จริงหรือ? ชาวกรุงศรีอยุธยาไม่ชอบต้อนรับอาคันตุกะ เพราะปิดบังว่ามีเมียหลายคน!

ชาวกรุงศรีอยุธยา สร้าง เมือง
ภาพโคลงภาพ "สร้างกรุงศรีอยุธยา" เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ "พระราชพงศาวดาร เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

บ้านเรือนของ ชาวกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่ในสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกบอกเล่าผ่านบันทึกของ ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศส โดยตอนหนึ่งลาลูแบร์เล่าว่า มารยาทการต้อนรับ “อาคันตุกะ” ของผู้คนในทวีปเอเชียนั้นเหมือนไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า สาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะเจ้าของบ้านหวงแหนปิดบัง “เมีย ๆ” ของตัวเอง

แต่จากความเห็นของนักวิชาการแล้ว ข้อเท็จจริงว่าด้วยเรื่อง ชาวกรุงศรีอยุธยา ไม่ชอบต้อนรับอาคันตุกะ เพราะปิดบังว่ามีเมียหลายคน อาจไม่ได้เป็นแบบที่ลาลูแบร์เข้าใจ

Advertisement

ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศส บันทึกเรื่องราวและสภาพสังคมแวดล้อมของสยามไว้อย่างละเอียด ส่วนหนึ่งที่เล่าคือเรื่องลักษณะบ้านเรือนและการต้อนรับอาคันตุกะ ซึ่งลาลูแบร์เล่าว่า ในสยามไม่มีเรือนแรมเหมือนประเทศอื่นในเอเชีย ขณะที่ตุรกี เปอร์เซีย มีศาลาที่พักคนเดินทาง อันเป็นศาลาสาธารณะที่ไม่มีเครื่องเรือนใด พ่อค้ากองเกวียนจะใช้ที่แห่งนี้พักอาศัย

ส่วนการค้างแรมของ อาคันตุกะ จากการบอกเล่าของลาลูแบร์ มีใจความว่า

“การต้อนรับอาคันตุกะให้พักอาศัยค้างแรมด้วย เป็นคุณธรรมอันหนึ่งซึ่งไม่รู้จักกันในทวีปเอเชีย ตามความเห็นของข้าพเจ้าก็ว่าคงเนื่องด้วยเจ้าของบ้านแต่ละแห่ง ต่างก็ระมัดระวังหวงแหนปิดบังพวกเมียๆ ของตนไปตามๆ กันเท่านั้นเอง”

ลาลูแบร์ ยังวิเคราะห์ติดตลกว่า พระภิกษุต้อนรับดีกว่าเจ้าของบ้านที่เป็นพลเมืองทั่วไป ความว่า

“แต่โดยที่พระภิกษุไม่มีภรรยา ท่านจึงแสดงความกรุณาให้ที่พักอาศัยแก่อาคันตุกะชนดีกว่าพวกพลเมือง (ซึ่งเป็นคฤหัสถ์)”

ความคิดเห็นเหล่านี้อาจเป็นมุมมองจากการสำรวจโดยคร่าวจากชนต่างแดน แต่หากพิจารณาประกอบกับองค์ประกอบทางสังคมเชิงลึกแล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงความคิดเห็นอีกแบบว่า สิ่งที่ลาลูแบร์สังเกตมานั้นเป็นเรือน “ขุนนาง” ในพระนครศรีอยุธยาที่ไม่ต้อนรับอาคันตุกะ แล้วนำไปคิดเองว่าคงปิดบังว่าเรื่องมีเมียหลายคน แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับสภาพสังคมเพิ่มเติม สุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่า สาเหตุที่ไม่ต้อนรับอาคันตุกะเป็นปัญหา “การเมือง”

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ขุนนางคนใดซึ่งให้ที่พักพิงอาคันตุกะโดยเฉพาะชาวต่างชาติ ย่อมเสี่ยงถูกลงอาญาข้อหาซ่องสุมผู้คนคิดกบฏได้

ส่วนเรือนชาวบ้านทั่วไปก็ไม่มีที่นอน และมักไปอาศัยวัดเป็นสถานที่สำหรับนอน นี่จึงทำให้ลาลูแบร์ อาจเข้าใจว่าที่นอนวัดกันนั้นเพราะพระไม่มีเมีย จึงไม่ต้องปิดบังเรื่องเมีย

อย่างไรก็ตาม การรับรองอัครราชทูตอย่างลาลูแบร์ ในสมัยนั้นกรุงศรีอยุธยาก็สร้างที่พักขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ลาลูแบร์ เล่าว่า เขาได้พักที่ชายแม่น้ำ เป็นเรือนที่พักซึ่งใหญ่โตพอสมควร

“เรือนนั้นสร้างบนเสาปูฟากและลาดด้วยเสื่อกก ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นพื้นเรือนเท่านั้น ยังเป็นพื้นเฉลียงอีกด้วย…ห้องโถงและห้องในนั้นแขวนผ้ามีดอกดวง เพดานผ้ามัสลินขาว ริมเฉลียงเพดานลาดลง พื้นเรือนในห้องน้ำลาดเสื่อกกสานลายละเอียดและเป็นมันลื่นกว่าที่ใช้ลาดพื้นเฉลียง และภายในห้องนอนของเอกอัครราชทูตพิเศษนั้น ยังลาดพรมเจียมทับเสื่อกกอีกชั้นหนึ่ง”

แต่ลาลูแบร์ ยังวิจารณ์เรื่องความโอ่โถงว่า “…มิได้โอ่โถงมีภูมิฐานอะไรเลย” หลังจากนั้น คาดว่ากรุงศรีอยุธยารับรู้สัญญาณ สุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงความคิดเห็นว่า น่าจะเอาใจลาลูแบร์ ด้วยการพาไปนอนเรือนที่เป็นตึกก่ออิฐถือปูน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุจิตต์ วงษ์เทศ. อยุธยา ยศยิ่งฟ้า ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม กรุงศรีอยุธยา ว่าด้วย วิถีชีวิตไพร่ฟ้าข้าไทย. กรุงเทพฯ : กองทุนแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ, 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2562