ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคตร.6 เสียโอกาสทรงหายประชวรเพราะอะไร?

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

พระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญไว้ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวสยามมีมากมายเหลือคณานับ พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที สิริพระชนมายุ 44 พรรษา 11 เดือน 26 วัน เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ 15 ปี 1 เดือน 3 วัน[1] (ประเพณีไทยถือว่ายังเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน จึงจัดงานวันคล้ายวันสวรรคตในวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี)

และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.37 น. สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้สิ้นพระชนม์ลงด้วยพระอาการติดเชื้อในพระกระแสโลหิตที่โรงพยาบาลศิริราช

โดยที่สาเหตุแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ผมในฐานะที่เป็นแพทย์คนหนึ่งซึ่งมีความจงรักภักดีและศรัทธาต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มาช้านานตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กจึงขออาสาใช้ความรู้ทางการแพทย์เพื่อมาวิเคราะห์สาเหตุแห่งการสวรรคตของพระองค์โดยใช้หลักฐานเท่าที่หาได้ในปัจจุบัน คือ

1. หนังสือเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม” ซึ่งเขียนโดย คุณวรชาติ มีชูบท [1]

2. บทความในหนังสือเรื่อง I lost a king [2] ซึ่งเขียนโดย Ralph W. Mendelson (นายแพทย์เมนเดลสัน) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1964 แปลโดย คุณทวีศิลป์ สืบวัฒนะ และนายแพทย์อภิชาติ ฉวีกุลรัตน์ ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 โดยนายแพทย์เมนเดลสันซึ่งเป็นผู้ที่ถวายการรักษาโดยการผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต

3. บทความเรื่อง “ศิษย์เก่าราชแพทยาลัยกับกรณีสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6” ซึ่งเขียนโดย ศ.นพ. สุดแสงวิเชียร [3] ซึ่งลงตีพิมพ์ในสารศิริราช ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525

4. หนังสือเรื่อง “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” ซึ่งเรียบเรียงโดย คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ และคุณชัชพล ไชยพร [4]

เนื่องจากนายแพทย์เมนเดลสัน [2] ได้เขียนบรรยายในหนังสือของท่านโดยเรียงลำดับเหตุการณ์ตามวันและเวลาที่เกิดขึ้นโดยละเอียดอย่างดีเยี่ยม ประกอบกับท่านเป็นแพทย์ผู้ที่ถวายการผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก่อนสวรรคต ผมจึงขอใช้บทความของท่านเป็นหลักและใช้บทความอื่น ๆ ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างกันตั้งแต่น้อยถึงมากมาร่วมประกอบในการเขียนบทความครั้งนี้ โดยผมจะวิเคราะห์เพิ่มเติมไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวันไป ในบทความของจมื่นมานิตย์นเรศกล่าวว่า

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ขณะศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2436 ในระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวร พระอันตะติ่งอักเสบ (ไส้ติ่ง = Vermiform appendix – ผู้เขียน) และทรงได้รับการถวายการผ่าตัดและพบว่ามีหนองที่พระยอดตรงพระอันตะติ่ง (ฝีกลัดหนองที่ไส้ติ่ง) เข้าขั้นอันตราย [5]

แต่เนื่องจากการผ่าตัดด้วยวิธีเปิดหน้าท้องในสมัยนั้นเพิ่งเริ่มทำมาไม่กี่รายและพระองค์ทรงเป็นคนไข้รุ่นแรก ๆ ของโลกที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การเย็บแผลจึงเย็บเฉพาะที่ผิวชั้นนอกทำให้ผนังหน้าท้องบริเวณนี้ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ต่อมาจึงเกิดโพรงที่ผนังหน้าท้องภายใน [4] เพราะว่าผนังหน้าท้องบริเวณนี้โดยปกติจะมีกล้ามเนื้อและพังผืดของกล้ามเนื้อ (Aponeurosis) ที่จะเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังหน้าท้อง (ดังรูปที่ 1) [6]

ประกอบกับข้อมูลของนายแพทย์เมนเดลสัน [2] ได้เขียนถึงพระประชวรที่ประเทศอังกฤษว่า พระอันตะติ่งของพระองค์แตก ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้ติ่งอักเสบ พระองค์ทรงได้รับการถวายการผ่าตัดด้วยการระบายหนองออกและต่อมาทรงได้รับการถวายการผ่าตัดติดต่อกันอีก 3 ครั้ง แล้วรักษาอาการของแผลบริเวณพระนาภีที่รั่วซึมออกมาบริเวณที่ถวายการผ่าตัดและต่อมาบริเวณพระนาภีตำแหน่งดังกล่าวมีการโป่งพองออก ดังนั้นการรักษาโดยการผ่าตัดผนังหน้าท้องหลายครั้งและการเย็บเฉพาะที่ผิวชั้นนอกย่อมต้องทำให้ผนังหน้าท้องบริเวณนั้นย่อมต้องอ่อนแอลงเป็นธรรมดา

รูปที่ 1 กล้ามเนื้อหน้าท้องและพังผืดของกล้ามเนื้อหน้าท้อง

โดยทั่วไปในการผ่าตัดไส้ติ่งนั้นขณะที่เปิดแผลผ่าตัดเพื่อจะต้องมีการแยกกล้ามเนื้อและพังผืดนี้เพื่อให้สามารถเปิดเข้าช่องท้องได้ ทำให้ผนังหน้าท้องที่มีการเย็บปิดเฉพาะชั้นผิวหนังและไขมันจึงอ่อนแอกว่าผนังหน้าท้องบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่ถูกผ่าตัดและยืดตัวออกโดยมีลักษณะเป็นถุงหรือกระเปาะในเวลาต่อมา

ลำไส้เล็กซึ่งโดยปกติสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ในช่องท้องก็อาจจะเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในกระเปาะนี้ได้ ลักษณะที่ลำไส้เล็กเคลื่อนออกจากช่องท้องโดยผ่านช่องต่าง ๆ ไปยังกระเปาะซึ่งอยู่ภายในอวัยวะอื่น ๆ เราเรียกเป็นศัพท์ทางแพทย์ว่าไส้เลื่อน (Hernia) ตัวอย่างที่เรามักจะเห็นบ่อยคือกรณีไส้เลื่อนที่เกิดบริเวณถุงอัณฑะทำให้ถุงอัณฑะโตผิดปกติ ลำไส้ส่วนที่ยื่นเข้าไปในกระเปาะนี้อาจเป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่า cecum ซึ่งมีไส้ติ่งยื่นออกจากลำไส้ใหญ่ส่วนนี้ก็ได้ (ดังรูปที่ 2) [6] และ (รูปที่ 3) [6] โดยลำไส้ใหญ่ (cecum) นี้อยู่ตรงกับบริเวณผนังหน้าท้องที่มีแผลผ่าตัดซึ่งกลายเป็นถุงหรือกระเปาะในเวลาต่อมา

รูปที่ 2 ภาพวาดแสดงความสัมพันธ์ของไส้ติ่ง (Vermiform appendix) ที่ยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วน cecum และอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง

ดังนั้น หลังจากที่พระองค์ได้รับการถวายการผ่าตัดพระอันตะติ่งออกแล้ว พระอันตะ (cecum) ก็สามารถเคลื่อนไหวโป่งพองเข้าไปในกระเปาะได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีรูโหว่ที่เกิดขึ้นบริเวณแผลเป็นที่เบื้องล่างพระนาภีซีกขวา ซึ่งเป็นบริเวณที่ศัลยแพทย์ได้เคยถวายการผ่าตัดพระอันตะติ่งแด่พระองค์ มีลักษณะเป็นรอยแข็ง มีรูปร่างเป็นก้อนกลมขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยงทำให้ต้องทรงใช้ผ้าแถบรัดบั้นพระองค์ขณะทรงพระสนับเพลาแพรเพื่อรัดโยงแผลนั้นไว้ แสดงว่าพระอันตะเข้าไปที่รูโหว่เข้าไปในผนังหน้าท้อง เราเรียกไส้เลื่อนที่เกิดจากการอ่อนแอของแผลผ่าตัด (Incisional hernia – ผู้เขียน) พระอันตะเลื่อนนี้ทำให้ทรงอึดอัด เป็นหน้าที่มหาดเล็กจะต้องค่อย ๆ ช้อนตรงแผลเป็นเบา ๆ ยกขึ้นข้างเหนือแล้วเอียงเทให้ควํ่าเข้าในพระนาภี จะมีปรากฏเสียงจ๊อก ๆ ยาว ๆ และก็ทรงสบายหายอึดอัดได้พักหนึ่งก่อนจะถึงเวลาเสวยครั้งต่อไป ซึ่งก็จะวนเวียนอึดอัดอยู่อย่างนี้ [4]

รูปที่ 3 ภาพขยายของกายวิภาคของไส้ติ่งสัมพันธ์กับลำไส้ใหญ่ส่วน cecum และสำไส้เล็กส่วน I leum

ความจริงแพทย์ได้ตรวจพบพระอันตะเลื่อน (ไส้เลื่อน) เข้าไปในถุงแผลนี้เป็นอยู่บ่อย ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 และได้ถวายคำแนะนำให้ทรงทำผ่าตัดใหม่ยังต่างประเทศ [5]

แต่ครั้นใกล้วันเสด็จพระราชดำเนินทรงทราบข่าวว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จทิวงคตอย่างกะทันหันที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากพระองค์ทรงอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับแรกและปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ อยู่เนือง ๆ ทำให้พระองค์ต้องงดการเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์และต่อมาก็ไม่ปรากฏมีช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมอีกเลยจนเสด็จสวรรคตในที่สุด ประกอบด้วยพระราชกรณียกิจที่มากมายทำให้พระพลานามัยเสื่อมทรุดลงเป็นลำดับ

คุณวรชาติได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านว่า …แผลผ่าตัดพระอันตะซึ่งทรงได้รับการผ่าตัดไว้เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนเริ่มแตกออกและลุกลามเป็นพระโรคเยื่อหุ้มกระเพาะอาหารอักเสบ ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2468 เริ่มมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะมาโดยตลอด…[1]

เป็นข้อมูลที่พบแต่ในหนังสือที่คุณวรชาติ [1] ได้เขียนไว้เพียงเล่มเดียวเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะหากแผลผ่าตัดนี้แตกจริง ลำไส้ก็จะสามารถเคลื่อนผ่านผนังหน้าท้องออกมาสู่ภายนอกและจะทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องท้องที่เรียกว่า ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) ได้ ซึ่งภาวะนี้รุนแรงมากจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่จะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเปิดผนังหน้าท้องที่แตกโดยด่วน

อีกประการหนึ่งคือ โดยปกติกระเพาะอาหารจะอยู่ในช่องท้องส่วนบนบริเวณลิ้นปี่ ค่อนมาทางด้านซ้ายเล็กน้อย ดังนั้นหากแผลซึ่งอยู่บริเวณท้องน้อยด้านล่างขวาแตกออกก็ไม่น่าจะทำให้กระเพาะอาหารออกมานอกช่องท้องจนทำให้เยื่อหุ้มกระเพาะอาหารอักเสบได้ เนื่องจากอยู่ห่างกันมาก ผมคิดว่าน่าจะทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบมากกว่า และหากเกิดกรณีแผลผ่าตัดฯ แตกออกจริง ๆ แล้ว ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ น่าจะสวรรคตตั้งแต่เมื่อแผลผ่าตัดฯ เริ่มแตกออกแล้วเพียงไม่กี่วัน

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

วันนี้เป็นวันฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มีพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งพระองค์ทรงดูอ่อนเพลียกว่าปกติ [1] และคืนนั้นพระองค์ประชวรพระวาโย (เป็นลม -ผู้เขียน) ในห้องลงพระบังคนโดยไม่พบว่ามีพระบังคนในหม้อ มีแต่เศษใบคะน้าอยู่เล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสยิ้วพระพักตร์แสดงว่าทรงปวดมาก ใช้พระหัตถ์ขวากุมที่พระนาภีตรงที่เป็นแผลเป็น ทรงบิดพระวรกายเล็กน้อยรับสั่งว่าปวดจริง [5] อาจารย์หมอสุด แสงวิเชียร ได้เขียนถึงเหตุการณ์ตอนนี้ในบทความของท่านว่า “แผลเป็นอูมปูดขนาดใหญ่ อันเป็นรอยเกิดจากการผ่าตัดพระโรคไส้ติ่งอักเสบสมัยยังทรงพระเยาว์และทรงศึกษาวิชาอยู่ในประเทศอังกฤษ” [3]

วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

ในบทความของนายแพทย์เมนเดลสันได้เขียนอาการพระประชวรที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 12 พฤศจิกายน ดังนี้ “…ตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา ในตอนเช้าได้เสวยพระกระยาหารหนักถึง 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งว่าทรงปวดพระนาภีและทรงพระอาเจียน 2 ครั้ง แพทย์หลวงได้ชี้แจงต่อไปอีกว่า พระโรคเดิมที่เคยทรงพระประชวรได้กำเริบขึ้นอีกและแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้วินิจฉัยสาเหตุของพระอาการว่าเกิดจากการบีบตัวอย่างไม่สมํ่าเสมอของพระอันตะ (ลำไส้) แพทย์หลวงได้ถวายพระโอสถมอร์ฟีนและได้ถวายการสวนทางช่องพระบังคนหนัก แพทย์หลวงแน่ใจว่าพระโอสถมอร์ฟีนจะยุติพระอาการปวดลงได้ แต่นับว่าโชคไม่ดีที่การสวนทางช่องพระบังคนหนักไม่ก่อให้เกิดผลแต่ประการใด” [2]

พระอาการปวดพระนาภีร่วมกับทรงพระอาเจียนและแผลเป็นปูดขนาดใหญ่ อาจเป็นอาการของภาวะลำไส้ที่เคยเคลื่อนไปมาเข้าไปในถุงแผลเป็นไม่สามารถเคลื่อนเข้าไปในช่องท้องได้เหมือนเดิมเข้าได้กับภาวะที่ลำไส้อุดตัน ซึ่งอาจจะเป็นลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ก็ได้ ถ้าพิจารณาขณะนี้น่าจะเป็นลำไส้เล็ก (Small bowel obstruction) มากที่สุด โดยพิจารณาจากพระราชประวัติที่พระอันตะเลื่อนเข้าไปในถุงเมื่อเสวยเสร็จใหม่ ๆ ต้องให้มหาดเล็กค่อย ๆ ช้อนถุงเนื้อนี้เบา ๆ ยกขึ้นข้างเหนือแล้วเอียงให้เทควํ่าเข้าในพระนาภี อาการแสดงของผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้เล็กอุดตันคือ ปวดท้องแบบบิด ๆ เป็นพัก ๆ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องผูก โดยอาเจียนเป็นอาการที่สำคัญ

ถ้าลำไส้อุดตันช่วงต้น ๆ มากกว่าช่วงปลาย ๆ ภาวะลำไส้เล็กอุดตันนี้อาจเป็นแบบอุดตันบางส่วน (Partial) มากกว่าอุดตันทั้งหมด (complete) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยสามารถผายลมหรือถ่ายอุจจาระได้หลังจากเริ่มมีอาการนี้ 6-12 ชั่วโมง การมีไข้ ชีพจรเต้นเร็ว กดเจ็บที่บริเวณหน้าท้องเฉพาะที่มีภาวะลำไส้เล็กอุดตัน เม็ดเลือดขาวในการตรวจเลือดสูงและภาวะความเป็นกรดในเลือดสูง (acidosis) เพียงข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมานี้ บ่งบอกว่าเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงลำไส้ส่วนนั้นถูกบีบรัด ทำให้ลำไส้ขาดเลือดและอาจเกิดลำไส้เน่าในที่สุด (Strangulated obstruction) ซึ่งภาวะนี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่จะต้องผ่าตัดรักษาแต่เนิ่น ๆ [7] แต่ถ้ามีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่นมากกว่าคลื่นไส้ อาเจียนปวดท้อง แสดงว่า ลำไส้อุดตันที่ลำไส้เล็กส่วนปลายหรือลำไส้ใหญ่มากกว่าลำไส้ส่วนต้น

อย่างไรก็ตาม หากภาวะลำไส้อุดตันแบบชั่วคราวนี้ดีขึ้นก็อาจทำให้ภาวะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงลำไส้ส่วนนั้นถูกบีบรัดก็ดีขึ้นตามลำไส้ที่หายจากการอุดตันแล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 นั้น พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ซึ่งเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ได้ใช้มือคลำที่พระนาภีตรงรอยแผลเดิมที่มีพระมังสาโป่งอยู่นั้น ก็ได้พบก้อนแข็งอยู่ตรงกลางขนาดผลมะนาว มีสีเป็นรอยบวมแดง เมื่อเอามืออังก็รู้สึกมีความร้อน ลองเอาปลายนิ้วกดเบา ๆ ก็ทรงรูสึ้กเจ็บ พระยาแพทย์พงศาฯ ลงความเห็นว่าเป็นแผลที่พระอันตะต้องรีบทำการผ่าตัดภายใน 8 ชั่วโมง [3] แต่ในวันนั้นพระชีพจรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ยังเต้นเป็นปกติอยู่

ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งหมดพบว่า อย่างน้อยมีการตรวจกดเจ็บที่บริเวณหน้าท้องเฉพาะที่มีภาวะลำไส้อุดตันเพียงอย่างเดียว ที่ชวนให้สงสัยว่าอาจมีภาวะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงพระอันตะของพระองค์นั้นถูกบีบรัดเนื่องจากพระอันตะอุดตัน เมื่อพระยาแพทย์พงศาฯ เรียกประชุมนายแพทย์ชั้นผู้ใหญ่อีก 3 ท่าน คือ พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) พระยาอัศวินอำนวยเวช (อาลฟองซ์ ปัวซ์) และพระยาวิรัชเวชกิจ (ดิลิเก คุณดิลก)

แพทย์ทั้ง 3 ท่านนี้วินิจฉัยว่าพระอาการเกิดจากพระวักกะ (ไต) ทำให้เกิดมีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงกับพระยาแพทย์พงศาฯ ซึ่งได้เข้ามาเป็นแพทย์ประจำพระองค์มา 16 ปีแล้วและรู้ดีในพระสรีระของพระองค์ว่าเป็นอะไรและจะไม่ยอมลงชื่อรับรองตามความเห็นของคณะนายแพทย์ชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 3 คนอย่างเด็ดขาด ในที่สุดเลยตัดสินกันว่าต้องให้พระยาแพทย์พงศาฯ ลงชื่อด้วย แต่จะมีหมายเหตุไว้ข้างท้ายว่า พระยาแพทย์พงศาฯ ไม่เห็นพ้องด้วย พระยาแพทย์พงศาฯ จึงได้ยอมลงชื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เมนเดลสันได้กล่าวถึงแถลงการณ์สำนักพระราชวังเกี่ยวกับพระอาการประชวรเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยเขียนว่า “เมื่อเวลาเช้าก่อน 5 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยพระอาการจากพระอันตะหดเกร็งและทรงพระอาเจียน ในขณะเดียวกันพระนาภีตรงตำแหน่งที่โป่งพองมีอาการแน่นตึงและทรงปวดมาก คณะแพทย์มีความเห็นว่ายังตรวจไม่พบอาการแสดงของการอุดตันในพระอันตะ และพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดเนื่องจากการหดเกร็งของพระอันตะ ซึ่งมีสาเหตุจากการรบกวนของอาหารไม่ย่อย ลงนามพระยาอัศวิน (หมอปัว) พระยาวิชัยกิจ (หมอติลากา) [น่าจะเป็นคนเดียวกับพระยาวิรัชเวชกิจในบทความของอาจารยห์ มอสุด แสงวิเชียร – ผู้เขียน] และพระยาดำรง[2]

เป็นที่น่าสังเกตว่าแถลงการณ์ฉบับนี้ไม่ได้กล่าวว่าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เกิดจากพระวักกะเลย แต่สรุปว่าเกิดจากการหดเกร็งของพระอันตะและได้ลงความเห็นอีกด้วยว่ายังตรวจไม่พบอาการแสดงของการอุดตันในพระอันตะในขณะนั้น ผมคิดว่าจากข้อความในแถลงการณ์นี้ น่าจะชี้บ่งว่าคงจะมีการอภิปรายกันถึงภาวะอุดตันในพระอันตะของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในกลุ่มแพทย์หลวงที่ถวายการรักษาพระองค์อยู่ จึงได้เขียนว่ายังตรวจไม่พบพระอาการของการอุดตันในพระอันตะดังกล่าว มิฉะนั้นคงจะไม่เขียนขึ้นมาลอย ๆ ในลักษณะเหมือนกับมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่

และที่สำคัญก็คือพระยาแพทย์พงศาฯ ไม่ได้ลงนามในท้ายแถลงการณ์ด้วยเหมือนอย่างที่ปรากฏในบทความของอาจารย์หมอสุดแสงวิเชียร สืบเนื่องจากที่มีความขัดแย้งกันของข้อมูลดังกล่าว ผมได้ลองพยายามสืบค้นดูแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังจากหนังสือพิมพ์เก่า ๆ ที่ตีพิมพ์ในระยะเวลาดังกล่าวจากหอสมุดแห่งชาติ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ผมไม่พบหนังสือพิมพ์เก่าในห้วงระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวรก่อนที่จะสวรรคตที่กล่าวถึงกรณีสวรรคตอย่างละเอียดเลยแม้แต่ฉบับเดียว

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

แถลงการณ์สำนักพระราชวังกล่าวว่า “…พระองค์เริ่มทรงมีไขสู้ง 102 องศา [ฟาเรนไฮต์ – ผู้เขียน] พระชีพจรเต้น 112 [ครั้งต่อนาที – ผู้เขียน] พระอาการไข้มีสาเหตุจากการอักเสบของพระอันตะซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการระคายเคืองและการดูดซึมสารพิษในลำไส้ พระอาการบริเวณพระนาภีดีขึ้นมากและไม่น่าวิตกอะไร เพียงแต่ต้องระวังมิให้ทรงมีพระอาการแทรกซ้อนอวัยวะอื่น ๆ ต่อพระวรกาย[2]

ผมคิดว่าพระอาการโดยรวมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โดยรวมน่าจะไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีพระอาการของภาวะพระอันตะอุดตันที่น่าจะมีภาวะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงพระอันตะถูกบีบรัดด้วยชัดเจนขึ้นกว่าในวันแรก (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) โดยสังเกตจากที่พระองค์เริ่มทรงมีไข้สูง 102 องศา จากที่ไม่ทรงมีในวันแรก และมีการกล่าวถึงพระอาการไข้เพิ่มขึ้นจากแถลงการณ์ของวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แต่เหตุที่พระอาการบริเวณพระนาภีดีขึ้นมากอาจเกิดจากการใช้มอร์ฟีนแก้ปวดเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ คือเมื่อมีอาการปวดก็ให้ยาบรรเทาปวด โดยไม่มีการรักษาที่ต้นเหตุที่ทำให้ปวดที่แท้จริงคือภาวะอันตะอุดตันแต่อย่างใด ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาทางการแพทย์

วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

นายแพทย์เมนเดลสันได้ตรวจพระวรกายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นครั้งแรกในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของพระประชวรครั้งนี้ โดยพบว่าโรคพระอันตะเลื่อนยังคงบวมใหญ่และมีอาการอักเสบเกิดขึ้นอยู่และยังคงมีพระไขสู้ง 103.5 องศา พระชีพจรเต้นเร็วอยู่ระหว่าง 120-140 ครั้งต่อนาที นอกจากนี้ยังพบว่า พระองค์กำลังทรงหมดพระสติจากพระโรคเบาหวานอย่างรุนแรง โดยที่พระอัสสาสะและพระปัสสาสะของพระองค์มีกลิ่นซึ่งบ่งถึงพระโรคเบาหวาน

นายแพทย์เมนเดลสันได้สรุปว่า ขณะนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวรไม่รู้สึกพระองค์เนื่องจากพระโรคเบาหวานกำเริบและพระโลหิตเป็นพิษ (Septicemia – ผู้เขียน) อันเป็นผลมาจากการอุดกั้นของทางเดินอาหารในพระอันตะและเสนอว่าควรต้องรักษาโรคเบาหวานด้วยอินซูลินซึ่งเป็นยาใหม่ในขณะนั้น แต่กลุ่มนายแพทย์รุ่นอาวุโสที่รักษาพระองค์อยู่ไม่มีประสบการณ์ในการใช้ยาอินซูลินจึงไม่เห็นด้วย นอกจากนั้นกลุ่มแพทย์หลวงเหล่านี้ยังไม่เชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวรเพราะมีการอุดตันในพระอันตะและก็ไม่มีแพทย์คนใดสนับสนุนความเห็นของนายแพทย์เมนเดลสันเลย [2]

จากการตรวจพระบังคนเบาแสดงให้เห็นถึงอาการของพระโรคเบาหวานและพระองค์ทรงได้รับการรักษาโดยการถวายของเหลวทางช่องพระบังคนหนัก ซึ่งของเหลวได้ดูดซึมอย่างรวดเร็วและพระองค์ได้รับการถวายถุงนํ้าร้อนซึ่งรับสั่งว่า “ร้อนมาก ๆ ร้อนมาก ๆ” พระองค์ยังได้รับการถวายของเหลวทางช่องพระบังคนหนักต่อไปอีกหลายครั้งตลอดทั้งวัน แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระอาการขาดนํ้าในพระวรกายอย่างรุนแรง [2]

ภาวะขาดนํ้านี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุตั้งแต่เบาหวานที่รุนแรงพระโลหิตเป็นพิษ การอุดตันในพระอันตะ อย่างไรก็ตาม การแก้ภาวะขาดนํ้านี้เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุอีกเช่นเคยซึ่งอาจจะทำให้พระอาการของพระองค์ดีขึ้นเพียงขณะหนึ่งเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่พระประชวรก็จะกลับมาทรุดหนักลงอีกต่อไปในที่สุดหากไม่ได้มีการแก้ไขที่ต้นเหตุเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ภาวะขาดนํ้าของพระองค์ดีขึ้นโดยดูจากพระบังคนเบาที่ออกมากว่า 1 ลิตร หลังจากที่ทรงได้รับการถวายการสวนทางช่องพระบังคนหนักดังกล่าว แต่ก็อาจเป็นผลเสียคือทำให้คณะแพทย์หลวงชะล่าใจและไม่ใส่ใจที่จะรักษาต้นเหตุของพระโรคในครั้งนี้ต่อไป เพราะเห็นว่าพระอาการของพระองค์ดีขึ้นค่อนข้างมากแล้ว

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

นายแพทย์เมนเดลสันได้ไปเยี่ยมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และตรวจพบว่าขณะนี้พระอาการของพระองค์โดยรวมดีขึ้น ความดันของพระโลหิตรวมทั้งกลิ่นหายใจของพระองค์ดีขึ้น พระองค์ไม่ทรงปวด หยุดอาเจียนและเสวยพระกระยาหารอ่อน ๆ ได้มาก เหล่าแพทย์หลวงยังไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนายแพทย์เมนเดลสันเกี่ยวกับการถวายอินซูลินและถวายการผ่าตัดที่พยายามแนะนำให้แพทย์หลวงยอมรับให้ได้อีกครั้ง โดยพวกเขากล่าวว่านายแพทย์เมนเดลสันเป็นผู้แสดงให้เห็นว่า พระโรคที่พระองค์ประชวรคือพยาธิสภาพที่อยู่นอกช่องพระนาภีและน่าจะรอให้เชื้อโรคดังกล่าวกลายเป็นหนองและรอให้เป็นฝีสุกงอมจึงค่อยถวายการผ่าตัด

ดังนั้น การที่พระอาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงดีขึ้นในขณะนั้นกลับกลายเป็นผลร้ายที่ทำให้แพทย์หลวงวางใจ อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยกับแผนการรักษาของนายแพทย์เมนเดลสันทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษาต้นเหตุของพระโรคโดยเร็วได้อย่างทันท่วงที ผมคิดว่าแนวคิดในการรักษาพระโรคของพระองค์ในครั้งนี้น่าจะมีความผิดพลาดบางประการ การรอให้ฝีสุกงอมจึงค่อยถวายการผ่าตัดอาจจะใช้ได้ดีในกรณีที่พระองค์มีฝีที่อยู่ผิวหนังภายนอก ซึ่งไม่ได้อยู่ในช่องท้องอย่างที่เกิดขึ้นกับพระองค์จริง ๆ

เพราะการที่รอให้ฝีที่อยู่ภายในช่องท้องสุกงอมก่อน แล้วจึงค่อยถวายการผ่าตัดเท่ากับว่าปล่อยให้การอักเสบติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโรคนั้นดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยปราศจากการควบคุมและการติดเชื้อก็แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้อง และที่สำคัญที่สุดคือการติดเชื้อนั้นได้กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตซึ่งหมายความว่า การติดเชื้อได้แพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายทางกระแสโลหิตที่หล่อเลี้ยงอวัยวะนั้น ๆ (โดยทางการแพทย์ถือว่าภาวะโลหิตเป็นพิษมีความรุนแรงมากที่สุดภาวะหนึ่ง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที – ผู้เขียน)

การรักษาอันดับแรกของภาวะโลหิตเป็นพิษก็คือการกำจัดสิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ออกไปเสียก่อน ซึ่งก็คือการเอาหนองที่ถุงแผลที่มีพระอันตะเลื่อนของพระองค์อยู่ จากนั้นจึงให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ แต่เนื่องจากความเจริญทางการแพทย์ในขณะนั้นยังไม่มีการค้นพบยาปฏิชีวนะขึ้นมาในโลก จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้สูงมาก นอกจากนี้พระโรคเบาหวานก็ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยาอินซูลินอย่างเหมาะสม โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีภูมิต้านทานตํ่ากว่าคนปกติทั่ว ๆ ไป ทำให้ไม่สามารถต่อต้านเชื้อโรคได้ดีเท่าที่ควร โรคที่ไม่รุนแรงสำหรับคนปกติทั่ว ๆ ไปก็อาจรุนแรง

จมื่นมานิตย์นเรศได้กล่าวถึงพระอาการประชวรของพระองค์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ว่า “…วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระอาการหนักมากขึ้นอีก ถึงทรงแน่นิ่ง (โคม่า) นายแพทย์ถวายสวนนํ้าเกลือทางพระทวารหนัก [ช่องพระบังคนหนัก – ผู้เขียน] ต่อมาพระอาการค่อยดีขึ้น…” [5] ซึ่งต่างจากข้อมูลที่นายแพทย์เมนเดลสันได้เขียนว่า ได้ถวายสวนนํ้าเกลือทางช่องพระบังคนหนักเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และพระอาการประชวรของพระองค์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ดีขึ้น วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระอาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงดีขึ้นมากและมีพระราชปรารภว่า ทรงมีความรู้สึกว่าพระอันตะเคลื่อนไหวในพระนาภีในเวลากลางคืน ไม่ทรงเจ็บปวด ความดันพระโลหิตปกติ ไม่ทรงมีไข้ มีแต่เพียงชีพจรเต้นเร็ว 112 ครั้งต่อนาที บริเวณพระนาภีอ่อนนุ่ม เหล่าแพทย์หลวงยกเว้นพระองค์เทวัญ (นายพลเรือตรีหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยยันต์) พระยาอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) และนายแพทย์เมนเดลสัน เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพ้นวิกฤตมาแล้ว

นอกจากนี้บุคคลสำคัญภายนอก เช่น เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระยาประชาฯ อธิบดีกรมสาธารณสุขต่างก็แสดงความยินดีแก่นายแพทย์เมนเดลสัน โดยที่นายแพทย์เมนเดลสันทราบดีว่าพระอาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่ดีขึ้นนั้นเป็นเพียงการชั่วคราว [2]

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระอาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เริ่มรุนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยมีพระไข้อยู่ที่ 101-102 องศา ในเวลากลางคืนมีรายงานว่า พระบังคนเบามีนํ้าตาลเจือปนและมีสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้พระองค์ทรงรู้สึกปวดที่บริเวณก้อนบริเวณพระอันตะ ในวันนั้นนายแพทย์เมนเดลสันได้ถวายนมเพิ่มและกราบบังคมทูลให้ทรงงดนํ้าผลไม้ พระอันตะไม่ได้ทำงานและการถวายการสวนทางพระบังคนหนักก็ไม่เป็นผล แต่แถลงการณ์ของสำนักพระราชวังกลับเขียนว่า “พระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดีขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นลำดับ พระอาการประชวรนั้นมีความหวังมากขึ้น พระอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 100 และ 102 องศา พระชีพจรอยู่ระหว่าง 105 และ 112 พระอาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ” [2]

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราอ่านบันทึกทางประวัติศาสตร์ เราควรจะต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะบันทึกทางประวัติศาสตร์มักจะได้รับการเขียนโดยผู้ชนะหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น ดังนั้นบันทึกดังกล่าวจะต้องเป็นผลดีแกผู้มีอำนาจสูงสุดเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูลนั้น ๆ

อย่างในกรณีพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ นั้น ผมคิดว่า สำนักพระราชวังคงไม่ต้องการให้ประชาชนมีความตระหนกตกใจกับพระอาการที่ทรง ๆ ทรุด ๆ ของพระองค์ ก็เลยเขียนแบบไม่รุนแรงเอาไว้ก่อน และหากเราไม่พบบันทึกของนายแพทย์เมนเดลสันแล้วละก็ เราก็อาจไม่พบความจริงดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว

วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงดูไม่กระปรี้กระเปร่า ทรงอยากเสวยพระกระยาหารมากขึ้น แต่ต้องจำกัดพระกระยาหารอย่างเข้มงวด[2] ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจร่างกายอื่น ๆ โดยสรุปพระอาการประชวรของพระองค์ไม่น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 นายแพทย์เมนเดลสันได้บันทึกเพิ่มเติมในวันนี้ว่าพระยาอัพภันตราพาธพิศาล จบการศึกษาจากต่างประเทศมีความรู้เรื่องการแพทย์เป็นอย่างดีและไม่เคยสงสัยเกี่ยวกับข้อดีของการใช้อินซูลินและการถวายการผ่าตัดและก็ผิดหวังกับแพทย์หลวงเช่นเดียวกับนายแพทย์เมนเดลสันเอง

แพทย์หลวงส่วนใหญ่เป็นแพทย์อาวุโสที่มักจะจบการศึกษามานานแล้ว ประกอบกับเทคโนโลยีสารสนเทศในอดีตยังไม่ได้มีความเจริญเท่ากับในปัจจุบันนี้ ทำให้อาจจะไม่ค่อยมีโอกาสติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการมากนักและไม่เชื่อในวิทยาการที่ทันสมัยกว่าในยุคที่ตนเองเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสูญเสียโอกาสที่จะทรงหายประชวรในที่สุด

วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มีพระราชปรารภถึงความเจ็บปวดบริเวณที่เป็นก้อนตรงพระนาภีอีก ทรงถ่ายพระบังคนหนักเป็นมูกเลือดเล็กน้อยในช่วงกลางคืนและพระอาการที่อันตรายที่สุดคือ พระอันตะที่มีปัญหาเริ่มมีปฏิกิริยาโดยมีจุดดำที่แสดงถึงความตายของเนื้อซึ่งเกิดจากโรคเบาหวาน นายแพทย์เมนเดลสันเห็นควรให้เรียกประชุมสภาเจ้าเพื่ออธิบายถึงความหนักหนาของพระอาการ ซึ่งได้จัดมีขึ้น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

นายแพทย์เมนเดลสันกล่าวว่า หากไม่ได้มีการถวายการผ่าตัดโดยผ่านผนังช่องท้องน้อยบริเวณพระอันตะเพื่อระบายหนองบริเวณที่อักเสบ หนองก็จะขยายตัวออกมาบริเวณหนังช่องท้องและกระจายไปทั่ว ซึ่งพระองค์เทวัญและพระยาอัพภันตราพาธพิศาลสนับสนุนความเห็นนี้ของนายแพทย์เมนเดลสัน แต่มีแพทย์ชาวไทยคัดค้านอยู่ 1 คนโดยให้เหตุผลว่าไม่มีใครทราบว่าหมอที่ลอนดอนได้เคยทำอย่างไรกับพระอันตะของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อครั้งถวายการผ่าตัดพระอันตะติ่งคราวนั้น แต่ในที่สุดสภาเจ้าอนุมัติให้ผ่าตัดได้ในเวลาตีสาม [2]

ผมคิดว่าในบทความของนายแพทย์เมนเดลสันเขียนไว้คือ ตีสาม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีความผิดพลาดเพราะเวลาตีสาม (03.00 น.) เป็นเวลาที่ไม่เหมาะสมแก่การผ่าตัดเนื่องจากเวลานี้ปกติเป็นเวลาที่คนเรานอนหลับพักผ่อน ผมคิดว่าน่าจะเป็นบ่ายสามโมง (15.00 น.) มากกว่า อาจเกิดความผิดพลาดจากการแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ยืนยันโดยแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังของวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ที่บันทึกไว้ในบทความเดียวกันของนายแพทย์เมนเดลสัน[2] ว่า “…วันที่ 19 พ.ศ. 2468 เมื่อเวลาบ่าย 3 นาฬิกา ได้มีการถวายการผ่าตัดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลเป็นที่น่าพอใจ…” [2]

พระอุณหภูมิก่อนผ่าตัดเท่ากับ 104 องศา พระชีพจรเต้น 112 ครั้งต่อนาที ซึ่งเมื่อถวายการผ่าตัดเปิดพระนาภีก็พบหนอง เศษพระบังคนหนักรวมทั้งพระอันตะที่ทะลุเป็นรูและหนองทะลุเข้าไปในช่องพระนาภี พระนาภีส่วนอื่นๆไม่มีหนองกระจายเนื่องจากมีเนื้อเยื่อมาขวางกั้นออกจากตำแหน่งของก้อนโป่งพองของพระอันตะที่แตกออก

นายแพทย์เมนเดลสันได้ถวายยาชา ตัดเศษเนื้อตายออก ได้ทำความสะอาดของเสียต่าง ๆ ที่อยู่ในช่องพระนาภี พระอันตะที่แตกทะลุเป็นหนองทะลุเข้าไปในช่องพระนาภีดังกล่าว ใส่ท่อระบายเข้าไปในพระอันตะเพื่อระบายออกภายนอกและปิดแผลเอาไว้ โดยใช้เวลาในการถวายการผ่าตัดประมาณ 30 นาที นายแพทย์เมนเดลสันคิดว่าพระโรคของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ คือการอุดตันในพระอันตะ

ในช่วงเย็นวันนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มีพระอาการดี จากข้อมูลที่พบจากการผ่าตัดของนายแพทย์เมนเดลสัน แสดงให้เห็นว่าที่แตกน่าจะเป็นพระอันตะหรือพระอันตคุณ (ลำไส้เล็ก) ส่วนปลายๆ เนื่องจากมีเศษพระบังคนหนัก ซึ่งก็เข้าได้กับพระอาการเด่นคือท้องผูกมากกว่าคลื่นไส้ อาเจียน ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นของบทความนี้ และการที่ไม่มีหนองกระจายไปยังพระนาภีส่วนอื่น ๆ เพราะว่ามีเนื้อเยื่อหรือพังผืด (adhesion) มาขวางกั้นออกจากตำแหน่งของก้อนโป่งพองของพระอันตะที่แตกออกทำให้พระอาการของพระองค์จำกัดเฉพาะที่ท้องน้อยด้านขวาบริเวณที่เป็นก้อนโป่งพอง

ข้อสรุปที่ได้หลังจากการผ่าตัดก็คือ มีการอุดตันของพระอันตะทำให้เป็นก้อนโป่งพอง การอุดตันนี้น่าจะเป็นแบบอุดตันบางส่วน แม้ว่าจะไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายพระบังคนหนักของพระองค์อีกเลยนับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เป็นต้นมา เพราะพระอาการของพระองค์ดีขึ้นเป็นพัก ๆ เมื่อมีการอุดตันทำให้เกิดการขาดเลือดที่ไปเลี้ยงผนังของพระอันตะที่อุดตันนี้ ทำให้ผนังบางส่วนขาดเลือดและตายไป ต่อมามีการติดเชื้อของผนังนี้ร่วมด้วยเนื่องจากโดยปกติแล้วในลำไส้ของคนปกติจะมีเชื้อโรคบางชนิดอาศัยอยู่ ประกอบกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ มีพระโรคเบาหวานอยู่แต่เดิมทำให้โอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้นได้โดยง่ายและมักรุนแรงกว่าคนปกติและผนังพระอันตะส่วนนี้ก็ทะลุในที่สุด

การโป่งพองของพระอันตะนั้นเป็นอาการที่บ่งบอกว่ามีการอุดตันในพระอันตะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ แสดงว่าพระอันตะส่วนนี้น่าจะอยู่ในบริเวณถุงแผลนี้มานานพอสมควร อย่างน้อย ๆ น่าจะตั้งแต่วันแรก ๆ ที่มีพระอาการประชวรปวดพระนาภีและทรงพระอาเจียนเมื่อคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แต่เนื่องจากเป็นการอุดตันของพระอันตะแบบบางส่วน ทำให้พระอาการของพระองค์ดีขึ้นในบางครั้ง ดังนั้น ผมคิดว่าการวินิจฉัยของนายแพทย์เมนเดลสันนั้นถูกต้องแล้ว

ผมมีข้อสังเกตอีกอย่างคือ สภาเจ้ามีอำนาจสูงในการตัดสินใจของแพทย์หลวงในการถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่เป็นสมาชิกของสภาเจ้าเป็นแพทย์เลยแม้แต่พระองค์เดียว ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะตัดสินใจผิดหรือล่าช้าในการถวายการรักษาพระองค์ได้ ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2468

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงรู้สึกพระองค์ดีขึ้นถึงกับทรงพระสรวลและตรัสว่า “หมอ หมอกำลังทำหน้าที่ของผู้หญิงอยู่ การเปลี่ยนผ้าไม่ใช่งานของหมอเลย” เมื่อทอดพระเนตรเห็นนายแพทย์เมนเดลสันกำลังดูแลพระองค์อยู่ ต่อมาเมื่อเวลา 4 ทุ่ม พระองค์ทรงเจ็บปวดที่แผลผ่าตัดและได้รับการถวายมอร์ฟีน 15 มิลลิกรัม [2] โดยทั่วไป หลังจากที่มีการเอาหนองออกแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้น แต่ภาวะโลหิตเป็นพิษที่ไม่ได้รับการรักษาอยู่นานกลับไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วยแต่อย่างใด

วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระอาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงทรุดลง เนื้อเยื่อบริเวณที่บวมโตแยกตัวออกและส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อขยายตัวออก แสดงว่าการติดเชื้อได้ลุกลามออกไปยังเนื้อเยื่อส่วนที่ยังดีอยู่เพราะว่าเนื้อเยื่อส่วนที่มีการติดเชื้อมีค่อนข้างมาก ในการถวายการผ่าตัดครั้งแรกนั้น นายแพทย์เมนเดลสันไม่สามารถตัดเนื้อตายได้ทั้งหมด เนื่องจากพระองค์มีพระกำลังไม่พอที่จะถวายยาสลบได้และใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น จึงเพียงเปิดแผลพอให้หนองออกได้เท่านั้น [3]

ในบทความของ อาจารย์หมอสุด แสงวิเชียร กล่าวว่า “…ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 นั้น (10 วันหลังจากทรงมีพระอาการ) พระอันตะและพระตจะทลุถึงกัน, เป็นแผลออกมาภายนอก และที่แพทย์ประจำพระองค์ทราบว่าทะลุก็เพราะว่า พระบังคนหนักไหลออกมาทางบาดแผล ที่ประชุมแพทย์จึงลงความเห็นว่าจะต้องถวายการผ่าตัด” [3] เป็นข้อมูลที่ต่างจากข้อมูลอื่น คือมีการแตกทะลุของพระตจะโดยมีพระบังคนหนักไหลออกมาและวันที่ถวายการผ่าตัด (วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2468) ช้ากว่าที่ปรากฏในหนังสือของนายแพทย์เมนเดลสัน [2] ถึง 3 วัน

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระอาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากเนื้อตายที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก ในคืนนั้นมีพระอาการตกพระโลหิตจากแผลไม่มาก ซึ่งสามารถทำให้หยุดได้โดยง่ายโดยนายแพทย์เมนเดลสัน

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

สิ่งมหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นในวันนั้น คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสามารถประทับนั่งบนพระแท่นและทรงพระโอสถมวนซิการ์ร่วมกับเจ้าพระยารามฯ และตรัสว่าทรงรู้สึกสบายดีและทรงขอให้นายแพทย์เมนเดลสันอนุญาตให้ถวายพระกระยาหารแข็งแด่พระองค์ แต่ทรงได้รับอนุญาตเป็นพระกระยาหาร “กึ่ง” แข็งแทน [2]

แต่ในหนังสือที่เขียนโดยจมื่นมานิตย์นเรศ ที่พิมพ์ในหนังสือ “อนุสรณ์ ‘ศุกรหัศน์’” ได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไป คือ “…ต่อมาวันที่ 23 ปรากฏว่าพระอาการหนักอีก นายแพทย์ลงความเห็นว่าต้องถวายการเจาะพระบุพโพออก จึงได้ตามตัวนายแพทย์เมนเดลสันมาถวายการเจาะทำการเจาะเมื่อประมาณ 13.00 น. เสร็จ 16.00 น. ได้พระบุพโพเล็กน้อย เดรน [drain = ระบายนํ้าที่คั่งค้างอยู่ออก – ผู้เขียน] สายยางเข้าไปไว้ปลายท่อลงขวด พอดีพระบุพโพเต็มขวด นายแพทย์ต้องเปิดแผลอีก แต่พบด้วยความเศร้าสลดใจว่า ทรงเป็นแผลเนื้อร้ายมีพิษ [Grangrene= เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว กำลังมีอาการอักเสบติดเชื้อและกำลังจะเน่าเปื่อย – ผู้เขียน] เสียแล้ว นายแพทย์เมนเดลสันบอกหมดหวัง พวกเราใจจะขาดไปตามกัน…” [5]

ส่วนในบทความของ อาจารย์หมอสุด แสงวิเชียร มีข้อความคล้ายคลึงกับที่จมื่นมานิตย์นเรศเขียน ซึ่งผมคิดว่าน่าจะนำมาจากแหล่งเดียวกัน ยกเว้นวันที่ถวายการผ่าตัดเป็นวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แทน [3] และยิ่งเป็นที่น่าประหลาดใจมากที่หนังสือเรื่อง “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” ไม่ได้มีการเขียนถึงการผ่าตัดของนายแพทย์เมนเดลสันเลย โดยมีเพียงบันทึกไว้ว่า “…แม้ว่ามีการประชุมปรึกษาหารือเรื่องผ่าตัด แต่ก็ไม่มีใครกล้าตัดสินใจให้ลงมือ เมื่อดูพระอาการแล้วก็ไม่น่าไว้ใจว่าการผ่าตัดนั้นจะปลอดภัย…” [4]

ผมคิดว่า ถ้าพิจารณาจากแถลงการณ์สำนักพระราชวังลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ที่เขียนว่า “…วันที่ 19 พ.ศ. 2468 เมื่อเวลาบ่าย 3 นาฬิกา ได้มีการถวายการผ่าตัดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…” [2] ผมคิดว่าข้อมูลของนายแพทย์เมนเดลสันน่าจะถูกต้องมากที่สุดน่าจะเกิดจากที่เขาอาจจะมีการเขียนบันทึกประจำวันหรือตัดเก็บข้อมูลไว้ เพราะว่าหนังสือที่เขาเขียนตีพิมพ์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคตแล้ว 39 ปี และเขากลับไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7

วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

นายแพทย์เมนเดลสันได้ตัดเนื้อตายขนาดใหญ่ออกไปอีกและเขากังวลว่าเนื้อดีที่ยังอยู่บริเวณพระนาภีจะไม่สามารถมีกำลังห่อหุ้มพระอวัยวะภายในได้และอาจจะต้องพบกับการแตกทะลักออกมาของอวัยวะภายในได้2 แสดงว่าก่อนหน้านั้นหลังการผ่าตัดในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 นายแพทย์เมนเดลสันคงจะตัดเนื้อตายออกไปบางส่วนแล้ว

ในวันนี้เอง พระวรราชเทวีมีพระสูติการเป็นพระราชธิดา เมื่อเวลา 12.55 น. องค์รัชทายาท (สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ – ผู้เขียน) ได้ทรงถามนายแพทย์เมนเดลสันในช่วงก่อนที่พระวรราชเทวีจะมีพระสูติการว่า หมอคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนม์ชีพได้นานเท่าไร นับเป็นชั่วโมงได้หรือไม่ ซึ่งเขาได้กราบบังคมทูลว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง” [2]

พระอาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรุดหนักลงมากในตอนเที่ยง ทรงได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงบอกเวลาที่เรียกว่าปืนเที่ยง ทรงปีติขึ้นมา เพราะทรงเข้าพระราชหฤทัยว่าเป็นเสียงยิงสลุตถวายเจ้าฟ้าชาย แต่เมื่อทรงทราบว่าไม่ใช่ เจ้าฟ้ายังไม่ประสูติ ก็ทรงนิ่งลงไปอีกจนกระทั่งทรงได้ยินเสียง
ชาวประโคมสังข์ แตร ปี่พาทย์ ตามราชประเพณี แทนเสียงยิงสลุต ก็ทรงทราบว่าเจ้าฟ้าประสูติใหม่เป็นพระราชธิดา [4]

นายแพทย์เมนเดลสันบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า “…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้สึกว่าทรงหายเป็นปกติ พระองค์ทรงมีรับสั่งว่าพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัย และถ้าหากจะมีพระสูติกาลครั้งต่อไปคงจะเป็นพระราชโอรส…แต่ราว ๆ 4 ทุ่มครึ่ง พระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทรุดหนัก…” [2]

เขาตรวจพระอาการของพระองค์พบว่าพระชีพจรเต้นเร็วจนไม่สามารถนับได้เหมือนเดิมและมีแพทย์หนุ่มชาวสยามซึ่งแสดงตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจได้ถวายพระโอสถเม็ดจำนวนหนึ่งแด่พระองค์ นายแพทย์เมนเดลสันได้พบว่าพระโอสถเม็ดดังกล่าวเป็นยาที่ทำให้ความดันโลหิตตํ่าลงซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับการไหลเวียนของพระโลหิตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เขาจึงสั่งให้หยุดการให้พระโอสถเม็ดดังกล่าวเสีย [2]

แม้ว่าพระอาการประชวรของพระองค์จะรุนแรงมากขนาดนี้ แต่แถลงการณ์สำนักพระราชวังได้เขียน [6] ไว้อย่างเบาบางอีกเช่นเคย ดังนี้ “…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมได้ดีพอสมควร แต่พระอาการยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ได้ปรากฏมีลักษณะเกี่ยวกับปัญหาพระหทัยตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อุณหภูมิ 102.2 และชีพจรเต้น 112/นาที อัตราการหายใจ 36 ครั้ง/นาที”

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

นายแพทย์เมนเดลสันพบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มีพระอาการเกือบจะสวรรคตแล้ว สภาพของบาดแผลปรากฏอาการหนักมากจนเกินกว่าจะบรรยายได้ กลิ่นเหม็นในห้องประชวรมีมากแทบทนไม่ได้ [2] เขาได้กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่าจะทรงต้องการทอดพระเนตรพระธิดาหรือไม่ พระองค์อ่อนแอกว่าที่จะตอบ แต่นํ้าพระเนตรได้ไหลซึมออกมาและทรงพยักพระพักตร์อันเป็นการแสดงพระราชประสงค์

และในที่สุดพระองค์ได้ทรงหันพระพักตร์มามองดูพระราชธิดาและทรงพยายามที่จะยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสเจ้าฟ้าแต่ทรงยกไม่ขึ้น เจ้าพระยารามฯ จึงเชิญพระหัตถ์วางบนพระอุระพระราชธิดาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงหายพระทัยลำบากมากขึ้นและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 เวลา 01.55 น.

ในเอกสารของทางราชการที่สำคัญอย่างราชกิจจานุเบกษา [8] เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2468 ได้บันทึกเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า “ทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทรมาตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2468 นายแพทย์ทั้งฝ่ายอายุรแพทย์และศัลยแพทย์ได้ปฤกษาพร้อมกับรักษา แต่พระอาการหาคลายไม่ทรงบ้าง ทรุดบ้าง ครั้นถึงวันพฤหัศบดี เดือนอ้าย ขึ้น 11 คํ่า ปีฉลู ตรงกับวันที่ 26 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2468 เวลา 1 นาฬิกา ก่อนเที่ยง สวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระชนมพรรษาเป็นปีที่ 46 เสด็จดำรงศิริราชสมบัติได้ 16 พรรษา”

ซึ่งก็ไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่ามีการถวายการผ่าตัดหรือไม่ แต่หากพิจารณาดูดี ๆ จะเห็นว่ามีคำว่า “ศัลยแพทย์” อยู่ด้วย นั่นก็คือเป็น การบอกเป็นนัย ๆ โดยอ้อมแทนที่จะบอกตรง ๆ ว่า น่าจะมีการถวายการผ่าตัดแน่นอนครับ

ผมมีข้อสังเกตจากการวิเคราะห์สาเหตุการสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ 2 ประการ คือ

ข้อ 1 มีความแตกต่างของข้อมูลที่บันทึกโดยชาวไทยและชาวอเมริกัน โดยบันทึกของชาวไทยมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่ได้รับการถวายการผ่าตัดเลย [4] กับอีก 2 เล่มกล่าวว่า นายแพทย์เมนเดลสันมาผ่าตัดในวันท้าย ๆ (22 [3] หรือ 23 [5] พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) ในขณะที่บันทึกของนายแพทย์เมนเดลสันเขียนว่า เขาได้รับการร้องขอให้ถวายการรักษาพระองค์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน แต่เขาได้มีโอกาสตรวจพระอาการเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และได้ทำการถวายการผ่าตัดในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยมีแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังยืนยันการผ่าตัดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 จริง

ผมสันนิษฐานว่า ความแตกต่างระหว่างข้อมูลของชาวไทยกับชาวอเมริกันน่าจะเกิดจากความรู้สึกผิด (guilty) ของข้าราชบริพารชาวไทย เนื่องจากคณะแพทย์หลวงไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยโรคของนายแพทย์เมนเดลสันตั้งแต่แรก จึงเขียนให้นายแพทย์เมนเดลสันมาตรวจพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในวันที่ 22 หรือ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เลย เพื่อลดความรู้สึกผิดพลาดของคณะแพทย์หลวงและสิ่งที่น่าประหลาดใจมากก็คือ ในหนังสือ “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่าตัดพระอันตะติ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์มากกว่าเอกสารอื่น ๆ คือ กล่าวถึงการเย็บแผลที่เย็บเฉพาะที่ผิวชั้นนอก [4] แต่กลับไม่ได้เขียนถึงการผ่าตัดโดยนายแพทย์เมนเดลสันหรือแม้แต่เอ่ยชื่อของนายแพทย์เมนเดลสันเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตามในหนังสือ “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” เล่มนี้ ได้กล่าวถึงพระประชวรครั้งสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า …แม้ว่ามีการประชุมปรึกษาหารือเรื่องผ่าตัดแต่ก็ไม่มีใครกล้าตัดสินใจให้ลงมือ เมื่อดูพระอาการแล้วก็ไม่น่าไว้ใจว่าการผ่าตัดนั้นจะปลอดภัย…[4]

ประกอบกับข้อความจากราชกิจจานุเบกษา [8] ที่กล่าวว่ามีศัลยแพทย์มาร่วมรักษากับอายุรแพทย์ หนังสือของนายแพทย์เมนเดลสัน [2] และบทความของ อาจารย์หมอสุด แสงวิเชียร [3] ที่กล่าวถึงการผ่าตัดอย่างชัดเจน ทั้ง ๆ ที่เอกสารอื่น ๆ กล่าวถึงนายแพทย์เมนเดลสันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่นายแพทย์เมนเดลสันเขียนไว้อย่างละเอียดทำให้ทราบว่าเขาได้ถวายการรักษาพระองค์ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้ถวายการตรวจพระองค์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ราชกิจจานุเบกษา [8] ก็ยังกล่าวว่ามีศัลยแพทย์มาร่วมถวายการรักษาพระองค์ร่วมกับอายุรแพทย์ด้วยแม้ว่าจะไม่มีการเอ่ยชื่อของนายแพทย์เมนเดลสันก็ตาม โดยหลักฐานดังที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ทำให้ผมเชื่อมั่นในข้อมูลของนายแพทย์เมนเดลสัน [2] มากที่สุด

ผมคิดว่า เราควรให้ความเป็นธรรมแก่นายแพทย์เมนเดลสัน ซึ่งได้ถวายการรักษาแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จริง ท่ามกลางความขัดแย้งในการรักษากับคณะแพทย์หลวงส่วนใหญ่ แม้ว่าผลสุดท้ายพระองค์เสด็จสวรรคตในที่สุด แต่เขาได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้ทรงสัมผัสกับความรู้สึกของคนที่เป็นพอแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาอันสั้นก็ตามที และหากนายแพทย์เมนเดลสันไม่ได้เขียนหนังสือ I lost a king เราจะไม่มีทางทราบถึงเบื้องหลังการถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เลย

ประวัติศาสตร์มักจะถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีอำนาจ แต่ผมคิดว่าหากเป็นไปได้ควรจะต้องเขียนตามความเป็นจริงที่สุดจะดีมากครับ เราอาจจะประณามนายแพทย์เมนเดลสันที่ไม่ยอมมาทำการตรวจรักษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เพราะเพิ่งกลับจากเต้นรำ แต่มาตรวจในเช้าวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แทน [3]

ผมคิดว่าหากสามารถย้อนเวลากลับไปได้ไปในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 หลังจากที่นายแพทย์เมนเดลสันได้ตรวจพระอาการและวินิจฉัยว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวรเนื่องจากพระโรคเบาหวานกำเริบและเนื่องจากพระโลหิตเป็นพิษซึ่งเป็นผลจากมีการอุดกั้นของทางเดินอาหารในพระอันตะและแนะนำว่าจะต้องถวายการผ่าตัด

หากคณะแพทย์หลวงเห็นด้วยและสภาเจ้าอนุมัติให้ถวายการผ่าตัดได้ ผมคิดว่าพระองค์ทรงมีโอกาสที่จะหายจากพระประชวรครั้งนี้ค่อนข้างมากเนื่องจากพระอาการต่าง ๆ ยังเพิ่งเริ่มเป็น แต่การผ่าตัดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ซึ่งล่าช้าไปอีกถึง 5 วัน ทำให้โอกาสที่ดีที่เคยมีอยู่นั้นหมดสิ้นไปเสียแล้ว และหากพระองค์ทรงหายจากพระประชวรครั้งนี้ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกว่าในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้

ข้อ 2 พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้ถูกนำมาอ้างอิงว่าเป็นแพทย์หลวงผู้วินิจฉัยว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวรจากแผลที่พระอันตะ ต้องรีบทำการผ่าตัดภายใน 8 ชั่วโมง ในขณะที่แพทย์หลวงท่านอื่น ๆ วินิจฉัยว่าพระอาการเกิดจากพระวักกะ (ไต) และมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง จนสุดท้ายต้องขอให้พระยาแพทย์พงศาฯ ลงชื่อด้วย แต่จะมีหมายเหตุไว้ข้างท้ายว่า พระยาแพทย์พงศาฯ ไม่เห็นพ้องด้วย พระยาแพทย์พงศาฯ จึงจะยอมลงชื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์สำนักพระราชวังเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระองค์คราวนี้ไม่เคยมีการลงนามของพระยาแพทย์พงศาฯ เลย ดังที่กล่าวในบทความของ อาจารย์หมอสุดแสงวิเชียร [3] นอกจากนี้ แต่ปรากฏว่าในแถลงการณ์สำนักพระราชวังในวันที่ 12 พฤศจิกายน กล่าวว่า “…คณะแพทย์มีความเห็นว่า ยังตรวจไม่พบพระอาการแสดงของการอุดตันในพระอันตะและพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดเนื่องจากการหดเกร็งของพระอันตะ ซึ่งมีสาเหตุจากการรบกวนของอาหารซึ่งไม่ย่อย” [2]

แถลงการณ์สำนักพระราชวังในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ บ่งบอกว่าน่าจะมีการอภิปรายกันถึงภาวะอุดตันในพระอันตะของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ถึงได้เขียนว่ายังตรวจไม่พบพระอาการของการอุดตันในพระอันตะดังกล่าว ผมจึงไม่แน่ใจว่าพระยาแพทย์พงศาฯ มีความเห็นอย่างไรในการถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เพราะว่าในหนังสือของนายแพทย์เมนเดลสัน [2] และ “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม” ของ คุณวรชาติ มีชูบท [1] ไม่ได้มีการเอ่ยนามของพระยาแพทย์พงศาฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว มีแต่บทความเรื่องศิษย์เก่าราชแพทยาลัยกับกรณีสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่อาจารย์หมอสุด แสงวิเชียร [3] ได้เขียนไว้ในสารศิริราช ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และหนังสือ “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” [4] ของ คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ และ คุณชัชพล ไชยพร เขียนถึงพระยาแพทย์พงศาฯ ว่าเป็นหนึ่งในคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาพยาบาลพระองค์และเฝ้ารอถวายพระประสูติการพระหน่อกษัตริย์ (สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ – ผู้เขียน)

ในหนังสือของนายแพทย์เมนเดลสัน ได้กล่าวถึงแพทย์ชาวไทยหลายคน เช่น พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) พระองค์เทวัญ (นายพลเรือตรี หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยยันต์) ซึ่งเป็นศัลยแพทย์แห่งกองทัพเรือ แพทย์หนุ่มชาวสยามที่เพิ่งกลับมาจากอังกฤษ แพทย์หนุ่มชาวสยามอีกคนที่แสดงตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจโดยไม่ได้ระบุชื่อ และพระยาอัพภันตราพาธพิศาล แต่กลับไม่ได้มีการเอ่ยนามของพระยาแพทย์พงศาฯ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์และเป็นขุนนางชั้นระดับพระยาเลย ซึ่งผมคิดว่านายแพทย์เมนเดลสันน่าจะต้องรู้จักพระยาแพทย์พงศาฯ เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพระยาแพทย์พงศาฯ มีความเห็นเหมือนกับนายแพทย์เมนเดลสันแล้วละก็เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่เอ่ยชื่อของพระยาแพทย์พงศาฯ ในหนังสือของเขาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยของเขาอย่างแน่นอน

ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าพระยาแพทย์พงศาฯ อาจจะถูกอุปโลกน์และยกย่องให้เป็นพระเอกของเรื่องแทนที่จะเป็นนายแพทย์เมนเดลสันซึ่งถูกแปลงบทบาทให้เป็นผู้ร้ายในฐานะที่ไม่ยอมมาถวายการตรวจรักษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในเวลากลางคืนหลังจากกลับจากงานเต้นรำ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจึงถือว่าขาดจริยธรรมการแพทย์ในการไม่ไปดูผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน แต่ผลัดไปดูเช้าวันรุ่งขึ้นแทน โดยยังไม่นับเรื่องที่ให้นายแพทย์เมนเดลสันมาถวายการผ่าตัดพระองค์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 [3] แทนที่จะเป็นวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 [2] ซึ่งนับว่าสร้างความเสื่อมเสียแก่นายแพทย์เมนเดลสันมากหากเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง

สุดท้าย ผมขอสรุปเหตุการณ์กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ดังนี้ เมื่อคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเกิดพระอันตะหรืออาจเป็นพระอันตคุณส่วนปลาย ๆ ที่อยู่ใกล้กับพระอันตะ (เพราะพบพระบังคนหนักในการผ่าตัดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) เข้าไปในกระเปาะเหมือนดังที่เคยเป็นอยู่นานมาแล้ว

แต่คราวนี้เกิดการอุดตันของพระอันตะ จนทำให้เส้นเลือดที่เลี้ยงพระอันตะอุดตันชั่วคราว และทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของพระอันตะส่วนนั้น เนื่องจากพระองค์ที่เป็นโรคเบาหวานที่กำเริบขึ้น ในขณะที่การอุดตันของพระอันตะเป็นแบบบางส่วน (Partial) จึงหายเองได้และอาจกลับมาอุดตันอีกในเวลาต่อมาและพระโรคเบาหวานได้รับการถวายการรักษาโดยการสวนของเหลวในช่องพระบังคนหนัก (ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการที่มีการขาดนํ้าอย่างรุนแรง ไม่ได้เป็นการรักษาพระโรคเบาหวานอย่างแท้จริงซึ่งจะรักษาโดยยาอินซูลิน เพราะแพทย์หลวงหลายท่านไม่เห็นด้วย)

แต่ทว่าการอักเสบติดเชื้อของพระอันตะยังคงดำเนินต่อไปและเกิดเป็นหนองและแตกทะลุพระอันตะเข้าไปในช่องพระนาภีในที่สุด พระอาการของพระองค์ดีขึ้นชั่วคราวอีกครั้งหลังจากที่ได้ระบายหนองออกจากการผ่าตัดและใส่ท่อระบายไว้

แต่การอักเสบติดเชื้อก็ยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะที่ดีเหมือนสมัยนี้ ประกอบกับพระโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพดี เช่น ยาอินซูลิน ทำให้การอักเสบติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งเกิดภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) ซึ่งถือว่าเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งและเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคตในที่สุด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

[1] วรชาติ มีชูบท. พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553.

[2] ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ, อภิชาติ ฉวีกุลรัตน์. “I lost a king,” ใน วชิราวุธานุสรณ์สาร. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2537), น.114-141.

[3] สุด แสงวิเชียร. “ศิษย์เก่าราชแพทยาลัยกับกรณีสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6,” ใน สารศิริราช. ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2525), น. 103-106.

[4] วินิตา ดิถียนต์, คุณหญิง, ชัชพล ไชยพร. ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรโสภณ, 2550.

[5] ศุกรหัศน์ (จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์)). อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”. (เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 20 มกราคม 2511). พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2511.

[6] Agur AMR, Lee MJ. Grant’s atlas of anatomy. Baltimore: Williams & Wilkins, 1991, pp. 77-146.

[7] Tavakkolizadeh A, Whang EE, Ashley SW, Zinner MJ. Small bowel obstruction. In : Brunicardi FC, Anderson DK, Billiar TR, Dunn DL, Hunter JG, Matthews JB, Pollock RE, editors. Schwartz’s principle of surgery. 9th ed. New York : Mc Graw Hill Medical, 2010, pp. 988-992.

[8] ราชกิจจานุเบกษา 6 ธันวาคม 2468 เล่ม 42 น. 2703


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” เขียนโดย ผศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัช (ตำแหน่งในเวลานั้น) ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2561