“เพลย์บอย” คุณสมบัติ “พระเอกยุคกรุงเทพฯ” ที่ไม่ค่อยพบสมัย “กรุงศรีอยุธยา”

เกี้ยวผู้หญิง ผู้ชาย พูดคุย
ภาพประกอบเนื้อหา - ฉากเกี้ยวพาราสีในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4

“ตัวเอกชายของวรรณกรรมสุนทรภู่มีลักษณะเดียวกับตัวเอกชายในวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์โดยทั่วไป คือเจ้าชู้ ลักษณะเจ้าชู้มิใช่เป็นของตัวเอกวรรณกรรมอยุธยา พระราม พระอนิรุทธ์ พระลอ หรือพระเวสสันดร มิใช่คนเจ้าชู้ แต่พระเอกของสุนทรภู่เจ้าชู้ขนาดทิ้งความเพียรในทางศาสนาเพื่อไปหาผู้หญิง

พระอภัยมณีตั้งใจจะบวชหวังนิพพาน แต่ครั้นพบนางสุวรรณมาลี ก็ ‘ยิ่งปลาบปลื้มลืมภาวนานั่ง ด้วยใจยังอยู่ข้างหนุ่มให้ลุ่มหลง’ (พระอภัยมณี : ๑๗๓) ความอ่อนแอเช่นนี้ของพระอภัยมณีอาจทำให้ต้องเผชิญปัญหาหลายอย่างในชีวิต แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ หาได้รับผลกรรมที่ละทิ้งพระนิพพานมาทางโลกย์ไม่

Advertisement

สิ่งที่เป็นของน่ารังเกียจเช่นผู้หญิงหรือดนตรีซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกคนให้ติดข้องในโลกียวิสัย ก็มิได้ชั่วร้ายเกินไป แต่บางทียังเป็นคุณเสียอีก (อย่างที่นางสุวรรณมาลีเป็นคุณประโยชน์อย่างมหันต์แก่พระอภัยมณี)

สุนทรภู่ให้ตัวเอกบรรยายคุณของดนตรีว่า

‘แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง

หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง

ถึงการเล่นเป้นที่ประโลมโลก

ได้ดับโศกศูนย์หายทั้งชายหญิง’

(พระอภัยมณี : ๔)

ลักษณะที่เป็น ‘นักเลง’ (ตามความหมายของต้นรัตนโกสินทร์คล้ายกับที่เรียกในปัจจุบันว่า “เพลย์บอย”) นั้นเป็นลักษณะของพระเอกต้นรัตนโกสินทร์ทั่วไป แต่ที่จริงแล้วออกจะขัดกับค่านิยมในทางพุทธอยู่ไม่น้อย

ตัวสุนทรภู่เองเสนอมโนภาพของตนเองในนิราศเชิง ‘นักเลง’ อยู่ไม่น้อย คือกล้าผจญภัยท่องเที่ยว เมาเหล้าอยู่เป็นอาจิณ และมีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้หญิงเกือบตลอดเวลา นับผู้หญิงที่สุนทรภู่อ้างว่ามีความสัมพันธ์พิเศษกับตนจนถึงได้เสียกันในนิราศจะพบว่ามีมากกว่าสิบคน อาจเป็นไปได้ว่าสุนทรภู่จะอวดความเป็นนักเลงของตนเองไว้เกินจริง เพื่อเสนอภาพของผู้เขียนนิราศที่ถูกใจผู้อ่านกระฎุมพี เพิ่มเสน่ห์แก่งานนิราศของตนไม่น้อย

ที่น่าสนใจก็คือสุนทรภู่อวดอ้างสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องผู้หญิงอย่างไม่ออกตัวในเชิงเห็นว่าเป็นบาปแต่อย่างใด

การที่กล้าเสนอมโนภาพของตนเองเช่นนี้ให้ผู้อ่านชาวพุทธก็เกิดขึ้นได้ในมาตรฐานทางศีลธรรมของกระฎุมพีเท่านั้น ข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นถ้าเปรียบเทียบกับ ‘นิราศ’ อยุธยา เช่น กำศรวล หรือ ทวาทศมาส ผู้เขียนงานทั้งสองกล่าวถึงความสัมพันธ์ของตนกับหญิงคนเดียว และไม่มีใจเผื่อแผ่แก่หญิงอื่นเลย แต่เฉพาะใน นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่เพียงเรื่องเดียว ก็จะพบว่าผู้เขียนอ้างความสัมพันธ์กับผู้หญิงจนแทบนับไม่ถ้วน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี” เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2524)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2561