รัชกาลที่ 4 กับคณะสงฆ์ลังกา ในฐานะแรงบันดาลใจหลักของธรรมยุต

จิตรกรรมภาพพระภิกษุในคณะสงฆ์ธรรมยุตและคณะสงฆ์มอญกำลังกระทำอุปสมบทบนแพในนทีสีมา (อุทุกกุปเขปปสีมา) ประมาณรัชกาลที่ 3 หอไตรวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

ถึงแม้ว่าคณะสงฆ์ธรรมยุตที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเมื่อครั้งทรงพระผนวชในพระราชฉายาว่า พระวชิรญาณเถระจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยขาดพัฒนาการและสัมพันธ์กับแนวโน้มทางความคิดในทางศาสนาซึ่งมีตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างสมณวงศ์นิกายเถรวาทจากภายนอกไปด้วย

หลักฐานทางประวัติศาสตร์นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ธรรมยุตมีต่อคณะสงฆ์มอญและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะสงฆ์ลังกา พระพุทธรูปและสถูปแบบธรรมยุตที่ทรงสร้างขึ้นแสดงอัตลักษณ์ของคณะสงฆ์ธรรมยุตอย่างแท้จริงและสะท้อนให้เห็นถึงแนวพระราชดำริของพระองค์ที่ทรงให้ความสำคัญกับลังกาในฐานะที่เป็นต้นรากของนิกายเถรวาทอันเป็นการสืบทอดจารีตทางพุทธศาสนาที่มีมาอย่างยาวนานในสังคมไทย

แม้จะดูเหมือนการยึดถือแนวทางของคณะสงฆ์ลังกาดูเหมือนจะเป็นแนวพระราชดำริที่ทรงรับมาจากภายนอกประเทศก็ตาม แต่แนวคิดของการชำระพระศาสนาตามแบบลังกาก็เป็นสิ่งที่อยู่ในจารีตอันยาวนานของพุทธศาสนานิกายเถรวาทในสังคมไทยอย่างช้านานก่อนหน้าที่พระวชิรญาณจะทรงสถาปนาคณะธรรมยุตของพระองค์เสียอีก

ดังนั้น สมณวงศ์ของลังกาไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกแยกจากโลกทรรศน์สังคมไทยหากแต่มีบทบาทความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ในสยามประหนึ่งเป็นสมณวงศ์เดียวกันมาตลอดอย่างไม่ขาดสาย        พระวชิรญาณเพียงแต่ทรงหยิบยกเอาจารีตของนิกายเถรวาทมาฟื้นฟูอีกครั้งในคณะสงฆ์ใหม่ของพระองค์

พระพุทธรูปและเจดีย์ทรงลังกาของธรรมยุตยังแสดงถึงเห็นการผสมผสานกันระหว่างคตินิยมทางพุทธศาสนาเข้ากับโลกทรรศน์แบบตะวันตก กล่าวคือ ในด้านหนึ่งก็เป็นการปรับปรุงพุทธลักษณะให้สอดคล้องกับพระพุทธรูปของลังกาเพื่อย้อนกลับไปหาต้นกำเนิดอันแท้จริงของสมณวงศ์เถรวาทและความถูกต้องตามพระบาลี

ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโลกทรรศน์ใหม่ให้กับกระแสของตะวันตกที่ไหล่บ่าเข้ามาในช่วงระยะเวลานั้น ดังเห็นได้จากการทำจีวรให้มีความยับย่นสมจริงตามแบบศิลปะตะวันตก

การผสมผสานกันระหว่างจารีตดั้งเดิมของพุทธศาสนาให้เข้ากับรสนิยมแบบตะวันตกจึงถือเป็นลักษณะเฉพาะของธรรมยุตที่ทรงสถาปนาขึ้น มิใช่ถูกครอบงำโดยตะวันตกทั้งในทางโลกและทางธรรมไปเสียทั้งหมด

เพราะแก่นแท้ของการสถาปนาธรรมยุตของวชิรญาณเถระ คือ ความต้องการกลับไปสู่พระพุทธวจนะดั้งเดิมยังคงเกี่ยวข้องกับการดำเนินตามแบบอย่างของสมณวงศ์ของลังกาซึ่งทรงเชื่อมั่นว่าถึงพร้อมไปด้วยความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

(จากบทความเรื่อง “สืบกำเนิดธรรมยุตผ่านพุทธศิลป์” ในหนังสือ ถอดรหัสพระจอมเกล้า. สนพ.มติชน. 2557.)