การปรับตัวของนายทุนจีน ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทย 2490 ตอนที่ 2

ธนาคารกรุงเทพ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้เป็นธนาคารพาณิชย์ในพระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2510 ในแถวหน้าจากซ้ายนับจากคนที่ 3 บุญชู โรจนเสถียร ชิน โสภณพนิช และประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์

อ่าน การปรับตัวของนายทุนจีน ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทย 2490 ตอนที่ 1 (คลิก)

การ “ปรับตัว” ของ “นายทุนจีน” ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในทศวรรษ 2490 โดย ณัฏฐพงษ์ เลี่ยววิวัฒน์อุทัย นักศึกษาปริญญาโทภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ธนาคารกรุงเทพ : ภาพสะท้อน ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไทย ในช่วงทศวรรษ 2490

สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำให้ “ทุนยุโรป” ที่เคยมีอิทธิพลในวงธุรกิจการเงินต้องปิดกิจการไปจึงเกิดช่องว่างในธุรกิจด้านนี้ขึ้น คอมประโดร์และเสมียนพนักงานที่เคยทำงานในสำนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศจึงพยายามจะตั้งธนาคารของตนเองขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของบริษัทในกลุ่มของตนเอง เช่น นายลิ้ม ธรรมจารีย์ คอมประโดร์เก่าของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้จัดการของธนาคารไทย จำกัด เป็นต้น

การประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะแรก ภายหลังสงครามเลิกใหม่ๆ ยังมิได้เข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจเท่าไรนัก กิจกรรมหลักมักได้แก่การให้บริการแก่ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและนำเข้า นอกจากนั้นกิจการส่วนใหญ่ของธนาคารยังมุ่งไปในทางช่วยเหลือ “กลุ่มการค้า”  ในวงแคบๆ ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีเครือข่ายการค้าด้วยกันอยู่แล้ว เช่น ธนาคารหวั่งหลี ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจการค้าของตระกูลหวั่งหลีเป็นหลัก เป็นต้น

ธนาคารกรุงเทพ ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางเปลวไฟของสงคราม จากการริเริ่มของกลุ่มขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าคหบดีและอดีตพนักงานธนาคารสยามกัมมาจล กลุ่มคนเหล่านี้ได้ชักชวนกันเข้ามาร่วมหุ้นก่อตั้งธนาคารกรุงเทพเมื่อปลายปี 2487 ก่อนสงครามจะสงบราว 1 ปี ทั้งคณะผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการชุดแรกของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ล้วนประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี และได้รับความเชื่อถือในวงสังคมเวลานั้น นับตั้งแต่ประธานกรรมการธนาคาร คือ พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) อดีตข้าราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยร่วมงานที่ธนาคารสยามกัมมาจลมาก่อน หลวงรอบรู้กิจ (นายทองดี ลีลานุช) ข้าราชการกรมรถไฟหลวงหรือการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกี่บัญชีและเคยรักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ผู้ได้ลาออกจากงานก่อนที่จะเกษียณ เพื่อร่วมคิดร่วมตั้งธนาคารกรุงเทพขึ้น หลวงบรรณกรโกวิท (นายเปา จักกะพาก) อดีตนายช่างใหญ่กรมไปรษณีย์โทรเลข นายสวัสดิ์ โสตถิทัต อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ นายถวิล มีสมกลิ่น ผู้จัดการบริษัทข้าวไทยทวีผล นายห้างชิน โสภณพนิช นักธุรกิจที่ต้องการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่ออำนวยประโยชน์ในการทำธุรกิจให้กับพ่อค้าในประเทศไทย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพพฤติยากร เสด็จเปิดธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่พลับพลาไชย

แม้ว่าสงครามเกาหลีได้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์ภาวะเศรษฐกิจและการธนาคารของประเทศไทยก็เพราะภาวะสงครามเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความต้องการสินค้าออกต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่คณะกรรมการชุดแรกของธนาคารภายใต้การนำของหลวงรอบรู้กิจไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับธนาคารได้ตามที่มุ่งหวัง ความตั้งใจที่จะให้ธนาคารสามารถให้บริการแก่ตลาดในประเทศเหมือนอย่างที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศกระทำกับลูกค้าของตน ก็สัมฤทธิผลดีในระดับหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เพราะผู้บริหารของธนาคารบางคนไม่ได้ยึดมั่นอยู่กับนโยบายนี้เสมอไป ผู้บริหารกลุ่มหนึ่งมีความคิดว่า ถ้าเอาเงินที่ลูกค้านำมาฝากไปลงทุนในธุรกิจที่ดินที่กำลังรุ่งเรืองในช่วงหลังสงครามน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าเพราะอย่างน้อยก็จะมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มที่ จึงได้มีการนำเงินฝากส่วนหนึ่งของธนาคารไปลงทุนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว คือ ซื้อที่ดินแถวพระโขนงกักตุนไว้มากเกินไปจนทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเงินฝากกับเงินปล่อยกู้ และกลายเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาด เนื่องจากไม่สามารถขายที่ดินนั้นได้ ธนาคารกรุงเทพจึงประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหรือขาดแคลนทุนหมุนเวียน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2494 ถึงต้นปี 2495 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารชุดใหม่ ปรากฏว่า นายชิน โสภณพนิช ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อมา ซึ่งภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการชุดใหม่นี้ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนสะท้อนภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

การปฏิรูปองค์กร ให้ “ทันสมัย” มากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างองค์กรนั้นได้เริ่มปรับปรุงในปี 2496 โดยแยกเป็น กองกลาง กองการเงิน กองต่างประเทศ กองบัญชีกระแส กองเงินฝากพิเศษ กองติดต่อธนาคารชาติ และ กองสาขา ต่อมาในปี 2497 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้รัดกุมและเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้มีกลไกรองรับการดำเนินงานที่กำลังขยายตัวเติบใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างเป็นระบบ ได้มีการจัดแบ่งหน้าที่การงานและความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ออกเป็นสัดส่วนและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยแยกเป็น ฝ่ายการบัญชี ฝ่ายการต่างประเทศ ฝ่ายการเงิน ส่วนเลขานุการ ส่วนตรวจสอบ ส่วนสาขาต่างจังหวัด กองสถิติและค้นคว้า กองค้าเงินตราต่างประเทศ และกองธุรการ

สำหรับทางด้านระบบการบัญชีของธนาคารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ใช้พนักงานลงในสมุดมาเป็นใช้เครื่องจักรแทน เพื่อบันทึกบัญชีเงินฝากแทนการลงบัญชีด้วยมือ โดยแยกบัญชีออกเป็นประเภทธุรกิจและบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น และในปีนี้เองธนาคารได้เริ่มการทำรายงานสรุปผลงานในรูปของรายงานประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลประกอบการและฐานะของธนาคาร ทำให้ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้นำในเรื่องนี้และเป็นแบบอย่างให้แก่วงการธนาคารและวงการอื่นๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“ผู้ชำนาญการ”  และพนักงาน ที่มีความสามารถ

คณะกรรมการบริหารงานชุดใหม่มีความเห็นว่าธนาคารยังมีจุดอ่อนหรือช่องโหว่ในการบริหารและระบบบัญชีที่ไม่รัดกุม จึงได้เชื้อเชิญ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักงานมนูกิจอันเป็นสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการบัญชีให้มาช่วยงานทางด้านนี้ ในการนี้เอง นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้เชิญชวน นายบุญชู โรจนเสถียร ผู้ซึ่งได้ก่อตั้งสำนักงานบัญชีกิจ เพื่อดำเนินอาชีพตรวจสอบบัญชีอิสระอยู่แล้วในขณะนั้นให้เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้อีกผู้หนึ่งด้วย

เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้บรรลุผลสำเร็จ นายชิน โสภณพนิช ได้แต่งตั้งและมอบหมายให้นายบุญชูเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภายในของธนาคารในปี 2485 ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ชำระสะสางฐานะทางการเงินและหนี้สินต่างๆ แล้ว ยังมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดรูปหรือวางระบบแบบแผนเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น รวมทั้งจัดการด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะการชำระสะสางบัญชีต่างๆ ของธนาคารนั้น นายบุญชูได้ดำเนินการหลายประการเพื่อเรียกหนี้สินอันเกี่ยวกับการลงทุนที่ผิดประเภทและเรียกเงินกู้ที่ผิดระเบียบกลับคืนมา ซึ่งต่อมาในภายหลังปรากฏว่าธนาคารสามารถเรียกหนี้สินเหล่านี้กลับคืนมาได้เกือบทั้งหมด

วิระ รมยะรูป กับ บุญชู โรจนเสถียร

การเข้ามาของ นายบุญชู โรจนเสถียร ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในธนาคารกรุงเทพหลายประการ เขาได้ชักชวนนักบัญชีที่มีความรอบรู้และประสบการณ์ทำงานเข้ามาร่วมทำงานกับธนาคารอีกหลายคน เช่น นายประยูร วิญญรัตน์ นายดำรงค์ กฤษณามระ และ นายสหัส มิลินสูต เป็นต้น นอกจากนั้น นายบุญชูได้เข้ามาเปลี่ยนปรัชญาในการทำงานของธนาคาร ที่แต่เดิมมานั้นอาศัยความสนิทชิดเชื้อทางเครือญาติ และเพื่อนฝูงชักจูงกันเข้ามา เรียกว่า พนักงานส่วนใหญ่ล้วนเป็น “คนใน” ใกล้ชิดที่ไว้ใจได้และรู้จักดีของผู้บริหาร ซึ่งปรัชญาหรือลักษณะการทำงานแบบนี้ อาจใช้ได้ดีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจระดับครอบครัว ที่ไม่ต้องการขยายตัวเติบโตออกสู่สาธารณชน แต่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นธุรกิจระดับประเทศ จำเป็นต้องเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของมหาชน เป็นธุรกิจบริการที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนทุกระดับขั้นและอาชีพ หากจะพัฒนาให้ธนาคารกรุงเทพเติบโตต่อไปในแนวทางที่ก้าวหน้าทันสมัยจำเป็นที่จะต้องเปิดทางให้ “คนนอก” ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานด้วยมากขึ้น

การขยายการบริการออกไปอย่างกว้างขวาง

แต่เดิมนั้นกิจการธนาคารจะเน้นให้บริการหรือใช้เป็น “ฐาน” เพื่อสนับสนุนธุรกิจของคณะกรรมการของธนาคารเพียงเท่านั้น ทำให้กิจการธนาคารมีความเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจค้อนข้างน้อยและให้บริการอยู่ภายในวงแคบๆ ธนาคารกรุงเทพได้เปลี่ยนเป้าหมายโดยเน้นการบริการแก่บุคคลทั่วไปมากยิ่งขึ้นไม่จำกัดแต่เฉพาะ “คนรู้จัก” เท่านั้น และตั้งเป้าหมายในการขยายการประกอบการให้กว้างขวางออกไปอีก โดยการมุ่งเข็มไปยังแหล่งเงินทุนในชนบท เพื่อระดมเงินออมเข้ามาสู่สถาบันการเงินคือธนาคารกรุงเทพให้ได้มากที่สุด และส่งเสริมการอำนวยบริการของธนาคารให้เป็นที่แพร่หลายกว้างขวางออกไป ไม่จำกัดหรือเฉพาะเจาะจงอยู่แต่พ่อค้าและประชาชนในเมืองหลวงเท่านั้น หากแต่ยังมีเป้าหมายในการขยายบริการธนาคารออกไปในท้องที่ต่างจังหวัดอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2493 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ทำพิธีเปิดสาขาในประเทศเป็นแห่งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายวิระ รมยะรูป เป็นผู้จัดการสาขาคนแรก วันที่ 30 ตุลาคม 2493 เปิดแห่งที่ 2 ขึ้นที่เชียงใหม่ มี นายสุชาติ สุจริตกุล เป็นผู้จัดการสาขา และในวันที่ 15 มกราคม 2494 เปิดที่ลำปาง มีนายรัศมี จันทวิโรจน์ เป็นผู้จัดการสาขา และในเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้เปิดสาขาที่สบตุ๋ยเป็นแห่งที่ 45

กิจการของธนาคารดำเนินไปได้ด้วยดี ดังนั้นในปี 2499 นี้เองก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ คณะกรรมการของธนาคารได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อที่จะให้การดำเนินงานด้านการขยายสาขาทั้งภายในและนอกประเทศเป็นไปได้ดีสมตามนโยบายที่กำหนด ธนาคารจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเป็นฐานสำคัญทางด้านนี้ขึ้นโดยเฉพาะ จึงได้จัดตั้งฝ่ายอำนวยการสาขาขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ธนาคารมีแผนการที่จะขยายขอบข่ายการประกอบการให้กว้างขวางออกไปทั้งภายในและต่างประเทศ และเป็นแผนที่เตรียมพร้อมในการก้าวทะยานขึ้นสู่การประกอบการที่มีขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น ฝ่ายอำนวยการสาขาที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ได้เริ่มงานขั้นแรกด้วยการระดมสรรพกำลังเพื่อขยายสาขาภายในประเทศในช่วงนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เริ่มตั้งแต่ขยายสาขาในเขตนครหลวงที่ยานนาวา และเตรียมการเปิดสาขาในย่านการค้าที่สำคัญๆ ทั้งที่เป็นเขตการค้าเก่าและที่เกิดขึ้นใหม่อีกหลายแห่ง เช่น พาหุรัด บางกะปิ และประตูน้ำ เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธนาคารกรุงเทพดังที่ได้กล่าวมานี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2490 เป็นอย่างดี การขยายตัวดังกล่าวนี้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทางด้านกิจการของธนาคารกรุงเทพนั้นได้ขยายตัวขึ้นประมาณ 10 เท่า จำนวนพนักงานในปี พ.ศ. 2495 มีเพียง 72 คนเท่านั้น แต่เพิ่มเป็น 660 คน ในปี พ.ศ. 2500 นอกจากนั้นการบริการของธนาคารก็ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือมีความเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจภายในมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการให้บริการแก่ธุรกิจการส่งออกก็หันมาให้บริการแก่นักธุรกิจพ่อค้าหรือพวก “นายทุนชั้นกลาง” ในประเทศที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างออกไปทั่วภูมิภาคโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ บริการของธนาคารที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนั้นจึงเป็นการโอนเงินภายในประเทศ เพราะทำให้พ่อค้าที่ค้าขายกันได้รับเงินค่าสินค้าอย่างรวดเร็วสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

บทสรุป

สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2490 มีความเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เคยเข้าใจกัน เห็นได้ชัดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศและการ “ปรับตัว” ของกลุ่มทุนจีน จากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้บีบบังคับให้พ่อค้าและนายทุนทั้งหลายจำเป็นจะต้อง “ปรับตัว” ทั้งทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและทางด้านการบริหารจัดการองค์กร

ทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นนายทุนจีนทั้งหลายจำเป็นจะต้องสร้างเครือข่ายทางการค้าที่กว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งเกาะกลุ่มทางธุรกิจกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อใช้อำนาจในการต่อรองและผูกขาดการค้าในธุรกิจนั้นๆ ส่วนด้านการบริหารและจัดการนั้นก็ต้องปรับปรุงให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การบริหารจัดการแบบ “ธุรกิจตระกูล” ไม่สามารถจัดการและบริหารธุรกิจที่เติบโตและทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป การใช้  “ผู้ชำนาญการ” และพนักงานที่มีความรู้ความสามารถในสายงานนั้นโดยตรงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะทำให้องค์กรเติบโตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ยังได้ทำให้เกิด “คนกลุ่มใหม่” ขึ้นมาในสังคมไทยอีกด้วย นั่นก็คือ “คนชั้นกลาง” ที่มีมากขึ้นตามการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้ล้วนแล้วมีฐานการผลิตอยู่ในภาคบริการและการพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่จึงมีความต้องการให้รัฐบาลใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยม” ที่ส่งเสริมให้เกิดการค้าและบริการขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้คนกลุ่มนี้มีความมั่นคงในชีวิตได้

ในทางตรงกันข้ามการบริหารงานของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงสิบปีนี้กลับไม่ได้ “ปฏิรูป” หรือ “ปรับปรุง” การบริหารงานให้เข้ากับยุคสมัย ท่ามกลางความเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วรัฐบาลกลับยังยึดมั่นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ยังมีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังเข้าแทรกแซงธุรกิจเอกชนอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลเช่นนี้ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 จึงเกิดกระแสต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง รวมทั้งกระแสเรียกร้องให้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งจากทางนายทุนภายในเองและจากนายทุนฝั่งตะวันตกด้วย ซึ่งกระแสเรียกร้องให้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจนั้นเป็นพลังอีกอันหนึ่งที่มีส่วนทำให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สูญเสียความชอบธรรม

จนนำมาซึ่งการรัฐประหาร 2500 โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เองก็ต้องเร่งทำการปรับปรุงการบริหารงานและนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศให้เข้ากับ “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ของคนกลุ่มนี้ให้รวดเร็วที่สุดอีกด้วย