ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
18 มกราคม “วันยุทธหัตถี” ของ สมเด็จพระนเรศวร และ “วันกองทัพไทย” ที่เปลี่ยนมาจาก 25 ม.ค.
หนึ่งในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และเป็นที่จดจำของชาวไทย คือเหตุการณ์ “ยุทธหัตถี” ระหว่าง สมเด็จพระนเรศวร กับ พระมหาอุปราชา เมื่อ พ.ศ. 2135 อันถือเป็นการศึกที่ยิ่งใหญ่ซึ่งปรากฏในหน้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีข้อสังเกตให้ได้ต้องสืบค้นกันมาต่อเนื่อง
เนิ่นนานมาแล้วที่วันที่ 18 มกราคม ถูกนักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่า ควรเป็น “วันยุทธหัตถี” ที่พระองค์ได้รับชัยชนะ มากกว่าวันที่ 25 มกราคม ที่เคยยึดเป็นวันกองทัพไทยมาก่อน (มาเปลี่ยนเป็น 18 มกราคม เมื่อ พ.ศ. 2549 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในลิงก์ด้านล่าง) ช่วงเวลานั้นมีข้อถกเถียงในประเด็นวันที่เกิดเหตุการณ์ยุทธหัตถีว่า เกิดในวันที่ 18 มกราคม หรือวันที่ 25 มกราคม ตามการคำนวณที่แตกต่างกัน และยังมีข้อถกเถียงไปจนถึงเรื่องสถานที่เกิดเหตุการณ์ว่าอยู่ที่ใดกันแน่ ระหว่างหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี กับตำบลตระพังตรุ จังหวัดกาญจนบุรี
ข้อมูลในทางประวัติศาสตร์ไทยแล้ว พระมหาอุปราชาทรงต้องพระแสงของ้าวของพระนเรศวรตรงพระอังสา (บ่า,ไหล่) ในวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก บรรยายฉากที่พระมหาอุปราชาสวรรคตไว้ว่า
อุราราญร้าวแยก ยลสยบ
เอนพระองคลงทบ ท่าวดิ้น
เหนือฅอคชซรอบซรบ สงงเวศ
วายชีวาด สุดสิ้น สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ ฯ
แต่ในพงศาวดารของพม่ากลับมีความแตกต่างไปจากในประวัติศาสตร์ไทย ดูได้จาก “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” ฉบับนายต่อ แปล ตอนพระเจ้าหงษาวดีทำศึกกับไทย แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งแต่ จุ . 908 จนถึง 1095 ที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การสวรรคตของพระมหาอุปราชา ซึ่งเกิดขึ้นในเดือน 10 จุลศักราช 955 (กันยายน พ.ศ. 2136) ไว้ว่า
“…เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้ามา กระสุนก็ไปต้องพระมหาอุปราชา ก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้างพระที่นั่งนั้น ในเวลานั้นตุลิพะละพันท้ายช้างเห็นว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ก็ค่อยประคองพระมหาอุปราชพิงไว้กับอานช้างเพื่อมิให้พระนเรศรู้แล้วถอยออกไป”
ในพงษาวดารพม่าดังกล่าวยังกล่าวต่อหลังจากที่พระมหาอุปราชาว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนั้นจนต้องถอยทัพกลับไปตั้งมั่นที่เมือง เนื่องจากพระอนุชาทั้ง 3 ของพระมหาอุปราชาร่วมกันตีทัพของพระนเรศวรจนแตก
อีกทั้งในบทความของ ศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ เรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยในหลักฐานพม่า” ที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน พฤษภาคม 2561 ได้อ้างอิงเนื้อหาพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลาตอนหนึ่งซึ่งมีใจความบอกเล่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกับในมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ฉบับนายต่อ แปล ในส่วนว่า ทหาร(องครักษ์)ของสมเด็จพระนเรศวรยิงสวนใส่เข้ามา กระสุนถูกสมเด็จพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ซบคอช้าง แต่วันที่เกิดเหตุและปีที่เกิดเหตุระบุแตกต่างกัน คือวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1592 (พ.ศ. 2135)
โดย ศ.ดร. สุเนตร ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจว่า “ภาพความขัดแย้งที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับสงคราม คือภาพสะท้อนอันเป็นจารีตธรรมเนียมนิยมของการทำสงครามรูปแบบเก่า คือการรบแบบตัวต่อตัวบนหลังช้าง กับการแพร่กระจายของอาวุธสมัยใหม่คือ ปืนไฟ”
อาจกล่าวได้ว่า การทำยุทธหัตถีทั้งจากประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์พม่า ต่างเล่าเรื่องที่แตกต่างกันในรายละเอียด แสดงให้เห็นว่าบทบาทของประวัติศาสตร์ ต่างฝ่ายต่างเขียนแบบฉบับของตน เช่นเดียวกับมุมมองของแต่ละคนที่อาจต่างหรือคล้ายคลึงกัน
และไม่ว่าวัน เวลา สถานที่ หรือเหตุการณ์จะต่างกัน แต่ข้อมูลที่พอมีน้ำหนักคือ เหตุการณ์การทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชนั้น เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น (เมื่อพิจารณาจากหลักฐานการบอกเล่าต่างๆ ที่สอดคล้องกันทั้งสองฝ่าย) อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดแล้วยังคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “วันยุทธหัตถี” จึงตรงกับวันที่ “18 มกราคม” พ.ศ. 2135 ไม่ใช่ 25 มกราคม
- พบ “เจดีย์ยุทธหัตถี” ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่องจริง!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. ลิลิตตะเลงพ่าย. กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2549
มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า .นายต่อ แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545
สุเนตร ชุตินธรานนท์. ( 7 พฤษภาคม 2561). “ประวัติศาสตร์ไทยในหลักฐานพม่า”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 39(7) : 86-88
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2563