ส่องเรื่องจริงของมาเฟียในสหรัฐฯ จากหนัง The Irishman และปริศนาคนดังที่สาบสูญ

(ซ้าย) โปสเตอร์ภาพยนตร์ The Irishman (ขวา) จิมมี่ ฮอฟฟา อดีตปธ.สหภาพ Teamsters [ฝั่งซ้าย] และ เจมส์ พี. ฮอฟฟา บุตรชาย [ฝั่งขวา] เมื่อปี 1971 (ภาพจาก JERRY SISKIND / AFP)

ภาพยนตร์เกี่ยวกับแก๊งอาชญากรรมอาจปรากฏอยู่ในโลกแผ่นฟิล์มไม่มากนัก หมวดเนื้อหาที่น้อยกว่าเนื้อหาชนิดอื่นไม่อาจสะท้อนถึงคุณภาพของตัวภาพยนตร์ได้ หนังมาเฟียชั้นเยี่ยมระดับขึ้นหิ้งก็มีมากมาย และปีนี้ คอหนังแก๊งสเตอร์เพิ่งได้สัมผัสกับผลงานชิ้นใหม่ของมาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่ชื่อ “The Irishman” บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแก๊งอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และคดีปริศนาว่าด้วยการหายตัวไปของจิมมี่ ฮอฟฟา (Jimmy Hoffa) คนดังในยุคสมัยนั้น

เป็นอีกครั้งที่เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ผู้ให้บริการสตรีมมิงแถวหน้าของโลกดึงผู้กำกับมือทอง (ในหมวดหนังมาเฟีย/แก๊งสเตอร์) ผลิตภาพยนตร์เรื่อง The Irishman เผยแพร่ในช่องทางไซเบอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยาวกว่า 3 ชั่วโมง โครงเรื่องหลักเล่าชีวิตของ “แฟรงค์ ชีรัน” (Frank Sheeran) รับทโดยโรเบิร์ต เด นีโร (Robert De Niro) นักแสดงรุ่นใหญ่ของฮอลลีวูด

โครงเรื่องในภาพยนตร์ก็ดัดแปลงมาจากเนื้อหาในหนังสือชีวประวัติของแฟรงค์ ชีรัน ที่ใช้ชื่อว่า “I Heard You Paint Houses” เมื่อปี 2004 เขียนโดยชาร์ลส แบรนด์ท (Charles Brandt) นักกฎหมายที่เคยช่วยชีรัน เดินเรื่องให้อุทธรณ์ออกจากเรือนจำได้โดยอ้างว่าเขามีปัญหาสุขภาพในวัย 71 ปี และมีเนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงคำกล่าวของเจ้าตัวชีรัน (ซึ่งก็โดนตั้งคำถามถึงความเที่ยงตรงของข้อมูล เนื่องจากเขียนขึ้นหลังจากชีรัน ออกจากเรือนจำในวัยใกล้ฝั่งแล้วถึงมาเริ่มสารภาพว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารครั้งใหญ่ในแวดวงมาเฟีย)

นอกจากผู้กำกับมากฝีมือและการันตีด้วยผลงานขึ้นหิ้งหลายชิ้น The Irishman ยังเป็นการกลับมาประชันบทบาทบนจอร่วมกันอีกครั้งระหว่างนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง เด นีโร กับอัล ปาชิโน (Al Pacino) ซึ่งรับบทเป็นจิมมี่ ฮอฟฟา (Jimmy Hoffa) หัวเรือใหญ่ของสหภาพผู้ใช้แรงงานผู้มีอิทธิพลในสังคมอเมริกัน ซึ่งบั้นปลายของจิมมี่ ที่เขาหายตัวไปนั้นก็ยังเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้

เนื้อเรื่องจากหนังสือนี้เป็นที่สนใจในหมู่คนแวดวงฮอลลีวูดมาสักระยะแล้ว ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยปริศนาปมดำมืดในกลิ่นอายแบบมาเฟีย แม้แต่โรเบิร์ต เด นีโร ก็ยังเคยตกเป็นข่าวว่าต้องการดัดแปลงเนื้อเรื่องจากหนังสือมาสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย

สำหรับตัวหนังฉบับนี้ โดยรวมแล้วเล่าพัฒนาการของแก๊งผู้มีอิทธิพลเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานไปจนถึงบริบทรัฐบาลระดับสูงผ่านเส้นทางชีวิตของแฟรงค์ ชีรัน ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์มาสักพักและเพิ่งฉายผ่านสตรีมมิงก็มีเสียงอธิบายข้อมูลบางส่วน มีทั้งโต้แย้งการตีความข้อมูล บอกเล่าข้อมูลภูมิหลังของบริบท และบุคคลที่มีตัวตนจริงและถูกดัดแปลงกลายเป็นตัวละครในสื่อบันเทิง

***ข้อมูลในบทความอาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์***

“แฟรงค์ ชีรัน” และ “จิมมี่ ฮอฟฟา” คือใคร?

หากเริ่มจากบุคคลนำเรื่องก่อน ตามข้อมูลในความเป็นจริงแล้ว แฟรงค์ ชีรัน คือชาวไอริชที่นับถือคาทอลิก เคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นก็มาเป็นพนักงานขับรถ และเริ่ม “รับใบสั่งงาน” สายมืด (ในภาพยนตร์/หนังสือเรียกว่า “ทาสีบ้าน”) จากรุ่นใหญ่ในกลุ่มมาเฟียอิตาเลียนในสหรัฐอเมริกา อาทิ รัสเซล บัฟฟาลิโน (Russell Bufalino) หรือผู้มีอิทธิพลระดับสูงขึ้นไปอีกอย่างอังเจโล บรูโน (Angelo Bruno) แต่เชื่อกันว่า ด้วยชาติกำเนิดของแฟรงค์ ที่ไม่ได้มีเชื้อสายอิตาเลียน นี่คือปมที่ทำให้ไม่สามารถวางตัวในสถานะสมาชิกกลุ่มได้แบบเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็พอกล่าวได้ว่าแฟรงค์ ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกและเพื่อนใกล้ชิด ตามการกล่าวอ้างของแฟรงค์ (เขาเสียชีวิตในปี 2003) เขาอ้างว่า ความสัมพันธ์กับกลุ่มบัฟฟาลิโน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ทำงานเป็นมือขวาของจิมมี่ ฮอฟฟา (Jimmy Hoffa) ผู้จัดการสายสหภาพแรงงาน บุคคลผู้มีอิทธิพลในสังคมอเมริกันระหว่าง 50-60s

จิมมี่ ฮอฟฟา หรือชื่อทางการว่า เจมส์ ฮอฟฟา ช่วงต้นของภาพยนตร์นิยามฮอฟฟาว่า “โด่งดังกว่าเอลวิสหรือเดอะบีเทิลส์” หากพิจารณาจากข้อมูลและความคิดเห็นของคอลัมนิสต์ หลายรายต่างก็เห็นว่า คำกล่าวที่ว่านี้ “ไม่ได้ห่างไกลความจริงมากนัก” ในยุค 50-60s ผู้ใช้แรงงานชาวอเมริกัน 1 ใน 3 ล้วนอยู่ในสหภาพด้วย เสียง การเคลื่อนไหวและแนวทางของฮอฟฟา ย่อมมีผู้ฟังจำนวนมาก

แองเจลา เซร์ราทอเร (Angela Serratore) คอลัมนิสต์ของเว็บ Smithsonian ก็เห็นเช่นนั้น เธอเล่าความเป็นมาของฮอฟฟา ย้อนไปในช่วงที่จิมมี่ อายุ 14 เขาก็ออกจากโรงเรียนมาทำงานเต็มเวลา วัยเด็กของจิมมี่ ก็เริ่มชักชวนให้ลูกจ้างร้านขายของชำมาเคลื่อนไหวต่อต้านการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของนายจ้าง เรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้นแล้ว ในปี 1932 จิมมี่ เข้าร่วมกลุ่ม The International Brotherhood of Teamsters (IBT) กลุ่มสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ และแคนาดา กระทั่งปี 1957 จิมมี่ ได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพ ซึ่งในเวลานั้นสหภาพที่จิมมี่ทำงานด้วยเป็นตัวแทนของคนขับรถและแรงงานที่ทำงานในโกดังรวมแล้วเกือบล้านราย เขาย่อมมีเรื่องขัดแย้งกับกลุ่มทุนได้ไม่ยาก

หลังจากผ่านช่วงเวลาผกผันไปอยู่ในเรือนจำ และถูกปล่อยตัวออกมา จิมมี่ พยายามหาทางกลับมามีอำนาจในสหภาพอีกทั้งที่เคยถูกเตือนหลายครั้งหลายคราว่าให้วางมือ ปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1975 ฮอฟฟา ไปทานมื้อกลางวันตามนัดในร้านอาหารท้องถิ่นแห่งหนึ่ง จนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีก ครั้งสุดท้ายที่มีคนเห็นจิมมี่ คือเขายืนหน้าร้านอาหารในดีทรอยต์ รอเดินทางไปร่วมวงพูดคุยหารือวงหนึ่ง โจเซฟีน ภรรยาของจิมมี่ เป็นผู้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีใครพบร่องรอยของจิมมี่ ตั้งแต่วันนั้น ทางการประกาศว่าเขาเสียชีวิต(ตามกฎหมาย)ในปี 1982

เอฟบีไอและเหล่าจอมสืบสวนตั้งแต่นักข่าวยันนักสืบพยายามแกะปริศนานี้หลายสิบปีแต่ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายให้กระจ่างชัดได้ ปมปัญหาที่คนต่างวิเคราะห์กันว่าเป็นต้นเหตุทำให้เขาหายตัวไปมีหลากหลาย แต่ส่วนหนึ่งคือความเชื่อมโยงกับกลุ่มมาเฟีย

ปมปริศนาคดีของฮอฟฟา 

เนื้อหาในภาพยนตร์ The Irishman ก็บอกเล่าความเชื่อมโยงที่ทำให้จิมมี่ เข้าไปเกี่ยวข้องกับมาเฟียเช่นกัน ในข้อเท็จจริงแล้ว ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 สมาชิกสหภาพมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เงินกองทุนของสหภาพก็ขยายตัวขึ้น ภายใต้การบริหารของฮอฟฟา ครอบครัวของมาเฟียก็ใช้กองทุนนี้เสมือนหนึ่งเป็น “กระปุกออมสิน” นำเงิน (กู้) ออกมาเป็นทุนสำหรับก่อสร้างบ่อนการพนันหลายแห่งในลาส เวกัส และโปรเจ็กต์อื่นๆ แฟนหนังมาเฟียอาจคุ้นหูกับข้อมูลนี้จากเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ “คาสิโน” (Casino) อีกหนึ่งผลงานคลาสสิกฝีมือสกอร์เซซี เมื่อปี 1995

สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือ พวกที่ยืมเงินก็ไม่ได้ชดใช้คืนแบบเป็นระบบระเบียบเท่าไหร่ และการคอร์รัปชันที่เรียกว่า “Skim” หรือการลักลอบนำเงินสดออกจากบ่อนไปให้บุคคลภายนอก โดยจะมีคนหิ้วเงินสดใส่กระเป๋าไปส่งมอบเพื่อไม่ให้มีเอกสารและหลบเลี่ยงภาษี ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นเงินก้อนสัดส่วนเล็กน้อยจากที่บ่อนทำเงินมาได้เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย เชื่อกันว่า เงินลักษณะนี้ บางส่วนก็ไปถึงมือของจิมมี่ ฮอฟฟา และพนักงานรายอื่นในสหภาพ ขณะที่ในระดับล่าง ฝ่ายปฏิบัติการของกลุ่มมาเฟียผู้มีอิทธิพลก็มีกระบวนการที่จะทำให้เงินยังไหลเวียนในวงจรอยู่ ด้วยการทำให้สหภาพได้สัญญาก่อสร้าง สัญญาขนส่งรายใหญ่ และยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกตั้งทั้งในสหภาพเองหรือระดับรัฐในท้องที่เพื่อให้ผู้มีอำนาจในระบบทางการเป็นคนฝ่ายเดียวกับสหภาพและกลุ่มผู้มีอิทธิพล

ในภาพยนตร์ (และนอกจอ) ยังมีเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่กระเทือนมาถึงจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ภาพยนตร์ (และยังมีนักเขียน นักสื่อสารมวลชนหลายราย) บอกเล่าทำนองว่า โจเซฟ เคนเนดี้ ซีเนียร์ (Joseph P. Kennedy, Sr.) พ่อของจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ใช้อิทธิพลทางการเมืองของตัวเอง (และความสัมพันธ์กับมาเฟีย) ช่วยเหลืออาชีพการงานของจอห์น เอฟ เคนเนดี้ จนกระทั่งลูกชายชนะเลือกตั้ง ในปี 1960

ภาพยนตร์เดินเรื่องต่อไปว่า จอห์น เอฟ เคนเนดี้ แต่งตั้งโรเบิร์ต เคนเนดี้ เป็นอัยการสูงสุดในปี 1961 หลังจากนั้น ชื่อ “จิมมี่ ฮอฟฟา” จึงดีดพุ่งไปอยู่อันดับบนสุดในลิสต์เป้าหมายของอัยการ โรเบิร์ต และทีมงานของเขากล่าวหาว่าจิมมี่ ฮอฟฟา ไม่ได้ต่างจากมาเฟียเลยด้วยซ้ำ “เคนเนดี้” กล่าวหา ฮอฟฟา ว่าปล่อยกู้ให้มาเฟียเป็นทุนไปทั่วประเทศ เป็นเรื่องจริงที่ว่าทั้งคู่เป็นอริกัน สุดท้ายฮอฟฟา ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากข้อหาฉ้อโกงและติดสินบนในปี 1964 เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 13 ปีในเรือนจำของรัฐ แต่รับโทษไป 5 ปีก็ถูกปล่อยตัว

หลังจากเป็นอิสระ ฮอฟฟา ยังได้รับความเคารพจากสหภาพอยู่ และพยายามหาทางกลับมาคืนสู่อำนาจ การตัดสินใจครั้งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าเป็นชนวนที่ทำให้ตัวตนของเขาหายไปจากโลกแบบปริศนา ความกระหายในอำนาจอาจทำให้มาเฟียมองว่าเขาไม่ใช่ผู้ร่วมงานที่ไว้ใจได้อีกต่อไป

ปมการหายตัวไปของฮอฟฟา 

การหายตัวไปของฮอฟฟา ไม่มีใครทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือ หรือการหายตัวไปนั้นเป็นการลงมือของบุคคลโดยเจตนาด้วยหรือไม่ดังที่กล่าวมาข้างต้น กระทั่งหนังสือของแบรนด์ท นำเสนอเนื้อหาโดยอ้างอิงคำกล่าวของชีรัน ซึ่งอ้างว่าเขาคือผู้ลงมือสังหารจิมมี่ ฮอฟฟา และภาพยนตร์ก็ดำเนินเรื่องตามแนวทางนี้

ขณะที่บิล โทเนลลี (Bill Tonelli) คอลัมนิสต์จาก slate.com เขียนบทความโต้แย้งคำกล่าวอ้างของชีรัน อย่างสุดตัว เขายกหลักฐานหลากหลาย เขาอ้างว่าสัมภาษณ์คนในฟิลาเดเฟียมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่และนักข่าว โดยยกตัวอย่าง John Carlyle Berkery ชาวไอริชจากฟิลาเดเฟีย ที่เชื่อว่าเป็นหัวโจกของมาเฟียไอริชมายาวนานเป็นที่รู้จักว่าเป็นตำนานในท้องถิ่นที่ยังมีลมหายใจ และมีความสัมพันธ์กว้างขวางในแวดวงมืดซึ่งโจมตีชีรัน ว่าเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ และถึงกับโจมตีว่า “ชีรัน ไม่เคยฆ่าแมลงวันสักตัว”

เช่นเดียวกับ John Tamm อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอในฟิลาเดเฟียซึ่งเป็นผู้สอบสวนชีรัน และเคยรวบชีรัน ผู้กล่าวว่าคำพูดของชีรัน “เป็นเรื่องไร้สาระที่เกินจะเชื่อถือ” เพราะเขารู้จักชีรัน ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม แต่เขาไม่เคยมีข้อมูลคนที่ชีรัน ฆ่าเลยแม้แต่รายเดียว

หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงฝ่ายทางการ ชีรัน ไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้ต้องสงสัยพัวพันการหายตัวไปของฮอฟฟา ที่ถูกร่างโดยทางการในบริบทร่วมสมัย แต่ชีรัน ไปติดในลิสต์ในเบื้องต้นของเอฟบีไอ รายชื่อผู้ต้องสงสัยอีกคนที่ถูกสื่อเอ่ยถึงคือ “ชัคกี้ โอ ไบรอัน” (Chuckie O’Brien) เพื่อนของฮอฟฟา ที่รู้จักกันมานาน มีรายงานว่า เอฟบีไอพบดีเอ็นเอของฮอฟฟา ในที่แปรงขนบนรถของโอ ไบรอัน แต่แจ๊ค โกลด์สมิธ หลานของโอไบรอัน และผู้เป็นทนายให้ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างสิ้นเชิง

แต่ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่รัฐ และพลเรือนอย่างแบรนด์ท (ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของชีรัน) ให้น้ำหนักกับข้อกล่าวอ้างของมาเฟียไอริชผู้ล่วงลับรายนี้อยู่ดี

ข้อมูลที่อยู่ระหว่างกึ่งกลางโดยทั่วไปอันเป็นมุมมองจากฝ่ายกฎหมายของทางการต่างเห็นพ้องกันว่า ใครก็ตามที่จะเป็นผู้ลงมือให้ฮอฟฟา หายตัวไป (ซึ่ง The Irishman ก็ฉายภาพได้ไม่ไกลจากมุมนี้นัก) ฮอฟฟา ถูกสังหารหลังจากการพบปะในดีทรอยต์ ร่างกายที่ไร้วิญญาณของเขาน่าจะถูกฝังหรือกลบเกลื่อนร่องรอยทันที

หากมีคำถามว่า ทำไมชีรัน ถึงต้องมาสารภาพเรื่องที่น่าละอายเช่นนี้หากเขาไม่ได้เป็นคนลงมือจริง คำตอบที่แบรนด์ท (ผู้เขียนหนังสือ) อธิบายคือ ชีรัน ในช่วงไม้ใกล้ฝั่งหันกลับมาสำนึกถึงศรัทธาของคาทอลิกและอยากชำระล้างความรู้สึกผิดชอบของตัวเอง

บิล โทเนลลี ยังแสดงความคิดเห็นว่า ชีรัน ไม่ได้มีส่วนรับผลประโยชน์จากการออกมาสารภาพนี้ แต่ลูกสาวทั้ง 3 รายของชีรัน น่าจะเป็นผู้อยู่ในข่ายมีสิทธิ์รับส่วนแบ่งรายได้จากหนังสือ (และภาพยนตร์) เช่นเดียวกับแบรนด์ท ผู้เขียนหนังสือต้นทางของเนื้อหา

ส่วนสหภาพในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 มี เจมส์ พี. ฮอฟฟา บุตรชายของจิมมี่ ฮอฟฟา เป็นประธาน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ห้องขัง “อัล คาโปน” มาเฟียผู้มากอิทธิพลในอดีตไม่หรูแบบที่คิด เรือนจำชำระความเข้าใจใหม่


อ้างอิง:

Serratore, Angela. “The True History Behind Martin Scorsese’s ‘The Irishman’. SmithsonianMag. Online. Published 21 NOV 2019. Access 28 NOV 2019. <https://www.smithsonianmag.com/history/truth-behind-martin-scorseses-irishman-180973620/#VgtXFiijEJWxXXDb.99>

TONELLI, BILL. “The Lies of the Irishman”. SLATE. Online. Published 7 AUG 2019. Access 28 NOV 2019. <https://slate.com/culture/2019/08/the-irishman-scorsese-netflix-movie-true-story-lies.html>


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 27 มิถุนายน 2563