การปรับตัวของนายทุนจีน ภาพสะท้อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยุค 2490 ตอนที่ 1

“ชาวจีนในเมืองไทยใช้กระทะเหล็กทำอาหาร” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า กรุงเทพฯ

การ “ปรับตัว” ของ “นายทุนจีน” ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในทศวรรษ 2490 โดย ณัฏฐพงษ์ เลี่ยววิวัฒน์อุทัย นักศึกษาปริญญาโทภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความนำ

บทความนี้มีจุดประสงค์ที่จะเสนอ “คำอธิบายใหม่”  เกี่ยวกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2490 ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เนื่องจาก “คำอธิบายเดิม”  ที่มีอยู่นั้น “หยาบ”  เกินไปเพราะมักจะให้ความสนใจในประเด็นความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการอธิบายประวัติศาสตร์อย่าง “ไม่มีพลวัต”  จนทำให้มองไม่เห็นความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2490 ทั้งๆ ที่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องทำการ “ปฏิวัติ” เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบและนโยบายในการบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาและเข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยใหม่

งานที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากที่สุดและถือว่าเป็น “คำอธิบายหลัก” ของประวัติศาสตร์ไทยในช่วงทศวรรษ 2490 ก็คืองานของ “ทักษ์ เฉลิมเตียรณ” และงานของ “สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ” โดยที่งานทั้ง 2 ชิ้นนี้ให้ความสำคัญอยู่ที่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมือง ประวัติศาสตร์การเมืองช่วงนี้จึงมีลักษณะเป็น “การปกครองของอำนาจสามฐาน” ซึ่งมีลักษณะดังนี้คือ หลังการรัฐประหาร 2490 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร ดังนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงไม่ใช่ผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง กลุ่มที่กุมกำลังที่แท้จริงมีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มซอยราชครู” ที่นำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ กับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งกุมกำลังของกรมตำรวจไว้อย่างเหนียวแน่น และกลุ่ม “สี่เสาเทเวศร์” ซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำและได้กุมอำนาจทางด้านกองทัพอย่างแน่นหนา แต่อย่างไรก็ตามฐานะพิเศษของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการเป็นผู้นำของชาติที่โดดเด่นเพียงคนเดียวซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในบรรดาคณะผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 ก็เป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ชี้ขาดระหว่างขั้วอำนาจทั้งสอง ดังนั้นเมื่อไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดจึงเกิดการถ่วงดุลและแข่งขันกัน และงานทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็จะให้คำอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองอยู่ในกรอบความขัดแย้งดังกล่าวนี้

ส่วน “คำอธิบายหลัก” ทางด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจนั้น ก็คือการมองว่าเศรษฐกิจช่วงนี้เป็นช่วงของ “ทุนนิยมโดยรัฐ” หรือ “ทุนนิยมขุนนาง” ผลงานที่โดดเด่นและใช้อ้างอิงกันอย่างกว้างขวางคืองานของ สังศิต พิริยะรังสรรค์

ระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” หรือ “ทุนนิยมขุนนาง” มีลักษณะดังนี้คือ รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำนโยบายทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยอ้างว่าเพื่อกำจัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวต่างด้าว รวมทั้งส่งเสริมให้คนไทยรู้จักประกอบธุรกิจการค้าโดยจะมีรัฐบาลเป็นผู้นำในการทดลองทำธุรกิจต่างๆ ไปก่อน และในช่วงนี้เองรัฐบาลจึงเพิ่มบทบาทและเข้าควบคุมเศรษฐกิจมากขึ้น ก่อนปี 2488 รัฐบาลก่อตั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทกึ่งราชการขึ้น 30 บริษัท อีก 19 บริษัท ตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2489-95 และ พ.ศ. 2496-99 ก่อตั้งเพิ่มขึ้นอีก 77 บริษัท แต่ว่านโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมนี้ ได้ถูกหยิบมาเป็นข้ออ้างในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้นำฝ่ายทหาร โดยหวังที่จะใช้ฐานอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องรองรับและขยายฐานอำนาจทางการเมืองอีกทอดหนึ่ง

ดังนั้นในช่วงนี้ผู้มีอำนาจทางการเมืองจึงได้เข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจและบริษัทกึ่งราชการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังตั้งธุรกิจการค้าของตนขึ้นมาเองอีกด้วย เช่น กลุ่ม “ซอยราชครู” ก็จะมี บริษัททหารสามัคคี (2490) ศรีอยุธยาประกันภัย (2493) ค้าไม้ทหารสามัคคี (2494) ประกันชีวิตศรีอยุธยา (2494) สามัคคีก่อสร้าง (2495) ป่านไทย (2495) ค้าสัตว์ทหารสามัคคี (2496) ศรีอยุธยาพาณิชย์ (2496) ค้าสัตว์เอ็กสปอร์ต (2497) ส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ (2497) เป็นต้น ส่วนธุรกิจการค้าที่ตั้งขึ้นและภายใต้อิทธิพลของกลุ่ม “สี่เสาเทเวศร์” มีดังต่อไปนี้คือ บริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ (2498) สหสามัคคีเดินเรือ (2499) สหพาณิชย์สามัคคี (2499) การค้าสามัคคี (2500) ทหารอยุธยา (2494) เหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ (2499) และธนาคารทหารไทย (2500) เป็นต้น

การทำธุรกิจของนายทหารเหล่านี้จะดำเนินไปในลักษณะที่ใช้อำนาจรัฐทำการผูกขาดและนำมาซึ่งอภิสิทธิ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทวิจิตรก่อสร้างของจอมพลสฤษดิ์นั้น จะรับก่อสร้างให้แก่สถานที่ราชการและองค์การของรัฐโดยไม่ต้องมีการประมูลแต่อย่างใด วิธีการดำเนินงานของบริษัทคือ จะมอบให้ นายมงคล ศรียานนท์ ผู้จัดการ เป็นผู้ไปวิ่งเต้นติดต่อกับข้าราชการระดับล่าง ส่วนจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้บีบข้าราชการระดับบน เพื่อให้อนุมัติมอบงานก่อสร้างที่นั้นๆ ให้แก่บริษัทของตน เมื่อบริษัทวิจิตรก่อสร้างรับมอบงานจากทางราชการมาแล้ว ก็จะนำไปให้บริษัทของพ่อค้ารับช่วงดำเนินการก่อสร้างต่อไป หรือบริษัทพิทักษ์สามัคคี ซึ่ง พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีก 6 นาย ได้ร่วมกันก่อตั้งใน พ.ศ. 2493 โดยการดำเนินงานธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทมีลักษณะเป็นนายหน้าค้าอาวุธให้แก่กรมตำรวจ ส่งหินให้กรมทาง และขอโควต้าข้าวจากรัฐบาล เพื่อนำโควต้านี้ไปขายแก่พ่อค้าส่งออกอีกทอดหนึ่ง กล่าวในแง่ผลการดำเนินงานแล้ว บริษัทนี้ประสบความสำเร็จทางการค้าเป็นอย่างดี เพราะว่าสามารถประมูลขายอาวุธให้แก่กรมตำรวจได้อยู่เสมอจนกระทั่งพวกพ่อค้าพากันร้องเรียนไปยังรัฐบาลว่า กรมตำรวจให้การช่วยเหลือแก่บริษัทพิทักษ์สามัคคี

นอกจากจะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจและตั้งวิสาหกิจของตนเองเพื่อให้มีอภิสิทธิ์ในการผูกขาดแล้ว เหล่าผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในช่วงนี้ยังเข้าไปเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในวิสาหกิจเอกชนกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากนักการเมืองฝ่ายทหารมักใช้อำนาจที่พวกตนมีอยู่ทำการผูกขาดธุรกิจการค้า ทำให้ผู้ประกอบการเอกชนต้องเชิญนักการเมืองพวกนี้มาเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นคณะกรรมการของบริษัท โดยทั่วไปแล้วแบบแผนการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้ ประธานกรรมการจะเป็นผู้อุปถัมภ์ ส่วนพ่อค้าชาวจีนจะเป็นผู้บริหารงานที่แท้จริง ดังจะเห็นได้จากรายงานการจัดตั้งบริษัทการค้าแห่งใหม่เมื่อ พ.ศ. 2495 ได้ระบุว่า “…จะต้องแบ่งหุ้นไว้สมนาคุณแก่ผู้วิ่งเต้นช่วยเหลือพอสมควร…” ซึ่งการใช้ผลประโยชน์เพื่อซื้อความคุ้มครองเช่นนี้ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปในทศวรรษ 2490

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือ “ภาพรวม”  ของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ-การเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2490 ที่นักประวัติศาสตร์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศใช้อธิบายกันอย่างกว้างขวาง แต่สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้ว การใช้ “กรอบ”  ที่เน้นการ “แสวงหาผลประโยชน์”  และการ “แสวงหาความคุ้มครอง”  ของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและนักธุรกิจนายทุนเช่นนี้มาเป็นคำอธิบายประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2490 ทั้งหมด ก็จะทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลยในช่วงทศวรรษนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการมองประวัติศาสตร์อย่างไม่มี “พลวัต” หรือมองข้ามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ไป ทั้งๆ ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ ได้ก่อให้เกิด “คนชั้นกลาง” ขึ้นอย่างกว้างขวาง และเป็นกลุ่มคนที่มี “พลัง” และต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง” สูง จนเป็นกลาย “ตัวแปร” สำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นไป

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงทศวรรษ 2490

แม้ว่าระบบเศรษฐกิจในทศวรรษ 2490 จะถูกเรียกว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” แต่ว่าภายใต้ระบบดังกล่าวนี้ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและจะมี “นัยสำคัญ” ต่อระบบเศรษฐกิจ-การเมืองไทยในเวลาต่อมา นั่นก็คือการขยายตัวของ “ทุนภายใน” ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การขยายตัวของ “ทุนภายใน” นั้น ได้เริ่มกระบวนการมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ นั่นคือทำให้ทุนภายในประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจกับรัฐบาลก็ได้เปลี่ยนแปลงไป การแผ่ขยายของธุรกิจฝรั่งหยุดชะงัก บ้างก็ต้องถอนตัวออกไป ทำให้เกิด “สภาพสุญญากาศทางเศรษฐกิจ” ขึ้น เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว พวกพ่อค้าข้าวหรือ “เจ้าสัว” ได้เข้าไปครอบครองกิจการธนาคารและการขนส่งสินค้าทางเรือที่พ่อค้ายุโรปเคยเป็นเจ้าอยู่ นอกจากนี้ยังขยายกิจการไปยังธุรกิจนำเข้าและขายปลีก สร้างโรงงานใหม่ๆ และกิจการประเภทตัวแทนการค้าต่างๆ อีกด้วย

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างชาวญี่ปุ่นกับพ่อค้าชาวจีนในประเทศไทยมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ มีทั้งขัดแย้งและร่วมมือกัน ชาวจีนบางกลุ่มไม่ค้าขายกับชาวญี่ปุ่น ต่อต้านและไม่บริโภคสินค้าญี่ปุ่น แต่ชาวจีนอีกกลุ่มหนึ่งก็ร่วมมือกับชาวญี่ปุ่นและสามารถสร้างผลประโยชน์มากมายจากความร่วมมือในทางธุรกิจ นอกจากนี้ชาวจีนบางคนก็มีทั้ง 2 ลักษณะ คือ โดยเบื้องหน้าต่อต้านญี่ปุ่นแต่เบื้องหลังแอบค้าขายกับญี่ปุ่น หรือโดยเบื้องหน้าเป็นมิตรที่ดีกับญี่ปุ่น แต่เบื้องหลังส่งเงินสนับสนุนการต่อต้านญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในระหว่างสงคราม โรงงานอุตสาหกรรมของชาวจีนจำนวนมากยินดีที่จะผลิตสินค้าให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะได้ผลตอบแทนอย่างดี ด้วยลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้เอง จึงทำให้มีนายทุนจำนวนไม่น้อยที่สามารถสะสมทุนจากการค้าขายในช่วงสงครามจนกลายเป็น “เศรษฐีสงคราม” และพัฒนาต่อไปเป็นผู้นำในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศได้

เช่น นายสุกรี โพธิรัตนังกูร ผู้ริเริ่มทำธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาเขาได้กลายเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย นายถาวร พรประภา เริ่มกิจการค้าเศษโลหะและร้านซ่อมรถยนต์ จนกระทั่งกลายเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ นายเทียม โชควัฒนา เริ่มทำธุรกิจขายของชำ และพัฒนาเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค นายชิน โสภณพนิช เริ่มกิจการวัสดุก่อสร้าง ต่อมาได้ร่วมก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทต่างๆ นับร้อยแห่ง นายเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง เริ่มต้นทำธุรกิจธนาคารและประกันภัย และต่อมาเขาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แก้ว และผลิตภัณฑ์เคมี นายอุเทน เตชะไพบูลย์ เริ่มจากธุรกิจประกันภัย ต่อมาเป็นนายธนาคารชั้นนำ นอกจากนั้นยังทำธุรกิจขายส่งสุราอีกด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทสุรามหาราษฎร์ ตระกูลจิราธิวัฒน์ เริ่มต้นเปิดร้านขายของชำแล้วจึงขยายกิจการของตนไปสู่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในปัจจุบัน นายวิทย์ วิริยะประไพกิจ เริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับเศษโลหะช่วงเวลาสั้นๆ ภายหลังสงครามยุติลง ต่อมาบริษัทสหวิริยาของเขาขยายสู่อุตสาหกรรมเหล็กกล้าจนเป็นผู้นำทางด้านนี้ นายสุกรี อัษฎาธร เริ่มกิจการโรงงานทำน้ำแข็งในระหว่างสงครามและโรงงานน้ำตาลเมื่อ พ.ศ. 2489 เป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มธุรกิจเกษตรไทยรุ่งเรือง กลุ่มธุรกิจเกษตรของเบทาโกร กวางซุ่นหลี และมิตรผล ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นจากบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อตอนปลายทศวรรษ 2480

ซ้าย-เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง, กลาง-เทียม โชควัฒนา, ขวา-ถาวร พรประภา

นอกจากนั้นยังพบว่าได้เกิดการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจออกไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น และทำให้เกิด “นายทุนท้องถิ่น” ขึ้นซึ่งนายทุนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีบทบาทและสะสมทุนอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ จนสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทในระดับประเทศได้ในเวลาต่อมา เช่น นายจุติ บุญสูง ผู้ทำเหมืองแร่ดีบุกที่สำคัญที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นายปัญญา งานทวี นายทุนท้องถิ่นค้ายางที่สำคัญในจังหวัดภูเก็ต หลวงอนุภาษภูเก็ตการ หรือ จินหงวน หงษ์หยก นายทุนภูเก็ตคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ขุนเศรษฐภักดี เป็นนายทุนใหญ่ท้องถิ่นผู้ประกอบกิจการหลายอย่างในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี และดำเนินกิจการค้ายางในจังหวัดทั้ง 2 นอกจากนี้ยังทำธุรกิจค้าข้าวโรงสีด้วย

หรือที่จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยมาแต่เดิม และมักจะเรียกกันว่า “ปากน้ำโพ” ในสมัยนั้น ก็พบว่ามีนายทุนการค้าที่สะสมทุนกับการค้าขายกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ “สวัสดิ์ไม้ไทย” ที่ทำการรับเหมาก่อสร้างกับญี่ปุ่นจนกลายเป็นเจ้าของโรงแรมสวัสดิ์ไม้ไทยในอดีตซึ่งปัจจุบันได้ขายกิจการและกลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมไอราวัณในปัจจุบันนี้ เฮงหลิมรับเหมาก่อสร้างกับญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน และนายชุ่นเส็ง (อโนดาต) เป็นต้น

ภายหลังสงครามโลกแม้ว่าจะเกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที จนปัญหาทางเศรษฐกิจกลายเป็นข้ออ้างหนึ่งของคณะรัฐประหารที่ทำการยึดอำนาจในปี 2490

หลังจากนั้นเพียงไม่นานก็เกิดสงครามเกาหลีขึ้น ถึงแม้ว่าสงครามในครั้งนี้จะมีขอบเขตจำกัดมิได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างดุจสงครามโลกครั้งที่ผ่านมา แต่ว่าสงครามเกาหลีได้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพราะภาวะสงครามเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความต้องการสินค้าออกต่างๆ อย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่สินค้ายุทธปัจจัย เช่น ยางและดีบุก ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่ง ตลอดจนผลิตผลเกษตรอื่นๆ ด้วย ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศที่เรียกกันว่า “Korean Boom”

แม้ว่าปรากฏการณ์ “Korean Boom”  นี้จะยุติลงในปี 2495 สงครามเกาหลีได้ยุติลงในปี 2495 ผลจากการยุติลงของสงครามได้ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูต้องกลับชะงักงันลง ภายใต้ภาวะดังกล่าวประเทศไทยของเราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงจากผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ สินค้าออกหลักซึ่งมีไม่กี่ชนิดและเคยขายได้ดีในช่วงสงครามเกาหลี คือ ข้าว ยาง ไม้สัก และแร่ กลับต้องชะงักลงขายไม่คล่อง โดยเฉพาะข้าวนอกจากปริมาณการส่งออกจะลดลงแล้ว ราคาก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำด้วย ส่วนยางและแร่นั้น เนื่องจากข้อผูกพันกับปัญหาสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีการกำหนดให้ควบคุมสินค้าที่เป็นยุทธปัจจัย ทำให้การส่งออกต้องหดตัวลง แม้แต่ไม้สักการส่งออกก็พลอยลดลงเพราะอำนาจซื้อที่เป็นของประเทศต่างๆ ที่เป็นลูกค้าตกต่ำ รวมทั้งยังมีไม้สักจากประเทศพม่าออกสู่ตลาดโลกเป็นคู่แข่งอีกด้วย

จากเหตุที่สินค้าออกหลักของประเทศต้องประสบปัญหาส่งออกได้น้อยลงเช่นที่กล่าว แต่ขณะเดียวกันสินค้าขาเข้ากลับมิได้มีการจำกัดปริมาณให้เหมาะสม ผลจึงปรากฏว่าดุลการค้าของประเทศไทยได้ตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา โดยเสียเปรียบเป็นมูลค่าประมาณ 905.7 ล้านบาทในปีนั้น และยังต้องเสียเปรียบต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงได้ลงมือแก้ไขโดยใช้มาตรการต่างๆ หลายประการ เช่น สกัดกั้นสินค้าเข้า เปลี่ยนมรรควิธีการค้าข้าวเสียใหม่เพื่อให้ขายสู่ตลาดโลกให้ได้มากที่สุด ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเร่งสร้างกำลังผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ มาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้มีการดำเนินงานติดต่อกันเป็นระยะๆ ตลอดมา

การที่รัฐบาลต้องหันมาแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นมาตรการสำคัญ ทำให้มีเอกชนให้ความสนใจที่จะลงทุนทางด้านนี้อยู่มาก จะเห็นได้ว่าโครงสร้างสินค้าของประเทศเริ่มเปลี่ยนจากเดิมในช่วงก่อนสงครามที่มักจะได้แก่สินค้าประเภทอุปโภคบริโภคเป็นส่วนใหญ่ มาเป็นการนำเข้าสินค้าประเภทกึ่งทุนและประเภททุน เช่น เครื่องจักร และจากข้อมูลของธนาคารกรุงเทพพบว่า ในปี 2494 ลูกค้าที่ขอกู้เงินไปลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด และได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงในรอบปี 2497 ยอดสินเชื่อที่อำนวยให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ก็มีสัดส่วนในสินเชื่อทั้งหมดสูงถึงกว่าร้อยละ 17 อันนับเป็นสัดส่วนที่อำนวยให้แก่ภาคอุตสาหกรรมสูงที่สุดนับตั้งแต่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้เปิดกิจการเมื่อปี 2487 เป็นต้นมา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับรายงานของคณะสำรวจเศรษฐกิจของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการที่ได้ทำการสำรวจไว้ในปี 2499 พบว่ากำลังผลิตทางอุตสาหกรรมของเอกชนได้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัวจากระดับปี 2493 ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงทุนถัวเฉลี่ยในระดับประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเท่ากับประมาณร้อยละ 15-20 ของยอดเงินลงทุนของเอกชนทั้งสิ้น เงินจำนวนนี้มิได้รวมเงินลงทุนในอุตสาหกรรมของรัฐบาลและบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ จำกัด อันเป็นบริษัทกึ่งราชการ และแม้ว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีอยู่จะไม่สมบูรณ์แต่ก็ยังแสดงว่า ตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมาจำนวนโรงงานและคนงานได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ถึงจะยังมีจำนวนน้อยอยู่ก็ตาม เงินลงทุนและกำลังแรงม้าที่ใช้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่านั้น ระวางขนส่งทางรถไฟได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า และจำนวนยานพาหนะที่ใช้ขนส่งผู้โดยสารและในการค้าได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว การก่อสร้างของเอกชนได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ตั้งแต่ปี 2495 และปริมาณวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการลงทุนแต่ละปี แสดงให้เห็นว่าเอกชนก็ได้ลงทุนในกิจการต่างๆ อย่างกว้างขวาง นอกไปจากที่รัฐลงทุนอยู่เองแล้ว

ส่วนทางด้านการเกษตรกรรมนั้นพบว่าในช่วงนี้ผู้ที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรก็เริ่มเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อขายและเกี่ยวข้องกับระบบตลาดมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการเกษตรที่เพิ่มขึ้นจาก 41 ล้านบาท ในปี 2496 มาเป็น 65 ล้านบาท ในปี 2500 ส่วนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเชื้อเพลิงก็เพิ่มขึ้นจาก 103 ล้านบาท ในปี 2495 มาเป็น 323 ล้านบาท ในปี 2500

จะเห็นได้ว่าในยุคที่เรามักเรียกกันว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” นั้น ระบบเศรษฐกิจภายในก็ขยายตัวอยู่ในระดับสูง การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เองได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นใน “สังคมไทย” และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้ “สังคมไทย” ในทศวรรษ 2490 มีลักษณะที่แตกต่างไปจาก “สังคมไทย” สมัยก่อนสงครามโลก แต่ก็ไม่เหมือนกับ “สังคมไทย” ในยุคการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในทศวรรษ 2490 ที่ไม่เน้นเพียงแค่ความขัดแย้งของคน 3 กลุ่ม หรือความขัดแย้งใน “โครงสร้างส่วนบน” จนเกินไปนัก และหันมาให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน “โครงสร้างระดับล่าง” ก็จะทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพประวัติศาสตร์ไทยอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยในบทความชิ้นนี้จะขอเสนอการ “ปรับตัว” ของ “นายทุนจีน” ในประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2490 เพราะตัวผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็น “ภาพสะท้อน” ที่จะทำให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน “สังคมไทย” ช่วงนี้ได้ดียิ่งขึ้น

สำนักงานใหญ่แห่งแรกของธนาคารกรุงเทพนั้นเช่าตึกแถว 2 ชั้น 2 คูหา แถบราชวงศ์ เป็นสำนักงาน เปิดทำการเมื่อ 2487

การ “ปรับตัว” ของ “นายทุนจีน” : การก้าวตามความเปลี่ยนแปลงในทศวรรษ 2490

เราอาจจะกล่าวได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ของประเทศ และได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่หลังจากเหตุการณ์ต่างๆ สงบลงแล้วจะต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานะและความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ให้เข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับกลุ่มนายทุนชาวจีนก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ อยู่อย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน นั่นคือ การเริ่มยอมรับความเป็น “ไทย” ที่มีมากขึ้น การปรับปรุงรูปแบบการบริหารกิจการที่ทันสมัยมากขึ้น และการสร้างเครือข่ายในกลุ่มนักธุรกิจที่กว้างขวางมากกว่ากลุ่มทางภาษา ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ประการนี้ล้วนเกิดขึ้นในบริบทความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย ในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา

การเริ่มยอมรับความเป็น “ไทย” ของ “นายทุนจีน”

ต้องขอกล่าวไว้ก่อนว่าการยอมรับความเป็น “ไทย” ของ “นายทุนจีน” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า  “นายทุนจีน” ลืมว่าตนเป็นคนจีนและกลายเป็นคนไทย 100 เปอร์เซ็นเต็ม แต่ในช่วงนี้ได้มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ “นายทุนจีน” เริ่มตั้งคำถามกับความเป็นคนจีนของพวกเขา นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องยอมรับความเป็นไทยมากขึ้นโดยไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม

บริบททางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศในสมัยนี้ก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยที่ทำให้เกิดสภาวะดังกล่าว บริบททางการเมืองในประเทศนั้น ตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยเริ่มใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมที่ยึดหลัก “ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้น” และใช้อย่างเข้มข้นในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้ง 2 สมัย นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมนี้มีลักษณะกีดกัน “คนต่างด้าว” และทำให้ “คนต่างด้าว” ประกอบธุรกิจการค้าได้ยากลำบากขึ้น เช่น การประกาศอาชีพสำหรับคนไทย เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจของ “คนจีน” จึงโดนมรสุมอย่างหนัก ถูกจับกุม เสียค่าปรับ รวมทั้งถูกบังคับโอนกิจการมาเป็นของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้ที่จีนแผ่นดินใหญ่ในปี พ.ศ. 2492 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ออกคำสั่งให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดสอดส่องดูแลคนจีนเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามนโยบายต่างๆ เหล่านี้จะใช้กับ “คนจีน” ที่ไม่ยอมกลายเป็นไทยเท่านั้น ส่วนคนจีนที่ทำให้เห็นว่ากลายเป็นไทยแล้วรัฐบาลไทยก็จะจับตามองน้อยกว่า

นอกจากแรงกดดันจากรัฐบาลไทยแล้ว ลัทธิชาตินิยมจีน เองก็ได้สร้างปัญหาให้กับนักธุรกิจชาวจีนในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการเคลื่อนไหวให้ทำการ “บอยคอต” สินค้าญี่ปุ่น รวมทั้งหยุดทำการค้าขายทุกชนิดกับประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้หาได้เป็นความยินยอมพร้อมใจของบรรดาพ่อค้าชาวจีนในประเทศไม่ แต่ที่ปฏิบัติตามก็เพราะว่าเกรงกลัวอิทธิพลเถื่อนของเหล่าสมาคมลับทั้งหลาย ที่จะปฏิบัติต่อพ่อค้าชาวจีนที่ค้าขายกับญี่ปุ่นด้วยวิธีการที่รุนแรงและเหี้ยมโหด ดังนั้นพ่อค้าชาวจีนบางคนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำในสมาคมพาณิชย์จีนจึงเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเพราะเท่ากับเป็นการทำลายธุรกิจของพ่อค้าชาวจีนเอง และด้วยบรรยากาศที่ตึงเครียดเช่นนี้ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวจีนบางส่วนเริ่มหันมาตั้งคำถามกับ “ความรักชาติ”  ที่เกินเลยความพอดี หรือ “ความรักชาติ” ที่ไม่อิ่มปากอิ่มท้องมากขึ้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงไปไม่นานนัก ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ท้าทาย “ความรักชาติ” ของชาวจีนในประเทศไทยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือในปี 2492 ที่จีนแผ่นดินใหญ่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยเหนือจีนคณะชาติ และได้เริ่มทำการปฏิรูปที่ดินในท้องที่ต่างๆ ข่าวคราวการถูกแบ่งแยกที่ดินทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลต่างรู้สึกไม่พอใจ เพราะที่ดินเหล่านั้นพวกเขาได้มาด้วยการทำงานหนัก ขณะเดียวกัน ก็มีชาวจีนอีกเป็นจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ปฏิบัติกับพวกเจ้าของที่ดินอย่างโหดร้ายรุนแรง ชาวจีนเป็นจำนวนนับร้อยในกรุงเทพฯ จะเล่าให้ฟังได้อย่างดีถึงเรื่องที่ญาติมิตรของเขาถูกจองจำและถูกประหารชีวิตในครั้งนั้น อย่างไรก็ตามชาวจีนในไทยต่างรู้ซึ้งถึงการที่รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์พยายามบังคับเรียกเก็บเงินจากพวกเขา จากเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ชาวจีนแต้จิ๋วและชาวจีนแคะในประเทศไทยต่างได้รับจดหมายจากญาติในเมืองจีนขอร้องให้ส่งเงินไปให้ในจำนวนที่มากขึ้นๆ ตามลำดับ พ่อค้าจีนคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งให้ส่งเงินไปให้แม่ยายของเขาที่เมืองซัวเถาเป็นจำนวนเงินถึง 10 ล้านเหรียญ (ประมาณหนึ่งหมื่นบาท) ชาวจีนในเมืองไทยเริ่มมีปฏิกิริยาต่อข้อเรียกร้องเช่นนั้นก็ต่อเมื่อเกิดกรณีตัวอย่างของพ่อค้าขายส่งคนหนึ่งซึ่งได้ขายกิจการของเขาในกรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมเงินส่งไปให้เจ้าหน้าที่จีนคอมมิวนิสต์ในเมืองกวางตุ้ง เพื่อปลดปล่อยมารดาของเขาออกจากที่คุมขัง แต่ชาวจีนคนนั้นมาทราบทีหลังว่ามารดาของเขาได้ถึงแก่กรรมไปแล้วหลังจากที่ออกมาจากที่คุมขังเพียงไม่กี่วัน เนื่องจากติดเชื้อวัณโรคจากที่คุมขังแห่งนั้น ส่วนผู้นำชาวจีนแคะคนหนึ่งได้รับจดหมายแจ้งมาว่า ภรรยาของเขาอาจถูกทรมานและถูกประหารชีวิต หากเขาไม่ส่งเงินไปให้ทางการจีนเป็นจำนวนสามแสนบาท ด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ได้ทำให้ชาวจีนต่างรู้สึกว่าความกระตือรือร้นของเขาต่อลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มจางลงไป ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 วงการตลาดการเงินในกรุงเทพฯ รายงานว่า การส่งเงินไปเมืองจีนลดน้อยลงไป ขณะเดียวกัน จากการสำรวจการส่งเงินของร้านค้าในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคมระบุว่า การส่งเงินไปเมืองจีนในแต่ละเดือนนั้นน้อยกว่า 40 เหรียญฮ่องกง ชาวจีนส่วนใหญ่เกรงว่าการส่งเงินไปเป็นจำนวนมากจะทำให้ทางการจีนคอมมิวนิสต์ถือว่าครอบครัวและญาติของเขานั้นอยู่ในชนชั้นประเภท  “ชาวนารวย” หรือมิฉะนั้นก็จะกะเกณฑ์ให้ต้องเสียภาษีมากยิ่งขึ้น

จากบริบททางการเมืองในช่วงนี้ ทั้งจากทางรัฐบาลไทยที่มีนโยบายที่จะกำจัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของ “คนต่างด้าว” อย่างจริงจัง ประกอบกับการกระทำที่รุนแรงและไร้เหตุผลของผู้นำชาวจีนใน “ขบวนการชาตินิยมจีน” ในประเทศไทย รวมทั้งการกระทำที่ขัดต่อ “หลักการ” ของนายทุนโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ล้วนมีส่วนทำให้พ่อค้าชาวจีนทั้งหลายในประเทศไทยต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความเป็นจีน” ของตนมากขึ้น และต้องเลือกระหว่างการเป็น “คนไทย” ที่ร่ำรวย กับการรักษาความเป็นจีนไว้อย่างเหนียวแน่นแต่ต้องอยู่อย่างยากจน นอกจากนั้นชัยชนะของจีนคอมมิวนิสต์ยังทำให้ “นายทุนจีน” ในประเทศไทยได้ตระหนักว่า “บ้าน” ของเขาคือประเทศไทย ต้องเร่งประกอบกิจการเพื่อสร้างความ “มั่งคั่ง” และ “มั่นคง” ให้ตนเองและครอบครัวเพื่อที่จะได้อยู่อย่างสุขสบายในประเทศไทย เพราะ “ความหวัง” ในการกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้หมดสิ้นลงแล้ว

การปรับปรุงรูปแบบ การบริหารกิจการให้ “ทันสมัย” 

จากหัวข้อที่แล้วได้กล่าวถึงบริบททางการเมืองที่ทำให้คนจีนต้องเริ่มยอมรับในความเป็นไทยมากขึ้นและต้องเร่งประกอบกิจการเพื่อสร้างความ “มั่งคั่ง” และ “มั่นคง” ให้ตนเองและครอบครัว ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ได้ไปสอดคล้องพอดีกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2490 กล่าวคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ส่งผลให้ “นายทุนจีน” ที่ต้องการสร้างเนื้อสร้างตัวต้องปรับรูปแบบ “การบริหารจัดการองค์กร” ที่แตกต่างออกไปจากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 “นายทุนจีน” กลุ่มใดสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลให้ธุรกิจกาค้าของตนดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพจนนำมาซึ่งผลกำไรอย่างมหาศาล ในทางตรงกันข้าม ถ้านายทุนกลุ่มใดที่ไม่ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการกิจการให้ทันสมัย นายทุนกลุ่มนั้นก็จะค่อยๆ หมดบทบาทลงไปในที่สุด

ลักษณะการบริหารจัดการธุรกิจของนายทุนจีนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นมีลักษณะที่เรียกกันว่า “การบริหารแบบธุรกิจตระกูล” คือการที่ใช้เครือญาติของตนไปทำงานในตำแหน่งต่างๆ ในกิจการของตระกูลและจะไม่เปิดโอกาสให้คนนอกที่มีความสามารถเข้ามามีบทบาทมากนัก ในกลุ่มนายทุนชั้นแนวหน้าอาจจะสร้างความสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานและก็ใช้คนในตระกูลที่เกี่ยวดองกันมาเป็นผู้บริหารกิจการ

การบริหารจัดการธุรกิจแบบตระกูลนี้เหมาะสมกับกิจการเล็กๆ ที่ไม่ค่อยสลับซับซ้อนเท่านั้น แต่ด้วยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจทำให้กิจการต่างๆ ขยายตัวออกไปมากขึ้น การบริหารจัดการกิจการก็จะต้องสลับซับซ้อนขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะนายทุนชั้นแนวหน้าทั้งหลายที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้และความชำนาญเป็นอย่างสูง เช่น กิจการธนาคาร กิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ธุรกิจที่จะเติบโตต่อไปได้ในทศวรรษ 2490 นี้จึงจำเป็นต้องล้มเลิกการบริหารงานแบบตระกูล และเปลี่ยนมาเปิดรับผู้ชำนาญการเฉพาะด้านหรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ซึ่งกิจการที่ใช้การบริหารจัดการที่แตกต่างกันก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จทางธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดพอสมควร

พ่อค้าชาวจีนระดับแนวหน้า 20 คน ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก Twentieth Century Impression of Siam, 1903)

จากการศึกษาของ พรรณี บัวเล็ก ได้พบข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีถึงความแตกต่างตรงนี้ กล่าวคือในขณะที่เศรษฐกิจและการค้าของประเทศขยายตัวอย่างมากในระยะปี พ.ศ. 2491-94 ธุรกิจตระกูลหวั่งหลีภายใต้การนำของ นายตันซิวติ่ง ซึ่งยังใช้นโยบายการบริหารงานลักษณะธุรกิจตระกูล การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเงินทุนและการบริหารงานจึงแทบจะไม่มีเลย ธนาคารหวั่งหลียังรักษาทุนในการดำเนินงานไว้เพียงแค่ 250,000 บาท และผู้บริหารงานที่สำคัญของตระกูลระยะนี้คือ นายตันซิวติ่ง “หวั่งหลี” ได้ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินงานเพียงแค่ 2 บริษัทเท่านั้น ได้แก่ บริษัทไทยเดินเรือโยงและลำเลียง ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2491 และบริษัทสหน้ำแข็งและห้องเย็น ตั้งเมื่อ 3 มีนาคม 2492

ในทางตรงกันข้าม นายชิน โสภณพนิช ผู้ที่สามารถสร้างฐานธุรกิจของตนได้อย่างมั่นคงในระยะเวลาอันสั้นและยังสามารถทำให้ธนาคารกรุงเทพพลิกจากธนาคารที่อยู่ในสภาพขาดสภาพคล่องทางการเงินให้กลายเป็นธนาคารชั้นแนวหน้าของประเทศได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ด้วยการปรับปรุงการบริหารจัดการให้ทันสมัยและเข้ากับสภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจและกิจการของตนอย่างสม่ำเสมอ (ซึ่งในประเด็นนี้ จะกล่าวโดยละเอียดในหัวข้อถัดไป) และนี่คือความแตกต่างระหว่างการบริหารจัดการแบบธุรกิจตระกูลกับการบริหารจัดการด้วยวิชาความรู้สมัยใหม่

การสร้างเครือข่ายในกลุ่มนักธุรกิจที่กว้างขวาง

นอกจากการเริ่มยอมรับความเป็นไทยและการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กรแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของ “นายทุนจีน” ในช่วงทศวรรษ 2490 ก็คือ การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนในประเทศไทยที่เปลี่ยนไป กล่าวคือแต่เดิมนั้นการรวมตัวกันเป็น “กลุ่มภาษา” จะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดของชาวจีนในประเทศไทย ซึ่งการรวมกลุ่มเช่นนี้เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีนแผ่นดินใหญ่อยู่แล้ว เมื่อชาวจีนอพยพเข้าในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้นำ “ภูมิปัญญา” ในการจัดตั้งองค์กรเช่นนี้เข้ามาด้วย

แต่ในช่วงหลังสงครามโลกเป็นต้นมา การรวมตัวกันเป็นกลุ่มภาษาเริ่มลดความสำคัญลง การสร้างความสัมพันธ์กันในกลุ่มพ่อค้านักธุรกิจเริ่มขึ้นมามีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการรวมกลุ่มอย่างหลังนั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อธุรกิจการค้ามากกว่า ดังนั้นในช่วงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่นกันระหว่างนายทุนกลุ่มต่างๆ จนสามารถสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจขึ้นมาได้ และยังเป็นนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบันนี้ นักธุรกิจชาวจีนที่จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในข้อนี้ได้ดีก็ได้แก่ นายชิน โสภณพนิช และกลุ่มธุรกิจตระกูลล่ำซำ

การดำเนินงานของ นายชิน โสภณพนิช ในช่วงนี้นอกจากอาศัย “อภิสิทธิ์” จากการเข้าหาผู้มีอิทธิพลทางการเมืองแล้ว วิธีการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเข้าร่วมมือกับพ่อค้าจีนโพ้นทะเลอย่างกว้างขวาง และพ่อค้าเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่กุมธุรกิจการค้าที่สำคัญ ได้แก่ การร่วมมือกับนายวิชัย ซอโสตถิกุล และนายเสริม คู่อรุณ ในบริษัทฮ่วยชวน ซึ่งทั้งสองคนล้วนเป็นพ่อค้ายางรายใหญ่มีร้านค้าของตัวเองในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเมืองท่ายางที่สำคัญ โดยกลุ่ม “ซอโสตถิกุล” มีบริษัทชื่อ น่ำหลี ส่วนกลุ่ม “คู่อรุณ” มีบริษัทชื่อ ฮ่วยฮะ ร่วมมือกับ นายณรงค์ สุทธิกุลพานิช (บุคคลหนึ่งที่ก่อตั้งธนาคารเกษตร) นักธุรกิจการเงินการประกันภัยสำคัญ ตั้งบริษัทวิธสินประกันภัย บริษัทบางกอกภัตราคาร และเข้าร่วมดำเนินงานในบริษัทกรุงเทพฯ ประกันภัย ร่วมมือกับ นายวัลลภ ธารวณิช นักธุรกิจการเงินชาวฮ่องกง และนายเกษียร สุพรรณานนท์ เจ้าของร้านทองเซ่งเฮงหลีตรามงกุฎ ดำเนินธุรกิจการเงินโพยก็วน และทองคำ ในบริษัทเอเชียทรัสท์ ร่วมมือกับ นายเบ้ เซาะง้ำ หรือ นายลักษณะบุญ อัศวนนท์ เจ้าของธุรกิจภาพยนตร์ที่สำคัญตั้งบริษัทภาพยนตร์กรุงเทพ และบริษัทค้าน้ำแข็งสะพานเหล็ก ร่วมมือกับนายกำธร วิสุทธิผล หรือนายก้วยซิดซิว เจ้าของบริษัทวิสุทธิผลผู้สั่งเครื่องยนต์และเครื่องจักรที่สำคัญรุ่นแรกๆ ของไทยเข้ามาจำหน่าย รวมทั้งมีกิจการค้าต่างๆ อยู่มาก ตั้งบริษัทเอเชียประกันสรรพภัย นอกจากร่วมมือกับชาวจีนในไทยแล้วยังร่วมมือกับชาวจีนในสิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเก๊า ตั้งบริษัทกรีนสปอตแห่งประเทศไทยขึ้น โดยนายชินเป็นชาวจีนที่ถือสัญชาติไทยแต่เพียงผู้เดียว เมื่อก่อตั้งครั้งแรกทำหน้าที่เป็นนายหน้าให้กับบริษัทฮั้งจงอินเวสเมนท์แห่งมาเก๊าเข้ามาลงทุนอีกทีหนึ่ง และผลจากการร่วมมือกับพ่อค้านักธุรกิจอย่างกว้างขวางก็ส่งผลให้ นายชิน โสภณพนิช เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 2490

ตระกูลล่ำซำก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจเพราะได้สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งของไทย คือ กลุ่มทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตัวแทนของกลุ่มทรัพย์สินฯ ในการสร้างและสานต่อความสัมพันธ์ ได้แก่ ร้อยเอก หม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) ซึ่งดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการในสมัยนั้น ท่านผู้นี้ได้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการและเข้าถือหุ้นในบริษัทของ “ล่ำซำ” 2 บริษัท คือ เข้าเป็นกรรมการในธนาคารกสิกรไทย เมื่อ 13 มีนาคม 2493 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ไม่นานก็ขอลาออกในปีเดียวกัน เมื่อ 28 กันยายน 2493 ร้อยเอก หม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ ยังได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งตั้งใน พ.ศ. 2493 โดยเข้าถือหุ้นจำนวนเล็กน้อยเพียง 50 หุ้น จากทั้งหมด 1,000 หุ้น บริษัทนี้นับว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประสบผลสำเร็จ มีจำนวนสินทรัพย์เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีแรกใน พ.ศ. 2494 มีสินทรัพย์ 3 ล้านกว่าบาท แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 2500 สินทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 18 ล้านกว่าบาท ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทรัพย์สินฯ และ “ล่ำซำ” ได้กระชับมากขึ้นเมื่อ นายเกษม ล่ำซำ ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่ เมื่อ 22 กันยายน 2499 บริษัทนี้นับว่าเป็นบริษัทของคนไทยที่ใหญ่ที่สุด เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายเดียวในประเทศไทยในระยะนั้น มีทุนจดทะเบียนถึง 120,000,000 บาท

นอกจากจะร่วมมือกับกลุ่มทุนในประเทศแล้วตระกูลล่ำซำยังได้ทำธุรกิจร่วมกับทุนต่างชาติอีกด้วย เช่น ร่วมมือกับตระกูลบิตตี้ในการจัดตั้งบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต พ.ศ. 2493 และได้ขยายกิจการของบริษัทล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) ออกไปเป็นบริษัทล็อกเล่ย์เครื่องเย็นใน พ.ศ. 2496 นอกจากนี้เมื่อบริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้าซึ่งเป็นบริษัทดั้งเดิมของ “ล่ำซำ” ต้องประสบกับการขาดทุนอย่างหนักนับแต่ปี 2495 เป็นต้นมา แม้บริษัทนี้จะแก้ไขโดยการเพิ่มทุนหมุนเวียนขึ้นเป็นระยะแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ตามบริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขการขาดทุนลงได้ จนต้องเพิ่มทุนขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2500 เป็น 3,200,000 บาท โดยครั้งนี้ได้เชิญ นายดอลลี พูล บิตตี้ แห่งบริษัทล็อกซเล่ย์ (ลอนดอน) เข้าร่วมบริหารเป็นกรรมการของบริษัทด้วย แล้วยังร่วมมือกับนายทุนชาติเยอรมันตั้งบริษัทล่ำซำอิมปอร์ต จำกัด ทำการสั่งสินค้าเข้าและส่งสินค้าออกใน พ.ศ. 2494 บริษัทนี้เป็นตัวแทนสั่งสินค้าจากประเทศเยอรมันเข้ามาจำหน่าย แต่ก็ต้องพบกับปัญหาทางการเงินเช่นเดียวกันกับบริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า ทำการค้าขาดทุนนับตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามแม้ว่าบริษัทล่ำซำอิมปอร์ต จำกัด ที่ตั้งขึ้นใหม่ในระยะนี้โดยร่วมมือกับนายทุนเยอรมันจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่บริษัทดั้งเดิมของ “ล่ำซำ” คือ บริษัทวูตุงปั๊ก ที่ร่วมมือกับนายทุนเยอรมันเป็นตัวแทนสั่งสินค้าเครื่องเหล็กต่างๆ “ตราตา” เข้ามาจำหน่ายกลับประสบความสำเร็จอย่างมากใน พ.ศ. 2491 เพิ่มจาก 100,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท และใน พ.ศ. 2487 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 4,000,000 บาท เนื่องจากกิจการขยายตัวออกไปมาก โดยบริษัทได้ขยายสาขาออกไปยังหาดใหญ่ เชียงใหม่ และนครราชสีมา

การสร้างเครือข่ายกับทุนตะวันตกของกลุ่มล่ำซำนั้น ในระยะนี้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักเนื่องจากตระกูลล่ำซำยังยึดการบริหารจัดการกิจการแบบธุรกิจตระกูลอยู่ แต่การสร้างเครือข่ายกับทุนตะวันตกนี้จะมีความสำคัญขึ้นมาในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นการ “ปรับตัว” ของนายทุนจีนที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ซึ่งการ “ปรับตัว” นี้เกิดท่ามกลางบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในช่วงทศวรรษ 2490 ที่มีความแตกต่างไปจากสภาพสังคมการเมืองไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และการปรับตัวเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อ “ก้าวตาม” สภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การ “ปรับตัว” ของนายทุนจีนในประเทศไทยจึงเป็นดัง “กระจก” ที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี กลุ่มทุนที่มีการ ปรับตัว ได้อย่างน่าสนใจที่สุดของทศวรรษ 2490 นี้ก็คือ ธนาคารกรุงเทพ

อ่านต่อ : การปรับตัวของนายทุนจีน ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทย 2490 ตอนที่ 2

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2562