เจาะพระที่นั่งสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากจักรพรรดิพิมาน ถึงอมรินทรวินิจฉัยฯ

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน (ภาพจากหนังสือ ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีสถานที่สำคัญซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธีหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นวัดสำคัญ หรือพื้นที่ในกลุ่มเรือนหลวงที่จะเป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญในครั้งนี้

สำหรับการประกอบพระราชพิธีในวันสำคัญ พื้นที่สำคัญย่อมหนีไม่พ้นพื้นที่ในหมู่พระมหามณเฑียร ในอดีต หมู่พระมหามณเฑียรเป็นมณฑลพิธีสำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และยังเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หมู่พระมหามณเฑียรมีลักษณะเป็นเรือนหลวงหลังคาทรงจั่ว มีช่อฟ้า หน้าบัน ปลูกเชื่อมต่อกัน สร้างตั้งแต่ช่วงแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพ.ศ. 2385 ประกอบด้วย พระที่นั่ง 3 องค์ ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแยกเป็นองค์ๆได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามพระปรัศว์ขวาและพระปรัศว์ซ้ายว่า “พระที่นั่งเทพสถานพิลาส”และ“พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล” ส่วน “หอพระเจ้าภายหลังเปลี่ยนนามเป็น “หอพระสุลาลัยพิมาน”

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งประธานในหมู่พระมหามณเฑียร เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์และเป็นมณฑล
พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

พระที่แห่งนี้ถือเป็นประธานในหมู่พระมหามณเฑียร ในอดีตยังเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ และเป็นมณฑลพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง แบ่งออกเป็น 3 หลัง คือ องค์กลางองค์ตะวันออก และองค์ตะวันตก มีเฉลียงรอบและมีเสานางเรียงรับชายคาโดยรอบทั้ง 4 ด้าน

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (ภาพจาก หนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ในวันที่ 4 พฤษภาคม จะทรงสรงพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน บริเวณชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

(อ่านเพิ่มเติมพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน: จุดที่ร.2 โปรดประทับทรงไพ่-ร.4 ทรงย้ายห้องเสวยเพราะ “รังเกียจ” ?)

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ถัดจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานแล้ว จะเป็นพระที่นั่งไพศาลทักษิณซึ่งตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูง ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก – ตะวันตก

สำหรับฝั่งผนังทิศตะวันออกของพระที่นั่ง มีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น)

ผนังด้านทิศตะวันตกมีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) ในการพระราชพิธี

พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสถานที่ทรงรับน้ำอภิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์เครื่องราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน (ภาพจากหนังสือ ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญที่พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงใช้เป็นที่ประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญของบ้านเมือง เช่น เสด็จออกขุนนาง เสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานและด้านหน้าพระที่นั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร