เผยแพร่ |
---|
เมื่อเอ่ยถึงสงครามภาพที่นึกถึงมันเป็นเรื่องโหดร้าย, การสูญเสีย, ความเคียดแค้น และน่าหดหู่ ยิ่งเป็นสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ยิ่งไม่ต้องไม่บรรยาย เพราะทั้งคู่ต่างมีประวัติศาสตร์บาดแผลที่มีต่อกัน แต่ดอกไม้ก็เคยบานในสนามรบ
สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1937-1945) เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1940 เพื่อที่จะโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในภาคเหนือของจีน กองทัพจีนได้ปลุกขวัญกําลังใจของประชาชนและทหารจีนในการต่อต้านญี่ปุ่น กองบัญชาการใหญ่ของกองทัพสายแปดตัดสินใจก่อสงครามใหญ่ร้อยกองพันที่ภาคเหนือของจีน และในคืนหนึ่งกองทัพได้พบ คะโต คิโยะโตะชิ รองหัวหน้าสถานีรถไฟเหมืองถ่านหินจึ่งสิงชาวญี่ปุ่น และครอบครัวของเขา ที่ได้รับบาดเจ็บจากการอาวุธสงคราม
ทหารจีนพบว่าภรรยาของคะโต คิโยะโตะชิ ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว จึงช่วยคะโต คิโยะโตะชิและลูกสองคนออกมา เหล่าทหารรีบช่วยรักษาพยาบาลคะโต คิโยะโตะชิ แต่เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสเกินเยียวยาจึงเสียชีวิตในไม่ช้า สําหรับลูกสาวของคิโยะโตชิทั้ง 2 คน ที่ถูกช่วยออกมาได้นั้น คนที่โตได้รับบาดเจ็บไม่มาก ส่วนเด็กผู้หญิงคนที่อายุยังไม่ครบ 1 ขวบกลับได้รับบาดเจ็บสาหัส
เจ้าหน้าที่พยาบาลของกองทัพสายแปดรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที เด็กผู้หญิงคนนั้นจึงรอดพ้นขีดอันตรายมาได้ กองกําลังสู้รบในแนวหน้าไม่อาจพาเด็กสองคนนี้ติดตามไปด้วยได้ตลอดเวลา เนี่ยหรงเจิน ผู้บัญชาการกองทัพเขตมณฑลซานซี มณฑลฉาฮาเอ่อร์ และมณฑลเหอเป่ย สั่งการให้ส่งตัวเด็กสองคนนี้ ไปยังกองบัญชาการของกองทัพของเขา
เด็กหญิงญี่ปุ่นสองคนถูกส่งไปให้คณะกรรมการเขตรบที่ 4 จากนั้นคณะกรรมการเขตรบที่ 4 ก็มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจโดยเฉพาะแบกเข่งสองใบไปยังกองบัญชาการของเนี่ยหรงเจิน เมื่อเนี่ยหรงเงิน ได้เห็นเด็กน้อยผู้บริสุทธิ์ซึ่งถูกเพลิงสงครามทําร้าย ในใจเขาก็เกิดความรู้สึกเอ็นดูขึ้นมา ในด้านหนึ่งเนี่ยหรงเงินกําชับกับแพทย์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่าจะต้องดูแลเด็กน้อยวัยแบเบาะให้ดี ส่วนอีกด้านหนึ่งเนี่ยหรงเจินก็ใช้ความจริงใจของเขาซื้อใจเด็กหญิงญี่ปุ่นคนที่โตกว่าจนได้รับความไว้วางใจจากเธอ
เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กน้อยสองคนจึงอาศัยอยู่ ที่กองบัญชาการ และในเวลาอันรวดเร็ว พวกเธอก็สร้างสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับเนี่ยหรงเจินและพรรคพวก “เคียวโกะ” (มิโฮะโกะ) สาวน้อยคนโตอยู่กับเนี่ยหรงเจินตลอด เธอมักจะใช้มือน้อยๆ ของเธอเกาะต้นขาของเนี่ยหรงเจิน ตามติดเขาหนึบ เนี่ยหรงเจินเดินไปไหน เธอก็จะตามไปด้วย
เนี่ยหรงเจินตัดสินใจส่งเด็กกําพร้าญี่ปุ่นสองคนนี้ กลับไปให้ฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อที่ว่าพวกเธอจะได้ไม่ต้องระเหเร่ร่อนอยู่ในต่างถิ่น เพื่อส่งเด็กน้อยผู้บริสุทธิ์กลับบ้าน เขาไปหาคนบ้านเดียวกันคนหนึ่ง ที่ไว้ใจได้ เตรียมเข่งที่ใช้หาบหนึ่งคู่ กําชับกับคนคนนั้นว่าให้ส่งเด็กผู้หญิงญี่ปุ่นสองคนนี้ไปยังค่ายทหารกองทัพญี่ปุ่นที่เมืองสือเจียจวง
หลายปีผ่านไป เนี่ยหรงเจินเขียนในบันทึกความทรงจําว่า “ผมคิดแบบนี้ว่า พวกเราทําสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ไม่ได้มีเพียงเรื่องสู้รบ แต่ยังต้องจ้องคว้าโอกาสปฏิบัติการด้านการเมืองกับกองทัพข้าศึกด้วย ประเด็นนี้สําคัญยิ่งนัก เพราะมันเกี่ยวพันถึงเรื่องขวัญของกองทัพ ไม่ว่าอนาคตจะทําสงครามกับกองทัพผู้รุกรานใดๆ ล้วนห้ามละเลย ภารกิจชิ้นนี้
ในระหว่างสงครามหากคุณถืออาวุธรบกับพวกเรา พวกเราก็จะไม่เกรงใจเป็นอันขาด แต่หากวันหนึ่งพวกคุณถูกปลดอาวุธ พวกเราก็จะมุ่งมั่นดําเนินนโยบาย ‘ปฏิบัติต่อเชลยศึกอย่างดีเป็นพิเศษ’ แน่นอนว่าเด็กสองคนนี้ไม่ใช่เชลยศึกที่ถูกปลดอาวุธ พวกเขาเป็นเหยื่อของสงคราม กองทัพสายแปดของพวกเราไม่ทําแบบกองทัพผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด”
เป็นไปตามที่คิด หลังจากเนี่ยหรงเจินมอบเด็กผู้หญิงสองคนนั้นให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้ไม่นาน กองทัพญี่ปุ่นก็ตอบจดหมายกลับอย่างรวดเร็ว เนื้อความในจดหมายกล่าวว่า พวกเขาขอบคุณกองทัพสายแปดเป็นอย่างยิ่งที่ทําเช่นนี้
หลังจากเด็กผู้หญิงญี่ปุ่นสองคนนั้นถูกส่งตัวกลับไปให้ฝ่ายญี่ปุ่น เนี่ยหรงเจินกลับรู้สึกไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าในช่วงสงคราม เด็กผู้หญิงสองคนนั้นจะได้กลับไปอยู่กับญาติอย่างปลอดภัยหรือไม่
เวลาผ่านไป 40 ปี วันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 เหยาหย่วนฟาง นักข่าวหนังสือพิมพ์เหรินหมินชื่อเป้าซึ่งทราบเรื่องนี้ ได้เขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่งโดยเฉพาะ เนื้อหาของบทความ ซาบซึ้งใจยิ่งนัก บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ในหัวข้อว่า “เด็กหญิงญี่ปุ่น หนูอยู่ที่ไหน” พร้อมทั้งลงรูปถ่ายคู่ของเนี่ยหรงเจินกับมิโฮะโกะในตอนนั้นประกอบบทความด้วย
วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นโยะมิอุริชิมบุง พาดข่าวหัวข้อ “ช่วยเด็กกําพร้าในไฟสงคราม 40 ปีผ่านไปแม่ทัพเนี่ย ตามหาเด็กหญิงพี่น้อง” ข่าวชิ้นนี้นําบทความของเหยาหย่วนฟางมาลงทั้งหมด เมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกไปก็เกิดกระแสตอบรับอย่างกว้างขวางและรวดเร็วทั้งในจีนและญี่ปุ่น หลังจากฝ่ายญี่ปุ่นตรวจ สอบค้นหาอย่างละเอียดก็หาตัวมิโฮะโกะเจอที่เกาะคิวชู ขณะนั้นเธอเป็นแม่ลูกสามแล้ว เธอและสามีร่วมกันเปิดร้านขายของชํา หลังจากน้องสาวคนเล็กของเธอที่ได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวกลับมาก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเมืองสือเจียจวง
เมื่อนักข่าวหาตัวมิโฮะโกะเจอ เธอก็รู้สึกตื่นตระหนกตกใจ ระคนไปด้วยความยินดี ในตอนนั้นเธอเขียนจดหมายฉบับหนึ่งและฝากนักข่าวช่วยนําไปมอบให้เนี่ยหรงเจิน จากนั้นเนี่ยหรงเจินก็ได้รับโทรเลขและจดหมายจํานวนมากจากสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่น มีบางคนส่งของขวัญมาให้เขาด้วย
คืนวันที่ 10 กรกฎาคม ครอบครัวมิโฮะโกะ ทั้ง 5 คนเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งโดยเครื่องบิน โดยมีนักข่าวกลุ่มหนึ่ง ห้อมล้อม วันที่ 14 เนี่ยหรงเจินต้อนรับครอบครัวมิโฮะโกะที่มหาศาลาประชาคม เมื่อมิโฮะโกะได้เห็นใบหน้าของลุงเนี่ยที่พอจําได้ เลือนรางในสมัยก่อน เธอก็รู้สึกตื้นตันใจจนน้ำตาคลอเบ้าและแสดงความขอบคุณแก่ลุงเนี่ยครั้งแล้วครั้งเล่า
มิโฮะโกะมอบผลิตภัณฑ์งาน ฝีมือชิ้นหนึ่งแก่เนี่ยหรงเจินเป็นของขวัญ และยังนําเนื้อหอยเชลล์ตากแห้งกล่องหนึ่งที่ชาวประมงเกาะฮอกไกโดฝากเธอมามอบให้เขาด้วย เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจต่อประชาชนชาวจีน มิโฮะโกะพูดกับเนี่ยหรง เจินอย่างจริงใจว่า
ทหารเก่าของญี่ปุ่นที่เคยร่วมทําสงครามบริเวณ ทางรถไฟสายสือเจียจวง-ไท่หยวนในตอนนั้น กล่าวกับเธอซ้ำไปซ้ำมา ว่า พวกเขาขอโทษประชาชนชาวจีน ขออภัยเป็นอย่างสูง เนี่ยหรงเจินก็มอบภาพวาดจีนสามสหายในเหมันตฤดูซึ่งสูงถึงสามเมตรให้แก่มิโฮะโกะ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่ามิตรภาพระหว่างจีนกับญี่ปุ่น สามารถฝ่าฟันบททดสอบไปได้
เหตุการณ์เล็กๆ ที่แทรกอยู่ในสงครามใหญ่ร้อยกองพันครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณอันดีงามของมนุษยชาติ
ข้อมูลจาก
เส้าหย่ง, หวังไท่ผิง เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน, สำนักพิมพ์มติชน 2560
เผยแพร่ครั้งแรก: 31 ธันวาคม 2561