เผยแพร่ |
---|
ในประวัติศาสตร์ยุโรปปรากฏเหตุการณ์เชื่อมโยงระหว่างระบอบกษัตริย์กับการเมืองที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือกรณีของพระเจ้าซาร์ซีโมนที่ 2 แห่งบัลแกเรีย เป็น “เจ้านาย” องค์สุดท้ายในระบอบกษัตริย์ และมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังระบอบกษัตริย์ในประเทศสิ้นสุดลง
ซีโมน โบริซอฟ แซ็กซ์-โคบูร์ก-ก็อตธา (Simeon Saxe-Coburg-Gotha) เป็นชื่อสามัญของเจ้านายพระองค์สุดท้ายในระบอบกษัตริย์ของบัลแกเรีย พระองค์ทรงอยู่ในสถานะซาร์แห่งบัลแกเรีย (พระเจ้าซาร์ซีโมนที่ 2) เป็นเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 6 พรรษา (ในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นทางการ) ระหว่าง ค.ศ. 1943-1946 ซึ่งเป็นช่วงที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ ทำให้มีเจ้าชายคิริล แห่งพาร์ลาฟ พระอนุชาของพระเจ้าบอริสที่ 3 พระบิดาของพระเจ้าซาร์ซีโมนที่ 2, นายพลนิโคลา มิฮอฟ และบอกดาน ฟิลอฟ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นสภาผู้สำเร็จราชการแทน ซึ่งช่วงเวลานั้นผู้บริหารบัลแกเรียตกภายใต้เงาของนาซีเยอรมัน ภายหลังสงครามที่เยอรมนีรบแพ้หลายครั้ง บัลแกเรียเริ่มต้องหาทางเจรจาเปลี่ยนฝ่าย และเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคที่ตะวันตกยอมรับมากกว่า
ในค.ศ. 1944 เกิดรัฐประหารขึ้น จุดเปลี่ยนของพระองค์อยู่ที่การลงประชามติที่ดำเนินการโดยพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อ ค.ศ. 1946 อันเป็นผลให้ระบอบกษัตริย์ถูกยกเลิก บัลแกเรียกลายเป็นปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ เชื้อพระวงศ์ต้องเดินทางออกนอกประเทศ โดยเสด็จไปอียิปต์ และในปี 1951 นายพลฟรังโก เผด็จการผู้ลือชื่อของสเปน อนุมัติให้ราชวงศ์บัลแกเรียลี้ภัยในสเปนได้
กระทั่ง ค.ศ. 1996 ซีโมน ถึงเดินทางกลับบัลแกเรีย และก่อตั้งพรรคการเมืองในชื่อ “กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าแห่งชาติ” (National Movement for Stability and Progress) หรือ NMSP ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังจากระบอบคอมมิวนิสต์ในบัลแกเรียล่มสลายลงแล้ว มีรายงานว่าการกลับมาของซีโมน ทำให้ฝูงชนที่พบเห็นต่างร้องตะโกนว่า “พวกเราต้องการกษัตริย์” แต่ในช่วงเวลานั้น ซีโมน ยังไม่แสดงท่าทีทางการเมืองใดๆ ออกมา
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศโหยหาและรำลึกถึงระบอบกษัตริย์จางหายไป เมื่อซีโมน เปิดเผยเรื่องสถานะบทบาททางการเมืองและร่วมกลุ่มทางการเมืองกับอดีตพรรคคอมมิวนิสต์
ซีโมน ประกาศเจตนารมย์ทางการเมืองในช่วง ค.ศ. 2001 โดยลั่นว่าจะทุ่มเทให้กับการปฏิรูปและนำความเป็นหนึ่งเดียวทางการเมืองมาสู่ประเทศ พร้อมสัญญาว่าภายใน 800 วัน ชาวบัลแกเรียจะรับรู้ถึงผลบวกจากกลุ่มของเขาและชื่นบานกับความเป็นอยู่ที่ถูกระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
พรรคของซีโมน ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2001 กวาดที่นั่งในสภา 120 ที่นั่งจาก 240 ที่นั่ง ซีโมนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม โดยร่วมงานกับกลุ่มชาติพันธุ์เตอร์กิช และกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพ รัฐบาลของซีโมนเต็มไปด้วยกลุ่มเทคโนแครต (Technocrats) และผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจซึ่งร่ำเรียนวิชาสายตะวันตก เข้ามาดูแลด้านต่างๆ
ซีโมนไม่เคยประกาศเรียกร้องสิทธิในบัลลังก์หลังจากเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านแม้ว่าจะยังใช้ตำแหน่งซาร์แห่งบัลแกเรียในช่วงลี้ภัยอยู่ก็ตาม หลังจากเดินทางกลับมาบัลแกเรียแล้ว ซีโมนปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ของบัลแกเรีย ขณะที่นัยยะสำคัญเชิงสัญลักษณ์คือ ซีโมนปฏิญาณตนจะปกป้องรัฐธรรมนูญช่วงเข้ารับตำแหน่ง
บัลแกเรียในปัจจุบันยังหลงเหลือซากสถาปัตยกรรมยุคคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ยังหาข้อตกลงเรื่องการจัดการวัตถุทางความทรงจำจากช่วงคอมมิวนิสต์อันขมขื่น ชมคลิปอนุสาวรีย์ด้านล่าง
https://www.facebook.com/SilpaWattanatham/videos/1912465162168348/