2489 กรมหมื่นพิทยลาภฯทรงแสดงปาฐกถา“เรื่องบรมราชาภิเษก”ที่สยามสมาคม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงรับน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. 2454 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

บทความนี้เป็นพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร โดยเมื่อแรกทรง ตั้งพระทัยจะแปลจากปาฐกถา เรื่อง “THE OLD SIAMESE CONCEPTION OF THE MONACHY” ที่ทรงแสดง ณ สยามสมาคม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2489 แต่ทรงพิจารณาเห็นควรปรับปรุงเนื้อหาเสียใหม่ เพื่อให้กระชับ เหมาะสมกับการนําเสนอในรูปแบบภาษาไทย เนื้อหาจึงไม่ตรงกับต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด สาระสําคัญของพระนิพนธ์เรื่องนี้ ช่วงแรกมีเนื้อหาว่าด้วยความเป็นมาของวัฒนธรรมไทย ถัดมาเป็นเรื่องทัศนะของสังคมไทยที่มีต่อฐานะของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และตอนท้ายเป็นเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงแปลและเรียบเรียงเป็นบทความ “เรื่องบรมราชาภิเษก” แล้ว ได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่พระนิพนธ์เรื่องนี้หลายครั้ง

Advertisement

สำหรับการนำมาเผยแพร่นี้ อ้างอิงจากหนังสือ “ประมวลบทความเนื่องในพระราชพิธี บรมราชาภิเษก” โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (แต่ได้จัดวรรคตอนใหม่เพื่อให้สะดวกในการอ่าน)

เรื่องบรมราชาภิเษก

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2485 ข้าพเจ้าได้แสดงปาฐกถาที่สยามสมาคม เรื่องบรมราชาภิเษก โดยคําตรัสชวนของนายกแห่งสมาคมซึ่งทรงเจาะจงเอาเรื่องนี้ ตามปรกติปาฐกถาที่แสดง ณ สมาคมนี้ มักแสดงเป็นภาษาอังกฤษ เพราะส่วนมากของผู้ฟังเป็นชาวต่างประเทศที่ไม่เข้าใจหรือไม่ช่ำชองในภาษาไทย ข้าพเจ้าจึงได้เขียนเรื่องขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ และตั้งรูปเรื่องขึ้นเพื่อให้ชาวต่างประเทศเข้าใจได้ดี

บัดนี้ เมื่อจะพิมพ์เป็นภาษาไทย ข้าพเจ้าจึงได้รีบลงมือแปลจากภาษาอังกฤษ แต่แปลไม่ทันถึงไหน ก็รู้สึกว่าผู้อ่านภาษาไทยนั้น ของเดิมบางแห่งไม่สู้จําเป็นก็มี เพราะข้อความบางอย่างนั้นหากจะพูดไปห้วนๆ ซาวต่างประเทศก็จะไม่เข้าใจดี แต่ข้อความบางอย่างก็ยังมีอีกเหมือนกันที่ควรจะขยายให้ได้มากกว่าที่เอาไป พูดในเวลาแสดงปาฐกถา ฉะนั้น ฉบับภาษาไทยนี้จึงกลายเป็นไม่ใช่ความแปลทั้งหมด และจะเอาไปเทียบกับ ต้นฉบับภาษาอังกฤษไม่ได้ ด้วยมีความหลายแห่งที่ตั้งใจตัดบ้างเติมบ้าง

อนึ่ง เรื่องนี้ข้าพเจ้าเขียนโดยตั้งใจจะแนะทางค้นคว้าให้แก่นักประวัติศาสตร์และสังคมวิทยา เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น จึงได้งดเว้นรายละเอียดบางอย่างที่คิดว่าจะไม่เกี่ยวพันอยู่ในเรื่องพิธีบรมราชาภิเษกแท้ๆ นัก ท่านผู้รู้ในทางขนบธรรมเนียมราชประเพณี คงรู้สึกว่าเขียนข้าม ๆ ไปเสียบ้างบางแห่ง ท่านผู้ใดใคร่จะอ่านศึกษาทางพิธีโดยเฉพาะ ข้าพเจ้าขอแนะให้ไปอ่านหนังสือ เช่น พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 6 ซึ่งพิมพ์เมื่อศก 2466 จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 ในราชกิจจานุเบกษา 2468 เรื่องบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีพระบรมราชโองการให้ข้าพเจ้าแต่งเป็นภาษาอังกฤษ 2468 เรื่องบรมราชาภิเษกลิลิตพระนิพนธ์ กรมพระนราธิปประพันธพงศ์ 2472 เป็นต้น

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (ภาพจาก http://www.vajiravudh.ac.th)

พิธีบรมราชาภิเษกในประเทศสยาม เป็นเรื่องที่น่ารู้สําหรับนักประวัติศาสตร์และสังคมวิทยา พิธีนี้เจือปนอยู่ด้วยลัทธิพราหมณ์และลัทธิพุทธศาสนาทางฝ่ายหินยาน คําว่าหินยานนี้ แท้จริงเราไม่น่าจะนํามาใช้ เพราะผู้ที่คิดขึ้นใช้นั้นประสงค์จะเหยียดว่าต่ำกว่าของตน [1] แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าไหนๆ ก็ใช้กันมาจนแพร่หลายแล้ว จะไปถืออะไรกับรูปธรรมนามธรรม เพราะฉะนั้น จึงขอใช้คํานี้ตลอดไปในเรื่องนี้ นอกจากลัทธิพราหมณ์และลัทธิพุทธศาสนาหินยานดังกล่าวแล้ว พิธีบรมราชาภิเษกยังมีลัทธิเทวราชของเขมรประดับอยู่ภายนอกอีกด้วย ฉะนั้น เพื่อให้คําพูดข้าพเจ้าแจ่มแจ้ง ข้าพเจ้าจึงขอสําดับประวัติวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เข้าใจชัดเจนว่า ทัศนะของชาวไทยในเรื่องตําแหน่งพระมหากษัตริย์ได้เป็นมาอย่างไร แต่โบราณจนปัจจุบันนี้

ชนชาติไทย ซึ่งได้อพยพออกจากจีนใต้มาสู้ต้นแม่น้ำของเอชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง แม่น้ำคง[2] แต่โบราณกาลนั้นเข้าใจว่าเป็นคนชนิดที่ถือผี พวกไทยน้อยที่ลงมาทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้มาพบกับพวกมอญแห่งอาณาจักรทวารวดี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 พวกมอญนี้เป็นซาติที่สืบเชื้อสายมาแต่ชาวอินเดียที่ชื่อว่าเตลิงคนะ [3] อยู่ในอ่าวเบงคอลฝั่งตะวันตกตอนบน แล้วได้ข้ามปากอ่าวนั้น มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งตะวันออก เหตุฉะนั้นจึงได้เรียกว่าซาติเตลง

พวกมอญเชื้อเตลงนี้ได้มาตั้งประเทศทวารวดีขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และได้มีวัฒนธรรมสูง โดยอาศัยศาสนาพุทธหินยานเป็นหลัก วัฒนธรรมของทวารวดีนี้แหละ ได้มาเป็นต้นตอของวัฒนธรรมของพวกไทยน้อย ที่ลงมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา ดังกล่าวมาแล้ว นอกจากพุทธศาสนาแล้วเรายังได้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์แบบแผนกฎหมายของเขามาใช้ด้วย เพื่อสนับสนุนคํากล่าวของข้าพเจ้าในข้อนี้ ข้าพเจ้าขอยกคาถาเบื้องต้นของพระธรรมศาสตร์มาให้เห็น ดังต่อไปนี้

ภาสิตํ มนูสาเรน มูลภาสาย อาทิโต

ปรมฺปรากตํ ทานิ รวมเณสุ ปติฏฐิตํ

รามญสฺส จ ภาสาย ทุคุคาฬฺหํ ปริเสนิท

ตสุมา ตํ สามกาสาย รจิสฺสนฺตํ สุณาถ เม

ความว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์นี้ ชั้นเดิมพระมนุสาราจารย์ได้กล่าวไว้ด้วย ภาษาเดิม (อาจารย์กฎหมายไทยแปลกันว่า มคธภาษา) ครั้นแล้วได้มาประดิษฐานแต่สมัยปรัมปราในดินแดนของพวกรามัญ แต่ในบัดนี้เป็นสิ่งยากที่อํามาตย์จะเข้าใจได้ ฉะนั้น จึงได้แปลออกจากภาษารามัญเป็นภาษาสยาม

ส่วนพวกมอญแห่งทวารวดี หมดไปจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยอาการอย่างไรไม่มีใครทราบ ๆ แต่ว่า ไทยเราเข้ามาแทนที่โดยต้องรบกับเขมร ตั้งแต่สุโขทัยลงมา และในที่สุดก็แย่งเอาดินแดนของเขมรที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้ได้เป็นส่วนมากในการที่ไทยเข้าสวมรอยเขมรนี้ เราได้รับเอาวัฒนธรรมของเขมรเข้าไว้อีกทอดหนึ่งด้วย คือลัทธิพราหมณ์ ลัทธิพุทธศาสนามหายาน และลัทธิเทวราซ แต่วัฒนธรรมเขมรหาได้ฝังลงไปในนิสัยไทย แน่นแฟ้นเหมือนดังวัฒนธรรมแบบมอญไม่

รวมใจความว่า ไทยเรานําวัฒนธรรมเดิมของเรามาจากจีนใต้ส่วนหนึ่ง รับวัฒนธรรมมอญเข้าไว้อย่างสนิทสนมส่วนหนึ่ง แล้วรับวัฒนธรรมเขมรไว้อย่างเผินๆ อีกส่วนหนึ่ง

ทัศนะของไทยในเรื่องตําแหน่งพระมหากษัตริย์

ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซาติไทยมีวัฒนธรรมเดิมมาแต่จีนใต้ส่วนหนึ่ง ในวัฒนธรรมเดิมนี้ หน้าที่พระมหากษัตริย์เป็นดุจพ่อเมือง เป็นผู้นําออกรบพุ่งในเวลามีศึก เป็นทั้งพ่อผู้ปกครอง ทั้งตุลาการของราษฎรในเวลาสงบศึก พระมหากษัตริย์ทรงคุ้มครองราษฎรอย่างสนิทสนม เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่า ในปตูมึกดิ้งอนนณึ่ง แขวนไว้ห่นนไพร่ฟ้าหน้าใสกลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความเจบท้อง (ข้)องใจ มนนจกกกล่าวเถิงเจ้าขุนเถิงบไร้ ไปลนนกกิ่ง อ(น)ท่านแขวนไว้พ่ขุนรามคําแหง เจ้าเมืองได้ยินยกเมื่ออถาม สวนความแก่มนนด้วยซี

ธรรมเนียมที่ราษฎรมีสิทธิจะร้องทุกข์โดยตรงถึงพระมหากษัตริย์นี้ ยังคงมีตลอด มาจนถึง พ.ศ. 2475 โดยแปรรูปไปบ้างเล็กน้อย คือแทนที่จะมีกระดิ่งแขวนไว้ได้มีตํารวจหลวงยืนอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อรับคําร้องทุกข์ สุดแต่ใครจะถวาย การที่พระมหากษัตริย์ทรงรับผิดชอบมากมาย เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้คนรักใคร่นับถือ แต่ถ้ามีอุปัทวเหตุน้อยใหญ่ แม้แต่เพียงทํานาไม่ได้ผลดี ราษฎรก็พลอยโทษท่านไปด้วย

ระเบียบพ่อเมืองดังได้กล่าวมานี้ เมื่อได้รับวัฒนธรรมมอญแห่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเจือปน ก็เข้ากันได้สนิทสนมดี ความนิยมที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นธรรมิกราช ดุจดังพระเจ้ามหาสมมตราช แห่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์นั้น ก็เป็นเรื่องมาจากส่วนเก่าแก่ของพระไตรปิฎก เช่น องคาญสุตต และ จากวตติสุตต แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวคค ฉะนั้น จึงจะขอคัดความแห่งหนังสือโบราณเหล่านี้ เฉพาะตอนที่แสดงด้วย ลักษณะของพระมหากษัตริย์มา เพื่อเปรียบเทียบกันไว้ว่าความนิยมของประชาชนไทยเป็นอย่างไรในเรื่อง พระมหากษัตริย์นี้

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์กล่าวว่า พระเจ้ามหาสมมตราช ตั้งอยู่ในราชธรรม 10 ปรการ ทรงเบญจางคิกะศีลเป็นปรกติศีล และอัษะฎางคิกะศีลเป็นอุโบสถ ศีล เมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง แล้วทรงพระอุสาหะมะนะการะ ซึ่งคําภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นนิจกาล ทรงประพฤติธรรม 4 ปรการ คือ พิจารณาซึ่ง ความชอบความผิดแห่งผู้กระทําให้เป็นประโยชน์ แลมิได้เป็นประโยชน์แก่ พระองค์ 1 ทะนุบํารุงซึ่งบุคคลผู้มีศีลสัจ 1 ปรมูลมาซึ่งพระราชทรัพย์โดยยุติธรรม 1 รักษาพระนครราชเสมาให้ศุขเกษมโดยยุติธรรม 1 เป็น 4 ปรการ แลตั้งอยู่ใน ราชกิจประเพณีมิได้ขาด

ส่วนพระธรรมิกราชเป็นอย่างไรนั้น เราจะเห็นได้จาก จกกวาติ สุตต ซึ่งอธิบายลักษณะแห่งจักรพรรดิ ดังได้คัดความมาต่อไปนี้

วัตร คือหน้าที่ของพระจักรพรรดิ จะต้องเป็นผู้นิยมนับถือธรรมเป็น ผู้สนับสนุนธรรม จะต้องเอาพระทัยใส่คุ้มเกรงรักษาบรรดาผู้อาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของพระองค์ คือเป็นผู้อันโตชน ผู้เป็นพลกาย ผู้เป็นขัตติย ผู้เป็นอนุยนตติดสอยห้อยตาม ผู้เป็นพราหมณ์และคหบดี ผู้เป็นชาวบ้านชาวชนบท ผู้เป็นสมณพราหมณ์ ตลอดจนสัตว์สี่เท้าสองเท้ว ต้องทรงสอดส่องมีให้มีการอธรรมเกิดขึ้นได้ในแว่นแคว้น ของพระองค์ และเกื้อกูลคนจนด้วย

อนึ่ง เมื่อผู้มีศีลผู้รู้จักสํารวมตนและปฏิบัติตน เพื่อความดีมาสู่พระองค์ และทูลถามถึงอะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิด อะไรชอบ อะไรจึงทํา อะไรพึ่งเว้น พระองค์จะต้องฟังเขาโดยตลอด แล้วห้ามปรามอย่าให้เขาไปในทางที่ชั่ว สนับสนุนให้เขาไป ในทางที่ดี ดังนี้

พระราชามหากษัตริย์ผู้รับอภิเษก เมื่อได้ทรงปฏิบัติจักรวรรดิวัตร ดั่งข้างบนนี้แล้ว ครั้นถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง จึงโสดสรงพระมุรธาภิเษกเสด็จขึ้น สู่ปราสาทเบื้องต้น ขณะนั้นแลจึ่งทิพยจักรรัตนปรากฏขึ้นเฉพาะพระพักตร์ พระราชาเสด็จลุกขึ้นทรงสะพักภูสิตาภรณ์เฉวียงพระอังสาเพื่อแสดงความเคารพ ทรงหยิบพระภิงคารด้วยพระหัตถ์ซ้าย หลั่งน้ำลงบนพระหัตถ์ขวา แล้วลูบไล้ทิพยจักรรัตน พลางตรัสให้จักรนั้นหมุน (วรรติ) ไป จึ่งทิพยจักรนั้นได้เริ่มหมุนไปทิศตะวันออกก่อน พระราชาก็เสด็จตามไปด้วยจตุรงคโยธา แห่งใดที่ทิพยจักรหยุดลง พระองค์ก็ยับยั้งอยู่ด้วย

บรรดาพระราชาผู้ปรปักษ์แก่พระองค์ในทิศตะวันออกนั้นก็พากันมาเฝ้าและทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ขอเชิญเสด็จมาเถิด พระองค์เสด็จมาด้วยดีแล้ว สรรพสมบัติเป็นของพระองค์หมดแล้ว พระองค์จงประทานอนุศาสนแก่หม่อมฉันทั้งหลายด้วยเถิด” ลําดับนั้นพระจักรพรรดิ จึงประทานอนุศาสน ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ห้ามลักขโมย ห้ามประพฤติผิดในกาม ห้ามมุสาวาท ห้ามดื่มสิ่งมึนเมา และทรงอนุญาตว่าให้บริโภคทรัพยศฤงคารไปดุจเดิม พระราชาปรปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นต่างก็พากันอ่อนน้อมต่อพระจักรพรรดิราช

ทิพยจักรก็เวียนไปตามทิศทั้งสี่ เหตุการณ์ได้เป็นไปดุจในทิศตะวันออกอีก จนครบรอบจักรวาฬแล้ว จึงกลับเข้าสู่ราชธานี ประดิษฐานอยู่ในท้องพระโรง หน้าพระราชมณเฑียร โดยมีรัศมีส่องสว่างกระจ่างไปทั่วพระราชมณเฑียร แห่งพระจักรพรรดิผู้เป็นเจ้าโลกนั้น

นิยายอันเป็นที่นิยมของคนโบราณนี้ มีคติสําคัญอยู่ที่ว่า พระราชาผู้ทรงธรรมย่อมเป็นที่นิยมกว่า ผู้มีชัยด้วยคมอาวุธ ทรงดํารงอยู่ในธรรม ทรงเป็นผู้ประกาศธรรมด้วยพระราโชวาท และทรงกว้างขวาง พยายามคบคนดีทั่วไป นอกจากคตินี้แล้ว เราพึงสังเกตว่า รายละเอียดของนิยายนี้ ได้ช่วยประกอบรูป พิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า โดยเฉพาะในข้อที่ว่าพระธรรมิกราซเวียนไปรอบโลก ได้ชัยชนะด้วยธรรมเหนือปรปักษ์คราวละทิศ คล้ายๆ พิธีประทับพระที่นั่งอัฐทิศ

เราย่อมได้ยินได้ฟังเนือง ๆ ว่า พระมหากษัตริย์ผู้เป็นธรรมิกราซควรจะเป็นอย่างไร คือทรงทศพิธราซธรรม ทรงประกอบสังคหวัตถุทั้ง 4 ประการ ทรงดํารงพระองค์อยู่ในจกฺกวตฺติวตฺต อยากจะทราบเรื่อง พิสดารขอให้ดูโคลงท้ายเตลงพ่าย หรือในท้ายเรื่องบรมราชาภิเษกของกรมพระนราธิปฯ ถ้าจะอ่านเป็นร้อยแก้วให้พิสดารยิ่งกว่านั้น ก็ให้อ่านหนังสือจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 6 หน้า 54 ถึง 74

ยังมีขนบธรรมเนียมอื่น ๆ ที่จดจํากันมาโดยไม่ปรากฏว่าได้มาจากตําราใดอีก ซึ่งถ้าไม่นํามากล่าว ในที่นี้ ก็จะทําให้ภาพของเราแหว่งไป ประเพณีเหล่านี้มีเป็นต้นว่า พระมหากษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์โดยสโมสร สมมตของประชาชน คือในขณะที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนเสด็จสวรรคตลง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการและบางทีประมุขสงฆ์ด้วย ประชุมพร้อมตกลงกันว่าจะเชิญใครขึ้นเสวยราชสมบัติ จริงอยู่ธรรมเนียมนี้บางทีก็เห็นจะละเลยกันบ้างเหมือนกัน แต่คาดว่าจะเป็นส่วนน้อยที่สุด

ข้าพเจ้าจะไม่ขอเดาว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิตของคนไทยมาแต่ครั้งใด แต่อย่างไรก็ตาม ที่เรียกกันเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะพระองค์มีสิทธิเหนือชีวิตราษฎรของพระองค์จริง ๆ ซึ่งถ้าจะเปรียบกับสังคมโบราณ ไม่ว่าส่วนใดๆ ของโลกแล้ว ก็หาใช่เป็นอาการแปลกประหลาดประการใดไม่ นอกจากเป็นเจ้าชีวิตแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นเจ้าแผ่นดินอีกด้วย ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งพระเจ้าอู่ทอง [4] เป็นผู้ประกาศไว้ เมื่อ พ.ศ. 1903 กล่าวว่า ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้ เหตุดังนั้นจึงได้มีระเบียบศักดินา ซึ่งกําหนดให้ราษฎรทุกคน ตั้งแต่ชั้นสูงลงมาหาขั้นต่ำ มีสิทธิจะครอบครองที่ดินเป็นจํานวนเนื้อที่มากน้อยแล้วแต่ฐานะของตน ในเรื่องคําว่าพระเจ้าแผ่นดินนี้ กรมหลวงราชบุรีฯ ได้ทรงอธิบายไว้ตรงกัน กับที่กล่าวมานี้ (ดูเล็กเซอร์ กรมหลวงราชบุรี หน้า 189)

ในเรื่องหน้าที่นิติบัญญัตินั้น คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จําแนกออกเป็น 2 ประเภท เรียกว่ามูลคดี แห่งผู้พิพากษาตุลาการ 10 ข้อ และมูลคดีวิวาทของราษฎรอีก 29 ข้อ บรรดากฎหมายโบราณทั้งปวง เมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงบัญญัติออกไปอย่างไร ย่อมทรงอ้างมูลคดีอันใดอันหนึ่งใน 39 นี้เสมอ ดูเหมือนกับว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงถือสิทธิที่จะทําการนิติบัญญัตินอกเหนือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้อย่างไรเลย ถ้าจะใช้ภาษาสมัยปัจจุบันก็แทบจะอ้างเอาได้ว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรัฐธรรมนูญจํากัดพระราชอํานาจ ทางนิติบัญญัติมาแต่โบราณกาล

นักเขียนที่เป็นชาวต่างประเทศ ไม่ใคร่เข้าใจฐานะของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น ดร. เวลส์ ก็อธิบายว่าเป็น High Priest ด้วยข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ข้อนี้ไม่มีมูลอันใดแม้แต่ตั้งเดิมมา เพราะพระมหากษัตริย์ตัวอย่าง (พระเจ้ามหาสมมตราช) ของมัธยมประเทศโบราณดังปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น เป็นสกุลขัตติย คือนักรบ ถึงแม้ทางพุทธศาสนาจะไม่นิยมการรบพุ่งเบียดเบียนผู้อื่น ก็ไม่หนีหลักที่ว่าเป็นนักรบนี้ ไปได้ พระมหากษัตริย์ของไทยเกี่ยวกับศาสนาในฐานะเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และเป็นผู้ค้ำจุนศาสนา หรือศาสนูปถัมภกเท่านั้น

เมื่อไทยมาเกี่ยวกับเขมรแล้ว ฐานะพระมหากษัตริย์แปรรูปไปบ้าง คือรับเอาขนบธรรมเนียมแห่งลัทธิเทวราชของเขมรมาใช้ ดังปรากฏในพิธีใหญ่ ๆ เช่น พิธีบรมราชาภิเษก และมฤตกพิธี [5] ในพิธีบรมราชาภิเษก พราหมณ์สาธยายมนต์อัญเชิญพระเป็นเจ้าให้ลงมาสู่พระองค์พระมหากษัตริย์ แล้วใช้คําพูดแก่พระองค์ดุจแก่พระอิศวรเป็นเจ้า คําสั่งของพระองค์ก็เรียกว่า โองการ คือคําสั่งของพระเป็นเจ้าทั้งสาม ทั้งถวายพระสังวาสธุรํา อันพราหมณ์ในอินเดียถือว่าเป็นเครื่องทรงอันหมายเฉพาะถึงพระอิศวร ในจําพวกพระแสงราชาวุธทั้งแปด ก็มีพระแสงตรีของพระอิศวร และพระแสงจักรของพระนารายณ์ ในพระบรมนามาภิไธยเต็มก็มีสํานวนว่า ทิพยเทพาวตาร ซึ่งแปลว่าเป็นอวตารของพระเป็นเจ้าบนสวรรค์ ในมฤตกพิธี พระบรมศพก็ใช้โกศทรงพระบรมศพโกศนี้ใช่อื่นไกลอันใด คือครอบสําหรับเครื่องหมายพระอิศวร ตามที่ใช้กันอยู่ในประเทศเขมร ในสมัยลัทธิเทวราซ ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คือองค์พระเป็นเจ้านั้น

จริงอยู่ทุกวันนี้แม้แต่ศพเจ้านายและ ข้าราซการผู้ใหญ่ก็อาจใสโกศได้ แต่เป็นธรรมดาอยู่เองที่เครื่องยศต่างๆ สําหรับที่สูง ย่อมขยายกว้างขวางออกไปทุกที อย่างไรก็ดี ลัทธิเทวราซของเขมรติดอยู่แต่ภายนอก ถ้าจะพิจารณาให้ซึ้งลงไปถึงจิตใจของคนไทยแล้ว คงไม่มีใครเชื่อเป็นจริงจังว่าพระสังวาสธุรก็ดี พระแสงราชาวุธก็ดี พระบรมโกศก็ดี ได้ทําให้พระมหากษัตริย์ของเรากลายเป็นพระอิศวรไปได้เลย เรารู้สึกแต่เพียงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเท่านั้น นอกจากนั้นเราเป็นพุทธศาสนิก ย่อมไม่นิยมที่จะยึดถือว่าพระองค์คือพระอิศวรเป็นเจ้า

ตามที่ได้ลําดับ อาการเปลี่ยนแปลงแห่งความยึดถือของคนไทยในลักษณะแห่งตําแหน่ง พระมหากษัตริย์มาทั้งนี้ นับว่าความยึดถือตั้งนี้ได้เป็นอยู่ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มาจนถึงปัจจุบัน เพียง พ.ศ. 2475 นั้น ลักษณะแห่งตําแหน่งพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปในทางจะให้เหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน อันโลกย่อมอนุโลมเข้าหาแบบแผนทางยุโรปมากขึ้นทุกที ส่วนภายหลัง พ.ศ. 2475 นั้น ไม่อยู่ในขอบเขตแห่งปาฐกถาอันนี้

ในระยะนี้ (ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มา และก่อนนั้นเล็กน้อย) การที่จะจํากัดให้ออกกฎหมายภายใน มูลคดี 39 ข้อ เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะปัญหาปกครองบ้านเมืองกว้างขวางขึ้นหลายเท่าพันทวี เช่นจะออกกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ก็ไม่รู้จะเอาเข้าในมูลคดีข้อใด พระมหากษัตริย์จึงทรงใช้อํานาจทางนิติบัญญัติเต็มที่ การผ่อนผันเข้าหาปัจจุบันสมัยนั้น ส่วนที่เกี่ยวกับตําแหน่งพระมหากษัตริย์ โดยมากย่อมเป็นไปในทางที่จะจํากัดพระราชอํานาจลงโดยลําดับ

โดยพระองค์ทรงริเริ่มขึ้นเองทุกเรื่อง อาทิ คือการเลิกทาส การแยก เงินแผ่นดินออกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก (รัชกาลที่ 5) และการสละสิทธิยกเว้นภาษีอากรให้แก่พระคลังข้างที่ (รัชกาลที่ 6) การถือน้ำซึ่งข้าราชการสาบานว่าจะชื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดินเล่า แต่เดิมมาข้าราชการ ถือฝ่ายเดียว ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งธรรมเนียมใหม่ คือทรงดื่มน้ำพระราชทานสัตย์ แก่ข้าราชการด้วย การสืบราชสมบัตินั้น ถึงแม้ว่าจะได้อนุโลมเข้าหาธรรมเนียมฝรั่ง ที่ว่าให้พระราชโอรส พระองค์ใหญ่มีสิทธิ์ที่จะรับสืบราชสันตติวงศ์ ก็จริง แต่ก็ยังต้องรับรองกันในที่ประชุมเจ้านายและข้าราชการ ผู้ใหญ่อยู่ดี ธรรมเนียมนี้ยังใช้อยู่จนถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเสวยราชย์ สืบต่อมาจาก สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพราะไม่มีพระโอรส

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตามหลักเดิมของไทยนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตลงที่ประชุมที่กล่าวมาแล้วนั้น เลือกพระมหากษัตริย์ใหม่ แต่พระองค์ทรงเป็นแต่ผู้สําเร็จราชการแผ่นดินไปก่อน จนกว่าจะได้ทรงรับราชาภิเษก ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับนั้น เครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น พระเศวตฉัตรมีเพียง 7ไม่ใช่ 9 ชั้น คําสั่งของพระองค์ ไม่เป็นโองการ ฯลฯ เหตุฉะนั้นจึงมักต้องรีบทําพิธีนี้เสีย สิ่งเหล่านี้ในสมัยปัจจุบันมิได้ถือเคร่งครัด

พิจารณาดูในประวัติศาสตร์ ปรากฎความในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท[6] แห่งสุโขทัยว่า พ่อขุนผาเมืองอภิเษกสหาย พ่อขุนบางกลางท่าว[7] ให้เป็นผู้ครองสุโขทัย ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะได้ธรรมเนียม อภิเษกมาจากเขมรหรือมอญ เพราะทางเขมรโบราณถือลัทธิพราหมณ์ ย่อมมีการอภิเษกไม่ต้องสงสัย พยานก็มีอยู่ว่า น้ำที่พุออกมาจากเขาลิงคบรรพตข้างบนวัดภู ใต้นครจําปาศักดิ์ นั้น ใช้เป็นน้ำอภิเษกตามความในศิลาจารึก (พ.ศ.1132) นั้น พระราชพงศาวดารไทยไม่บรรยายทําพิธีบรมราชาภิเษกว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง

จนกระทั่งถึงคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศรับราชสมบัติ ใน พ.ศ. 2275 ซึ่งทําเป็นพิธีลัด เพราะแย่งชิงราชสมบัติกับพระราชนัดดาอยู่ พระเจ้ากรุงธนบุรีจะได้ทรงทําพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือไม่ ท่านผู้รู้ไม่รับรอง แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้ทรงพบหนังสือทางปักษ์ใต้อ้างพระบรมราชโองการของท่านจึงทรงสันนิษฐานว่าถ้ามิได้รับราชาภิเษกก็คงไม่ใช้พระบรมราชโองการ

ที่เราทราบแน่นอนนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น ได้ทรงทําพิธีอย่างลัดครั้งหนึ่งก่อน แล้วก็ติดงานพระราชสงครามกับพม่า จนหมดห่วงเรื่องนี้แล้ว จึงทรงตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน ให้สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน พอการสร้างพระนครทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จลง จึงได้ทรงทําบรมราชาภิเษกโดยพิสดารอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2328

เข้าใจกันว่าพิธีพราหมณ์ที่ไม่เกี่ยวกับส่วนภาษาบาลี ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 นั้น คงจะสําเร็จรูปขึ้น ในงานคราวนี้ โดยได้ของเก่ามาเทียบเคียงพิธีพราหมณ์ที่ว่านี้ หมายถึงพิธีที่เรียกว่าเปิดประตูไกลาส[8] เป็นการอัญเชิญพระอิศวรให้เสด็จลงมาจากเขาไกลาส เป็นภาษาที่ไม่มีผู้ใดรู้ชัดเจนมานานแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้โปรดให้พราหมณ์อารย ซึ่งรับปริญญาภาษาโบราณมาแต่อินเดีย ตรวจสอบดู พราหมณ์เห็นว่าเป็นภาษาชนิดที่ใช้ในสมัยคัมภีร์ตันตระ เข้าใจว่าคัมภีร์ที่ชื่อไตตติรีย อารณฺยก และไตตฺติรีย พราหมณ แต่เมื่อพราหมณ์อารยถึงแก่กรรมลง ทางราชการได้พราหมณ์ศาสตรีเข้ามาแทน ที่หอสมุดสําหรับพระนคร ท่านผู้นี้เห็นแย้งว่าเป็นภาษาทมิฬโบราณ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับน้ำอภิเษกประจำทิศ พระราชครูวามเทพมุนี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายน้ำเทพมนต์ด้วยพระมหาสังข์ (ภาพจากหนังสือพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน จัดพิมพ์โดยสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ. ๒๕๒๕)

ลักษณะของพิธีบรมราชาภิเษกเวลานี้ เรามักจะเข้าใจตามธรรมเนียมฝรั่งไปเสียว่า สําคัญอยู่ที่ การสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าแต่เดิมเห็นจะสําคัญอยู่ที่การทรงรับน้ำอภิเษก เพราะชื่อพิธีก็บ่งอยู่เช่นนั้นแล้ว

การบรมราชาภิเษกพิสดารในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2328 นั้นได้เป็นแบบแผนต่อมา โดยเปลี่ยนรายการบางอย่าง ที่แปลกไปจากนั้นมากที่สุดก็คือ พระราชนิพนธ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งพราหมณ์ และราชบัณฑิตกราบบังคมทูลเป็นภาษาบาลี แล้วแปลเป็นภาษาไทย และพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบทั้งสองภาษานั้น ในระยะแสดงปาฐกถานี้ ข้าพเจ้าไม่มีเวลาที่จะลําดับการเปลี่ยนแปลง จึงขอลัดไปเล่าถึงงานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 เป็นแบบอย่าง โดยชี้แจงบางระยะว่าอะไรใหม่ อะไรเก่า ตลอดไป

ก่อนเริ่มพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ ได้มีการเสกน้ำสรงที่ปูชนียสถานสําคัญ หรือที่มณฑล ทั้ง 17 มณฑล เพิ่มวัดมหาธาตุสวรรคโลก ซึ่งอยู่ในมณฑลพิษณุโลกอีกแห่งหนึ่ง รวมเป็น 18 แห่ง ส่วนที่กรุงเทพฯ ก็มีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระซาตา และพระราชลัญจกรแผ่นดิน

ครั้นถึงกําหนดงาน ก็มีพิธีตั้งน้ำวงด้ายด้วยวัน 1 กับสวดมนต์เลี้ยงพระอีก 3 วัน ซึ่งไม่สู้จะมี ลักษณะแปลกไปจากสวดมนต์เลี้ยงพระตามธรรมดามากนัก แปลกแต่มีการประกาศเทวดาในเวลาเย็นทั้งสามวัน ครั้นถึงวันที่ 4 เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงพระมูรธาภิเษกสนานแล้วทรงเครื่องต้น ออกสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระราชอาสน์แปดเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่าพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้พระเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ราชบัณฑิตและพราหมณ์นั่งประจําทิศทั้งแปด ผลัดเปลี่ยนกันคราวละทิศ กล่าวคําอัญเชิญให้ทรงปกปักรักษาทิศนั้นๆ แล้วถวายน้ำอภิเษกและถวายพระพรชัย

เมื่อเวียนไปจนครบแปดทิศแล้ว กลับมาประทับทิศตะวันออก หัวหน้าราชบัณฑิตซึ่งนั่งประจําทิศตะวันออก กราบบังคมทูลรวบยอดอีกที่หนึ่ง จึงเสด็จสู่พระราชอาสน์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพระที่นั่งภัทรบิฐ จึงพระมหาราชครู (ในรัชกาลที่ 7 เป็นเพียงพระราชครูวามเทพมุนี ว่าที่พระมหาราชครู)[9] ร่ายเวทสรรเสริญไกลาส จนเสร็จพิธีพราหมณ์ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาบาลีก่อน แล้วแปลเป็นไทยว่า

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ขอได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาศแก่ข้าพระพุทธเจ้า ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับพระมุรธาภิเษก เป็นบรมราชาธิราช เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ของประชาชนชาวสยาม เหตุดังนั้นข้าพระพุทธเจ้า ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท มีท่านเสนาบดีเป็นประทาน และสมณะพราหมณาจารย์ ทั้งปวง พร้อมเพรียงมีน้ำใจเป็นอันเดียวกัน ขอขนวนนามพระปรมาภิไธยถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดั่งได้จารึกไว้ในพระสุพรรณบัตรนั้น และขอมอบ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันสมพระราชอิสริยยศ ขอได้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธย ดั่งได้ทรงกําหนดนั้น และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์นี้ ครั้นแล้วขอได้ทรงราชภาระ ดํารงราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชนสืบไป

ทรงรับว่า ชอบละ พราหมณ์

ลําดับนี้พระมหาราชครูจึงถวายพระสุพรรณบัฏ พระสังวาลสามสายและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงอัษฎาวุธ

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามตํารามีห้าอย่าง อะไรบ้างนั้น ไม่ตรงกันทุกตําราไป อย่างไรก็ดี ที่พระมหาราชครูถวายนี้คือ

1.พระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงรับมาสวม ขณะนี้ ในสมัยปัจจุบันอนุโลมเป็นขณะสําคัญที่สุด แห่งงานพระบรมราชาภิเษก พราหมณ์เป่าสังข์ขับบัณเฑาะว์ชาวประโคมๆ แตรสังข์ดุริยดนตรี ทหารยิงปืน ถวายคํานับ พระสงฆ์ย่ำระฆังและสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร

2.พระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งถือว่าเป็นพระแสงของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แห่งเขมรโบราณ เป็นพระแสงคู่บ้านคู่เมืองของเขมรนั้น

3.พระแส้จามรี เป็นราชกกุธภัณฑ์อันนิยมกันว่าเป็นของสูงคู่พระองค์พระมหากษัตริย์มาแต่อินเดียโบราณ

4.ธารพระกร และพระแส้หางช้างเผือก ปนเปอยู่ในเบญจราชกกุธภัณฑ์ แต่เข้าใจว่าไม่ได้อยู่ในตํารับเดิม คงจะแทรกภายหลัง

5.ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นราชกกุธภัณฑ์สําคัญอันหนึ่งตามแบบอินเดียโบราณ ในทศรถชาดก ซึ่งเป็นต้นฉบับโบราณอันหนึ่งของนิทานพระราม เล่าว่าเมื่อพระภรตไปวิงวอนพระรามในป่า ให้กลับมาทรงราชย์นั้น พระรามไม่ยอมกลับ จึงพระราชทานฉลองพระบาท ซึ่งพระภรตเชิญมาประดิษฐานไว้ แทนพระองค์พระรามบนราชบัลลังก์ในกรุงอโยธยา

เลข 1 2 3 5 กับพระเศวตฉัตร รวม 5 อย่างนี้ เข้าใจว่าเป็นเบญจราชกกุธภัณฑ์ตาม ตํารับเดิมของลังกา (ดูมหาวงศ์พงศาวดารลังกาทวีป เล่ม 1 หน้า 278)

มีเครื่องราชูปโภค คือ พระแสงฝักทองเกลี้ยง เป็นพระแสงประจําพระองค์ที่มหาดเล็ก เชิญตามเสด็จ ธารพระกรเทวรูป พระสุพรรณศรีบัวแฉก พานพระขันหมาก พระมณฑป พระเต้าทักษิโณทก เป็นเครื่องทรงใช้ประจําวัน ซึ่งมหาดเล็กเชิญตามเสด็จทุกงานพระราชพิธี

ส่วนพระแสงอัษฎาวุธ คือ พระแสงแปดองค์นั้น เป็นอาวุธพระเป็นเจ้า (ตรี จักร ธนู) บ้าง เป็น พระแสง อันมีเรื่องทางประวัติศาสตร์ (พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง หมายถึงพระนเรศวรทรงยิงข้ามแม่น้ำนั้น ไปถูกแม่ทัพพม่าตาย) บ้าง อื่นๆ อีกบ้าง

แล้วพระสิทธิชัยบดีจึงกล่าวคําถวายพระเศวตฉัตร และพราหมณ์อื่นกล่าวศิวเวท วิษณุมนตร์ เป็นภาษาโบราณ และถวายชัยด้วยมคธและสยามภาษซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงรับว่า

ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่อาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญ

พระมหาราชครูรับว่า

ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบรมราชโองการ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทประถม ธรรมิกราชวาจา ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

นี้เป็นระยะสําคัญที่สอง เพราะพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการเป็นครั้งแรก แล้วทรงหลั่งน้ำ จากพระเต้าทักษิโณทก ตั้งสัตยาธิษฐานที่จะทรงเป็นธรรมิกราช จึงมีการประโคมเซ็งแซ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อสุดเสียงประโคม จึงทรงโปรยพิกุลเงินทองแก่พราหมณ์ แล้วเปลื้องเครื่องทรงบางอย่าง เช่น พระมหาพิชัยมงกุฏ แล้วเสด็จขึ้นจากมหาสมาคมสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับพรจากพระสงฆ์ราชาคณะที่เข้างานวันก่อน มาแล้วทั้งสามวัน เป็นเสร็จงานส่วนใหญ่ในตอนเช้า

ครั้นตอนกลางวัน ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จฯ ออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับพรจากมหาสมาคมแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตยราชบริพาร มีพระราชดํารัสขอบใจ และทรงอนุญาตให้ผู้ทําราชการคงดํารงตําแหน่งสืบไปด้วย พิธีนี้ของเดิมไม่ใช่แต่การถวายพระพรเท่านั้น แต่ท่านมุขอํามาตย์หัวหน้ารัฐบาลทั้งหก คือ สมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเสนาบดีเวียง วัง คลัง นา ซึ่งเรียกว่า จตุสดมภ์ ต่างถวายราซสมบัติอันอยู่ในหน้าที่ของตน เป็นต้นว่า

(ในรัชกาลที่ 2) สมุหพระกลาโหมถวาย รถหลวง เรือหลวง ศัสตราวุธและหัวเมืองขึ้นกลาโหม สมุหนายกถวายพระยาช้างต้น ม้าต้น พลเรือนและหัวเมืองขึ้นมหาดไทย เสนาบดีคลังถวายราชพัทยากรและราชสมบัติทั้งสิบสองท้องพระคลัง ฯลฯ เมื่อถวายทั่วแล้วจึงพระราชทานอนุญาตให้บรรดาข้าราชการดํารงตําแหน่งรักษาราชอาณาและราชสมบัติ ในหน้าที่ ของตนๆ สืบไป

ต่อจากนี้เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฝ่ายในเฝ้าถวายพระพรเช่นฝ่ายหน้าในสมัยโบราณ เป็นหน้าที่ท้าววรจันทร์ถวายสิบสองพระกํานัล แต่ธรรมเนียมนี้ได้เลิกไปตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ในรัชกาลที่ 7  ได้เติมการทรงสถาปนาพระชายาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในระยะนี้

เวลาเย็นเสด็จไปทรงแสดงพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภก ต่อหน้าคณะสงฆ์ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยกระบวนราชอิสริยยศ แล้วเสด็จฯ ขึ้นทรงสักการะสมเด็จพระบรมราชบูรพการีทุกพระองค์

อนึ่ง ค่ำวันนี้ เสด็จขึ้นเถลิงพระราชมนเทียร ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพิธีอย่างคนไทยขึ้นบ้าน คือประทับบนพระแท่นบรรทม ทรงรับกุญแจทอง จั่นหมากทอง ธารพระกร พันธุ์ผัก หินบด และแมว ฯลฯ เจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายในถวายพระพร แล้วเอนพระองค์ลงบนพระแท่นบรรทม พอเป็นมงคลฤกษ์

งานบรมราชาภิเษกแท้ ๆ นับว่ายุติลงเพียงนี้ (เว้นอย่างเดียวซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) แต่ยังมี งานมงคลและสังคมต่อจากนี้อีกในวันต่อๆ มา เช่น การที่เจ้านาย ข้าราชการ ถวายดอกไม้ธูปเทียนสักการะพระองค์ ในฐานะพระมหากษัตริย์ การที่ทรงอาราธนาพระมหาเถรมาถวายเทศนาว่าด้วยมงคลธรรมและหน้าที่พระราชา ผู้ใด้ทรงรับอภิเษกการที่คณะต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายพระพรชัย เป็นต้น

ส่วนท้ายของบรมราชาภิเษกที่ยังจะกล่าวถึง ต่อไปก็คือ เลียบเมือง อันเป็นธรรมเนียมมีมาแต่อินเดียโบราณ ดังปรากฏในพระบาลีต่าง ๆ มีชาดก เป็นต้น ทางพราหมณ์ก็นิยมธรรมเนียมนี้ดุจกัน ดังปรากฏในคัมภีร์อัคนิปุราณ เป็นต้น แต่เดิมที่พระมหากษัตริย์ เสด็จประทักษิณพระนคร เพื่อแสดงพระองค์แก่ทวยราษฎร ครั้นมาในรัชกาลที่ 4 ทรงแปรรูปงานนี้เป็นการเสด็จฯ ไปสักการะพระศาสนาในพระอารามที่สําคัญ เป็นงานสองวัน บกวันหนึ่ง เรือวันหนึ่ง แล้วเป็นเสร็จการ

เชิงอรรถ

[1] ตามความหมาย คําว่า หินยาน หรือหีนยาน แปลว่า ยานชั้นเลว หรือยานชั้นต่ำ หรือยานเล็กๆ พาหนะเล็กๆ ส่วน มหายาน แปลว่า ยานสูงสุด หรือพาหนะขนาดใหญ่ สําหรับทัศนะที่ว่านิกายหินยานหรือหีนยาน เป็นนิกายด้อยหรือ ต่ำกว่ามหายาน น่าจะมาจากที่นิกายมหายานมีแนวคิดในการบําเพ็ญตนเช่นพระโพธิสัตว์ที่ช่วยเหลือนําพาสรรพชีวิตทั้งหลาย ในโลกให้หลุดพ้นความทุกข์ก่อนจะสําเร็จเป็นพระพุทธองค์ หรือบําเพ็ญตนดุจพาหนะขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถบรรจุสรรพชีวิต ได้จํานวนมากในการส่งถึงฝั่งคือบรรลุธรรมหรือพ้นทุกข์ ในขณะที่หินยานหรือหีนยาน มีแนวคิดมุ่งเน้นการปฏิบัติเพื่อให้ ตนเองหลุดพ้นทุกข์หรือบรรลุธรรม จึงถูกมองว่าเป็นเพียงพาหนะขนาดเล็ก ๆ สามารถช่วยเหลือผู้คนหลุดพ้นทุกข์ได้น้อยกว่า

[2]แม่น้ำคงคือ แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสายนี้นับเป็นแม่น้ำสําคัญของโลกสายหนึ่ง ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่ามีความสําคัญรองจากแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวินมีต้นกําเนิดจากการละลายของหิมะบริเวณที่ราบสูงธิเบต ไหลผ่านประเทศ จีน เมียนมา แล้วไหลสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ (Mataban Guk) บริเวณที่ตั้งเมืองเมาะลําเลิงหรือมะละแม่ง (Moul mein) ตลอดระยะทางที่ไหลผ่านดินแดนต่าง ๆ แม่น้ำสายนี้มีหลายชื่อเรียกแตกต่างกัน ช่วงแรก แม่น้ำนี้ไหลผ่านมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เรียกว่า “นูเกียง” (Nu Giang) เมื่อไหลผ่านเข้าสู่เขตประเทศเมียนมา ชาวไตเรียกว่า “น้ำคง” (Nam Kong) เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองอื่น ๆ ในล้านนา เช่น ลัวะ ไตสอง ไตลื้อ ตาระอัง ปกากะญอ ส่วนออกชื่อเรียกแม่น้ำสาละวิน ในสําเนียงใกล้เคียงกันว่า “คง” ส่วนชาวพม่าเรียกว่า “ตาลวิน” (Talween) ซึ่งชาวอังกฤษเรียกเพี้ยนเป็น “สาละวิน”

[3] เตลิงคนะ มาจาก Telingana ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ใช้ว่า กลิงค์ (กะ-สิ่ง)

[4] สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

[5] เป็นพิธีปิดพระศพที่ทําต่อท้ายการบําเพ็ญพระราชกุศลครบ 100 วัน ระหว่างรอเวลาสร้างพระเมรุแล้วเสร็จ มีขึ้นครั้งแรกในคราวงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พิธีนี้ทําต่อมาอีก สองสามครั้งก็ยกเลิกไป บางแห่งใช้ว่า มฤตกวัตร หรือ มฤตกวัฏ ก็มี

[6] พระมหาธรรมราชที่ 1 (ลือไทย, ลิไทย)

[7] คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ สําหรับพระนามเดิม พ่อขุนบางกลางท่าว บางแห่งใช้ว่า พ่อขุนบางกลางหาว ก็มี

[8] บางแห่งใช้ว่า ไกรลาส

[9] คือ พระราชครูวามเทพมุนี (หว่าง รังสิพราหมณกุล)