“ซุอิโกะ” จักรพรรดินีญี่ปุ่นองค์แรกที่มีแนวโน้มมีตัวตนจริงมากสุดในประวัติศาสตร์

"Chasing Fireflies in the Sumida River" ภาพเขียนบนผ้าไหม ผลงานของ TEISAI HOKUBA

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเด็นในเชิงวิชาการอันสืบเนื่องมาจากลักษณะหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงต้นราวศตวรรษที่ 1 ซึ่งรับรู้กันว่าเขียนในลักษณะเรื่องจริงอิงเทพนิยายดังที่ปรากฏในพงศาวดารเก่าว่าด้วยที่มาและความเป็นเทพของจักรพรรดิ แต่นักวิชาการเชื่อว่าหลักฐานจากพงศาวดารที่ถือว่าพอมีน้ำหนักคือรัชสมัยซุอิโกะ เท็นโน (Suiko Tenno) จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นจักรพรรดินีญี่ปุ่นองค์แรกที่มีแนวโน้มมีตัวตนจริงมากที่สุด

บันทึกเก่าที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นช่วงต้น (ไม่รวมบันทึกของจีน) มาจากบันทึกสำคัญ 2 ฉบับคือ โคจิกิ (Kojiki) บันทึกเรื่องราวตำนานโบราณกาลที่รวบรวมในค.ศ. 712 เขียนเป็นอักษรญี่ปุ่น และนิฮนโฌะกิ (Nihon Shoki) หรือนิฮนงิ (Nihongi) ซึ่งแปลว่าจดหมายเหตุการณ์ของญี่ปุ่น

ยุพา คลังสุวรรณ บรรยายว่า เนื้อหาในนิฮนโฌะกิ บันทึกเกี่ยวกับจักรพรรดิจิมมุ จักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่นที่ครองราชสมบัติในอาณาจักร และอธิบายว่าพระองค์เป็นลูกหลานเทพแห่งดวงอาทิตย์ที่มีพระนามว่า อะมะเตะระซุ (Amaterasu) นิฮนโฌะกิเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 720 เขียนเป็นอักษรจีน

เนื้อหาในบันทึกเล่าตำนานกำเนิดอาณาจักรว่ามาจากเทพชายนามว่า อิสะนะงิ (Izanagi) และเทพหญิงอิสะนะมิ (Izanami) ว่าเป็นผู้เสด็จลงมาสร้างเกาะญี่ปุ่น และสร้างเทพอื่นๆ มีเทพแห่งดวงอาทิตย์ และน้องชายที่เป็นเทพแห่งลม ทั้งคู่ต่อสู้กัน และเทพแห่งดวงอาทิตย์เป็นฝ่ายชนะ

เทพแห่งดวงอาทิตย์ส่งราชนัดดา คือนินิงิ (Ninigi) ลงมาปกครองเคาะคิวชู โดยนินิงินำพลอยหิน กระจก และดาบมาด้วย (ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของญี่ปุ่น) ขณะที่จักรพรรดิจิมมุ เป็นเหลนของนินิงิ ได้สร้างอาณาจักรของตัวเองตั้งแต่ 660 ปีก่อนคริสต์ศักราช

หลักฐานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอีกทางคือหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งบ่งชี้ว่า มีกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่ 30,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชอันเป็นช่วงที่เกาะญี่ปุ่นยังเป็นแผ่นดินเดียวกับภาคพื้นเอเชีย เมื่อถามว่าคนญี่ปุ่นมาจากไหน? ในการตอบคำถามนี้ยังคงไม่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจน

แต่พอจะกล่าวได้ว่า ผู้อยู่อาศัยแรกสุดที่เกี่ยวข้องคนญี่ปุ่นเชื่อว่ามาจากหลายแหล่งทางตะวันออกของแปซิฟิก ประมาณ 10,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ผู้อยู่อาศัยที่เก่าแก่ที่สุดและยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันคือคนไอนุ

วัฒนธรรมตั้งแต่ยุคหินกลางมาจนถึงยุคหินใหม่ก็มีหลักฐานให้ได้บ่งชี้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยวัฒนธรรมหินใหม่เข้ามาประมาณ 10,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึง 300 ปีก่อนคริสต์ศักราชซึ่งเรียกกันว่าเป็นยุคโจมน (Jomon) ตามมาด้วยยุคยะโยะอิ (Yayoi) 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 300 ยุคโคฟุน (Kofun) ค.ศ. 300-700 และมายุคอะซุกะ (Asuka) ค.ศ. 593-710

ในยุคอะซุกะ นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นยุคแรกที่เริ่มมีหลักฐานที่มีน้ำหนัก ยุคอะซุกะ เริ่มต้นยุคสมัยด้วยจักรพรรดินีซุอิโกะ ครองราชสมบัติระหว่าง ค.ศ. 593-628 เมื่อเทียบหลักฐานจากบันทึกแล้วเชื่อว่าเป็นจักรพรรดินีญี่ปุ่นองค์แรกที่ไม่ได้มีเพียงในตำนาน จักรพรดินีตั้งเจ้าชายโฌโตะกุ (Shotoku) พระราชนัดดาเป็นผู้สำเร็จราชการช่วยบริหารราชการแผ่นดิน

เอกสารพงศาวดารญี่ปุ่นที่เขียนโดยฮิโช ไซโต ฉบับแปลโดยยูปิเตอร์ สอดคล้องกับการอธิบายของยุพา คลังสุวรรณ ซึ่งอธิบายว่า เจ้าชายพระองค์นี้ปราดเปรื่อง รอบรู้วิทยาการจีน และเริ่มจัดการการปกครองตามระบอบจีน อาทิ ระบบเครื่องแบบอย่างระบบหมวกสิบสองชั้น และที่สำคัญคือบัญญัติ 17 ประการ ที่เป็นหลักศีลธรรมและหลักการปกครองกว้างๆ สำหรับให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด

ยุพา คลังสุวรรณ อธิบายว่า เจ้าชายร่างบัญญัติที่เป็นหลักการกว้างๆ (ลักษณะอาจแตกต่างจากความหมายของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน) ข้อบัญญัติ 17 ประการประกอบด้วยเรื่องการเป็นรัฐที่ดี ออกแบบตามการปกครองรวมศูนย์แบบจีน

ในสมัยของเจ้าชายโฌโตะกุ ยะมะโตะ (Yamoto) รัฐแห่งหนึ่งในระบบการปกครองเริ่มเรียกผู้นำว่าจักรพรรดิ และนำความคิดแบบขงจื๊อมาใช้ในญี่ปุ่น ยุพา คลังสุวรรณ อธิบายว่า ช่วงนี้เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มมีผู้นำคนเดียว และต้องทำตามอาณัติสวรรค์ในการปกครองประชาชน

เจ้าชายโฌโตะกุ เป็นผู้ส่งเสริมพุทธศาสนา ทำให้อารยธรรมเอเชียแพร่กระจายไปทั่วในญี่ปุ่น และสร้างพระอารามหลายแห่ง แต่ในเรื่องระบอบการปกครอง ตำแหน่งข้าราชการยังใช้ระบบสืบต่อกันทางสายเลือดในตระกูล โดยไม่ได้อ้างอิงกับคุณสมบัติและความสามารถ

ช่วงปลายของรัชสมัย เจ้าชายโฌโตะกุ สิ้นพระชนม์ก่อนขึ้นครองราชย์ มหาอำมาตย์ก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้เป็นบุตรคือเอะมิชิ รับมรดกแทน

ช่วงเวลานั้นมีข้าราชการในราชสำนักที่เห็นชอบกับการปกครองแบบจีนที่มีกระทรวงและมีเสนาบดี ข้าราชการผู้นี้คือ นะกะโตมิ คะมะตะริ (Nakatomi Kamatari) เป็นผู้ก่อตั้งตระกูลฟุจิวะระ ล้มตระกูลโซงะ เมื่อ ค.ศ. 645 และทำการปฏิรูปที่เรียกกันว่า การปฏิรูปทะอิกะ (Taika) และสร้างระบบริท์ซุเรียว (Ritsuryo) อันเป็นรูปแบบการปกครองแบบจีนที่มาแพร่หลายในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 7

ระบบริท์ซุเรียว รวมศูนย์อำนาจสูงสุดที่ส่วนกลาง ผู้ปกครองมีอำนาจเหนือกฎหมาย คนธรรมดาต้องเสียภาษีที่ดิน และรัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สิน รัฐเป็นผู้แบ่งทรัพย์สินให้คนทั่วไป มีสภาปกครองอาณาจักรผ่านผู้ครองท้องถิ่นซึ่งส่งมาจากเมืองหลวง


อ้างอิง:

ยุพา คลังสุวรรณ. ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547

ฮิโช ไซโต, เอลิซาเบธ ลี. ยูปิเตอร์, แปล. พงศาวดารญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2562