หม่อมในวังหนีเที่ยวแล้วเจอโขลน ถลกผ้าถุงวิ่ง เหลือแค่กกน. ก็ยอม เพื่อให้เผ่นได้เร็ว

ภาพประกอบข่าว - ตำหนักสายสุทธานพดลในสวนสุนันทาเดิม ปัจจุบันถูกใช้เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา

ความเป็นอยู่ของสาวชาววังแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันไปตามบริบททางสถานที่ แต่สำหรับเรื่องราวในวังสวนสุนันทาจากการบอกเล่าของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ผ่านบันทึกความทรงจำช่วงหนึ่งมีข้อความเล่าเปรียบเปรยเด็กในวังว่า “เหมือนนกติดกรงขัง” เมื่อไม่มีทางออกก็ต้องหาความเพลิดเพลินตามประสาเด็กซุกซน และวีรกรรมในนั้นคือหนีเที่ยวตามตำหนักต่างๆ ยามค่ำคืน

หม่อมหลวง เนื่อง นิลรัตน์ เป็นบุตรีของหม่อมราชวงศ์อั้น นิลรัตน์ และนางเผือก นิลรัตน์ ณ อยุธยา ซึ่งสืบราชสกุลจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 2 กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ท่านเติบโตในพระราชวังสุนันทา ท่านบอกเล่าชีวิตในวังไว้ในบันทึกความทรงจำเรื่อง “ชีวิตที่อยู่ร่วมกันในวังสุนันทา ตำหนักพระวิมาดา กรมพระสุทธาสินีนาฏ” ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือที่ระลึกพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.ศรีคำ ทองแถม เมื่อ พ.ศ. 2528

ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์ อาศัยในเรือนท่านหญิงสะบาย (หม่อมเจ้าหญิงสะบาย นิลรัตน์) จนถึงวัย 5-6 ขวบ เมื่อโตขึ้นตามวัยก็มีโอกาสไปทำกิจกรรมในเรือนอื่น เช่น เรียนหนังสือที่เรือนหม่อมพยอม (ในวังไม่เรียกเป็นบ้าน แต่เรียกเป็นเรือน แต่ละเรือนปลูกอยู่ห่างกันพอสมควร) ต่อมาไปถวายตัวเป็นข้าหลวงสมเด็จหญิงพระองค์น้อย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี)

ช่วงหนึ่งของบันทึกบอกเล่าช่วงเวลาที่ “โตเป็นสาว” ซึ่งม.ล. เนื่อง บันทึกว่า “ชักเห็นว่าการซุกซนภายในเขตรั้วตำหนักพระวิมาดาไม่สนุก” จึงเริ่มชวนกันหนีเที่ยวไปหาเพื่อนฝูงต่างตำหนัก

ม.ล. เนื่อง เล่าว่า ต้องหนีออกหลังจาก 5 ทุ่มไปแล้ว จากที่เมื่อพวกข้าหลวงคอยเสวยเสร็จลงจากบนตำหนัก ต้องมาคอยนำตัวม.ล. เนื่อง มาเหยียบท่านย่าทุกคืน เลิกเหยียบก็ประมาณ 4 ทุ่ม เมื่อท่านย่าหลับแล้วจึงแอบไปรวมตัวกับเพื่อนที่มาคอย 6 คน มีรายชื่อ ได้แก่ ม.ร.ว. อาไทย ลดาวัลย์, ม.ร.ว. วัฒนพันธ์ ชมพูนุช, ม.ร.ว. วงศ์สินธุ์ สิงหรา, ม.ร.ว. ศรีคำ ทองแถม และนางสาวสุดา บูรณศิริ

พอได้เวลาแล้วก็ย่องปีนรั้วไปทางหลังเขาดินซึ่งเป็นรั้วไม้ตีโปร่งสีฟ้าปีนง่าย แต่ละคืนจะไปคืนละตำหนัก เวียนกันไปจนทั่วทุกตำหนักที่รู้จักกัน เมื่อพวกที่ตำหนักรู้ว่าจะไปหาก็จะออกมาหลายคน มานั่งรวมกลุ่มคุยกันที่ท่าน้ำหน้าตำหนัก แต่พอกลุ่มเห็นโขลน (ผู้หญิงนุ่งน้ำเงินใส่เสื้อขาว ออกเดินตรวจตามถนนในวังทุกยามจนเช้า) เดินมา 2 คน แต่ละคนลุกหนีกันจ้าละหวั่น

ข้าหลวงก็สามารถวิ่งเข้าตำหนักไปได้ แต่สำหรับพวกที่อยู่ไกลก็ต้องเร่งฝีเท้าหนีกันสุดแรง ม.ล. เนื่อง เล่าว่า บุคคลที่พบปัญหาการเคลื่อนที่คือ ม.ร.ว.วัฒนพันธุ์ ขาสั้นตัวเล็ก วิ่งช้าไม่ทันคนอื่นในกลุ่ม เนื่องด้วยความกลัวพวกโขลนจะจำได้ เลยถลกผ้าถุงที่นุ่งขึ้นมาม้วนพันรอบเอว เหลือแต่กางเกงใน เร่งวิ่งเข้า ขณะที่โขลนวิ่งไล่มาไม่ทัน กลุ่มที่ซุกซนทั้ง 6 คนวิ่งปีนรั้วไม้โปร่งหายกันไปภายในหมดแล้ว

“นึกว่าเรื่องจะจบแค่นั้น ที่ไหนได้ตอนสายวันรุ่งขึ้น โขลนเข้าเฝ้าทูลฟ้องว่าข้าหลวงที่ตำหนักนี้หนีเที่ยวเมื่อคืนไล่จับไม่ทัน เห็นชัดคนเดียว นุ่งกางเกงขาสั้นสีขาว เมื่อทรงสอบสวนดูทุกคนแล้ว ข้าหลวงไม่มีใครนุ่งกางเกง เรื่องก็เลยเงียบไปโดยหาตัวลงโทษไม่ได้ แต่พวกเราก็ไม่เข็ด คราวต่อไปเรารีบกลับก่อนโขลนออกตรวจตอน 2 ยาม”

ข้อความถัดมาซึ่งม.ล.เนื่อง บรรยายเกี่ยวกับความรู้สึกต่อบรรยากาศการใช้ชีวิตในวังของเด็ก ๆ มีใจความที่น่าสนใจว่า

“น่าเห็นใจชีวิตที่ถูกขังอยู่ในวัง ไกลพ่อไกลแม่ ไปไหนก็ไม่ได้ไป เล่นอะไรก็ไม่ได้ถูกห้ามไปทุกอย่าง สมัยนั้นวิทยุก็ยังไม่มีฟัง โทรทัศน์ก็ยังไม่มีดู ออกจากประตูวังไปไหนก็ไม่ได้ เหมือนนกติดกรงขัง ร้องเพลงเล่นกันดังก็ไม่ได้ต้องกระซิบร้องกันเบา ๆ เด็กมันไม่มีทางออกหาความเพลิดเพลินก็เลยซุกซนขโมยโน่นนี่ไปตามเรื่อง”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เนื่อง นิลรัตน์, หม่อมหลวง. “ชีวิตที่อยู่ร่วมกันในวังสุนันทา ตำหนักพระวิมาดา กรมพระสุทธาสินีนาฏ”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 มกราคม, 2529


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2562