ศาลศีรษะปลาวาฬ ที่พระราชวังเดิม แรกเริ่มสร้างในสมัยไหน?

กระดูกปลาวาฬที่นำมาจัดแสดงในศาลศีรษะปลาวาฬ พระราชวังเดิม

ในพระราชวังเดิม ธนบุรี มีสถานที่สำคัญหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กับพระตำหนักเก๋งคู่ ที่เรียกว่า “ศาลศีรษะปลาวาฬ” เป็นที่จัดแสดงโครงกระดูกปลาวาฬที่ถูกระบุว่าเป็นปลาวาฬบรูด้าหรือวาฬแกลบ ข้อมูลจากเว็บไซต์พระราชวังเดิม โดยมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของศาลนี้ไว้ดังนี้ :

“ในระหว่างการขุดสำรวจครั้งล่าสุดได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณพื้นที่ที่อยู่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางเอกสารประกอบแล้วสันนิษฐานว่าเป็นซากของอาคารศาลศีรษะปลาวาฬเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้พังลงในคืนวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2443 ซึ่งเป็นคืนที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีกรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารหลังเดิมตามที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นอาคารโถงแบบจีนส่วนศาลศีรษะปลาวาฬ หลังปัจจุบันทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมได้ปรึกษากับกรมศิลปากร และเห็นชอบให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2542 บนฐานของศาลหลังเดิมที่ได้ขุดพบเพื่อใช้เป็นที่ จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬ (ที่ได้พบอยู่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในคราวสำรวจพื้นที่ทางโบราณคดีในช่วงการบูรณะครั้งล่าสุด) รูปแบบของอาคารหลังปัจจุบันได้ ประยุกต์ให้เหมาะสมกับอาคารโบราณสถานโดยรอบโดยยังคงรูปแบบเป็นเก๋งจีน” (จาก http://www.wangdermpalace.org/Ancient%20Sites_th.html)

แต่ข้อซึ่งเป็นปริศนาก็คือซากปลาวาฬดังกล่าวนั้นมาจากไหน ทำไมจึงมาอยู่ในพระราชวังเดิม และศาลศีรษะปลาวาฬเดิมนั้นสร้างในสมัยไหน ก่อนที่จะมาพังลงในสมัยรัชกาลที่ 5 จากข้อมูลหลักฐานทางเอกสารเท่าที่มี พบว่ามีความเป็นไปได้อยู่ 2 ทาง คือ

(1) คนในรุ่นธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ไปจับมาเอง เพราะแม้แต่สมัยอยุธยาตอนปลาย คนกรุงเก่าก็มีความรู้เรื่องวิธีจับสัตว์ทะเลที่มีขนาดใหญ่และดุร้าย เช่น ปลาฉนาก และปลาฉลาม ดังปรากฏในเอกสาร “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ที่มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเรือพระที่นั่งต่างๆ สำหรับเก็บไว้ใช้งานในโรงเรือหลวง มีเรือชนิดหนึ่งที่ถูกระบุว่าคือ “เรือพระครุธพาหนะสองลำ 1 สำหรับทรงเสด็จไปประพาษทรงเบดปลาฉนากฉลามตามชายทะเล”

สอดคล้องกับเรื่องในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ทรงนิยมเสด็จประพาสทรงเบ็ดตกปลาฉลาม ที่เขาสามมุกและเกาะสีชัง ขนาดปลาฉนาก ปลาฉลาม ยังจับกันได้  ปลาวาฬก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ “เรือพระคุรธ” ที่ว่านั้นจะมีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีอะไร ที่จะช่วยให้มนุษย์ตัวเล็กกระจ้อยร่อยสามารถสู้แรงกำลังของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ได้นั้น ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

กระดูกปลาวาฬที่นำมาจัดแสดงในศาลศีรษะปลาวาฬ พระราชวังเดิม

(2) ปลาวาฬมาเกยตื้นตายเอง ข้อนี้ปรากฏอยู่ในเอกสาร “จดหมายเหตุโหร” ที่ระบุเอาไว้ว่า “ปีมะเมีย จ.ศ.1172 เดือน 3 ปลาวาฬตายบางพูด น้ำเค็มถึงวัดเขมา” บางพูดนั้นอยู่ตรงคลองบางพูด ในท้องที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน และวัดเขมาก็คือวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรีในปัจจุบัน

ตามปฏิทินเก่า “ปีมะเมีย จ.ศ.1172 เดือน 3” จะตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ.2352 เป็นปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 เดือน 12 (กันยายน) นำมาสู่การปรับเปลี่ยนเจ้านายวังหน้าที่ฝั่งธนฯ (ในพื้นที่พระราชวังเดิม) โดยเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ได้เลื่อนเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) สืบแทนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ส่วนตำแหน่งวังหลังนั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) ทรงเป็นเจ้านายวังหลังพระองค์เดียวในสมัยรัตนโกสินทร์  เพราะหลังจากสิ้นพระชนม์ไปเมื่อ พ.ศ.2349 ก็ไม่มีการตั้งเจ้าวังหลังอีกเลย พื้นที่พระราชวังเดิมได้ถูกปรับปรุงมาเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

ในเดือน 12 ของปี จ.ศ.1172 หลังสิ้นรัชกาลที่ 1 ได้ไม่นานนั้นเองก็มีเหตุการณ์กรณีกรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) ถูกจับกุมและต้องโทษประหารฐานคิดก่อการขบถ การที่เพิ่งมีการผลัดแผ่นดินและมีการสำเร็จโทษเจ้านายเชื้อสายพระเจ้าตาก หลังจากนั้นผ่านเวลาไปเพียง 3 เดือนเศษ ก็มีเหตุการณ์น้ำหลากท่วมโดยน้ำทะเลหนุนขึ้นมาจนถึงย่านเมืองนนทบุรี และกระทั่งมีสัตว์ทะเลใหญ่อย่างปลาวาฬมาเกยตื้นตายถึงบริเวณปากคลองบางพูด ถือเป็นเรื่องประหลาดวิปริตผิดธรรมชาติ เหตุนี้จึงมีการทำพิธีและตั้งศาลขึ้นในพระราชวังเดิม

อย่างไรก็ตาม พระยาประมูลธนรักษ์ผู้ตรวจชำระและรวบรวมจดหมายเหตุโหรได้ให้วงเล็บอธิบายขยายความเพิ่มเติมในส่วนนี้ว่า “ถ้าหมายความว่าปลาวาฬตายลอยขึ้นไปถึงบางพูดดูไกลนัก เห็นจะขุดได้ซากปลาวาฬที่บางพูด ถึงรัชกาลที่ 5 ก็ขุดได้ที่บางซื่อฤาบางเขนอีกตัว 1”  ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการขุดพบซากโครงกระดูกปลาวาฬ แต่ศาลปลาวาฬเดิมก็ไม่น่าจะเพิ่งตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะได้มีการโอนย้ายพระราชวังเดิมไปให้อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือแล้วในตอนนั้น ตัวศาลก็เป็นศาลเดิมมีมาก่อนรัชกาลที่ 5 ที่ได้มีการขุดพบซากแล้วนำมาจัดแสดงในภายหลังนั้น

อีกทั้งเมื่อพิจารณาว่า การมีปลาวาฬมาเกยตื้นตายเมื่อปี จ.ศ.1172 ก็เป็นเหตุการณ์สำคัญที่โหรนำเอามาบันทึกไว้เป็นสื่อสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของยุคสมัยเอาไว้ ตามนี้แล้วศาลศีรษะปลาวาฬเดิมน่าจะสร้างสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เจ้านายวังหน้าในสมัยนั้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2562