2 พายุใหญ่ แฮร์เรียต-ปากพนัง, เกย์-ท่าแซะ,ปะทิว สร้างความเสียหายสูงสุด

สภาพ แหลมตะลุมพุก หลัง พายุ แฮร์เรียต ผ่านไป
แหลมตะลุมพุก หลังพายุแฮร์เรียตผ่านไป (ภาพโดย ตรึก พฤกษะศรี)

พายุ 2 ลูกใหญ่ รุนแรงที่สุดของไทย แฮร์เรียต-ปากพนัง, เกย์-ท่าแซะ, ปะทิว ทั้งชีวิต, ทรัพย์สิน จากไปในพริบตา

ในอดีตไทยเราเคยเผชิญกับพายุใหญ่มาแล้วหลายครั้ง แต่ที่สร้างความเสียหายรุนแรงอย่างมากมายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เกิดจาก 2 พายุใหญ่ คือ แฮเรียตและเกย์

พายุเขตร้อน “แฮร์เรียต” (Harriet) ที่พัดผ่านอ่าวไทยเข้าฝั่งแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พายุ “แฮร์เรียต” ถือเป็นพายุเขตร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นลูกแรก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ที่มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับพายุอย่างเป็นทางการ

ร่องรอยพายุแฮร์เรียตที่แหลมตะลุมพุก (ภาพจาก www.khaosod.co.th)

พายุนี้เเรกเริ่มก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลจีนใต้ ใกล้ปลายแหลมญวน ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2505 จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่อ่าวไทย พร้อมกันนั้น พายุนี้ได้พัฒนาตัวมีกำลังแรงขึ้น เป็นพายุดีเปรสชันอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดสงขลาประมาณ 200 กิโลเมตร ในตอนเช้าของวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ก่อนค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทวีกำลังแรงเพิ่มขึ้นเป็นพายุเขตร้อน

เมื่อขึ้นฝั่งบริเวณแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันเดียวกัน โดยความเร็วลมสูงสุดวัดได้ที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราช สูงถึง 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากลมที่พัดแรงแล้ว พายุลูกนี้ ยังนำพาคลื่นทะเลซัดเข้าฝั่ง ทำให้น้ำทะเลหนุนเข้าในอ่าวปากพนัง พัดพาบ้านเรือนราษฎรเสียหายอย่างมากมาย มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 คน (บ้างว่า 1,300 คน)

ความเสียหายครั้งนั้นมีการตั้งข้อสังเกต ว่า ประชาชนไม่เข้าใจประกาศเตือน

แม้ว่าในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2505 วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยออกประกาศว่า ได้เกิดพายุโซนร้อนอยู่ห่างจาก ฝั่งประมาณ 200 กิโลเมตร มีความเร็วของลม 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่นอกฝั่งของจังหวัดสงขลา และประกาศเตือนให้ประชาชนระวัง เพราะพายุนี้จะขึ้นฝั่งประมาณวันที่ 25 ตุลาคม 2505 คําว่าพายุโซนร้อน ประชาชนทั่วไปไม่เคยรู้มาก่อนว่าคืออะไร ดังนั้นจึงไม่มีการเตรียมป้องกันหรือขนย้ายล่วงหน้า สังเกตได้จากการให้สัมภาษณ์ นายแจ้ง ฤทธิเดช นายอําเภอปากพนังในเวลานั้น ความว่า

“ประชาชนฟังประกาศกรมอุตุนิยมไม่รู้เรื่อง การที่ราษฎรชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องสูญเสียชีวิตอย่างมากมายครั้งนั้น เพราะเป็นเส้นทาง ของพายุผ่านตลอดทั้งจังหวัด จากการยืนยันของ ชาวบ้านกล่าวว่า วิทยุประกาศพวกเขาก็รู้ แต่ฟังไม่เข้าใจกันได้ ถ้าจะใช้คําชาวบ้านเตือนกันก็จะ เข้าใจมากกว่า พวกเขาจะได้รู้ว่าพายุเหล่านั้นมีความร้ายแรงแค่ไหน… นอกจากนี้ประชาชนผู้รอดชีวิตยังเล่าถึงความรุนแรงของพายุ ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยรายวัน หนังสือพิมพ์สารเสรี หนังสือพิมพ์ไทยอาทิตย์ ลงความเห็นตรงกัน ดัง เช่นหนังสือพิมพ์สารเสรี ลงพิมพ์เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม 2505 ดังนี้

“ ได้รับการยืนยันจากราษฎรที่รอดตาย ได้ถูกพายุกระหน่ำอย่างไม่รู้ตัวเพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึง 5 นาที บ้านเรือนก็พินาศหมด ก่อนจะเกิดพายุ ได้ยินเสียงกระหึมเหมือนเครื่องบินไอพ่น และเห็นน้ำทะเลม้วนตัวสูงขึ้นเป็นทรงกระบอก สูงกว่าต้นตาลหลายสิบเท่า แล้วจึงพัดเข้ามาถึงตัว ไม่มีใครมีโอกาสเตรียมหลบหนีกันได้ทัน

ส่วนพายุไต้ฝุ่น “เกย์” (Gay) ที่พัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่อำเภอปะทิว และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร พายุไต้ฝุ่น “เกย์” เป็นพายุหมุนเขตร้อน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยลูกแรก ที่มีความรุนแรง ถึงระดับพายุไต้ฝุ่น พายุนี้เริ่มก่อตัวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ในบริเวณตอนใต้ของอ่าวไทย และเคลื่อนตัวขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ เดิมพายุลูกนี้ มีทิศทางมุ่งเข้าหาฝั่ง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช

น้ำท่วม น้ำป่า ผลจาก พายุ เกย์ ที่ ท่าแซะ และ ปะทิว
ผลจากพายุเกย์ที่ท่าแซะ และปะทิว จังหวัดชุมพรฐานข้อมูลภาพมติชน

ต่อมาในตอนเช้าของวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 พายุนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นจนถึงระดับพายุไต้ฝุ่น และเปลี่ยนทิศทางไปทางเหนือ พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ได้เคลื่อนตัวผ่านฐานขุดเจาะน้ำมันของบริษัทยูโนแคลในอ่าวไทย ทำให้เรือขุดเจาะชื่อ “ซีเครสต์” (Sea Crest) พลิกคว่ำ มีเจ้าหน้าที่ประจำเรือเสียชีวิต 91 คน

พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ได้ทวีกำลังแรงเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุถึง 100 นอต ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณรอยต่อระหว่าง อำเภอปะทิวกับอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในตอนเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในพื้นที่ของจังหวัดชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ โดยมีน้ำท่วมและดินถล่มในหลายพื้นที่แล้ว พายุนี้ยังส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงตามชายฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งจังหวัดตามชายฝั่งทะเลตะวันออกด้วย

ผลของพายุทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน สูญหายกว่า 400 คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เรือกสวนไร่นาเสียหายกว่า 900,000 ไร่ เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ 500 ลำ ศพลูกเรือลอยเกลื่อนทะเล และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก นับเป็นการสูญเสียจากพายุไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พอตา แก่นแก้ว. “ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชุมชนปากพนัง พ.ศ. 2439-2525” 100 ปี โรงเรียนปากพนัง, โรงพิมพ์เลิฟแอนด์ลิพเพรส พ.ศ. 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม 2562