด้วยต้นแกลดิโอลัส ในห้องยังมีชั้นวางที่เขี่ยบุหรี่ซึ่งจากรายงานข่าวที่เพิ่งค้นพบ ระบุว่าแทบจะเป็นหนึ่งในเครื่องเฟอร์นิเจอร์ที่หรูหราที่สุดที่จะพบเห็นได้ในห้องขังแล้ว

การจัดแสดงครั้งนี้เลือกนำเสนอตามข้อมูลที่พบเห็นจากแหล่งอ้างอิงหลายแห่งซึ่งรวมถึงข้อมูลเรื่องห้องขังมีเครื่องเสียงวิทยุ อันเป็นหนึ่งในของใช้และเครื่องตกแต่งห้องที่อัล คาโปน และเพื่อนร่วมห้องขังได้รับก่อนถูกปล่อยตัวเนื่องจากเป็นนักโทษที่มีความประพฤติดี บรรดาสิ่งของที่อัล คาโปน ได้รับมาใช้ในห้องขังก่อนถูกปล่อยไม่กี่สัปดาห์คือ วิทยุ ภาพประดับผนัง และเครื่องเสียง ซึ่งเป็นเครื่องใช้และของตกแต่งที่นักโทษในเรือนจำยุคนั้นมีสิทธิ์เข้าถึงได้เช่นเดียวกัน

อีกหนึ่งสิ่งที่การจัดแสดงยังเลือกคงเอาไว้คือ “ม้วนกระดาษชำระ” ซึ่งเป็นสิ่งของที่สะท้อนสภาพชีวิตในห้องขังของอัล คาโปน ที่ไร้ความเป็นส่วนตัว และแสดงให้เห็นว่าแม้เขาจะมีเงินมากมายแค่ไหน แต่คนที่รับโทษในเรือนจำก็แทบไม่มีความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ฌอน เคลลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายหนึ่งในพิพิธภัณฑ์อธิบายว่า ห้องขังเบอร์ 3 ที่ใช้จัดแสดงอาจไม่ใช่ห้องขังที่อัล คาโปน อยู่ และไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าอัล คาโปน ถูกคุมขังในห้องขังเบอร์อะไรระหว่างห้องขัง 4 ห้องสำหรับนักโทษที่มีประวัติอื้อฉาวในทัณฑสถานแห่งนี้

ระหว่างการคุมขังที่ฟิลาเดเฟีย มีข่าวลือเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของอัล คาโปน ออกมามากมายหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัล คาโปน มีสิทธิ์ใช้โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ได้ หรือแม้แต่เรื่องประตูห้องขังของอัล คาโปน ไม่ได้ล็อกเอาไว้ แต่รายงานผลการศึกษาโดยแอนนี่ แอนเดอร์สัน ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2013 ปฏิเสธข่าวลือเหล่านี้ ผู้ศึกษาอธิบายว่าไม่พบหลักฐานใดที่สนับสนุนข้อกล่าวอ้างเหล่านี้

อัล คาโปน ถูกปล่อยตัวจากทัณฑสถานฝั่งตะวันออกเมื่อเดือนมีนาคม 1930 ไม่นานนักหลังจากนั้น ในช่วงปลายปีเดียวกัน อัล คาโปน ถูกตั้งข้อหาหลบเลี่ยงภาษี และถูกตัดสินจำคุก 11 ปี อย่างไรก็ตาม เขารับโทษรวมแล้ว (ทั้งในทัณฑสถานของรัฐในแอตแลนต้า และเรือนจำอัลคาทราซ) 7 ปี 6 เดือน กับ 15 วัน ช่วงบั้นปลายชีวิตอัล คาโปน มีโรครุมเร้ากระทบต่อร่างกายและสติ เขาเสียชีวิตในฟลอริด้า เมื่อปี 1947 ขณะอายุ 48 ปี

ช่วงเวลาที่หัวหน้าแก๊งมาเฟียยังอยู่นอกเรือนจำก็เป็นที่หวาดกลัวอย่างมากในการรับรู้ของสาธารณชนทั่วไป รายงานข่าวเผยว่า แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่สามารถหาพยานที่กล้าจะให้การเอาผิดเขาในคดีอาชญากรรมจนต้องไปเล่นงานอัล คาโปน ในข้อหาที่บทลงโทษเบาลงอย่างข้อหาหลบเลี่ยงภาษี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

DE GROOT, KRISTEN. “Capone’s newly discovered prison roomie gets cot in exhibit”. Associated Press. Online. Published 3 May 2019. Access 7 May 2019. <https://www.apnews.com/1ae4bdbf391c406993c95086f0ee9993>

Solly, Meilan. “Here’s What Al Capone’s Philadelphia Prison Cell Really Looked Like”. SMITHSONIAN. Online. Published 6 May 6 2019. Access 7 May 2019. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/al-capones-philadelphia-prison-cell-complete-roommates-cot-opens-public-180972105/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 7 พฤษภาคม 2562