ร.6 ทรงเล่าเหตุที่ร.4 ทรงย้ายห้องเสวย-จุดที่ร.2 โปรดประทับทรงไพ่ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้านทิศตะวันตก...ซ้ายมือของภาพคือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่ง 3 องค์เชื่อมต่อกัน (ภาพจาก หนังสือสถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี)

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีสถานที่สำคัญซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธีหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นวัดสำคัญ หรือพื้นที่ในกลุ่มเรือนหลวงที่จะเป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ

สำหรับการประกอบพระราชพิธีในวันสำคัญ พื้นที่สำคัญย่อมหนีไม่พ้นพื้นที่ในหมู่พระมหามณเฑียร ในอดีต หมู่พระมหามณเฑียรเป็นมณฑลพิธีสำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และยังเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หมู่พระมหามณเฑียรมีลักษณะเป็นเรือนหลวงหลังคาทรงจั่ว มีช่อฟ้า หน้าบัน ปลูกเชื่อมต่อกัน สร้างตั้งแต่ช่วงแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพ.ศ. 2385 ประกอบด้วย พระที่นั่ง 3 องค์ ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแยกเป็นองค์ๆได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามพระปรัศว์ขวาและพระปรัศว์ซ้ายว่า “พระที่นั่งเทพสถานพิลาส” และ“พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล” ส่วน หอพระเจ้าภายหลังเปลี่ยนนามเป็น “หอพระสุลาลัยพิมาน”

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระที่แห่งนี้ถือเป็นประธานในหมู่พระมหามณเฑียร ในอดีตยังเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ และเป็นมณฑลพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง แบ่งออกเป็น 3 หลัง คือ องค์กลางองค์ตะวันออก และองค์ตะวันตก มีเฉลียงรอบและมีเสานางเรียงรับชายคาโดยรอบทั้ง 4 ด้าน

ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ซึ่งเป็นพระราชบันทึกของรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงใช้พระนามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2466 เนื้อหามีบันทึกเหตุการณ์ช่วงหนึ่งระหว่างการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ว่า หลังจากกระทำการสักการะต่างๆ แล้ว พระองค์เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระราชบันทึกในตอนนี้มีใจความว่า

“—พระที่นั่งนั้นตามที่จัดเปนที่อยู่ในครั้งนั้นเปนดังนี้. หลังตวันออกกั้นด้วยฉากเปน 3 ห้อง, ห้องด้านใต้เปนห้องนอน. มีเฟี้ยมกั้นสกัดทางด้านกว้างแบ่งเปน 2 ห้อง, คือห้องใน (ตวันออก) เปนตัวห้องนอนมีเตียงใหญ่ 4 เสาผูกมุ้ง ตั้งใต้เศวตฉัตร์แขวน เปนที่นอน, กับมีเตียงลดสำหรับนอนเล่นตั้งอยู่ระหว่างเตียงใหญ่กับผนังอีกเตียง 1

ส่วนห้องนอก (ตวันตก) เป็นที่คนใช้นั่งคอยรับใช้ ต่อจากห้องนอน, คือห้องกลางแห่งหลังตวันออกนั้น, เป็นห้องนั่งและเขียนหนังสือ, ห้องด้านเหนือกั้นเป็น 2 ห้องเช่นเดียวกับห้องด้านใต้, คือห้องด้านตวันออกเป็นห้องแต่งตัว, มีเตียงตั้งสําหรับนั่งแต่งตัว, และห้องด้านตวันตกเป็นห้องอาบน้ำ, พื้นปูศิลา, มีลดพื้นเป็นอ่าง, มีถังน้ำ ไขท่อน้ำพุ่งออกมาสําหรับอาบอย่างน้ำบัว, เป็นของทูลกระหม่อมปู่ทรงทําขึ้น

ข้อนไปข้างผนังตวันออกกลางเป็นห้องไว้ของ ซึ่งมีทางเข้าออกได้แต่จากหลังตวันออกทางปลายฉากทั้งด้านเหนือและใต้ มีทางออกทางน่าต่างไปยังเฉลียง, ซึ่งอยู่นอกผนังแห่งหลังตวันออก, ยึดแต่ผนังด้านเหนือไปตามผนังด้านตวันออกจนถึงผนังด้านใต้, เดิรไปได้ตลอด.

เฉลียงนี้ว่าเป็นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิดหล้าโปรดประทับทรงไพ่. และเมื่อเริ่มทรงพระประชวรครั้งที่สุดก็ที่เฉลียงนี้เอง, หลังตวันตกมีฉาก กั้นอยู่ตอน 1 ทางผนังด้านใต้ เป็นห้องย่อมๆ สําหรับพักเครื่อง, เหลือจากนั้นเป็นห้องกว้างใหญ่, ใช้เป็นที่กินอาหาร. พระเจ้าแผ่นดินในอดีตรัชกาลได้เคยใช้ห้องนี้เป็นที่เสวย, แต่ทราบว่าทูลกระหม่อมปู่ทรงรังเกียจว่าเป็นที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคต จึงได้ใช้เสวยทางหลังตวันออก พระที่นั่งจักรพรรดิตามที่ได้จัดเช่นกล่าวมานั้น ก็นับว่าเป็นที่สดวกดีสําหรับอยู่อย่างไทยๆ และว่าไปตามจริงเวลากลางวันเย็นสบายกว่าอยู่บนพระที่นั่งจักรีเพราะไอแดดเข้าไม่ใคร่จะถึง

แต่เพราะเหตุที่มีพระที่นั่งจักรีบังทางทิศตวันตก, และตึกสูงๆ บังทางทิศใต้, ลมเข้าไม่ใคร่จะถึง, จึงทําให้รู้สึกข้อนข้างอัดแอไป, อีกทั้งตั้งอยู่ในระหว่างที่คนจ้อกแจ้ก ทําให้รู้สึกรําคาญ, ฉันจึงมิได้อยู่ในพระที่นั่งจักรพรรดินั้นกว่า 1 วันกับคืน ขอให้เข้าใจว่าในสมัยนั้นผู้คนยังมิได้มีความยําเกรงฉันเหมือนเช่นทุกวันนี้, ฉนั้นเมื่อคํานึงดูว่าจะห้ามปากเสียงกันโดยกวดขันจริงจังน่าจะไม่สําเร็จสมปราถนาได้ ฉันจึงต้องยอมงดความคิดที่จะอยู่ที่พระที่นั่งจักรพรรดินั้นให้หลายๆ วัน, แต่การที่ต้องย้ายไปนั้นฉันก็ได้รู้สึกเสียดายอยู่ไม่น้อย”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559

ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2562