พายุไต้ฝุ่นเกย์ ภัยครั้งใหญ่ในไทย กับหลักฐานความเสียหายในราชกิจจานุเบกษา

ภาพความเสียหายที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ บริเวณอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร (ภาพจากหนังสือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร”)

ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ พี่น้องชาวปักษ์ใต้ต้องประสบกับมหาวาตภัย จากพายุนามว่า “พายุโซนร้อนปาบึก” แต่ทราบหรือไม่ ในอดีตนั้นดินแดนแถบคาบสมุทรปักษ์ใต้ต้องเผชิญกับพายุหลายลูกด้วยกัน เช่น

พายุโซนร้อนแฮเรียต ที่ถล่มแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕

พายุโซนร้อนรูท ที่พัดเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓

พายุไต้ฝุ่นแซลลี ซึ่งอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพัดเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕

พายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ พายุโซนร้อนฟอร์เรสต์ พายุไต้ฝุ่นลินดา ซึ่งได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนก่อนเข้าสู่ประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และระนอง

ในบรรดาพายุที่กล่าวมาข้างต้นนั้น พายุไต้ฝุ่นเกย์ นับเป็นพายุที่มีความรุนแรงมากที่สุด ซึ่งได้ก่อตัวจากพายุดีเปรสชั่นในบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ จากนั้นจึงทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นขณะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งจังหวัดชุมพร ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ รวมทั้งยังเป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในระดับไต้ฝุ่น และมีกำลังแรงมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ด้วยความเร็วประมาณ ๑๘๕ กิโลเมตร/ชั่วโมง

ภาพเส้นทางพายุเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย คาบ ๖๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๕๕) ในช่วงวันที่ ๑-๑๐ เดือนพฤศจิกายน จำนวน ๑๒ ลูก ขอขอบคุณภาพจากศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นนับว่ามหาศาลเลยทีเดียว ดังรายละเอียดจากกระทู้ถามที่ ๑๗๔ ร. ของนายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น พรรคมวลชน เรื่องพายุไต้ฝุ่นเกย์ ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ และกระทู้ถามที่ ๑๗๘ ร. ของนายสนิท จันทรวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี พรรคกิจสังคม เรื่องลูกเรือประมงประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งได้ถามไปยังรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มีใจความว่า

“เนื่องจากการที่พายุไต้ฝุ่นเกย์ได้พัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๐ นาฬิกา พายุไต้ฝุ่นลูกนี้ได้พัดเข้าสู่บริเวณอำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร รวมทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นบางส่วน อิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นลูกนี้ทำให้เกิดอุทกภัยและวาตภัยอย่างร้ายแรงที่สุดในรอบ ๙๙ ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตตามที่ทางราชการสำรวจพบได้ ๔๖๐ คน และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ พื้นที่ทำการเกษตรเสียหายมากกว่า ๑.๑ ล้านไร่ เรือขุดเจาะสำรวจก๊าซชื่อซีเครส (Seacrest Drillship) พร้อมลูกเรืออีก ๙๗ คน จมหายไป เรือประมงจมลงในทะเล พร้อมลูกเรืออีกเป็นจำนวนมาก วัด มัสยิด รวมทั้งบ้านเรือนของราษฎร โรงเรียน สถานที่ราชการ ระบบการสื่อสาร เสาไฟฟ้า สัตว์เลี้ยงต่างๆ ตลอดจนเส้นทางคมนาคมและอื่นๆพังทลาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นที่บ้านกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในคราวที่เกิดมหันตภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำความสูญเสียให้กับประชาชนอย่างมาก เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ของปี ๒๕๓๑ ที่ผ่านมาแล้วนั้นเทียบกันไม่ได้เลย เพราะความสูญเสียครั้งนี้หนักกว่ามาก…”

จากนั้นจึงได้ตั้งกระทู้ถามจำนวน ๔ ข้อด้วยกัน เกี่ยวกับเรื่องความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและราษฎร จำนวนเรือและลูกเรือที่จมในทะเล การให้ความช่วยเหลือลูกเรือเหล่านั้น และแนวทางการวางระเบียบเกี่ยวกับการรับจ้างลูกเรือประมง

ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ตอบกระทู้เรื่องนี้ คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังต่อไปนี้ คือ

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความเสียหาย รวม ๘ จังหวัด คือ จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ระนอง ปัตตานี ระยอง เพชรบุรี จังหวัดตราด จำนวน ๒๗ อำเภอ มีผู้เสียชีวิต ๖๐๒ คน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ ๒๔๗,๒๓๓ คน บ้านเรือนเสียหาย ๕๘,๕๙๖ หลัง เรือจม ๘๐๙ ลำ สิ่งสาธารณประโยชน์ชำรุดเสียหาย คือ ถนน ๑,๐๑๖ สาย สะพาน ๑๙๔ แห่ง เหมืองฝายทำนบ ๖๕ แห่ง สถานที่ราชการ ๑๔๒ แห่ง โรงเรียน ๒๑๖ แห่ง วัดและสำนักสงฆ์ ๒๐๒ แห่ง และมัสยิด ๖ แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๘๔๐,๘๕๒ ไร่ สัตว์เลี้ยงตายและสูญหาย ๘๘,๕๔๙ ตัว รวมค่าเสียหายทั้งหมดประมาณ ๑๑,๖๘๖,๖๙๕,๒๖๕ บาท

ทำให้เรือประมงจมลงในทะเลจำนวน ๘๐๙ ลำ เป็นของเอกชนทั้งสิ้น ลูกเรือเสียชีวิตจากการตรวจสอบหลักฐานเพื่อช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น ๖๕๔ คน บาดเจ็บ ๕๖ คน เป็นคนภาคอีสาน ๔๐๒ คน (ตัดยอดข้อมูลวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓)

ภาพความเสียหายที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ บริเวณชายฝั่งจังหวัดชุมพร

ด้านการให้ความช่วยเหลือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นค่าจัดการศพได้คนละ ๕,๐๐๐ บาท กรณีลูกเรือประมงตายหรือสูญหายให้ค่าทำศพรายละ ๕,๐๐๐ บาท ลูกเรือประมงที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าบำรุงขวัญ รายละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้โอนเงินไปยังจังหวัดต่างๆที่แจ้งว่ามีลูกเรือตายและบาดเจ็บ และมีญาติมาติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือ จนถึงเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นค่าทำศพ ๕๓๘ ราย และค่ารักษาพยาบาล ๕๒ ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๗๔๒,๐๐๐ บาท

ส่วนประเด็นการประกอบอาชีพรับจ้างเป็นลูกเรือประมงหรือแรงงานประมง เป็นเรื่องของความสมัครใจ  และมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าของเรือประมง (นายจ้าง) กับลูกเรือประมง (ลูกจ้าง) ภายใต้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้มีโครงการฝึกอบรมลูกเรือประมงซึ่งได้ทำการอบรมไปแล้วจำนวน ๑ รุ่น ที่ศูนย์พัฒนาประมงจังหวัดระยอง มีผู้เข้าอบรมจำนวน ๕๐ คน และกำลังของบประมาณในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่จังหวัดชุมพร ซึ่งจะสามารถรับผู้เข้ารับการอบรมได้ปีละประมาณ ๖๐๐ คน

จากกระทู้ถาม-ตอบข้างต้น คงทำให้ผู้อ่านทราบถึงความเสียหายและแนวทางการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เป็นอย่างดี

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับว่าระบบสื่อสารเทคโนโลยีสำหรับเตือนภัยขณะนั้น ยังไม่มีความทันสมัยเท่าที่ควร จึงยังผลให้ชาวบ้านไม่ได้รับข่าวสารและเตรียมตัวได้ทันท่วงที จนก่อเกิดเป็นความทรงจำอันเลวร้ายของใครหลายคน

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเสียหายจากธรรมชาติซึ่งมีความรุนแรงโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว หากมนุษย์จะกล่าวโทษธรรมชาติก็ถือว่าเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้เกิดภาวะที่สมดุลที่สุด จึงเป็นทางเลือกอย่างเดียวที่มนุษย์สามารถกระทำได้ ณ ห้วงเวลานี้

อุทิศแด่ผู้ได้รับความเสียหายจากวาตภัย


แหล่งอ้างอิง

กระทู้ถามตอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทู้ถามตอบที่ ๑๗๔ ร. เรื่อง พายุไต้ฝุ่นเกย์. ราชกิจจานุกเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๓๙ วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๓, หน้า ๒๙.

กระทู้ถามตอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ ๑๗๘ ร. เรื่อง ลูกเรือประมงประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นเกย์. ราชกิจจานุกเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๓๙ วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๓, หน้า ๓๕.

สถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทย ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวhttp://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=34&chap =7&page=t34-7-infodetail09.html, สืบค้นเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 20 มกราคม พ.ศ.2562