รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ถึงคดีพิพาทที่บั่นทอนพระชนมายุ “ทูลกระหม่อม” รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อย่างอยู่กับบ้าน ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วย “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยง

ในบรรดาคดีสำคัญที่เกิดในสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่องคดี “พญาระกา” เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ใหญ่ในช่วงรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่โจษจันกันต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ทรงบันทึกเรื่องราวในเหตุการณ์นี้ในพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ซึ่งใจความลงท้ายนั้นทรงสันนิษฐานว่า เหตุการณ์สืบเนื่องต่อมาส่งผลกระทบขั้น “เป็นเครื่องทอนพระชนมายุของทูลกระหม่อม” ในส่วนหนึ่งเลยทีเดียว

คดีที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีรู้จักกันดีในชื่อ “พญาระกา” เป็นคดีสำคัญระหว่างพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พ.ศ. 2404-74) พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พ.ศ.2417-63) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนิยะดา เหล่าสุนทร ผู้เขียนบทความวิเคราะห์เรื่องคดีพญาระกา อธิบายว่า เป็นกรณีที่พาดพิงถึงเหตุการณ์หม่อมพักตร์หลบหนีไปจากวัง และไปพึ่งพระบารมีของกรมหมื่นราชบุรีฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น)

ในพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 (ใช้นามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ”) มีใจความส่วนหนึ่งบรรยายถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่โตในเวลาต่อมา เนื้อหาในบันทึก “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ทรงบรรยายว่า เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2452 พักตร์ หม่อมของกรมหมื่นนราธิปฯ หนีจากวังข้ามฝั่งไปอยู่ธนบุรี กรมนราธิปไปตามและร้องเอะอะที่บ้านเรือนของผู้ที่พักตร์ ไปอาศัยอยู่

เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ลงชื่อทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง กล่าวโทษกรมนราธิปฯ ว่าบุกรุกในบ้านและชานเรือน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ระบุเพิ่มเติมว่า การทำฎีกานี้เป็นผลจากเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสนับสนุนเจ้าของบ้านให้ถวายฎีกา ภายหลังพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสเตือนกรมนราธิปฯ อย่าให้กระทำการเอะอะเช่นนั้นอีก (คลิกอ่านเพิ่มเติมวิเคราะห์คดีบทละคร “พญาระกา” หม่อมของพระเจ้าอาหนีมาวังพระเจ้าหลานจึงเป็นเรื่อง!)

หลังจากนั้น พักตร์มาอาศัยในความคุ้มครองของตำรวจพระนครบาลในพระนคร เจ้าพระยายมราชพยายามเกลี้ยกล่อมให้กลับไปวังกรมนราธิปฯ แต่ไม่เป็นผล จึงได้ทำการตกลงกับกรมหมื่นราชบุรีให้รับตัวไปที่วังของท่าน แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กรมนราธิปฯ พระราชนิพนธ์ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เสริมว่า “ทราบว่าเที่ยวทรงบ่นกับใครต่อใครเปนอันมาก ว่าเสนาบดีนครบาลเปนใจให้หม่อมของท่านหนี”

เรื่องราวจางหายไปสักพัก กระทั่งปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2453 มีผู้นำหนังสือบทละครเรียกว่า “ปักษีปกรณัมเรื่องพญาระกา” ไปถวายกรมราชบุรี ทำให้พระองค์ทรงน้อยพระทัย ยิ่งเมื่อได้ทราบว่ากรมพระนราธิปฯ ได้นำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว และมีกำหนดว่าจะเล่นเรื่องละครถวายพระเจ้าหลวงในวันที่ 3 มิถุนายน

ในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์บรรยายว่า เรื่องยิ่งทำให้กรมราชบุรี “เกิดโทมนัสและแค้นอย่างมาก โดยเข้าพระทัยว่า ทูลกระหม่อมไม่ทรงพระเมตตาพระองค์ท่านเสียแล้ว จึ่งจะทรงยอมให้กรมนราธิปเล่นลครด่าได้เช่นนั้น เขาเล่าว่ากรมราชบุรีทรงกรรแสงและเดิรไปมามิได้บรรทมตลอดคืนวันที่ 30 พฤษภาคม” ถึงกับทำหนังสือกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพร้อมผู้พิพากษาซึ่งเป็นลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดพระองค์ รวม 28 คน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรยายบรรยายความเห็นของพระองค์ต่อกรณีนี้ว่า

“เห็นได้ว่ากรมนราธิปได้แต่งขึ้นโดยมีใจพยาบาท, เห็นเปนโอกาสก็จะด่าให้เต็มที่เท่านั้น. การที่กรมราชบุรีจะรับตัวพักตร์ผู้ต้นเหตุไปนั้น เจ้าพระยายมราชชี้แจงว่า ท่านมิได้ทำไปโดยลำพังเลย.

ในเวลานั้นเปนเวลาที่เจ้าฝรั่ง (ดยู๊ก โยฮันน์ อัลเบร็คต์ แห่งเม็คเคล็นเบอร์ก เชวริน) จะเข้ามาอยู่แล้ว, เกรงว่าจะเกิดฟ้องร้องกันขึ้นเปนการเอิกเกริกขายหน้า, จึ่งได้ปรึกษากันในระหว่างกรมดำรง, กรมราชบุรี, และเจ้าพระยายมราชว่าจะควรจัดอย่างไร. เจ้าพระยายมราชว่าครั้นตัวจะรับไปไว้ในบ้านเองก็มีลูกหนุ่มๆ จะเปนที่ติฉินนินทาได้, จึ่งได้ตกลงพร้อมกันให้กรมราชบุรีรับตัวไป.

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบและทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย ฝ่ายกรมราชบุรีได้ทรงเลี้ยงดูพักตร์อย่างดี, ประทานเงินเดือนถึงเดือนละ 30 บาท. การที่กรมนราธิปหาญแต่งเรื่องขึ้นด่ากรมราชบุรีได้นั้น, เจ้าพระยายมราชเห็นพ้องกับฉันว่าเปนไปเพราะความกำเริบของกรมนราธิป, โดยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาและทรงอุดหนุนอยู่มาก. กรมนราธิปได้เริ่มว่าเปรียบและล้อคนโน้นคนนี้มาเปนรายๆ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงขันโดยมาก, กรมนราธิปจึงได้ละเลิง, เข้าใจเสียว่าจะด่าใครเปรียบใครก็ได้ตามใจทั้งสิ้น.”

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่องคดี “พญาระกา” และพระราชทานหนังสือเกี่ยวกับกรณีนี้พร้อมรับสั่งว่าให้พระองค์ทรงฝึกหัดไว้ เผื่อเกิดเหตุเช่นนี้จะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร

“เมื่ออ่านคำพิพากษาจบลงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉันเขียนพระราชหัตถ์เลขาพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยว่าทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วยตามคำพิพากษาของกรรมการ, และมีพระบรมราชโองการสั่งกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ให้ขังกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ไว้ในพระบรมมหาราชวัง มีกำหนด 1 ปี.”

ข้อความที่น่าคิดอีกตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ว่าด้วยพระราชดำรัสรัชกาลที่ 5 ต่อเหตุการณ์ลักษณะนี้มีใจความว่า

“พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสอธิบายต่อไปว่า การที่มีเหตุกล่าวหมิ่นประมาทกันเช่นนี้ ก่อนๆ ก็ได้เคยมีมา. แม้พระองค์เองก็ได้เคยถูกเจ้าพระยาภาสกรวงศ์แต่งหนังสือว่าเปรียบเทียบ, ครั้งนั้นก็มิได้ทรงลงโทษทัณฑ์อย่างใด, เปนแต่ทรงทำให้รู้สึกตัวว่าทรงทราบเท่านั้น, ตั้งแต่นั้นมาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ก็เข็ดหลาบ, มิได้เล่นเช่นนั้นอีกเลย.

ในเรื่องคดี ‘พญาระกา’. นี้ทรงเสียพระราชหฤทัยที่เกิดเปนเรื่องราวมากมายโดยหาควรไม่เลย, ถ้าแม้ผู้ที่ถูกว่านั้นทำให้ดีๆ จะไว้เกียรติยศได้ดี, ไม่มีข้อรำคาญอย่างหนึ่งอย่างใดเลย. อย่างไรๆ ก็ดี, ควรที่จะรอฟังให้คดีชำระสะสางไปตามทำนองคลองธรรม หรือแม้จะเปนเพียงกล่าวว่า ถ้าไม่ชำระจะต้องลาออกเช่นนี้ก็ยังจะดีกว่า. นี่ทำตึงตังไปจึงกลับทำให้เรื่องราวฉาวมากขึ้นเท่านั้น, และเมื่อคดีได้วินิจฉัยแล้วเช่นนี้ ยังจะยืดยาวต่อไปอีก ก็จะเปนที่น่าเสียพระราชหฤทัยมาก.”

นอกจากนี้ กระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ยังบรรยายเรื่อง พระองค์มีพระราชดำรัสถึงผู้ที่กระทำตัดสินใจผิดพลาดในกรณีนี้คือ “กรมหลวงดำรง” ซึ่งเป็นผู้คิดและแนะนำให้พักตร์ ไปอยู่ที่วังกรมราชบุรี และต่อมาคือพระองค์เอง

“…เพราะเจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลเข้าไปให้ทรงทราบแล้วว่าจะจัดกันอย่างไร, และได้ทรงรู้สึกตะขิดตะขวงอยู่แล้ว เพราะกรมราชบุรีเปนผู้ที่เคยมีมลทินอยู่ในเรื่องผู้หญิงแต่ก็หาได้ทรงทักท้วงไปไม่, เพราะประการหนึ่งทรงนึกเสียว่าเปนการชั่วคราวและเร็ววัน, กับอีกประการหนึ่งในขณนั้นกำลังทรงวุ่นทรงพระราชดำริห์ในเรื่องรับเจ้าฝรั่ง, ไม่อยากจะทรงกังวลในเรื่องอื่น.”

เรื่องราวในชนชั้นสูงยังดำเนินต่อไปกระทั่ง กรมราชบุรีกราบบังคมทูลสารภาพผิดทุกประการและขอเข้าเฝ้า และวันที่ 5 กรกฎาคมนั้น กรมราชบุรีทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาให้กรมนราธิปได้พ้นโทษ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโทษ กรมนราธิปฯ ได้กลับวังในวันรุ่งขึ้น

ใจความลงท้ายในหัวข้อเกี่ยวกับคดี “พญาระกา” ในพระราชนิพนธ์ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 สรุปไว้ว่า

“ส่วนคดี ‘พญาระกา’ และเหตุการณ์อันต่อเนื่องกับคดีนั้นได้ให้ผลร้ายเปนเอนกประการ. ประการ 1 ฉันรู้สึกว่าได้เปนเครื่องทอนพระชนมายุของทูลกระหม่อมส่วน 1 เปนแน่แท้. อีกประการ 1 ได้ทำให้กิจการในกระทรวงยุติธรรมยุ่งเหยิงเปนรำคาญใจฉันต่อมาอีกหลายปี…”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2450 ซึ่งเป็นช่วงที่เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 กระทั่งช่วงก่อนหน้าเดือนกันยาน พ.ศ. 2453 พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ทรงบรรยายว่า “ในระหว่างเวลาเดือนครึ่งก่อนเสด็จสวรรคตนั้น ได้แลเห็นปรากฏชัดยิ่งขึ้นว่า ทรงทุพพลภาพจริงๆ จนใครๆ ก็ได้สังเกตเห็นเช่นนั้น” หลังจากนั้นทรงพระประชวรในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453 และเสด็จสวรรคตวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453



อ้างอิง:

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557

นิยะดา เหล่าสุนทร. “วิเคราะห์คดีบทละคร “พญาระกา” หม่อมของพระเจ้าอาหนีมาวังพระเจ้าหลานจึงเป็นเรื่อง!”. ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2555


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562