โอมชินริเกียว กลุ่มก่อการร้ายคราบลัทธิคลั่ง “วันสิ้นโลก” กับนิวเคลียร์หลังสงครามเย็น

โอมชินริเกียวโจมตีญี่ปุ่นด้วยการใช้ก๊าซซารินในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1995 / AFP PHOTO / Junji KUROKAWA

โอมชินริเกียว หรือเรียกสั้น ๆ ว่าลัทธิโอมฯ ก่อตั้งขึ้นโดย โชโกะ อาซาฮาร่า มีชื่อจริงว่า ชิซูโอะ มัตสึโมโตะ ชายผู้นี้คือเจ้าลัทธิโอมฯ ที่ได้ก่อวินาศกรรม “ก๊าซซาริน” ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1995 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (อ่านประวัติของอาซาฮาร่า และเหตุการณ์วินาศกรรมเพิ่มเติ่มได้ คลิกที่นี่)

ลัทธิโอมฯ ได้ผสมผสานแนวคิดความเชื่อต่าง ๆ เข้ามาเป็นแก่นของลัทธิตนเอง โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับ “วันสิ้นโลก” ที่จะมาถึงในไม่ช้า แนวคิดนี้อาซาฮาร่านำมาจากหลากหลายความเชื่อ ทั้งจากแนวคิดทางศาสนาและไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น แนวคิดพระศิวะกับการทำลายล้างโลก คำทำนายของนอสตราดามุส และวันพิพากษาของศาสนาอื่น ๆ โดยอาซาฮาร่าสั่งสอนลูกศิษย์ของเขาว่าหากต้องการหลีกเลี่ยงวันสิ้นโลกจะต้องหันมานับถือลัทธิโอมฯ

อย่างไรก็ตาม อาซาฮาร่าไม่ได้ทำให้ลัทธิโอมฯ เป็นเรื่องของความเชื่อหรือศาสนาเพียงอย่างเดียว เขาทำให้ลัทธิโอมฯ และกลุ่มผู้ศรัทธากลายเป็นพวกหัวรุนแรงในหลายมิติ ทั้งด้านศาสนา สังคม การเมือง ลัทธิโอมฯ จึงกลายเป็นลัทธิที่ทรงอิทธิพลในสังคมญี่ปุ่นอย่างมาก มิหนำซ้ำยังแพร่กระจายเปิดศูนย์ขึ้นทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ทวีปยุโรป และโดยเฉพาะรัสเซีย

ลัทธิโอมฯ ในรัสเซียเติบโตเร็วมากจนถึงช่วงปลายปี ค.ศ. 1994 คาดการณ์ว่ามีสมาชิกกว่า 30,000 คน ในกรุงมอสโควมีสำนักงานของลัทธิถึง 6 แห่ง และนอกกรุงมอสโควกว่าอีก 11 แห่งกระจายตัวทั่วรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลัทธิโอมฯ เติบโตในรัสเซียอย่างมาก เพราะได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองท้องถิ่น และลัทธิโอมฯ ก็มีแหล่งเงินทุนมากพอที่จะสนับสนุนกิจกรรมของสมาชิกได้อย่างต่อเนื่อง

อาซาฮาร่าส่งมือขวาของเขาคือ “ฮายากาวะ” ไปรัสเซียหลายครั้งเพื่อเสาะหาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจากอิทธิพลที่มีมากในรัสเซียก็ทำให้อาซาฮาร่าคิดว่าจะสามารถหาซื้ออาวุธนิวเคลียร์ได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม สภาพรัสเซียในตอนนั้นค่อนข้างขาดเอกภาพและเสถียรภาพทางการเมืองภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต มีความกังวลว่ารัสเซียไม่สามารถดูแลหัวรบนิวเคลียร์กว่า 30,000 ลูกในคลังของสหภาพโซเวียตได้อย่างปลอดภัย

ช่วงเวลานั้นมีกระแสข่าวเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ออกมาตลอด เช่น มีชายสองคนพยายามลักขโมยแร่ยูเรเนียมจำนวน 21 ปอนด์ จากสถาบันวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ตำรวจกรุงปราก สาธารณรัฐเชกยึดแร่ยูเรเนียมได้จำนวน 6 ปอนด์ และพบแร่ยูเรเนียมเถื่อนถูกทิ้งไว้ในตู้เย็นที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าหวาดกลัวไม่แพ้อาวุธนิวเคลียร์คือ “นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์” เพราะพวกเขากลายเป็นพวกตกงาน ซึ่งอาจมีจำนวนหลายพันคนที่พร้อมจะตอบรับ “ข้อเสนอ” ทำงานที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์จากพวกมาเฟียผู้ทรงอิทธิพลแลกค่าตอบแทนอย่างงาม จึงตอกย้ำว่าตลาดมืดได้มีความพยายามลักลอบและซื้อขายวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระเบิดนิวเคลียร์

ในเรื่องนี้นั้น มีผู้พบหลักฐานเป็นสมุดบันทึกของฮายากาวะที่จดราคาระเบิดนิวเคลียร์เอาไว้หลายราคา หนึ่งในนั้นมีราคา 15 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก อย่างไรก็ตาม การซื้อขายอาวุธนิวเคลียร์นั้นคาดว่าไม่สำเร็จเพราะอิทธิพลของโอมฯ ในรัสเซียได้พังทลายลงไปก่อน แต่อาซาฮาร่าก็สามารถสร้างอาวุธอื่น ๆ ที่ร้ายแรงไม่แพ้กับระเบิดนิวเคลียร์คือ “ก๊าซซาริน” ไว้ได้จำนวนมาก

วินาศกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงโตเกียวเมื่อ ค.ศ. 1995 คือปฏิบัติการของลัทธิโอมฯ ที่มุ่งใช้อาวุธร้ายแรงมาทำลายผู้บริสุทธิ์เพื่อก่อให้เกิดความโกลาหล แต่ลัทธินี้ยังมีอาวุธร้ายแรงอีกหลายประเภท เช่น เชื้อแอนแทรกซ์ หลังการกวาดล้างของตำรวจญี่ปุ่นที่ศูนย์ปฏิบัติการของลัทธิโอมฯ ใกล้กับภูเขาฟูจิก็พบสารเคมีจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่ใช้ประกอบในการทำก๊าซพิษ ระเบิด และเชื้อโรคมรณะ นอกจากอาวุธร้ายแรงเหล่านี้แล้ว ลัทธิโอมฯ ยังมีอาวุธปืนหนัก-เบาอีกจำนวนมาก รวมถึงเฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi-17 ด้วย

ดังนั้น แม้ลัทธิโอมฯ จะไม่สามารถหาอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ก่อวินาศกรรมได้ แต่อาวุธร้ายแรงชนิดอื่น ๆ ที่มีนั้นก็สร้างความเสียหายได้มากเช่นกัน ลัทธิสุดโต่งเช่นนี้คงจะนิยามว่าเป็นเพียงลัทธิความเชื่อคงไม่พอแล้ว หากมีนิยามว่ากลุ่มโอมชินริเกียวใกล้เคียงกับการก่อการร้าย เชื่อว่าบางคนอาจมองว่าไม่ห่างจากเหตุผลข้อเท็จจริงมากนัก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

David E. Kaplan and Andrew Marshall. (2544). โอมชินริเกียว ลัทธิมหาภัย. แปลโดย โรจนา นาเจริญ. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2562