เผยแพร่ |
---|
เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “ก่อนจะถึงรัฐประหาร 2490 ในสยาม” โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35 ฉบับที่ 10 เดือนสิงหาคม 2557
บทความที่เผยแพร่ในนิตยสารแปลและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่จากบทความเก่าของผู้เขียนที่ได้ตีพิมพ์ก่อนแล้วใน Thanet Aphornsuvan. “The United States and the Coming of the Coup of 1947 in Siam,” in the Journal of Siam Society. Vol. 75 (1987), pp. 187-208. http://www.siam-society.org/pub_JSS/jss_index_1981-1990.html
ทันทีที่เกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลหลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ ท่าทีของสหรัฐต่อคณะทหารผู้ก่อการรัฐประหารเป็นไปในทางลบ ด้วยการที่สถานทูตสหรัฐคัดค้านและวิจารณ์รัฐประหารนี้อย่างรุนแรง นายเอ็ดวิน สแตนตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยรายงานกลับไปยังกรุงวอชิงตันว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย “สถานะของรัฐบาลปัจจุบันนี้ (กล่าวโดยรวม) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างสิ้นเชิงและวางอยู่บนกำลังอำนาจอย่างเดียว” (Darling1965, 66-68)
รัฐบาลสหรัฐจึงไม่ยอมให้การรับรองแก่รัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งโดยคณะทหาร อย่างไรก็ตาม ท่าทีและจุดยืนของสหรัฐต่อการรัฐประหารและรัฐบาลใหม่ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารจะเปลี่ยนไปในเวลาอันไม่นานนัก พอถึงเดือน เมษายน 2491 รัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีแฮร์รี่ เอส. ทรูแมน ได้เปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองที่มีต่อรัฐบาลไทยจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างคาดไม่ถึง
ที่น่าสังเกตได้แก่การที่การเปลี่ยนแปลงนี้ดำเนินไปอย่างมีสีสันยิ่ง กล่าวคือ กว่าที่รัฐบาลอเมริกันจะตัดสินใจเปลี่ยนจุดยืนในนโยบายต่างประเทศต่อไทยนั้น การเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2490 ก็ได้ยกระดับไปกว่าที่คิด นั่นคือภายหลังที่มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
ก่อนหน้านี้นายควงก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนแล้วแต่เป็นการแต่งตั้งโดยคณะทหาร ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดดังกล่าวขาดความชอบธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยที่ต่างชาติรับรองได้ แต่เพียงไม่กี่วันที่รัฐบาลควงบริหารประเทศไปคณะทหารก็ไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาล จึงใช้กำลังเข้า “จี้” ให้นายควงลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเสียแล้ว จากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
รัฐบาลไทยชุดที่สหรัฐให้การรับรองนั้นก็คือรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในอดีตไม่นานนักระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นจนถึงประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรอันมียุโรปและสหรัฐเป็นแกน ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามไปภายหลังสงครามโลกยุติลง การที่รัฐบาลสหรัฐหันมาให้การสนับสนุนและรับรองฐานะของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกครั้งจึงเป็นความขัดกันโดยสิ้นเชิง นอกจากว่าต้องมีเงื่อนไขและปัจจัยอะไรที่ใหญ่หลวงถึงขนาดที่ทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐต้องกลืนน้ำลายตนเอง
คำอธิบายส่วนใหญ่ที่นักวิชาการทางรัฐศาสตร์และการระหว่างประเทศให้ไว้ คือ
ประการแรก มาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงในสถานการณ์การเมืองโลกระยะนั้น ที่สำคัญได้แก่การสถาปนาและขยายอำนาจทางทหารของลัทธิคอมมิวนิสม์ในโลก ในช่วงนั้นคือสหภาพโซเวียตที่ยึดพื้นที่เข้ามาในบริเวณยุโรปตะวันออก กับการรุกคืบของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ที่สำคัญคือประเทศจีนซึ่งมีแนวโน้มว่าจีนจะหลุดไปเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ประกาศชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในปี พ.ศ. 2492 ปัจจัยในทางระหว่างประเทศและความมั่นคงดังกล่าวนี้เองที่ในที่สุดทำให้สหรัฐต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียใหม่ (Darling 1965; Neuchterlein 1965)
เป็นความจริงที่สหรัฐได้เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตนเสียใหม่ในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2491 (1948) เพื่อเป็นการสะท้อน “ถึงความจริงของสถานการณ์ที่นโยบายการปิดกั้น (containment) สหภาพโซเวียตได้เริ่มขึ้นแล้วและจีนกำลังเคลื่อนอย่างรวดเร็วในการเข้าสู่การเป็นประเทศคอมมิวนิสต์”
ประการที่ 2 เป็นคำอธิบายของทฤษฎีสงครามเย็นซึ่งเสนอว่า รัฐบาลสหรัฐต้องเลือกระหว่างการสนับสนุนและช่วยเหลือพัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศไทยหรือรักษาประเทศไทยจากการถูกโจมตีของประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่การสูญเสียเสรีภาพทั้งประเทศไป (Darling 1965; Fifield 1973, 89) หากคิดตามกรอบการมองของทฤษฎีสงครามเย็นนี้ การรักษาและสนับสนุนรัฐบาลที่แม้เป็นจารีตนิยมและอำนาจนิยมบ้าง แต่ยินดีต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจคนอเมริกันมากกว่า “ไม่ว่านโยบายภายในประเทศและวิธีการได้มาซึ่งอำนาจรัฐบาลจะเป็นอย่างไรก็ตาม” (Darling 1962, 93-110)
คำอธิบายแบบหลังนี้ทำให้ตั้งสมมติฐานได้ว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐานจากการ “ส่งเสริมสันติภาพและเสรีภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงช่วงต้นของยุคหลังสงคราม ไปสู่การทำนโยบายใหม่ที่ให้น้ำหนักแก่สันติภาพกับความมั่นคงในบริบทของยุคแห่งการรุกรานของคอมมิวนิสต์” (Darling 1965, 65)
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายแบบนี้ละเลยการพิจารณาถึงพัฒนาการที่สำคัญในทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดนโยบายรัฐบาลทั้งของสหรัฐและไทยด้วย ที่สำคัญคือปัจจัยของระบบทุนนิยมในระดับโลก ซึ่งมีอิทธิพลในทางลึกและครอบคลุมมิติต่างๆ ของรัฐและสังคมรวมถึงโครงสร้างทางความคิดและอุดมการณ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฐานคิดและกรอบไปถึงทิศทางใหญ่ของการปฏิบัตินโยบายต่างประเทศของสหรัฐในช่วงต้นของสงครามเย็น
หากพิจารณาให้ลึกลงไปจากเพียงแค่โวหารของการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์แล้ว ก็จะเห็นจุดหมายทางเศรษฐกิจการเมืองของทุนนิยมในสหรัฐที่รองรับนโยบายทางทหาร ที่ผู้นำการเมืองสหรัฐต้องการสร้างโลกให้ดำเนินไปตามตรรกะของลัทธิทุนนิยมใหม่ของอเมริกัน การศึกษาในแนวนอกกระแสหลักของรัฐศาสตร์อเมริกัน จึงแย้งว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ ผู้นำอเมริกันได้ใช้ยุทธศาสตร์ของบรรษัททุนนิยม (Corporate capitalism) ในการจัดการนโยบายต่างประเทศและในการจัดระเบียบโลกเสียใหม่แนวคิดดังกล่าวเน้นด้านที่เป็นส่วนรวมแบบอเมริกัน โดยอ้างว่าอำนาจของส่วนรวมและเอกชนต่างรับผิดชอบการเติบโตของสันติภาพในสังคมและในประสิทธิภาพในการผลิต
แนวทางการวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ให้ความสำคัญแก่การต่อสู้ทางชนชั้น โดยกล่าวว่าการต่อสู้ทางชนชั้นต้องหลีกทางให้แก่หนทางใหม่ของทุนโลกคือการร่วมมือกันของบรรษัท ส่วนระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงของตนเองก็ต้องหลีกทางให้แก่เศรษฐกิจที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน ในขณะที่การต่อสู้แข่งขันกันระหว่างประเทศต้องหลีกทางให้แก่การกลับมาฟื้นคืนดีกันและร่วมมือกัน และการควบคุมผูกขาดทั้งหลายของประเทศต้องหลีกทางให้แก่อำนาจที่บูรณาการทั้งหลายขององค์กรเหนือรัฐชาติและพลังอำนาจโดยธรรมชาติของตลาด (Hogan 1985, 44-72; Bernstein 1970)
โดยสรุป สหรัฐดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อไทยโดยยึดถืออุดมการณ์ของระบบเสรีประชาธิปไตยและระบบทุนนิยมเสรี ในสมัยนั้นน้ำหนักของอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยอยู่ที่การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์มากกว่าสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคเป็นธรรมของประชาชน ในอีกด้านบทบาทการขยายและสะสมทุนอเมริกันก็ดำเนินไปภายใต้นโยบายว่าด้วยความมั่นคงทางทหาร ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การผลักดันให้ทุนชาติและทุนระดับกลางและเล็กเติบโตและมีศักยภาพในการผลิตสมัยใหม่ได้
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในสมัยสงครามเย็นจึงพัฒนาไปในแบบทุนพึ่งพาหรือทุนขุนนางเสียมากกว่าซึ่งในที่สุดก็กลับมาตอกย้ำการสนับสนุนรัฐบาลหรือผู้นำที่มีลักษณะโน้มเอียงทางอำนาจนิยมยิ่งกว่าการเป็นประชาธิปไตยของประชาชนอีก
บรรณานุกรม :
Bernstein, Barton J., ed. 1970. Politics and Policies of the Truman Administration. Chicago : Quadrangle Books.
Darling, Frank C. 1962. “American Policy in Thailand,” in Western Political Quarterly, (March), pp. 93-110.
______. 1965. Thailand and the United States. Washington D.C. : Public Affairs Press.
Fifield, Russell H. 1973. Americans in Southeast Asia : The Roots of Commitment. New York : Crowell Company.
Hogan, Michael J. 1985. “American Marshall Planners and the Search for a European Neo Capitalism,” in American Historical Review, Vol. 90 No. 1 (February).
Nuechterlein, Donald E. 1965. Thailand and the Struggle for Southeast Asia. Ithaca, New York : Cornell University Press.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2562