เบื้องหลังญี่ปุ่นผลักดันตั้งกรมช่างไหมสมัยร.5 หวังช่วยสยามต้านฝรั่งเศสที่เล็งฮุบอีสาน

นายโฮโซยา (คนขวา) ถ่ายภาพในสวนหม่อนที่สถานีทดลองเลี้ยงหม่อนไหม โคราช (ภาพจาก หนังสือ ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี)

สยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อยู่ในช่วงพัฒนาประเทศและจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงประเทศหลายด้านเพื่อให้เจริญทัดเทียมโลกสมัยใหม่ หนึ่งในพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 5 คือการว่าจ้างชาวต่างชาติเข้ามาทำงานหรือเป็นที่ปรึกษาในระบบราชการแบบใหม่ที่พึ่งมีการปฏิรูปขึ้น

ชาวต่างชาติที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในสยามส่วนใหญ่จะเป็นชาติตะวันตก แต่ก็มีชาติจากเอเชียอยู่บ้าง จากเอกสารทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษระบุว่า ในปี พ.ศ. 2450 รัฐบาลสยามมีที่ปรึกษาชาวต่างชาติหลายร้อยคน เช่น ชาวอังกฤษ 126 คน, ชาวเยอรมัน 36 คน, ชาวอิตาเลียน 12 คน, ชาวฮอลันดา 11 คน, ชาวญี่ปุ่น 9 คน, ชาวฝรั่งเศส 5 คน และ ชาวอเมริกัน 4 คน เป็นต้น

อินางาคิ มันจิโร (Inagaki Manjiro) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยามคนแรก พยายามผลักดันให้รัฐบาลสยามว่าจ้างชาวญี่ปุ่นให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่ปรึกษาของชาวต่างชาติมักได้ค่าตอบแทนสูงมาก จึงไม่มีใครลาออกหรือสละตำแหน่งให้คนชาติอื่น วิธีการที่จะว่าจ้างคนญี่ปุ่นให้มากขึ้นคือการตั้งกรมกองเพิ่มขึ้น และกรมกองนั้นควรจะเกี่ยวข้องกับ “ไหม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้นเชี่ยวชาญมาก

การผลักดันก่อตั้งกรมช่างไหม

ญี่ปุ่นในยุคเมจิประสบผลสำเร็จกับการปฏิรูปประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมจนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งทางการค้าของเอเชีย หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญนั้นคืออุตสาหกรรมเส้นไหม ซึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2411-2425 ญี่ปุ่นมีมูลค่าการส่งออกเส้นไหมและสินค้าจำพวกไหมคิดเป็นร้อยละ 46 ของการส่งออกทั้งหมดเลยทีเดียว

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ชาวญี่ปุ่นได้อพยพออกจากประเทศแม่ออกไปประกอบอาชีพหรือตั้งรกรากนอกประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวญี่ปุ่นแรกเข้ามาในสยามสมัยนั้นมีหลายจำพวก บ้างเป็นแพทย์ พ่อค้า ครู จิตรกร และอาชีพอีกหลากหลาย แต่ส่วนหนึ่งก็ได้เข้ามารับราชการในรัฐบาลสยาม

วาตานาเบและอุเอโน ชาวญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องไหมได้เข้ามาสำรวจภาคอีสานของสยาม พวกเขาสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2443 ได้พบว่าเส้นไหมของสยามทำใช้แต่ในครัวเรือน จึงไม่ค่อยมีคุณภาพ หากขยายทำเป็นอุตสาหกรรมและได้รับการส่งเสริม ปรับปรุง ก็จะเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของสยาม ทั้งสองทำรายงานฉบับหนึ่งออกมา ซึ่งคาดว่าได้ส่งรายงานฉบับนี้ให้อินางาคิ

ในปีถัดมา อินางาคิได้ถวายรายงานเป็นภาษาอังกฤษแด่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และถวายคำแนะนำว่าควรจะปรับปรุงอุตสาหกรรมผลิตไหมของสยามตามผลการรายงาน

ในรายงานฉบับนั้นให้คำแนะนำว่าสยามควรจะพัฒนาอุตสาหกรรมเส้นไหมให้เป็นไปตามรูปแบบที่ญี่ปุ่นเคยทำไว้ ซึ่งประสบผลสำเร็จมาแล้ว โดยเริ่มจากรัฐบาลจัดตั้งศูนย์กลางหรือสถานีทดลองเลี้ยงไหมขึ้นมา เมื่อได้องค์ความรู้ที่ดีแล้วจึงเผยแพร่ความรู้นั้นสู่ประชาชนในท้องถิ่นต่อไป และขยายจากอุตสาหกรรมในครอบครัวให้เป็นระดับชุมชนหรือใหญ่กว่านั้น ดังนั้น กรมหลวงดำรงราชานุภาพจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 เพื่อผลักดันการผลิตไหมรูปแบบใหม่ในภาคอีสาน

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ (ภาพจาก หนังสือ ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี)

ฝรั่งเศสหวังฮุบอีสานต่อจากลาว

ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 มีความกังวลว่าฝรั่งเศสอาจไม่หยุดแค่ดินแดนลาวหรือเขมรเท่านั้น และอาจรุกคืบเข้ามาภาคอีสานของสยาม รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงอันตรายนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทางยาวกว่า 265 กิโลเมตร ซึ่งแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2443 ขณะที่อินางาคิเองก็เห็นความสำคัญของภาคอีสานว่า “ดินแดนแถบโคราชนั้น ฝรั่งเศสอยากได้จนน้ำลายไหลมานานแล้ว ถ้าฝรั่งเศสยึดครองดินแดนแถบนี้ได้ แผนการที่จะยึดเอาดินแดนประเทศอื่นในเอเชียของฝรั่งเศสจะเป็นจริงเร็วยิ่งขึ้น”

เหตุที่อินางาคิพยายามผลักดันให้รัฐบาลสยามพัฒนาอุตสาหกรรมไหมนั้น ด้วยเกรงว่า “ถ้าฝรั่งเศสสามารถแผ่อิทธิพลเข้ามาในแถบโคราช ซึ่งเป็นดินแดนที่ฝรั่งเศสหมายมั่นปั้นมือมาเป็นเวลานานได้แล้ว ก็เท่ากับแผนการของฝรั่งเศสในอันที่จะครองเอเชียประสบความสำเร็จ” อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเหตุผลทางการเมืองของอินางาคิเองที่ต้องการให้สยามจ้างชาวญี่ปุ่นมากกว่าจ้างชนชาติอื่น ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อพรรคพวกชาติตนเองมากกว่า แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าชาวญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญเรื่องไหมมากทีเดียว

ดังนั้น รัฐบาลสยามจึงจัดตั้ง “กรมช่างไหม” สังกัดกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อ พ.ศ. 2445

ชาวญี่ปุ่นกับกรมช่างไหม

เมื่อ พ.ศ. 2444 ได้ว่าจ้าง ดร. โตยามา คาเมทาโร (Toyama Kametaro) รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโตมาเป็นที่ปรึกษาการเลี้ยงไหม ว่าจ้างเป็นเวลา 3 ปี ภายหลังจากได้เข้าพบเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์ เสนาบดีกระทรงเกษตราธิการ เพื่อปรึกษาหารือกันแล้วจึงออกเดินทางไปโคราชเพื่อสำรวจการเลี้ยงไหม ก่อนจะกลับมาทำรายงานพร้อมกับเขียนร่างงบประมาณของปี พ.ศ. 2446 ของโครงการและรายชื่ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการทดลองเลี้ยงไหม

จากการสำรวจ ดร. โตยามา พบว่าเกษตรกรมีความรู้เรื่องการเลี้ยงไหมเป็นอย่างดี ดร. โตยามา จึงมุ่งมั่นให้มีการตั้งสถานีทดลองเลี้ยงไหมเช่นเดียวกับที่ตั้งในญี่ปุ่นเพื่อเผยแพร่ความรู้และพัฒนาอุตสาหกรรมไหมด้วยวิทยาการสมัยใหม่ซึ่งจะนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีปริมาณมากขึ้น

ไม่นานจากนั้น ชาวญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญเรื่องไหมแขนงต่าง ๆ ได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น เช่น โยโกตะ เฮียวโนซุเคะ (Yokota Hyonosuke), มิชิมา โทชิสึรา (Mishima Toshitsura), ทาคาโน โยโซจิโร (Takano Yosojiro), โฮโซยา เซ็นซุเกะ (Hosoya Zensuke), โคคุบุ เซ (Kokubu Sei), ฮินาโน คิคุ (Hirano Kiku) และนาคามุระ ทาทสึจิ (Nakamara Tatsuji) เป็นต้น

โรงเรียนสอนหม่อนไหม

เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากการศึกษาด้านเกษตรกรรมที่ประเทศอังกฤษมาแล้ว ดร. โตยามา ได้เสนอให้ทูลเกล้าเชิญให้เป็นอธิบดีกรม โดยให้รวมกรมการผลิต กรมการเลี้ยงสัตว์ และกรมช่างไหมเข้าไว้รวมกันเพื่อประหยัดงบประมาณ กระทั่งในปี พ.ศ. 2446 ได้จัดตั้งกรมเพาะปลูกขึ้นมา และราวปี พ.ศ. 2449 พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ทรงเรียกกรมเพาะปลูกว่ากรมช่างไหม อาจเป็นเพราะว่ากรมเพาะปลูกแท้จริงแล้วอาจทำแต่การเลี้ยงไหมก็เป็นได้

ช่วงแรกของกรมช่างไหมนั้นได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 นักเรียนส่วนใหญ่เป็นสตรีในราชสำนักโดยมีชาวญี่ปุ่นเป็นครูให้อบรมเรื่องต่าง ๆ เช่น วิธีเลี้ยงหม่อน วิธีเก็บรังไหม วิธีสาวไหม ฯลฯ แต่โรงเรียนนี้กลับถูกยุบในปลายปีถัดมาเพราะนักเรียนลดน้อยลง

สตรีในพระราชสำนัก พระราชวังดุสิต เข้าอบรมการเลี้ยงไหม จากภาพบน ด้านขวาสุดเป็นครูชาวญี่ปุ่นเป็นผู้อบรมนักเรียนรุ่นแรกที่มี 16 คน (ภาพจาก หนังสือ ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี)

อย่างไรก็ตาม ในต้นปี พ.ศ. 2447 ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นอีกครั้งที่ปทุมวัน สอนวิชาการเกษตรเรื่องหม่อนไหมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงสอนวิชาการสาขาอื่น ๆ เช่น เรขาคณิต ภูมิสาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน เป็นต้น ทั้งนี้เสมือนเป็นโรงเรียนกวดวิชาเพื่อจะได้ส่งนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังเปิดสถานีทดลองอีกแห่งขึ้นบริเวณศาลาแดง มีพื้นที่ 23,716 ตารางเมตร เป็นที่ทำการทดลองของกรมช่างไหม เพื่อเตรียมไว้สอนนักเรียนช่างไหม

เมื่อถึง พ.ศ. 2449 โรงเรียนสอนไหมที่ปทุมวันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนเพาะปลูก” ขณะที่นักเรียนที่จบมาก็ได้ไปทำงานเป็นหัวหน้าช่างและตำแหน่งอื่น ๆ ประจำสถานีทดลองเลี้ยงไหมและจะทำหน้าที่ต่อจากชาวญี่ปุ่นที่หมดสัญญาจ้างกับรัฐบาลสยาม

โรงเรียนสอนทำไหมปทุมวัน เปิดสอนเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 ปัจจุบันคือบริเวณสยามสแควร์ (ภาพจาก หนังสือ ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี)

สถานีทดลองเลี้ยงไหม

สถานีทดลองเลี้ยงไหมมีอยู่หลัก ๆ สามแหล่งคือ ปทุมวัน โคราช และบุรีรัมย์ โดยยังคงมีชาวญี่ปุ่นเป็นแกนหลักสำคัญของสถานีทดลองแต่ละแห่ง เช่นที่สถานีทดลองปทุมวันมี ดร. โตยามา, ทาคาโน และนางาชิมา ยาซุทาโร (Nagashima Yasutaro) เป็นผู้ดูแล จนเมื่อหมดสัญญา 3 ปี ดร. โตยามา จึงเดินทางกลับญี่ปุ่น และได้ ทาฮารา เคียวโนโจ (Tahara Kyunojo) มารับตำแหน่งแทน พร้อมกับชาวญี่ปุ่นอีกสองคนคือ โอคาดะ โทคุ (Okada Toku) และโคะงาเนซาวา ซาวา (Koganezawa Sawa)

แม้ชาวญี่ปุ่นรุ่นผู้บุกเบิกยุคแรก ๆ จะหมดสัญญาและเดินทางกลังญี่ปุ่นไป แต่ก็ยังมีชาวญี่ปุ่นรุ่นถัดมาคอยช่วยงานกรมช่างไหมในสถานีทดลองเลี้ยงไหมอยู่สม่ำเสมอ กระทั่งได้ขยายสถานีทดลองสาขาย่อยออกไปเพิ่มมากขึ้น เช่น สถานทีทดลองสาขาโคราชขยายสาขาย่อยไปยังชัยภูมิและจตุรัส ส่วนสถานีทดลองบุรีรัมย์ขยายสาขาย่อยไปยังพุทไธสง รัตนบุรี สุวรรณภูมิ ศรีษะเกษ และร้อยเอ็ด

เมื่อสถานีทดลองที่โคราชและบุรีรัมย์ขยายตัวมากขึ้นจึงเปิดสถานฝึกอบรมขึ้นมาเมื่อจบหลักสูตรแล้วก็จะได้ทำงานเป็นผู้ฝึกอบรมให้แก่ประชาชนทั่วไป ปรากฏว่าราวปี พ.ศ. 2451-2452 การผลิตไหมในภาคอีสานแบบใหม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง ซึ่งสถานีทดลองได้นำเครื่องสาวไหมจากญี่ปุ่นเข้ามาให้ชาวบ้านใช้ทำให้ได้ผลผลิตมาก

ช่างไหมชาวญี่ปุ่นในสถานีทดลองเลี้ยงไหมโคราช (จากซ้าย) นายคามุระ นายโยโกตะ และนายโฮโซยา (ภาพจาก หนังสือ ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี)

ปิดตัวกรมช่างไหม

จุดผลิกผันของกรมช่างไหมมาถึงเมื่อพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์สิ้นพระชนม์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ในเดือนตุลาคมปีถัดมาได้มีการปรับตำแหน่งของกรมช่างไหมใหม่โดยให้ย้ายสถานีทดลองในโคราชและบุรีรัมย์ให้อยู่ในความดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาล จึงมีการปรับตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งลดจำนวนเจ้าหน้าที่ และเลิกจ้างชาวต่างชาติ ทำให้เหลือพนักงานเพียงไม่กี่คน

ชาวญี่ปุ่นรุ่นสุดท้ายที่เหลือมีเพียง 2 คน คือ โยโกตะ และอีซุเกะ คาเมคิชิ (Iizuke Kamekichi) และไม่นานหลังจาก พ.ศ. 2453 ก็เดินทางกลับญี่ปุ่น

นอกจากนี้ กรมช่างไหมยังเจอวิกฤตจากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2453 เกิดโรคระบาดในหม่อน และฝนตกน้อยทำให้ใบหม่อนผลิตได้น้อยลง ซึ่งทำให้พันธุ์หม่อนที่แจกจ่ายให้ราษฎรตายไปครึ่งหนึ่ง รัฐบาลสยามเห็นว่าการอุตสาหกรรมเลี้ยงไหมไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก จึงยุบเลิกกรมช่างไหมไปเมื่อ พ.ศ. 2455 แต่ยังคงโรงเลี้ยงไหมไว้อยู่ และในที่สุด พ.ศ. 2456 รัฐบาลจึงประกาศปิดสถานีทดลองเลี้ยงไหมทุกแห่งเพราะผลที่ได้ไม่คุ้มเสีย

(ภาพจาก หนังสือ ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี)

การปิดตัวสถานีทดลองเลี้ยงไหมนั้นจึงเสมือนเป็นการยุติบทบาทของชาวญี่ปุ่นในการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตเส้นไหมในสยามให้กลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของชาติเช่นเดียวกับญี่ปุ่น แม้ภายหลังจะได้ฟื้นฟูกรมช่างไหมขึ้นมาเป็น “กรมหม่อนไหม”  ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าชาวญี่ปุ่นเป็นคนกลุ่มแรกที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมหม่อนไหมในสยาม เป็นผู้วางรากฐานและผลักดันให้อุตสาหกรรมหม่อนไหมครัวเรือนในอดีตสู่อุตสาหกรรมหม่อนไหมระดับนานาชาติในปัจจุบัน


อ้างอิง :

โยชิกาวะ โทชิฮารุ และอิชิอิ โยเนะโอะ.  (2530).  ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นดิ้ง กรุ๊พ.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562